ดูเหมือนว่าบริเวณชั้น 3 โซน MUNx2 ของห้างสรรพสินค้าซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์ คือพื้นที่ของผู้คนจากหลากหลายคอมมูนิตี้ที่มารวมตัวกัน คราวที่แล้วเรามาพูดคุยกับคอมมูนิตี้ชาวคริปโต ครั้งนี้เรากลับมาอีกครั้งเพื่อรู้จักกับ HOP: Hub Of Photography
คอมมูนิตี้ของเหล่าช่างภาพ ทั้งมืออาชีพ มือสมัครเล่น และผู้คนที่สนใจในศาสตร์ของการถ่ายภาพ ซึ่งมี 3 ช่างภาพที่ทำหน้าที่เป็นแม่เหล็กคอยที่ดึงดูดผู้คนเข้ามายังคอมมูนิตี้แห่งนี้ ได้แก่ ‘ทอม’ – ธีระฉัตร โพธิสิทธิ์ ช่างภาพสายแฟชั่นที่สอดแทรกเรื่องราวทางสังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อมผ่านภาพถ่าย, ‘อีฟ’ – มาริษา รุ่งโรจน์ ช่างภาพสายท่องเที่ยวจากเพจ ABOVE THE MARS และ ‘ผ้าป่าน’ – สิริมา ไชยปรีชาวิทย์ ที่หลงรักภาพถ่ายขาว-ดำ หลายคนรู้จักเธอจากหนึ่งในผู้ก่อตั้งเพจ GroundControl
เส้น (นำ) ทางสู่ความเป็น HOP
อีฟเริ่มต้นเล่าว่า HOP เกิดจากความตั้งใจของผู้บริหาร Seacon Development ที่อยากให้มีพื้นที่เกี่ยวกับการถ่ายภาพ จากนั้นเธอจึงได้รับการชักชวนให้มาร่วมสร้างพื้นที่แห่งนี้ขึ้น “แล้วเราก็เคยร่วมงานกับพี่ทอมและพี่ผ้าป่านมาก่อน เรารู้สึกว่าทั้งสองคนมีความสามารถในวงการภาพถ่ายมากๆ และมีวิสัยทัศน์เดียวกันในการอยากพัฒนาพื้นที่ และร่วมกันสร้างคอมมูนิตี้เพื่อสนับสนุนทุกๆ คน และทุกๆ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับวงการภาพถ่าย”
“วิสัยทัศน์ของผู้บริหาร Seacon Development มองว่าในอนาคตสิ่งที่จะมีมูลค่าขึ้นมา คือการรวมกลุ่มคนเป็นคอมมูนิตี้ แล้วแยกไปเป็นแต่ละส่วน ชอบอะไรร่วมกันก็มาแชร์ มาจอยกัน มาปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน HOP จึงเกิดขึ้นจากความตั้งใจที่จะให้มีพื้นที่ตรงกลางสำหรับทุกคน” ผ้าป่านเสริมต่อ และเมื่อทุกฝ่ายต่างมีหมุดหมายไปในทางเดียวกันแล้ว ช่างภาพทั้งสามคนจึงเริ่มต้นการทำงานร่วมกันก่อตั้งคอมมูนี้ตี้แห่งนี้ขึ้นมา
พวกเขาหยิบยก pain point ที่เหล่าช่างภาพต่างพบเจอกันมา เพื่อสร้างรากฐานคอมมูนิตี้ให้แข็งแรง และตอบโจทย์ในสิ่งที่เหล่าช่างภาพยังขาดโอกาสในจุดนั้นอยู่ โดยผ้าป่านเล่าว่า จากที่ได้พบเจอและพูดคุยกับศิลปินและช่างภาพมากมาย ทำให้รู้ว่าเมืองไทยเรามีพื้นที่เยอะมาก แต่พื้นที่ที่สนับสนุนหรือมีทุนให้ศิลปินพัฒนางานของตัวเองไม่ได้มีเยอะนัก
