การระบายความคิดบนพื้นที่สีดำขนาด 50 x 60 ซม. ของ ‘สิเหร่’ ที่ว่าด้วยความมืดและศรัทธา

เราหลบความร้อนแรงของแสงอาทิตย์ช่วงบ่ายเข้ามาที่ VS Gallery ซึ่งกำลังแสดงผลงานของ ‘สิเหร่’ หรือ จิรภัทร อังศุมาลี นักคิด นักเขียน บุปผาชน ผู้เคลื่อนไหวทางการเมือง รวมถึงหนึ่งในกูรูด้านดนตรีแจ๊ซคนหนึ่งในบ้านเรา หลังจากเดินชมงานภาพวาดสีเทียนบทพื้นกระดาษสีดำที่แขวนอยู่เรียงรายเต็มทุกด้านของผนังแกลเลอรี และให้ลมเย็นๆ ของเครื่องปรับอากาศช่วยลดอุณหภูมิของร่างกายให้คลายลง เจ้าของผลงานก็เดินยิ้มตามเข้ามาในห้องพร้อมกับรอยยิ้มที่เรามองเห็นผ่านดวงตาของเขาจากใบหน้าที่อยู่ภายใต้หน้ากากอนามัยนั่นเอง

Oil Pastel on Paper
50 x 60 cm

        “ความเรียบง่ายบางทีก็อาจมีพลังมากกว่างานที่อัดแน่นจนเต็มภาพ” เขาตอบถึงสิ่งที่เราถามไปตรงๆ ว่า การกลับมาทำงานศิลปะในรอบหลายสิบปีครั้งนี้ เขาคลี่คลายสิ่งที่รับรู้ ประสบการณ์ และเรื่องที่อยากเล่าออกมาด้วยวิธีใด หากข้อจำกัดคือ ในทุกเรื่องที่จะเล่าจะอยู่บนกระดาษสีดำที่มีขนาดแค่ 50 x 60 เซนติเมตรเท่านั้น

        “สิ่งแรกเลยคือ ผมอยากทำงานขึ้นมาเพื่อให้คนรุ่นหลังเห็นว่ามีเรื่องอะไรเกิดขึ้นในสังคมตอนนี้” เขาค่อยๆ เรียบเรียงเรื่องราวให้ฟัง

        “ผมอยากทำงานศิลปะสักชุดโดยสะท้อนสิ่งที่สังคมกำลังเป็นอยู่ นั่นคือภาพของคนหนุ่มสาวที่เรียกร้องให้เกิดความเปลี่ยนแปลง เพื่อให้เกิดสิ่งที่ดีขึ้นในอนาคตของพวกเขา แต่โครงสร้างทางสังคมของประเทศนี้มันล้มเหลวไปหมด”

        หนึ่งในงานชุดนี้จึงถูกเล่าผ่านรูปวาดของคนที่สวมใส่ยูนิฟอร์มแบบต่างๆ ติดเรียงรายอยู่ด้านหนึ่งของแกลเลอรี โดยภาพของชุดแต่งกายนั้นไม่ปรากฏใบหน้าหรือส่วนหัวของคนสวมใส่

        “นั่นหมายความว่าคนในรูปเหล่านั้น ไม่เคยใช้ความคิดหรือไม่มีสมองนั่นแหละ” เขากล่าวอย่างติดตลก แต่ก็ยอมรับว่าสิ่งที่เขาสะท้อนออกมานั้นเป็นปัญหาของประเทศที่ยากต่อการแก้ไข

        “สถานการณ์ของสังคมตอนนี้ผมมองว่ามันดำมืดกว่าในยุคของผมด้วยซ้ำ” สิเหร่เล่าย้อนกลับไปถึงเรื่องราวสมัยที่เขายังเป็นหนุ่ม ผ่านการเปลี่ยนแปลงของเรื่องราวในสังคมการเมืองมาอย่างโชกโชน เวลาที่ผ่านมาหลายสิบปีมีทั้งช่วงที่เป็นทั้งแสงสว่างสลับกับความมืดหม่นไปมาเหมือนมีกลางวันกับกลางคืน และตอนนี้เราก็หวังว่าจะเป็นช่วงที่มืดมิดในตอนค่ำคืนที่กำลังรอการมาถึงของรุ่งอรุณที่ทอแสง 

