คุณคิดว่าตึกแถวเพียงตึกเดียวบอกอะไรเราได้บ้าง?
ตึกแถวเคยเป็นรูปแบบอาคารที่ได้รับความนิยมอย่างท่วมท้น ไม่ว่าจังหวัดไหนจะต้องมีตึกแถวเรียงรายไปตามริมถนน แต่ภาพที่คุ้นชินเหล่านี้อาจกำลังหายไปในไม่ช้า เมื่อในปัจจุบันตึกแถวไม่ใช่อาคารที่ตอบโจทย์การอยู่อาศัยอีกต่อไป
The Shophouse 1527 จึงพยายามเก็บคุณค่าของตึกแถวเอาไว้ด้วยการเนรมิตให้เป็น ‘อาร์ตสเปซ’ ที่ทำหน้าที่บอกเล่าเรื่องราวความเป็นอยู่ของเจ้าของบ้านคนเก่ากับวิถีชีวิตผู้คนในละแวกสามย่านผ่านสถาปัตยกรรม พร้อมสร้างโอกาสให้คนทำงานด้านศิลปะได้มีพื้นที่แสดงผลงานด้วยการตั้งเงื่อนไขให้น้อยที่สุด
บันทึกทุกความทรงจำที่เคยมีผ่านการออกแบบ
อาร์ตสเปซแห่งนี้ตั้งอยู่บริเวณจุดอับสายตาบนถนนพระรามสี่ สีดำสนิทของตัวอาคารตัดกับสีชมพูของอาคารหลังที่ติดกันอย่างคนละขั้ว บริเวณด้านหน้าต้อนรับแขกผู้มาเยี่ยมด้วยประตูเหล็กสีดำและมีกระจกใสแนวยาวอยู่ข้างกัน ช่วยให้เห็นพื้นที่ภายในได้ชัดเจน เมื่อมองเข้าไปผ่านกระจกก็ทำให้รู้ได้ทันทีว่าที่นี่เปิดแล้วหรือยัง
เมื่อก้าวเท้าเข้าไปด้านใน เราจะพบเคาน์เตอร์เหล็กสีดำตั้งตะหง่านอยู่บนพื้นหินเกล็ดที่ให้กลิ่นอายแบบ Industrial Loft ซึ่งโซนด้านล่างนั้นเป็นพื้นที่ของ ‘Labyrinth Cafe’ (แล็บลิ้น คาเฟ่) หนึ่งในพาร์ตเนอร์ที่เข้ามาทำงานร่วมกับทางบริษัทสถาปนิก Cloud-floor และบริษัท IF (Integrated Field) ที่ริเริ่มอาร์ตสเปซแห่งนี้ด้วยกัน
ส่วนบันไดที่ทอดยาวขึ้นไปชั้นบนเป็นพื้นที่สำหรับจัดนิทรรศการ โดยวันที่เราไปมีงานนิทรรศการ Never Was Normal จัดแสดงอยู่ ผลงานไม้ของศิลปินกลุ่ม Grains & Grams จึงถูกกระจายกันไปตั้งในพื้นที่ต่างๆ ของตัวอาคาร สีน้ำตาลของงานไม้ยิ่งเด่นชัดขึ้นท่ามกลางผนังปูนเปลือย
‘ฟิวส์’ – นัฐพงษ์ พัฒนโกศัย หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Cloud-floor และดูแล The Shophouse 1527 เล่าให้ฟังว่า แต่เดิมตึกหลังนี้มี 3 ชั้น ก่อนถูกทุบฝ้าเพดานเปิดพื้นที่ระหว่างชั้น 1 และชั้น 2 ให้โล่งโปร่ง เหมาะกับเป็นพื้นที่สำหรับจัดนิทรรศการ แต่ยังคงเสน่ห์ความดิบแบบตึกแถว รวมทั้งร่องรอยต่างๆ ในตึกไว้เหมือนเดิม