“ถ้าพูดถึง ecosystem ของการแสดงงาน หรือวงการแกลเลอรีโดยปกติแล้วถ้าเป็นเมืองนอกจะมีการสนับสนุนจากหลายส่วนที่ทำให้เกิดขึ้นจริงได้ แต่ว่าในเมืองไทยไม่ได้มีระบบที่สนับสนุนศิลปินและช่างภาพรอบด้าน เมื่อไม่ครบทุกด้านจึงทำให้ศิลปินต้องสร้างงานเอง ต้องลงทุนเอง แล้วการที่ระบบไม่เอื้อให้เราทุกด้านแบบนี้ เราจึงไม่รู้ว่าคอลเลกเตอร์อยู่ที่ไหน พอไม่เกิดการซื้อขาย การลงทุนก็จะขาดไป จึงเป็นที่มาของคำว่าศิลปินไส้แห้ง”
ทอมเสริมต่อว่าการทำงานในฐานะช่างภาพของเขา เมื่อก่อนไม่ค่อยมีพื้นที่ส่วนกลางให้ช่างภาพมารวมตัว หรือมีกิจกรรมร่วมกันเลย แม้ว่าหลายแกลเลอรีจะมีจัดแสดงนิทรรศการภาพถ่ายหลายแห่ง แต่กลุ่มช่างภาพไม่เคยมีพื้นที่ตรงกลางที่ครบทุกด้าน ทั้งแกลเลอรี พื้นที่จัดกิจกรรมและการเวิร์กช็อป “ดังนั้น จึงเป็นโอกาสที่ดีที่เราสามสามารถนำสิ่งที่พวกเราอยากได้ และเพื่อนพี่น้องในวงการอยากให้เกิดขึ้นมาสร้างเป็นพื้นที่ตรงนี้ขึ้นมา เพื่อให้มีกิจกรรมที่สามารถสนับสนุนทุกๆ คนในวงการภาพถ่ายของไทยได้”
“สิ่งที่พวกเราทำได้คือสร้างพื้นที่ขึ้นมา แต่มันจะมีชีวิตขึ้นมาหรือเปล่านั้นก็ขึ้นอยู่กับกิจกรรม หรือคนที่มารับรู้พื้นที่ตรงนี้แล้วว่าอยากทำอะไรกับพื้นที่ตรงนี้” ผ้าป่านกล่าวต่อ
แม้ทั้งสามคนจะเป็นกลุ่มที่ริเริ่มก่อตั้งพื้นที่นี้ขึ้นมา แต่ไม่ได้อยากให้กิจกรรมมาจากแค่พวกเขาอย่างเดียว กลับกัน ทั้งสามอยากให้ผู้คนในคอมมูนิตี้มีส่วนร่วมในการสร้างกิจกรรมของตัวเองขึ้นมาเช่น ใครอยากจะเปิดตัวโฟโต้บุ๊กก็มาใช้พื้นที่ตรงนี้ได้ หรืออยากทำอะไรก็ติดต่อพวกเขามา “เราแค่อยากจะบอกว่าพื้นที่ตรงนี้สนับสนุนอะไรบ้าง เรามีพื้นที่ แกลเลอรี เรามีทุน มีหนังสือให้เขามาอ่าน ค้นหาได้ หลังจากนั้นก็อยู่ที่พวกเขาแล้วว่าจะมองเห็นพื้นที่นี้เป็นอย่างไร แล้วจะใช้บริการหรือเปล่า”
3 องค์ประกอบหลักของ HOP
HOP: Hub Of Photography แบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 ส่วนหลักด้วยกัน เริ่มจาก Hob Club ที่เรานั่งกันอยู่ตอนนี้ หากพูดง่ายๆ ตรงนี้คือห้องสมุดของช่างภาพโดยเฉพาะ หลักๆ จะมีโฟโต้บุ๊ก หรือหนังสือภาพถ่ายให้ทุกคนที่อยากหาแรงบันดาลใจในการถ่ายภาพได้เข้ามาศึกษากัน
