Doc Club & Pub พื้นที่ว่างเปล่าที่รอเติมเต็มความต้องการให้คนรักหนังสารคดี

ตั้งแต่รู้ว่าทาง Documentary Club จะทำโปรเจกต์ใหม่ชื่อ Doc Club & Pub พร้อมกับการอัพเดตข้อมูลสถานที่เป็นระยะ ภาพในหัวเราก็จินตนาการตามไปด้วยว่า ‘ผับ’ ที่ว่านี้จะมีหน้าตาและบรรยากาศเป็นอย่างไร ยิ่งเป็นการสร้างสรรค์จากคนที่รักการดูหนังสารคดีและเคยเป็นผู้ทำนิตยสาร Bioscope ด้วยแล้ว ก็อดคิดไม่ได้ว่า Doc Club & Pub จะออกมาหน้าตาแบบไหน บรรยากาศจะเป็นอย่างไร ที่แน่ๆ เราเชื่อว่า ที่แห่งนี้ น่าจะเป็นที่รวมตัวของจอมยุทธมากฝีมือที่มานั่งพูดคุย และแลกเปลี่ยนนานาทัศนะในยุทธจักรของหนังสารคดีอย่างไม่ต้องสงสัย 

Doc Club & Pub

Doc Club & Pub ไม่ใช่สถานที่ แต่คือผู้คน

        เมื่อร้านเปิดให้บริการพร้อมกับการคลายล็อกดาวน์กรุงเทพฯ (รอบที่เท่าไหร่เราก็แทบจำไม่ได้แล้ว) เราจึงใช้โอกาสนี้เดินทางไปเยี่ยมเยือนพร้อมกับเล่าสิ่งที่คิดไว้ในหัว ให้ สุภาพ หริมเทพาธิป หรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อ ‘พี่หมู ไบโอสโคป’ แห่งนิตยสารภาพยนตร์ยืนหนึ่งในใจเรา และวันนี้เขาก็เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งพื้นที่ที่เรากำลังมาเยี่ยมเยือนแห่งนี้ 

        เราเริ่มต้นว่า ภาพในหัวของเราก่อนมาที่นี่คือ ภาพของบาร์แจ๊ซสีสันฉูดฉาดเหมือนในหนังฟิล์มนัวร์ยุค 70s เขาหัวเราะขึ้นมาทันทีพร้อมกับบอกว่าตอนแรกตัวเองก็คิดไว้แบบนี้เช่นกัน แต่สุดท้ายบรรยายกาศของ Doc Club & Pub จะเป็นอย่างไร เขาและตัว ธิดา ผลิตผลการพิมพ์ ปล่อยให้ขึ้นอยู่กับคนที่มาที่นี่เป็นผู้ที่ทำให้ภาพของสถานที่ตรงนี้ชัดเจนขึ้นมาเองดีกว่า

        “วันนี้เราไม่ได้รู้สึกว่ามันเป็นภาพสะท้อนของอะไร เราอยากให้ Doc Club & Pub เป็นเหมือนพื้นที่ว่างที่สามารถแปรเปลี่ยนเป็นอะไรก็ได้ตามเนื้อหาที่ถูกเติมเข้ามา แล้วมันจะดึงดูดให้ที่ตรงนี้อบอวลไปด้วยเรื่องราวจากองค์ประกอบที่มีอยู่ เช่น ในรอบนั้นหนังที่เราเอามาฉายมีเนื้อหาที่ร้อนแรงมาก คนที่เข้ามาก็จะมีลักษณะที่สะท้อนตัวเนื้อหานั้นอย่างชัดเจน ส่วนพื้นที่ก็จะมีหน้าที่โอบอุ้ม และรับใช้พวกเขา นำพาคนที่คิดหรือมีความเห็นคล้ายๆ กัน มาพบปะเจอกัน” เขาเล่าความตั้งใจที่จะให้ผับแห่งหนังสารคดีนี้ได้รับใช้คนที่เข้ามาในนี้ให้มากที่สุด

Doc Club & Pub

        เมื่อไม่มีการจำกัดความใดๆ ทุกอณูภายในห้องจึงไม่มีส่วนใดส่วนหนึ่งเป็นพื้นที่โปรดสำหรับเขา หากคุณแวะเวียนมาที่นี่ในแต่ละช่วงเวลาก็จะเจอชายคนนี้อยู่ตามบริเวณต่างๆ ของ Doc Club & Pub อาจจะเป็นส่วนของชั้นหนังสือสีขาวด้านหน้าที่สูงจดเพดาน มุมโซฟาในช่วงที่ไม่มีคนใช้งาน หรือหลังเคาน์เตอร์ที่เขากำลังขมักเขม้นคิดสูตรเครื่องดื่มใหม่ๆ ให้บริการแก่ลูกค้า

