“มีอยู่วันหนึ่ง ผมเดินเข้ามาในพรรค เห็นศิลปินกำลังระบายสีตรงกำแพงข้างบันได เห็นทีแรกก็ชะงักไปนิดหนึ่ง…”
กรณ์ จาติกวณิช นั่งเอนหลังสบายๆ พลางย้อนเล่าที่มาของ ‘กำแพงกราฟฟิตี้’ ที่ถูกเพนต์อย่างสวยงาม บริเวณกำแพงทางขึ้นของสำนักงานพรรค “ตอนที่เขาลงมือทำ ผมก็เพิ่งมารู้ แต่ผมว่าดี อะไรที่เชื่อว่าทำแล้วดี มีความคิดสร้างสรรค์ และสร้างความแตกต่าง สำหรับพรรคเรา เราจะเดินไปทางนั้น”
หัวหน้าพรรคการเมืองที่ใช้ชื่อว่า ‘พรรคกล้า’ ตอกย้ำถึงที่มาและแนวคิดการทำงานของพรรคให้เห็นอย่างชัดเจน ซึ่งการระบายสีสันลงบนกำแพงของพรรค ถือเป็นหนึ่งในความกล้าที่จะแตกต่าง แถมยังน่าจะเคลมอีกได้ด้วยว่า พวกเขาเป็นพรรคการเมืองพรรคแรกของประเทศไทย ที่ ‘กล้า’ เพ้นต์กำแพงด้วยสีสันฉูดฉาดแบบนี้
เพราะสะดุดตากับภาพกำแพงสวยๆ ชิ้นนี้มาตั้งแต่เมื่อครั้งที่กรณ์ โพสต์ลงในโซเชียลมีเดียส่วนตัวของเขา ทำให้เราเดินทางมาร่วมพูดคุยถึงที่มาที่ไปของไอเดียเหล่านี้ แถมยังถือเป็นเป็นการ ‘มาเยี่ยมพรรคกล้า’ ที่ทำการพรรคที่เพิ่งเปิดมาได้ปีกว่าๆ อีกด้วย งานนี้นอกจากหัวหน้าพรรคอย่างกรณ์แล้ว ยังมี พายุ เนื่องจำนงค์ สมาชิกพรรครุ่นใหม่ (ที่เป็นผู้ริเริ่มโปรเจกต์การพ่นกำแพงนี้) มาร่วมสนทนาด้วยอีกคน
นอกจากกำแพงสวยๆ พื้นที่แห่งนี้ยังเต็มไปด้วยความมุ่งมั่นในการทำกิจกรรมทางการเมืองในแบบฉบับที่เป็น ‘เส้นทางของตัวเอง’ โดยมาพร้อมชื่อ ‘กล้า’ คำที่เหมือนการประทับตราว่า นับจากนี้ไป การทำงานบนการเมืองไทย จะต้องแตกต่างไปจากเดิม…
1
เปลี่ยนตึกร้างให้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งการลงมือทำ
ใครที่เคยผ่านไปย่านรัชดา เลยผ่านสี่แยกรัชโยธินมาไม่ไกล คงสะดุดตากับอาคารสีน้ำเงินเข้มที่ตั้งโดดเด่นริมถนน พร้อมกับสัญลักษณ์รูปกำปั้นมือสีเหลืองสดใสที่เพ้นต์อยู่บนกำแพง ที่นี่คือสำนักงานของพรรคการเมืองน้องใหม่ ที่มีอายุงานเฉียดๆ จะ 2 ปี พวกเขาตั้งชื่อให้มันว่า พรรคกล้า
“ผมยังจำวันแรกที่มาดูตึกแห่งนี้ได้แม่นยำเลย เป็นเลขาฯ อรรถวิชช์ (สุวรรณภักดี) พาผมมาดู เขาบอก พี่ๆ มาดูที่ตึกนี้หน่อย พอผมมาถึง สิ่งแรกที่นึกในใจ เราคงต้องทุบตึกนี้ทิ้งก่อนเป็นอย่างแรก (หัวเราะ) ด้วยความที่มันเป็นอาคารเก่า ซึ่งทีแรกผมนึกไม่ออกจริงๆ ว่ามันจะสามารถปรับปรุงให้ออกมาเป็นสำนักงานพรรคได้ยังไง แต่เป็นอรรถวิชช์ที่เขาตาถึงกว่าผม สุดท้ายเราก็ได้ตึกนี้มา แล้วเริ่มต้นปรับปรุงให้มันกลายมาเป็นที่ทำการพรรคในที่สุด”