ทอมเสริมว่า “ตรงนี้พวกเราก็เอามาจาก paint point ของตัวเอง จากประสบการณ์ที่พวกเราเติบโตมา เรารู้ว่าการซื้อโฟโต้บุ๊กสักเล่มหนึ่งเพื่อศึกษา ถือว่าเป็นการลงทุนที่สูงมากในประเทศนี้” ดังนั้น ห้องสมุดแห่งนี้จึงเกิดขึ้นมา เพื่ให้เป็นพื้นที่หาแรงบันดาลใจจากการได้ดูโฟโต้บุ๊ก ซึ่งเป็นหนึ่งสิ่งที่ยังขาดอยู่ในวงการช่างภาพเมืองไทย
นอกจากโซนห้องสมุด Hob Club ยังมีโซนที่เปิดโอกาสให้ช่างภาพนำของมาขายไม่ว่าจะเป็นโฟโต้บุ๊กของตัวเอง โปสต์การ์ด หรือสินค้าอื่นๆ แต่กิมมิกสำคัญคือ ลูกค้าจะไม่สามารถซื้อจากหน้าร้าน เพราะสินค้าที่ตั้งโชว์อยู่ต่างเป็น display ที่นำมาวางโชว์ หากสนใจอยากซื้อสามารถติดต่อซื้อกับศิลปินและช่างภาพได้โดยตรงจากช่องทางที่แนบเอาไว้
“แบบนี้เปอร์เซ็นต์ที่คนจะซื้อสินค้ามีมากแค่ไหน สมมติถ้าเราซื้อจากตรงนี้โดยตรงเลยไม่ดีกว่าเหรอ” เราถามด้วยความสงสัย ทอมจึงให้เหตุผลว่า
“เราไม่ได้ถนัดในการขาย ความตั้งใจของโซนแกลเลอรีคือทำให้เป็น display ถ้ามองจากตัวเองเป็นหลักเวลาเราไปเดินห้างเราก็ขี้เกียจแบกอะไรเยอะแยะ จึงอาจจะดีที่เรามีโซน display เพื่อให้คนที่สนใจในงานของศิลปินคนนั้นได้พุดคุยกับศิลปินโดยตรง เพื่อเป็นการช่วยผลักดันศิลปินทางอ้อม ช่วยสร้างอีคอมเมิร์ซต่อยอดงานชิ้นต่อๆ ไป เพราะศิลปินในต่างประเทศนั้น เวลามีการซื้อขายกับคอลเลกเตอร์ มักจะมีการติดต่อกันโดยตรง ซึ่งเราอยากให้เกิดขึ้นกับวงการภาพถ่ายของบ้านเราด้วยเหมือนกัน”
ห้องต่อมาคือ Hob Photo Gallery เป็นแกลเลอรีหลักสำหรับช่างภาพที่เคยมีนิทรรศการมาก่อน โดยห้องนี้จะร่วมมือกับเหล่าภัณฑารักษ์ (Curator) แนวหน้าเพื่อสร้างสรรค์รูปแบบการจัดแสดงงานที่เหมาะสม ดังเช่นนิทรรศการที่เรามาชมในครั้งนี้ที่ชื่อว่า ‘Body Universe’ ซึ่งได้ นิ่ม นิยมศิลป์ และ เอกรัตน์ ปัญญะธารา มารับหน้าที่เป็นคิวเรเตอร์
และน้องเล็กห้องสุดท้ายคือ WHOOP! เป็นห้องที่สนับสนุนให้ช่างภาพหน้าใหม่ซึ่งมีผลงานมาแล้วระดับหนึ่ง แต่ยังไม่มีประสบการณ์ในการทำงาน ได้มาจัดแสดงงานของตัวเอง และการแบ่งห้องจัดนิทรรศการเป็นสองห้องนี้ยังทำให้เกิดการพบปะกันระหว่างช่างภาพหน้าใหม่กับช่างภาพมืออาชีพ เพื่อสานสัมพันธ์ให้เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของกันและกันมากขึ้น
Take a ‘HOP’