        “แต่ผมยังอยู่ด้วยความฝันว่าสักวันจะมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น” เขายิ้มแล้วมองจ้องไปที่ภาพวาดบุคคลที่อยู่ตรงผนังด้านหน้าที่เป็นภาพวาดของหนุ่มสาวที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยในตอนนี้

สังเคราะห์และสร้างสรรค์

        ปัจจุบันการทำงานศิลปะมีวิธีและเทคนิคให้เลือกใช้มากมาย รวมถึงเครื่องมือในการผลิตชิ้นงานที่พัฒนาขึ้น แต่เขาเองยังหลงใหลและเลือกใช้การเล่าเรื่องด้วยเทคนิคแบบดั้งเดิม โดยเริ่มต้นจากการกลับมาฝึกมือให้คุ้นชินกับการวาดภาพด้วยการหัดดรอว์อิ้งบนกระดาษเป็นร้อยๆ แผ่น เหมือนกับตัวเองเพิ่งเข้ามาเป็นนักศึกษาศิลปะในชั้นปีแรก

        “ผมก็ทำงานด้วยคอมพิวเตอร์บ้างเหมือนกัน แต่ยังไม่ถนัดเท่าการจับดินสอวาดด้วยมือจริงๆ” เขากล่าว

        ส่วนการคิดภาพรวมของงานที่จะนำมาแสดงเป็นนิทรรศการนั้น เขาเล่าว่าต้องสังเคราะห์เรื่องราวที่อยู่ในหัวของตัวเองออกมา ถ้าเป็นเมื่อก่อนเขาคงเลือกที่จะวาดสิ่งที่อยู่ในหัวให้ออกมาจนเต็มแผ่นกระดาษเพราะมีเรื่องที่อยากสื่อสารอยู่เต็มไปหมด แต่เมื่อมาเขียนงานชุดนี้ด้วยวัยตอนนี้ เขาเลือกที่จะแยกส่วนของงานออกมาทีละชิ้นๆ มากกว่า

        “ผมต้องการชี้ให้เห็นว่าระบบต่างๆ ที่เป็นโครงสร้างของการปกครองในสังคมนั้น แม้จะแยกออกจากกันแต่ก็อยู่รวมกันเป็นกลุ่มก้อน การแสดงงานจึงไม่สามารถโชว์งานใดงานหนึ่งอย่างเอกเทศได้ ต้องอยู่รวมกันเป็นกลุ่มก้อน แต่หากเราจะรวมทุกอย่างไว้ในเฟรมเดียวกัน จะทำให้ไม่สามารถเข้าใจความหมายของง่ายได้ง่าย

        “ผมจึงลดความซับซ้อนลง เอาความเรียบง่ายที่สุดไว้ก่อน” เขาสรุป

        แม้การสร้างสรรค์งานจะลดความซับซ้อนลง แต่ด้วยข้อมูลข่าวสารที่ไหลบ่าเข้ามาหาตัวได้ง่ายมากขึ้นกว่าสมัยก่อน ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลกับชุดความคิดของเขาต่อการสร้างงานมากน้อยแค่ไหน เราถามเขากลับ 

        “ผมมองอะไรที่เป็นชุดข้อมูลมากขึ้น เพราะในขณะที่ข้อมูลนั้นส่งมาถึงเราได้ง่ายขึ้น แน่นอนว่ามันก็มีสิ่งที่ทั้งจริงและไม่จริง ดังนั้น เมื่ออะไรเข้ามาเราก็ต้องค่อยๆ กรองข้อมูลนั้นเสียก่อน

        “ผมเชื่อว่าชีวิตของทุกคนต้องมีความเสมอภาค ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นงานเขียนหรือการวาดภาพ ทั้งหมดจะถูกยึดโยงเข้ากับเรื่องพวกนี้ และแม้ผลงานทั้งหมดจะมาจากความชอบในตัวของผมก็ตาม แต่มันก็ต้องสอดรับกับสิ่งที่เป็นอยู่ด้วยเช่นกัน”

        การสร้างสรรค์งานศิลปะ สิ่งหนึ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือการเข้าไปอยู่จมอยู่ในอารมณ์ของผลงาน ไม่ต่างจากการฟังเพลง ที่คนฟังมักจะหลุดเข้าไปอยู่ในอารมณ์ของเพลงนั้นๆ เราจึงอยากรู้ว่า เขารู้สึก ‘หลุดเข้าสู่ผลงาน’ ในครั้งนี้มากน้อยเพียงใด