กรณ์เริ่มต้นเล่าถึงภาพแรกของ ‘สำนักงานพรรคกล้า’ ซึ่งในเวลาต่อมา เขาและทีมงานใช้เวลาไม่นานนัก ในการแปลงโฉมอาคารเก่าแห่งนี้ให้กลายเป็นสำนักงานของพรรค แถมในช่วงแรกเริ่ม เจ้าตัวกับเลขาธิการพรรคอย่างอรรถวิชช์ ยังเป็นผู้ลงมือทาสีพรรคด้วยตัวเองอีกด้วย
“เราปีนขึ้นไปช่วยกันทาบริเวณกำแพงด้านหน้าของพรรค พอทำไปสักพักเราก็มาคิดได้ว่า ของบางอย่างเราคงไม่ได้เกิดมาเพื่อการณ์นี้ (หัวเราะ) คือพูดง่ายๆ ว่า มันยากกว่าที่คิด เราจึงให้ช่างทาสีเขาเป็นผู้ลงมือทำดีกว่า ให้เขาทาทับสีที่เราทาลงไปที่ไม่ค่อยจะสมบูรณ์นัก แต่มันก็สะท้อนในเจตนารมณ์ของเรานับตั้งแต่ต้นว่า เราอยากให้ที่นี่เป็นเหมือนกระดาษสีขาว ที่ทุกคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถเดินเข้ามาระบายสีสัน มาร่วมมือกับเราได้เสมอ และที่สำคัญ ความผิดพลาดไม่ใช่ประเด็นสำคัญ หากแต่การเรียนรู้ที่จะลงมือทำเป็นเรื่องสำคัญกว่า เมื่อทำแล้วผิดพลาด ก็ปรับปรุง แก้ไข แล้วสร้างมันใหม่ให้ดีขึ้นกว่าเดิม”
จากสีสันที่เกิดขึ้นทั่วตัวตึก มาถึง ‘โลโก้พรรค’ ที่ชูเป็นรูปกำปั้นมือสีเหลือง เรื่องนี้เจ้าของพรรคได้เล่าถึงที่มาเช่นกันว่า ต้องผ่านกระบวนการคิดและกลั่นกรองมาไม่น้อย
“ก่อนจะมาเป็นโลโก้พรรคอย่างที่เห็น ต้องเริ่มจากที่มาของชื่อพรรคก่อน ขั้นตอนแรกผมโยนลงไปถามในสื่อโซเชี่ยล ว่าขอให้ช่วยกันตั้งชื่อพรรค ปรากฏว่ามีคนเสนอชื่อกลับมาเป็นแสนชื่อ ผมนัดทีมงาน และกลุ่มเพื่อนๆ อีกหลายคน มาช่วยกันคัดกรอง ตอนนั้นเราอยากได้ชื่อที่ตรงต่อความตั้งใจของเราที่มีต่อพรรคนี้
“จนมาได้ชื่อว่า พรรคกล้า ซึ่งมีคำถามจากผู้คนมากมาย เช่น เป็นชื่อพรรคคำเดียว ไม่ดูแปลกไปใช่ไหม หรือคำว่ากล้า ไม่ดูท้าทายเกินไปใช่ไหม ทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นคำถามที่ชวนกังวล (ยิ้ม) แต่สุดท้ายเราก็ตัดสินใจที่จะยืนอยู่กับคำนี้ คือคำว่า กล้า
“พอเคาะชื่อได้ มาสู่การคิดโลโก้ของพรรค ทางดีไซเนอร์ออกแบบมาให้เราเลือกกัน พอทุกคนได้เห็นโลโก้ตัวนี้ รู้สึกเหมือนกันว่า นี่แหละ ใช่เลย ด้วยรูปลักษณ์มันคือกำปั้น แต่ในคราวเดียวกัน ยังถูกออกแบบให้ดูคล้ายกับหลอดไฟ ซึ่งสะท้อนถึงความสร้างสรรค์ ความโปร่งใส แต่ในมุมกลับกัน ถ้ามองเป็นกำปั้น มันก็คือการลงมือทำ ความมั่นใจในสิ่งที่ทำ