“จำได้ไหมว่าครั้งแรกที่ไปดูนิทรรศการ มีความรู้สึกอย่างไร” เราถาม ทั้งสามคนนิ่งไปชั่วครู่ก่อนจะตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า “จำไม่ได้แล้ว” เพราะครั้งแรกที่ได้ดู พวกเขายังไม่ได้หลงใหลในภาพถ่ายขนาดนั้น แต่ความรู้สึกชื่นชอบเกิดขึ้นหลังจากเริ่มหันมาสนใจในการถ่ายภาพมากกว่า
“เมื่อภาพบางภาพ หรือศิลปะบางชิ้นทำให้เรารู้สึกเชื่อมต่อกับมันได้ เราก็อยากรู้เรื่องความเป็นมา แนวคิด และการทำงานของศิลปินคนนั้นให้มากขึ้น จนเริ่มมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา ทุกวันนี้ก็เลยเข้าแต่แกลเลอรี มีงานหนึ่งที่เราเคยไปดูช่วงพยายามค้นหาตัวเองว่าเราชอบศิลปะแบบไหน แล้วมีห้องหนึ่งเป็นภาพสีน้ำมัน เรารู้สึกว่าถึงแม้เราจะไม่ได้ชอบศิลปะแนวนี้ แต่แท้จริงแล้วมันเป็นอะไรก็ได้ แล้วแต่วิธีการมอง วิธีการเล่าเรื่องของผู้ผลิตผลงานชิ้นนั้น นั่นทำให้วิธีการมองของเราเปลี่ยนไป เริ่มสนใจศิลปะมากขึ้น” ทอมบอก
“สิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจเรา และคิดว่าช่างภาพหลายๆ คนก็น่าจะเป็นแบบนั้นคือโฟโต้บุ๊ก หลายคนจะบอกว่าศึกษาจากโฟโต้บุ๊ก อาจจะไม่ได้เป็นเล่มๆ แต่ดูในอินเทอร์เน็ตก็ได้ จำได้ว่าครั้งแรกที่เราดู เป็นงานรวมภาพสตรีท รู้สึกอินมากๆ ทำให้ต้องหาซื้อโฟโต้บุ๊กมาดูเรื่อยๆ จนถึงจุดหนึ่งเราจึงอยากทำบ้าง ซึ่งจุดเริ่มต้นของเรามาจากตรงนั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นแกลเลอรีอย่างเดียวที่จะส่งต่อแรงบันดาลใจ แต่อยู่ที่เราเปิดใจรับหรือเปล่า เพราะทุกสิ่งล้วนอยู่รอบๆ ตัวเรา” ผ้าป่านเสริมในมุมของตัวเอง
“รู้สึกว่าทุกครั้งที่เราได้ไปดูนิทรรศการเราจะได้บางอย่างกลับมา ได้รับแรงบันดาลใจที่อยากจะสร้างสรรค์ผลงาน นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมเราถึงอยากจะมี HOP และต้องมีส่วนของแกลเลอรี เพราะว่ามันยังมีคนอีกมากที่ยังไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร หรืออาจจะมีคนที่อยากเป็นแบบศิลปินท่านนี้ หรือยังไม่รู้แนวทางของตัวเอง
การที่เขาได้เห็นพื้นที่ที่ดูจริงจังก็จะทำให้เขาเห็นมาตรฐานของการจัดงาน ส่วนห้อง WHOOP! ที่ดูเป็นอะไรก็ได้อาจทำให้เขาได้ไอเดีย ได้แรงบันดาลใจมากมาย การมีพื้นในการทำนิทรรศการมันสร้างแรงบันดาลใจได้มากจริงๆ แค่นึกย้อนกลับไปวันที่ตัวเองอายุ 20 ต้นๆ ได้ดูตั้งแต่วิธีการติดงาน มีภาพที่สวยขนาดนี้ ทำให้เราเห็นแนวทางของตัวเอง เราคิดว่านี่คือส่วนสำคัญที่ทำให้เราอยากสร้างพื้นที่ตรงนี้ขึ้นมา” อีฟตอบเป็นคนสุดท้าย