        “เรื่องนั้นเป็นสิ่งที่คนทำงานต้องมีอยู่แล้ว ต้องเอาความรู้สึกของตัวเองเข้าไปอยู่ในงาน ถ้าไม่มีความรู้สึกนั้นภาพก็จะไม่มีชีวิต” เขาหัวเราะ

        “แต่งานจะดีหรือไม่ดีนั้นอยู่ที่เมื่อคุณทำเสร็จแล้ว คุณกล้าพอที่จะวิพากษ์วิจารณ์งานของตัวเองมากน้อยแค่ไหน” เขาเสริม

        “คุณต้องกล้าที่จะเปิดใจมองว่างานนั้นมีความผิดพลาดตรงไหน เพราะการทำงานศิลปะหัวใจสำคัญคือต้องมีความกล้าที่จะวิพากษ์ของตัวเองสูง”

        ไม่ใช่แค่งานศิลปะเพียงอย่างเดียว แนวคิดนี้สามารถนำมาใช้กับการทำงานด้านอื่นๆ ด้วยเหมือนกัน ถ้าเราสามารถถอยออกมาหนึ่งก้าวแล้วมองดูว่างานที่ทำออกมานั้นยังมีจุดบกพร่องตรงไหน ก็จะสามารถนำบทเรียนนั้นไปใช้ในการพัฒนางานชิ้นต่อไปได้ หากแต่คนที่ไม่เคยวิพากษ์วิจารณ์งานของตัวเองเลย ยังคงยึดอัตตาว่าฉันเก่งฉันทำดีแล้ว แม้จะทำงานออกมานานเกิน 8 ปีก็ตาม ก็แทบจะมองไม่เห็นว่ามีผลงานใดบ้างที่ประสบความสำเร็จหรือถูกพัฒนาให้ดีขึ้นเลย

        “ถ้าเมื่อไหร่ที่คุณคิดว่าตัวเองเก่งแล้ว นั่นก็เท่ากับคุณได้ตายไปแล้ว เพราะคุณจะไม่มีทางพัฒนาอะไรขึ้นมาได้อีกเลย

        “ยิ่งคุณโตขึ้นเท่าไหร่ก็ยิ่งต้องเรียนรู้มากขึ้น” เขากล่าวย้ำ

ดนตรีแจ๊ซกับชีวิตคือเรื่องเดียวกัน

        “ผมชอบฟังเพลงแจ๊ซเพราะเป็นดนตรีที่คุยกับคนฟังได้”

        เขาให้ความหมายของดนตรีแจ๊ซไว้อย่างคร่าวๆ ว่า แจ๊ซจะแบ่งออกเป็นสองฝั่งใหญ่ๆ คือ แจ๊ซจากฝั่งอีสต์โคสต์และเวสต์โคสต์ โดยทางฝั่งตะวันออกนั้นบริบททางดนตรีจะเป็นเรื่องการเมือง สีผิว ชนชั้น ต่างจากแจ๊ซทางตะวันตกที่เป็นความรุ่มรวยของสุนทรียะ การใช้ชีวิต และความสวยงามในภาคของดนตรี

        “การฟังดนตรีแจ๊ซนั้นช่วยให้ผมเอามาใช้กับการเขียนหนังสือ นิยาย เรื่องสั้น โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของความชอบธรรมได้”

        เนื่องจากเขาเป็นนักฟังเพลงแจ๊ซตัวยงคนหนึ่งของเมืองไทย และการคุยกันครั้งนี้จึงทำให้รู้ว่างานนิทรรศการชุดใหม่ที่กำลังทำอยู่นั้น เป็นการตีความจากเพลงแจ๊ซให้ออกมาเป็นภาพวาด ซึ่งตอนนี้เขาได้ทำเสร็จไปแล้วส่วนหนึ่ง