“เราเลือกตึกนี้เพราะว่ามันมีความโล่งที่สุด ไม่ต้องทำอะไรมาก แต่ตอนแรกตั้งใจกันว่าจะทำเป็นโมเดลธุรกิจ โดยอาจทำเป็นโฮสเทล จนมาทราบว่าเราได้สัญญาแค่ 2 ปี ตามแผนพัฒนาพื้นที่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระยะเวลาเท่านั้นหากจะทำเป็นโมเดลธุรกิจดูอย่างไรก็ไม่น่าที่จะคุ้ม พวกเราจึงเปลี่ยนแผนและคิดแบบใหม่เลยว่า แทนที่เราคิดว่าเราจะได้อะไร มาเป็นคิดว่าเราจะทำอะไรให้เลยดีกว่า
“สุดท้ายก็กลายมาเป็นอาร์ตสเปซสำหรับนักออกแบบ ศิลปิน หรือคนที่ไม่ใช่ศิลปินก็ตาม เพื่อให้พวกเขาได้มีโอกาสแสดงผลงานต่างๆ เพราะการที่จะแสดงผลงานในมิวเซียมหรือแกลเลอรีมันค่อนข้างที่จะมีขั้นตอนต่างๆ มากมาย ซึ่งก็ค่อนข้างยาก เราเลยรู้สึกว่าอยากจะลดขั้นตอนเหล่านี้ลงและให้โอกาสพวกเขา”
ตอนที่เริ่มออกแบบ พวกเขามองว่าต้องมีการเปลี่ยนแปลงอะไรหลายๆ อย่างให้เหมาะสมกับการจัดนิทรรศการ แต่ก็มองว่าการที่เข้ามาอยู่ที่แห่งนี้และเปลี่ยนแปลงมันเฉยๆ โดยไม่ศึกษาอาจไม่ใช่จุดประสงค์ที่แท้จริง ด้วยความที่ทีมผู้ก่อตั้งมีความสนใจเรื่องการออกแบบและการพัฒนาเมืองเป็นทุนเดิม จึงเล็งเห็นว่าในย่านต่างๆ ควรมีสถานที่หนึ่งที่ทำหน้าที่บอกเล่าเรื่องราวของย่านออกไป ไม่ว่าจะเป็นอัตลักษณ์หรือวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของเขา สองความตั้งใจนี้จึงมารวมกันเป็น ‘อาร์ตสเปซ’ ที่ให้โอกาสสำหรับกลุ่มศิลปินและนักออกแบบได้มาแสดงผลงาน ส่วนตึกตัวของ The Shophouse 1527 ก็เป็นกระบอกเสียงเล่าเรื่องของย่านหรือสร้างความเคลื่อนไหวให้กับย่านนี้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง
“ตึกแถวมันเหมือนเป็นรูปแบบหนึ่งที่เกิดขึ้นมาเมื่อ 50 ปีที่แล้ว เรามองว่าตึกแถวก็เหมือนกับบ้านเรือนไทยที่เมื่อ 100 กว่าปีก่อนเคยมี แต่ตอนนี้ไม่ค่อยมีแล้ว ตึกแถวก็เลยมีโอกาสที่จะหายได้เช่นเดียวกัน เราจึงตัดสินใจศึกษาตึกนี้อย่างละเอียดว่ามันเคยเป็นอะไรมาก่อน คนที่เคยอยู่เขาเคยอยู่อย่างไร รวมถึงเขาอยู่ในย่านนี้อย่างไรด้วย”
ในตอนแรกพวกเขาไม่ทราบว่าเจ้าของบ้านเดิมคือใคร แต่สอบถามคนในละแวกนั้นจนได้ความว่าเจ้าของบ้านไม่ได้ย้ายไปไหนไกล แต่อยู่ใกล้ๆ แค่บ้านข้างหลังเท่านั้น