        เรานั่งอยู่ตรงโต๊ะกลมสูงกลางห้องระหว่างรอเขาจัดการธุระส่วนตัวเล็กน้อย รอบตัวมีผู้คนเข้ามาใช้บริการจนเกือบเต็ม บางคนก็นั่งอ่านหนังสือเงียบๆ ชายคนหนึ่งเดินเข้ามายังโต๊ะว่างและกางแล็ปท็อปของตัวเองขึ้นมาทำงาน ถัดไปในมุมโซฟาก็มีการล้อมวงคุยกันเบาๆ เมื่อรวมเข้ากับจอโทรทัศน์ขนาดใหญ่ที่แขวนไว้ตรงผนังและฉายหนังสารคดีไปด้วย ก็ทำให้ห้องขนาดหย่อมๆ นี้มีชีวิตชีวาไม่น่าเบื่อ และแน่นอนว่า ต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับโลกที่เราเคยถูกล็อกดาวน์มาหลายเดือนก่อนหน้านี้ 

Doc Club & Pub

        “พอตกแต่งร้านเสร็จเราจำเป็นต้องเอาโต๊ะออกไปสองตัวและจัดพื้นที่ใหม่นิดหน่อย เพื่อรองรับคนได้ดีขึ้น” พี่หมูบอกเราถึงข้อจำกัดในพื้นที่แห่งนี้ และเสริมว่าความสว่างจากประตูกระจกที่สามารถเดินออกไปยังระเบียงและหน้าต่างที่อยู่ทางผนังด้านเดียวกันทำให้เป็นข้อดีของผับแห่งนี้ เพราะมีคนบอกว่าเข้ามาแล้วรู้สึกปลอดภัย มีแสงมากพอในการอ่านหนังสือหรือนั่งทำงาน ซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์แรกที่เขาอยากให้ที่นี่เป็นแบบนั้น

        “ความจอแจที่เกิดขึ้นกลับทำให้คนอยากปลีกตัวเข้าหาตัวหนังสือมากขึ้น” เราพยักหน้าเห็นด้วยตามที่เขาพูด เพราะตัวเองก็เล็งหนังสือ หนังสือ OCTOBER No.3 ระเบียบโลก ระบบการศึกษา และอนาคตประเทศไทย ที่วางอยู่บนชั้นไว้เหมือนกัน

Doc Club & Pub

พื้นที่เติมเต็มของภาพที่ขาดหายไป

        ที่ผ่านมา การเดินทางของ Documentary Club เติบโตอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่เริ่มฉายหนังสารคดีเรื่อง Finding Vivian Maier ที่ผลตอบรับออกมาดีเกินคาด จนกลายเป็นผู้บุกเบิกการนำหนังสารคดีมาฉายในโรงภาพยนตร์ในบ้านเราอย่างต่อเนื่อง มีการขยายออกไปสู่ต่างจังหวัด และเพิ่มโรงฉายในกรุงเทพฯ ต่อมาก็ทำ Doc Club Theater ที่โครงการแวร์เฮาส์ 30 และหยุดไปพักตัวสักพักใหญ่จากการระบาดของโควิด-19 และเกิด Doc Club & Pub ขึ้นมาในวันนี้ 

        “เราสร้างที่นี่ขึ้นมาเพราะมองว่ายังมีบางอย่างที่ขาดหายไปตอนทำ Doc Club Theater จึงอยากให้ภาพของ Documentary Club มีความต่อเนื่องขึ้นจากที่นี่ ซึ่งแต่ละพื้นที่ก็มีข้อดีของตัวเอง แต่ที่ทำมาทั้งหมดตั้งแต่แรก เราไม่ได้มีแนวทางที่ชัดเจนแต่แรก เป็นความอยากทำกันล้วนๆ (หัวเราะ) เชื่อเถอะว่าเดี๋ยวพอตรงนี้นิ่งแล้ว พวกเราก็จะฟุ้งอยากทำนั่นทำนี่ต่ออยู่ดี เพราะพอทุกอย่างนิ่งขึ้น เราจะมองเห็นเองว่ายังขาดอะไรที่ต้องใส่เข้าไปเพิ่มอีก”

        สิ่งที่ขาดไม่ใช่แค่ Doc Club & Pub เท่านั้น แต่เขาหมายถึงทิศทางของการนำหนังสารคดีมาฉายในบ้านเราด้วย เพราะสำหรับเขาตอนนี้ทุกอย่างเหมือนต้องเริ่มต้นกันใหม่หมด รวมทั้งยังมีปัญหาสำคัญในด้านกำแพงภาษาที่เป็นอุปสรรคต่อคนดู เพราะหนังสารคดีนั้นใช้การเล่าผ่านคำพูดจากตัวบุคคลเป็นหลัก ดังนั้น หากไม่มีสมาธิหรือบางเรื่องไม่มีการแปลภาษาไทยก็จะทำให้คนดูน้อยลงไป หรือบางเรื่องที่มีคำศัพท์เฉพาะเจาะจงมากๆ ก็เป็นเรื่องที่ทาง Documentary Club กำลังขบคิดกันว่าจะจัดการอย่างไรดี