“ส่วนสีเหลืองบนรูปกำปั้น เป็นสีที่สื่อถึงความคิดสร้างสรรค์ การปลุกเร้า ความสนุก พอรูปกำปั้นมาอยู่บนพื้นกำแพงสีน้ำเงิน จึงรวมกันเป็นความคิดสร้างสรรค์ที่มีความหนักแน่น เป็นความหนักแน่นในการลงมือทำ และเนื่องจากเราเป็นพรรคใหม่ เราจะทำยังไงให้คนคุ้นเคยกับพรรค จึงเป็นที่มาของการวาดภาพกำปั้นบนตัวตึก เพื่อทำให้คนเห็นและจดจำเรามากขึ้น แต่ในอีกมุมหนึ่ง การทำแบบนี้ ยังไม่เคยมีพรรคการเมืองไทยแห่งไหน เคยทำมาก่อนเช่นกัน”
2
กำแพงกราฟฟิตี้ กับดีเอ็นเอของพรรค
จากตัวอาคารสีน้ำเงินเข้มที่โดดเด่นสะดุดตา เดินเข้ามาถึงทางขึ้นบันไดสู่ชั้นสองของที่ทำการพรรค หากเหลือบไปมองด้านข้างบริเวณใกล้ๆ กัน ทางพรรคได้ออกแบบให้เป็นสวนเล็กๆ มีต้นไม้สีเขียวน้อยใหญ่ไว้พักสายตา แต่ที่สะดุดตาอย่างแรงคงหนีไม่พ้นผลงานศิลปะกราฟฟิตี้ ที่ถูกเพนต์เอาไว้บนกำแพง ด้วยลวดลายและสีสันที่เห็น หากดูแวบแรก คงไม่มีใครนึกว่าที่นี่จะเป็นที่ทำการพรรคการเมือง
“มันมีอยู่วันหนึ่ง ผมเดินเข้ามาในพรรค เห็นศิลปินสตรีตอาร์ตในนามว่าโอเมก้า (Omeka) กำลังระบายสีอยู่ตรงบันไดทางขึ้นข้างล่าง พอเหลียวไปมองข้างๆ กัน เห็นพายุกำลังยืนคุมเกมอยู่”
กรณ์เล่าถึงที่มาของการสร้างงานสตรีตอาร์ตบนกำแพงของพรรค โดยมี พายุ เนื่องจำนงค์ สมาชิกของพรรคที่เป็นต้นเรื่องของโปรเจกต์นี้ มาช่วยขยายความให้ฟังต่อ
“ที่มาของโปรเจกต์นี้ เกิดจากการที่ทางพรรคให้ความสำคัญกับเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ หรือเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เป็นการช่วยกันผลักดันคนที่มีความสามารถ แต่ไม่มีโอกาสแสดงออกมาให้ผู้คนจำนวนมากได้เห็น จึงเป็นที่มาของการนำศิลปินแนวสตรีทอาร์ตมาสร้างสรรค์ผลงานลงบนกำแพงของสำนักงานพรรค นอกจากความสวยงาม ยังทำให้เขาได้ต่อยอดอาชีพของเขาอีกด้วย”
พายุเล่าถึงที่มา พร้อมบอกอีกว่า ศิลปิน Omeka หรือ ‘เมฆ’ ที่ชวนมาร่วมงานกันนั้น ไม่ได้รู้จักกันมาก่อน เขาเริ่มต้นจากการลองเสิร์ชหาชื่อศิลปินแนวนี้ ก่อนจะมาลงตัวที่ผลงานของ Omeka จากนั้นจึงได้ติดต่อไป พร้อมกับถามตรงๆ ว่า ติดขัดอะไรหรือไม่ ถ้าจะชวนมาสร้างผลงานบนกำแพงของพรรคการเมือง ซึ่งสุดท้ายทางศิลปิน Omeka ก็ได้ตอบตกลงที่จะมาร่วมสนุกกับงานครั้งนี้
“เราได้อาร์ทิสต์ที่เขาเชื่อมั่นในแนวคิดของเรา” พายุเล่าต่อ “ซึ่งเราไม่ได้ออกแบบโจทย์ให้เขาทำตามที่สั่ง เราเพียงบอกกับเขาว่า ขอให้มันเป็นอะไรที่มีดีเอ็นเอของพรรค เขาจึงนำภาพโลโก้ของพรรคที่เป็นรูปกำปั้น มาตีความให้ออกมาในเวอร์ชันที่เป็นสไตล์งานของเขา ซึ่งสิ่งที่ปรากฏออกมา นอกจากมันจะสวยงามแล้ว มันยังสะท้อนตัวตนของพรรคได้เป็นอย่างดี และตัวเจ้าของผลงานเองก็มีความภาคภูมิใจเช่นกัน”