เจ้าของเดิมเป็นครอบครัวคนจีนที่อาศัยอยู่ด้วยกัน 9 คน เมื่อก่อนชั้นหนึ่งของตึกเป็นพื้นที่สำหรับประกอบอาชีพทำเหล็ก ตามเพดานและผนังจึงมีร่องรอยคราบเขม่าสีดำเหลือทิ้งไว้ แทนที่จะลบคราบเหล่านั้นออกไป พวกเขากลับเลือกจะเก็บมันเอาไว้โดยมองว่าร่องรอยเหล่านั้นคือคุณค่าในตัวมันเอง ซึ่งเมื่อได้รู้ที่มาที่ไปของตึกหลังนี้จากที่ตั้งใจจะออกแบบให้เป็นแกลเลอรีสีขาวๆ คลีนๆ ก็ปรับมาเป็นการออกแบบทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อบันทึกความทรงจำของผู้อาศัยเดิมเอาไว้ด้วยสถาปัตยกรรม โดยเลือกจะเก็บตึกนี้เอาไว้ให้คงสภาพเดิมให้ได้มากที่สุด
“ตอนที่รีโนเวตตึกนี้ เราก็พยายามเก็บของที่เคยมีไว้ มีการทุบออกนิดหน่อยเพื่อให้มันสูงโล่ง บันไดก็เป็นของเดิมที่เราเอามาใช้ ประตูห้องนอนเราเอามาใช้เป็นประตูห้องน้ำกับประตูห้องเก็บของ เสาที่เคยเป็นราวบันได เราก็เอามาทำเป็นรางไฟ เพราะฉะนั้น มันคือการเอาองค์ประกอบที่มีอยู่มาเรียบเรียงใหม่ เพื่อให้แสดงอัตลักษณ์ความเป็นอยู่ของคนคนหนึ่งที่เคยอยู่ในสามย่าน”
ปกติการออกแบบโดยทั่วไปบริเวณด้านหลังร้านจะเป็นพื้นที่ปิด แต่ที่นี่ออกแบบให้เป็นประตูเหล็กที่สามารถเปิด-ปิดได้ พร้อมมีกระจกอยู่ด้านข้างแบบเดียวกับบริเวณด้านหน้า ทำให้มองทะลุจากซอยด้านหลังไปยังถนนด้านหน้า หรือแม้แต่ด้านหน้าเองก็สามารถมองทะลุเห็นบ้านหลังใหม่ของเจ้าของบ้านเดิมได้พอดิบพอดี
“เราพยายามออกแบบให้เป็นเหมือนตรอกเล็กๆ ที่สามารถเชื่อมโยงจากบ้านเขามาสู่หน้าบ้านเดิมที่เคยอยู่ และยังเห็นว่าบ้านเดิมของเขานั้นถูกปรับเปลี่ยนเป็นอะไรบ้าง ตัวประตูก็สามารถเปิดได้หมด ถ้าเปิดทั้งด้านหน้าและหลังจะกลายเป็นตรอกที่เชื่อมไปถึงบ้านอีกหลัง นี่เป็นแนวความคิดที่เราไม่เพียงแค่ออกแบบโดยคำนึงถึงตัวมันเองเท่านั้น แต่เรายังออกแบบเพื่อเชื่อมโยงกับคนที่เคยอยู่มาก่อน รวมถึงเชื่อมโยงกับความเป็นเมืองด้วย เราคำนึงสิ่งที่เรียกว่าบริบท หรือ context ซึ่ง context ไม่ได้มีแค่ตัวตึก ถนน สะพาน แต่ยังมี ‘คน’ ที่เป็นบริบทด้วยเช่นเดียวกัน”
โมเดลตรงกลางระหว่างการอนุรักษ์และพัฒนาที่ดึงคนให้เข้าใกล้ศิลปะมากขึ้น
เก่าและใหม่มักถูกมองว่าเป็นสองขั้วที่เข้ากันไม่ได้ ในบ้านเราเองก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์หลายครั้งถึงการสร้างสิ่งใหม่ขึ้นมาโดยทำลายสิ่งเดิมที่เคยมีอยู่จนหมดสิ้น แต่ The Shophouse 1527 เป็นโมเดลหนึ่งในการออกแบบที่พิสูจน์ว่ายังมีตรงกลางระหว่างสองสิ่งนี้