        “ชิ้นที่เสร็จแล้วคือการนำเพลง A Love Supreme ของ John Coltrane มาตีความหมายออกมาเป็นเรื่องของเส้น สี และพื้นที่ ซึ่งดนตรีแจ๊ซจะมีเรื่องเหล่านี้อยู่ในนั้น และนัยยะของเพลง A Love Supreme นั้น John Coltrane แต่งขึ้นมาเพื่อเป็นการสดุดีแก่พระผู้เป็นเจ้า ผมจึงสื่อไปที่ความหมายของความเป็นอมตะ ความสงบ แต่มีสีสันของดนตรีแจ๊ซอยู่ในภาพ”

        แค่ฟังสิ่งที่เขาเล่ามา เราก็พลอยตื่นเต้นอยากเห็นงานชุดนี้ไวๆ  เขาหัวเราะแล้วบอกว่าถ้าไม่มีเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงอะไรที่ทำให้แกลเลอรีต้องหยุดแสดงผลงานไปในแบบสองปีที่ผ่านมา คงได้เห็นงานชุดใหม่ของเขาแน่นอน เมื่อได้ยินอย่างนั้นเราจึงอดถามไม่ได้ว่า แล้วถ้าให้ตีความสังคม ณ วันนี้ผ่านมุมมองด้านดนตรี มันควรจะเป็นดนตรีแจ๊ซแบบไหน

        เสียงหัวเราะดังขึ้นจนก้องแกลเลอรี และเขาก็นิ่งคิดอยู่สักครู่พร้อมกับยิ้มตอบกลับมา

        “บ้านเมืองในตอนนี้ถ้าตีความออกมาเป็นดนตรีแจ๊ซ ผมว่าคงเป็น Free Jazz ที่ต่างคนต่างมา ยังไม่มีความเป็นหนึ่งเดียวกัน แต่กำลังค่อยๆ ผสมกลมกลืนเข้าหากันทีละนิด การที่มีคนออกมาขับเคลื่อน มีการแสดงออกทางสัญลักษณ์ นี่เป็นสิ่งที่ทำให้ผมทึ่งมาก พวกเขาเชื่อมต่อกันได้อย่างรวดเร็ว สิ่งนี้ทำให้คนรุ่นเก่าตกใจมาก และเป็นสิ่งที่แม้แต่คนรุ่นผมในตอนที่ยังเป็นหนุ่มๆ ก็ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้”

        แล้วงานนิทรรศการ Dark ของคุณล่ะ เป็นดนตรีแจ๊ซแบบไหน – เราถามต่อทันที เพราะงานชุดนี้ของเขาคือความเชื่อมโยงของสังคมที่เขาเล่าถึงด้วยเหมือนกัน

        “งานทั้งเซตของผมคงเป็นฟิวชันแจ๊ซยุค 70s ที่มีดนตรีร็อกเข้ามาผสม เช่นเพลงในอัลบั้ม In a Silent Way ของ Miles Davis ก็น่าจะได้”

        งานศิลปะคือการเชื่อมโยงชีวิตในทุกด้าน และไม่มีคำว่าสายสำหรับการเริ่มต้น เหมือนที่เขากลับมาจับสีเทียนวาดรูปอีกครั้ง หลังจากร้างราการวาดภาพไปนานหลายสิบปี จนค่อยๆ ฝึกฝนฝีมือให้กลับมาเข้าที่เข้าทางอีกครั้ง แต่สิ่งหนึ่งที่จำเป็นต้องมีไว้เพื่อเป็นต้นทุนให้เกิดผลงานที่ดีคือองค์ความรู้ ประสบการณ์ ทั้งที่ได้จากการอ่านหนังสือ ฟังเพลง ดูหนัง หรือแม้แต่การเสพผลงานศิลปะ เนื่องจากการผลิตงานศิลปะ คือการเชื่อมต่อถึงกันในงานทุกแขนง ยิ่งดูเยอะ รู้เยอะ ก็จะยิ่งมีวิธีคิดและเทคนิคในการสร้างสรรค์งานออกมาได้หลากหลาย เหมือนที่เขาทิ้งท้ายไว้ให้เราคิดว่า…

        “งานศิลปะยิ่งคุณรู้สึกกับมันเท่าไหร่ งานก็จะยิ่งออกมาดีเท่านั้น”


DARK
Art Exhibition by Jirapatt Aungsumalee

จัดแสดงที่ VS Gallery ตั้งแต่วันนี้ถึง 13 พฤศจิกายน 2564 รายละเอียดเพิ่มเติมที่เฟซบุ๊ก VS Gallery