หากจะบอกว่านี่คือภาพลักษณ์ที่แตกต่างออกไปจากพรรคการเมืองไทยอื่นๆ คงไม่ผิดไปนัก แต่เหนือสิ่งอื่นใด โปรเจ็คต์นี้ได้ช่วยตอกย้ำถึงแนวคิดของพรรคที่ประกาศตัวอย่างชัดเจนมาตลอดว่า ‘ต้องกล้าที่จะลงมือทำ’
“สำหรับผม มันไม่ใช่แค่เป็นมุมกำแพงสวยๆ” กรณ์ช่วยเสริมต่อ “แต่มันสะท้อนไปถึงวัฒนธรรมของพรรค คือการที่ทุกคนมั่นใจและมีความกล้าที่จะทำอะไรใหม่ๆ อย่างโปรเจกต์นี้พายุเขาก็ไม่เคยมาปรึกษาผม แต่ผมกลับดีใจที่พายุมีความมั่นใจว่าจะทำการนี้ได้ โดยไม่มีความจำเป็นที่จะต้องขออนุมัติจากเลขาธิการพรรค หรือแม้แต่หัวหน้าพรรค เพราะมั่นใจว่าไม่ได้ทำอะไรผิดแน่นอน หรือถ้าอย่างเลวร้าย เกิดหัวหน้าพรรคอย่างผมไม่ชอบ ก็แค่ลบทิ้ง หรือเอาสีมาทาทับ เท่านั้นเอง มันไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายอะไร แต่นัยยะสำคัญที่ได้จากกิจกรรมนี้ต่างหากที่เป็นเรื่องสำคัญ มันคือการสะท้อนความเป็นพรรคกล้า ขอให้คุณมีความเชื่อมั่น มีความคิดสร้างสรรค์ที่ดี มาเลย มาแสดงตัวตนกับเรา มาช่วยกันตอกย้ำแนวคิดปฏิบัตินิยมที่ทางพรรคชูขึ้นมา คือคิดอะไรดีๆ ขึ้นมาได้ จงลงมือทำ”
3
พื้นที่ของการกล้าลอง… กล้าทำ… และที่สุดคือการได้เรียนรู้
ช่วงหนึ่งของการสนทนา กรณ์เล่าอย่างอารมณ์ดีว่า เดี๋ยวนี้เวลามีแขกมาเยี่ยมที่สำนักงานพรรค บริเวณกำแพงที่เป็นผลงานกราฟฟิตี้ กลายเป็นจุดเช็กอินไว้ให้กับบรรดาแขกได้แอ็กชันถ่ายรูปกัน และต่อไปในอนาคต ทีมงานพรรคกำลังพิจารณาศิลปินคนอื่นๆ ให้มาร่วมสร้างสีสันบนกำแพงในบริเวณอื่นๆ ของพรรคต่อไป รวมทั้งยังมีโปรเจ็กต์อีกมากมาย ที่เตรียมส่งออกมาเพื่อสร้างโอกาสให้กับผู้คนในสังคม
“ผมมองว่าหน้าที่ของพรรคการเมือง ต้องช่วยสร้างโอกาส เหมือนเป็นพื้นที่ให้คนได้มาโชว์ความสามารถ ยกตัวอย่างเช่นศิลปิน Omeka หลังจากที่เขาสร้างสรรค์งานให้เราไป เริ่มมีคนติดต่องานเข้ามามากขึ้น บางออฟฟิศเริ่มเห็นว่า ขนาดพรรคการเมืองยังกล้าเพนต์กำแพงเป็นงานศิลปะได้ขนาดนี้ ทำไมออฟฟิศเขาจะทำแบบเดียวบ้างไม่ได้ เรื่องเหล่านี้คือการต่อยอด และที่สำคัญ มันเกิดการสร้างงานให้กับคนตัวเล็กๆ ซึ่งตรงนี้คือความตั้งใจของเราตั้งแต่แรกเริ่ม