“เรามองว่าทุกคนมีเหตุผลมีความจำเป็นที่ตัดสินใจทำอย่างนั้นไม่ว่าจะฝั่งใดก็ตาม แต่ถ้าตัวเราเองมีโอกาสตัดสินใจทำ เราก็เลือกที่จะอยู่ตรงกลางระหว่างความร่วมสมัย อดีต และปัจจุบัน ซึ่งเรามองว่าอันนั้นคือโอกาสต่างหาก ที่จะสร้างรูปแบบใหม่ๆ ขึ้นมา ด้วยการผสมผสานระหว่างสองความคิดเกิดเป็นมูลค่าใหม่ให้มนุษย์และสังคม
“คนชอบถามเราว่าคิดว่าโมเดลนี้จะเป็นต้นแบบสำหรับที่อื่นอีกไหม เราก็คิดว่ามันคงเป็นเทรนด์ที่อาจจะเป็นไปได้ เพราะตอนที่เปิดใหม่ๆ ก็มีคนมาดูงานเยอะมาก นักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆ ก็เอาสถานที่นี้เป็นกรณีศึกษาในการออกแบบเชิงอนุรักษ์ เรารู้สึกก็มีคุณค่ามากขึ้นที่เขามาดูตึกเราเพื่อการศึกษา ที่ทำให้คนรุ่นต่อไปได้เห็นว่านี่เป็นเครื่องมือหนึ่งในการออกแบบเชิงพัฒนาและอนุรักษ์ไปพร้อมๆ กัน การอนุรักษ์ไม่จำเป็นต้องขวาจัด พัฒนาก็ไม่จำเป็นต้องซ้ายจัดเสมอไป”
นอกจาก The Shophouse 1527 จะผสมผสานความเก่าและใหม่เข้าด้วยได้อย่างลงตัวแล้ว อีกแง่หนึ่งอาร์ตสเปซแห่งนี้ยังพยายามลดช่องว่างระหว่างงานศิลปะกับผู้คนให้ขยับเข้ามาใกล้กันมากขึ้น โดยการเติมไลฟ์สไตล์เข้าไปเป็นส่วนประกอบหนึ่งในการออกแบบ
“ศิลปะต้องไม่ลดคุณค่าตัวเองลง แต่ต้องปรับตัว บางคนคิดว่าการปรับตัวคือการลดคุณค่า แต่จริงๆ แล้วการปรับตัวคือการที่ทำให้ตัวเองเปิดรับเพื่อเข้าถึงคนอื่นได้มากขึ้น โดยที่คุณภาพของตัวเองยังต้องคงอยู่และต้องอยู่สูงขึ้นไปเรื่อยๆ ด้วย การปรับตัวจึงเป็นการเข้าใจพฤติกรรมของคนที่เขาอยากจะสื่อสารโดยที่เอาใจเราไปใส่ใจเขา ไม่ใช่เอาใจเขามาใส่ใจเรา เราต้องเดินเข้าไปหาเข้าก่อนแล้วจับมือเขาดึงเข้ามา ไม่ใช่อยู่เฉยๆ แล้วเรียกเขามา เราจึงมองว่าการออกแบบไม่ว่าจะการสื่อสารเชิงกายภาพ การสื่อสารเชิงมิติต่างๆ คำพูดหรือวิธีการ PR ออกไปมันคือการเดินไปจับมือเขาเข้ามา
“เราไม่ได้ทำตัวเองเป็นแกลเลอรีมาก เพราะจากประสบการณ์ของเราแกลเลอรีจะมีอยู่สองแบบ แบบที่เป็นผนังขาวๆ ก็ให้ความรู้สึกทางการเหมือนใส่สูทผูกไท ซึ่งก็มีเสน่ห์อย่างหนึ่ง แต่คนที่แต่งตัวเซอร์ๆ ก็มีเสน่ห์อีกหนึ่งอย่างและพอดูไม่เป็นทางการมากไป ตรงนี้แหละที่อาจจะลดช่องว่างการเข้าถึงศิลปะได้ ส่วนคาเฟ่เองก็เป็นหนึ่งในไลฟ์สไตล์ที่คนยุคปัจจุบันเข้าถึง การดื่มกาแฟมันเป็นชีวิตประจำวันอยู่แล้ว เราก็เลยมองว่าสองสิ่งนี้อยู่ด้วยกันได้ เมื่อเขามาเที่ยวคาเฟ่กาแฟ เขาก็ได้มีเพื่อนใหม่อีกคนหนึ่งที่ชื่อว่าศิลปะอยู่ในที่เดียว”