Doc Club & Pub

        “หนังสารคดีเรื่อง JFK Revisited: Through the Looking Glass (2021) ของผู้กำกับ โอลิเวอร์ สโตน ก็เป็นโจทย์ยากของเรามาก เพราะหนังมีศัพท์เฉพาะทางการเมืองที่เข้าใจยาก หากไม่มีการแปลความหมายออกมาเป็นภาษาไทย ก็เลิกพูดได้เลยกับคนที่มีอุปสรรคเรื่องภาษาที่เขาจะดูเรื่องนี้”

        ช่วงเวลาที่นั่งคุยกันอยู่นั้น ด้านข้างของร้านซึ่งเป็นโรงหนังกำลังฉายภาพยนตร์เรื่อง กีรติ ศักดินา พญาอนินทรีย์แดง งานดัดแปลง และคิดต่อจากวรรณกรรมคลาสสิก ‘ข้างหลังภาพ’ โดยใช้องค์ประกอบของภาพยนตร์ยุค 16 มม. อย่างหนังชุดอินทรีแดงของ มิตร ชัยบัญชา มาเป็นกิมมิก เราจึงเปิดประเด็นเกี่ยวกับหนังสารคดีในไทยที่แทบนึกไม่ออกเลยว่า ก่อนหน้านี้ในยุคที่อุปกรณ์การถ่ายทำยังคงต้องใช้ทุนสูงมาก ทิศทางของคนทำงานด้านนี้เป็นอย่างไร

        “หนังสารคดีที่ทำเพื่อฉายในโรงหนังมีน้อยมาก คนที่ผลิตส่วนใหญ่ทำจากความอยากของตัวเองทั้งนั้น แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งเขาก็ต้องไปทำอย่างอื่น การทำหนังสารคดียึดเป็นอาชีพไม่ได้” เขาตอบ

        ที่ผ่านมา ครั้งหนึ่งทาง Bioscope ก็เคยทำโปรเจกต์ที่ชื่อ ‘สารคดีข้างบ้าน’ ที่สร้างบุคลากรด้านหนังสารคดีไทยขึ้นมาหลายคน แต่ถ้าย้อนกลับไปไกลอีกหน่อยเราถามเขาไปว่าหนังสารคดีไทยแรกๆ ในความทรงจำเขาคือเรื่องอะไร

Doc Club & Pub

        “น่าจะเป็นเรื่อง ‘สำเพ็ง’ (China Town Montage) ของ สุรพงษ์ พินิจค้า” เขาตอบหลังจากคิดอยู่สักพัก โดยสารคดีเรื่องนี้เป็นการใช้ภาพขาวดำมาร้อยเรียงเข้ากับเพลงประกอบ ไม่มีบทพูด ออกฉายปี พ.ศ. 2525 โดยในตอนนั้นงานชิ้นนี้ได้สร้างข้อถกเถียงถึงคุณค่าของภาพยนตร์ในบ้านเราด้วย

        “ทุกอย่างมีสองด้านด้วยกันทั้งนั้น หนังสารคดีเองก็เช่นเดียวกัน เพราะในยุคก่อนการจะดูหนังสารคดีนั้น วิธีที่ง่ายสุดคือ รับชมผ่านโทรทัศน์ซึ่งบางช่อง บางรายการก็จะฉายสารคดีที่ผลิตออกมาตามแนวทางที่วางไว้ ซึ่งก็เลี่ยงไม่ได้ที่เราจะได้เห็นงานในชุดความคิดแบบเดียวที่ผลิตซ้ำๆ จนกลายเป็นการตอกย้ำแนวคิดบางอย่างไปโดยไม่รู้ตัว

        “เลยอยู่ที่ว่ามันรับใช้ในแง่ของเนื้อหากับเรื่องอะไร” เขากล่าวเสริม และบอกว่าหนังสารคดีที่มีทั้งเรื่องของการต่อสู้ในด้านต่างๆ นั้นก็มี และหนังสารคดีเชิงชวนเชื่อโฆษณาเองก็มีตลอด เช่น Triumph of the Will (1935) โดย Leni Riefenstahl

Doc Club & Pub

        “หนังสารคดีเรื่องนี้ทำออกมามีทั้งคนที่ชื่นชมในแง่ของศิลปะการถ่ายทำ เช่น ฉากการเดินสวนสนามของทหารนาซี ที่ดูยิ่งใหญ่ อลังการ ซึ่งก็มีคนออกมาคนต่อต้านด้วย เพราะเนื้อหาของหนังสารคดีนี้เชิดชู Adolf Hitler และเป็นหนังสารคดีที่ทำมาเพื่อรับใช้นาซี ดังนั้น  ประเด็นนี้มีทุกยุคทุกพื้นที่ของการนำหนังสารคดีไปใช้งานต่างๆ”

        ส่วน Doc Club & Pub ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อรับใช้คนอ่านหนังสือและคนอยากหาหนังสารคดีดูใช่ไหม – เราถามแกมหยอกไป 

        คำตอบที่ได้กลับมาคือ รอยยิ้มกว้างที่ไม่ต้องอาศัยคำพูดมาอธิบาย

Doc Club & Pub


ภาพ: สันธิพงศ์ ศิลปไชย