ช่วงท้ายของการสนทนา พวกเราคุยกันถึงการเข้ามามีอิทธิพลของ NFT และเมตาเวิร์ส ทำให้ความสำคัญของพื้นที่และงานทางกายภาพลดลงไปหรือไม่ ซึ่งทั้งสามคนให้ความเห็นว่าสำหรับเจเนอเรชันพวกเขาที่เติบโตมากับ physical space ยังอินกับการที่ผลงานสามารถจับต้องได้อยู่ แต่สำหรับคนเจเนอเรชันใหม่ที่เติบโตมากับโลกออนไลน์ ก็อาจจะไม่ได้อินกับสัมผัสทางกายภาพมากเท่าพวกเขา
“ในอนาคตต่อไปเราจะยังมีพื้นที่ที่เป็น physical space อยู่ แต่เราสามารถใส่แว่น VR (Virtual Reality) ทำให้มีอะไรมากกว่านั้น แต่ยังไงเราก็ยังคงต้องใช้พื้นที่ on ground อยู่ รวมถึงมีการผสมผสานระหว่างโลกทั้งสองเข้าด้วยกัน เพราะเราก็ยังเป็นมนุษย์ที่อยู่บนโลกใบนี้ หรืออาจจะไม่มีเลยก็ได้
แต่อย่างไรก็ตาม เราเห็นว่า NFT ค่อนข้างมาแรง เราก็อยากจะอยู่ในช่วงเวลาที่ทุกคนให้ความสนใจ ดังนั้น นิทรรศการถัดไปที่เรากำลังจะจัดขึ้นก็เกี่ยวกับ NFT โดยจัดที่ห้อง Hob Photo Gallery ทาง Curator จะเตรียมพื้นที่ในการสแกนคิวอาร์โค้ดเพื่อให้เราได้ไปอยู่ในแกลเลอรีอีกโลก เริ่มเปิดให้เข้าชมได้ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ นิทรรศการนั้นชื่อว่า MINT” อีฟกล่าวปิดท้าย
‘MINT’ คือนิทรรศการที่แสดงภาพรวมของวิวัฒนาการผลงานภาพถ่ายในระยะเวลาหลายทศวรรษ จากจุดเริ่มต้น-สู่การเข้าถึงวงจรศิลปะร่วมสมัย โดยมีความมุ่งหวังที่จะตั้งคำถามในการหาจุดยืน ความเป็นไปได้ การประเมินค่า และความเป็นศิลปะร่วมสมัยของภาพถ่ายในระบบนิเวศศิลปะใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในยุคปัจจุบัน”
รายชื่อศิลปินที่เข้าร่วมจัดแสดงในนิทรรศการ ได้แก่ อัครา นักทำนา / ชาคริต ลีลาชูพงศ์ / DD flection / Draft September / กันต์รพี โชคไพบูลย์ / ณัฐชัช วชิรวราการ / ณัฐวัฒน์ ตั้งธนกิจโรจน์ / ณัฐพล ชัยวรวัฒน์ / ปวรุตม์ งามเอกอุดมพงศ์ / วัชรภัทร คงขาว / William Barrington-Binns
งานนี้เปิดให้เข้าชมฟรี ตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์-17 เมษายน 2565 ที่ HOP Photo Gallery ชั้น 3 ซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์
เรื่อง: คุลิกา แก้วนาหลวง | ภาพ: แพรวา ชัยแสงจันทร์