หลังตกลงกันได้ว่าที่นี่จะมีคาเฟ่ พวกเขาก็ตัดสินใจชวน Labyrinth Cafe ที่เคยติดใจในรสชาติมาทำงานร่วมกัน พร้อมคิดเมนูพิเศษให้แต่ละเดือนรสชาติของกาแฟเปลี่ยนไปตามคอนเทนต์ของแต่ละนิทรรศการ โดยนิทรรศการแรกอย่าง ‘Resonance of Lives at 1527’ เป็นการนำของกินที่เจ้าของบ้านเดิมชอบอย่างลิ้นจี่และโอเลี้ยงมาครีเอตเป็นเมนู ‘Black Magic’ เอสเพรสโซที่อินฟิวส์เข้ากับลิ้นจี่ ออนท็อปด้วยฟองนมนุ่มๆ กลายเป็นความขมที่ผสมหวานได้อย่างเข้ากัน
อีกเมนูที่เป็นซิกเนอร์เจอร์เหมือนกันก็คือ ‘Suan Mei’ กาแฟบ๊วยที่นำมาเชคกับโซดา ที่ดื่มให้ความรู้สึกสดชื่นกระปรี้กระเปร่า ส่วนใครชอบทานขนมก็มี Salted Egg Lava Chinese Cake หรือขนมเปี๊ยะไข่เค็มลาวาโฮมเมดให้ทานเข้าคู่กัน
ฟิวส์เสริมว่า ไม่เพียงเมนูเท่านั้นทีมีการครีเอตขึ้นมาใหม่ตามโอกาส แต่เมล็ดกาแฟเองก็ยังหมุนสลับกันไปแทบทุกเดือนตามแต่ว่าเจ้าของ Labyrinth Cafe จะไปพบเมล็ดกาแฟเด็ดมาจากไหน โดยวันที่เราไปนั้นเป็นเมล็ดกาแฟไทยอย่าง PangKhon Sanchai Estate ที่ให้รสเปรี้ยวเล็กน้อยพร้อมกลิ่นแอปเปิลเขียวและส้ม นอกจากนี้ยังเมล็ดกาแฟจาก Omkoi และเมล็ด Factory Coffee ที่ให้รสและกลิ่นที่ต่างกันออกไปด้วย
หนึ่งปีแห่งการเรียนรู้กับเส้นทางต่อจากนี้
The Shophouse 1527 เปิดให้บริการครั้งแรกเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว จนถึงตอนนี้ก็นับว่าครบหนึ่งปีแล้วระหว่างทางที่ตึกแห่งนี้ดึงดูดผู้คนมากหน้าหลายตาให้เข้าเยี่ยมชม การทำงานบางอย่างเองมีการปรับเปลี่ยนไปตามความเหมาะสมเช่นกัน
ตอนแรกพวกเขาตั้งใจจะจัดนิทรรศการด้วยตัวเองตลอด 2 ปีเต็ม เพื่อเล่าเรื่องเกี่ยวกับสามย่านโดยเฉพาะ แต่แผนทั้งหมดที่วางไว้เมื่อพิจารณาดูอีกทีดูจะเป็นการตีกรอบมากไป สิ่งที่ตั้งใจในตอนแรกจึงถูกเปลี่ยนเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้อื่นเข้ามาแสดงผลงานในพื้นที่นี้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย แต่มีเงื่อนไขสั้นๆ ว่าต้องเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสังคมหรือเมืองเท่านั้น
การให้โอกาสนั้นเองที่ทำให้พวกเขาได้ทำความรู้จักคนอื่นมากขึ้น ได้รู้จักความหลากหลาย ได้รู้จักประสบการณ์ของคนที่เข้ามาแสดงงานหรือคนที่มาเยี่ยมชม ซึ่งก็ว่านับเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์เป้าหมายแล้วในระดับหนึ่ง
“เราคุยกันตั้งแต่แรกว่าการลงทุนในที่นี้ถ้าเราคิดว่าเราให้แล้ว สิ่งที่เราได้มามันอาจจะไม่ใช่เงินนะ แต่เป็นการศึกษาว่าเราได้เรียนรู้อะไรจากการทำที่นี่บ้าง ทำยังไงให้แกลเลอรีอยู่ได้ด้วยตัวมันเอง โดยอาจจะไม่มีการขายงานศิลปะ ไม่ได้มีการเก็บค่าเข้าชม ซึ่งมันอยู่ได้ด้วยวิธีการไหน เราก็ได้วิธีการกลับมา”
“เราก็มีการให้เช่าบ้าง ขายกาแฟบ้าง มันก็พอจุนเจือได้อยู่ แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่ทำให้เรารู้สึกว่ามีความสุขที่ได้ให้คำว่า ‘ขอบคุณ’ มันเป็นคำพูดทรงพลังที่สุด ไม่ว่าจะเหนื่อยแค่ไหนหรือจะขาดทุนก็ตาม แค่ได้ยินคำว่า ‘ขอบคุณมากครับ/ค่ะ’ มันโอเคแล้ว เหมือนเป็นน้ำเปล่าเย็นๆ เวลาเราเหนื่อย”
ตามกำหนดการเดิม The Shophouse 1527 จะต้องปิดตัวลงภายในปีหน้า ซึ่งพวกเขาตั้งใจจัดนิทรรศการสุดท้ายด้วยการทุบตึกหลังนี้ออกด้วยตัวเองทั้งหมด แล้วเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่สาธารณะที่สามารถเดินทะลุไปซอยด้านหลังได้ มีการนำต้นไม้มาปลูก มีเก้าอี้สำหรับนั่งพักผ่อนหย่อนใจ แต่พวกเขาเพิ่งได้ทราบข่าวดีเมื่อไม่นานมานี้ว่า เจ้าของพื้นที่มีการปรับเปลี่ยนแผนพัฒนา จะเปลี่ยนไปทุบตึกบริเวณอื่นก่อนค่อยวนมาบริเวณนี้เป็นที่สุดท้าย นั่นจึงเป็นโอกาสที่พวกเขาจะได้ขยายสัญญาออกไป แต่ก็เป็นความท้าทายมากยิ่งขึ้นว่าจะใช้พื้นที่นี้ทำอะไรต่อ โดยอาจจะไม่ใช่อาร์ตสเปซเหมือนในปัจจุบันอีกแล้วก็ได้ ซึ่งฟิวส์บอกว่าต้องรอติดตามกันดูต่อไป
ปัจจุบันเห็นได้ชัดว่าถนนเส้นนี้ที่เคยมีสภาพเป็นตึกปล่อยร้าง แทบไม่มีคนเดินสัญจรไปมา เริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้ง ตึกที่เคยเงียบเหงาถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นร้านรวงต่างๆ มากขึ้น ปฏิเสธไม่ได้ว่า The Shophouse 1527 ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้คนแวะเวียนมาแถวนี้ด้วยเหมือนกัน ไม่ว่าจะแวะมาดื่มกาแฟหรือชมนิทรรศการก็ตาม แต่ย่านนี้ได้ถูกชุบชีวิตขึ้นมาแล้ว