“ที่ผ่านมา เราริเริ่มโปรเจกต์หลายอย่าง เช่น ทุกวันอังคาร เราจะมีการไลฟ์สดการเล่นดนตรีจากที่ทำการพรรค เนื่องจากเรามีทีมงานที่มีความสามารถทางดนตรีอยู่เป็นจำนวนมาก บางคนเป็นนักดนตรีระดับชาติ เราจึงอยากผลักดันเขา ระหว่างการไลฟ์สด ผมก็จะไปแจมพูดคุยเรื่องการเมืองบ้าง เราอยากทำพื้นที่ตรงนี้ให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์อย่างแท้จริง
“หรือแม้แต่ในโลกของเทคฯ เราเคยทำ NFT ออกมาขาย โครงการนี้เราเรียกว่า Mission Pawsible ด้วยความที่เราอยากเรียนรู้วงการ NFT ซึ่งเป็นของใหม่ เราจึงลองทำผลงาน NFT ออกมาขาย พอดีที่บ้านผมเลี้ยงสุนัขอยู่หลายตัว มีสุนัขพันธุ์เฟรนช์ บูลด็อกอยู่ 20 ตัว ผมให้น้องที่รู้จักกัน เขาเป็นดิจิทัลอาร์ทิสต์มาช่วยครีเอตภาพสุนัขเหล่านี้ขึ้นมา จากนั้นเอาไปขายในแพลตฟอร์ม OpenSea แล้วเอาเงินที่ได้ไปบริจาคให้กับศูนย์พักพิงสัตว์ต่างๆ
“คือนอกจากจะได้เงินบริจาค จากประสบการณ์ที่ได้เข้าไปขายผลงาน NFT ทำให้เรากล้าพูดอย่างเต็มปากว่า นี่เป็นโอกาสของศิลปินไทย รวมไปถึงโอกาสในการสร้างแพลตฟอร์มของเราเอง อย่าให้กลายเป็นว่าผมในฐานะคนไทยคนหนึ่ง ซึ่งมีงานศิลปะของศิลปินไทยคนหนึ่ง แต่ต้องเอาไปขายในแพลตฟอร์มของต่างประเทศ เราควรที่จะมีแพลตฟอร์มของคนไทยด้วยกันเอง ต้องสร้างโอกาสกับเรื่องเหล่านี้ให้มากยิ่งขึ้น”
ในหลากหลายโปรเจกต์ที่หัวหน้าพรรคคนนี้ได้เล่าให้ฟัง เขาย้ำว่า ต่อให้มันจะไม่สำเร็จ แต่สิ่งที่เขาคาดหวัง คือการได้ลงมือเพื่อให้รู้จริงต่างหาก
“การลงมือทำ เป็นวิธีเดียวที่จะทำให้เรารู้จริง ยิ่งถ้ารู้ว่ามีคนที่ทำเรื่องนี้อยู่เหมือนกับเรา เขาต้องเจอกับปัญหา หรือข้อจำกัดอะไร เรา-ในฐานะพรรคการเมือง ควรมีส่วนที่จะเข้าไปช่วยแก้ปมเหล่านั้น แล้วพอทำไปเรื่อยๆ คนจะเข้าใจเรามากขึ้น ทีนี้ก็จะเริ่มมีคนที่คิดแบบเดียวกัน หรืออยากทำแบบเดียวกัน เข้ามาร่วมกับเรามากขึ้น ผมหวังว่าเราจะขยายฐาน ขยายวิธีคิดแบบนี้ ออกไปสู่โลกที่กว้างขึ้นเรื่อยๆ
“ผมเชื่อว่าทัศนคติแบบนี้ มันเป็นวิธีที่จะพัฒนาประเทศ สร้างโอกาสโดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ มันเป็นทัศนคติของคนที่คิดอยากจะสร้าง อยากจะแก้ปัญหาจริงๆ ไม่ใช่ทัศนคติของคนที่เป็นเพียงแค่นักวิจารณ์ หรือต้องการพูดเพียงแค่เอามัน แล้วก็ผ่านไป”
4
พรรคกล้า… กับการเมืองยุค 2022
อาคารเลขที่ 86/12 ขนาด 3 ชั้นแห่งนี้ เปิดทำการมาได้กว่า 1 ปี จากวันที่เคยเป็นตึกเก่าไม่ได้ใช้งาน วันนี้ได้กลายเป็นตึกสีสวยโดดเด่น ที่สำคัญ พลังสร้างสรรค์ที่อยู่ภายในสำนักงานแห่งนี้ต่างหาก ที่ยังรอการปล่อยของออกมาอีกมากมาย
เจ้าของพรรคกล้าร่างสูงเล่าว่า เขาอยากทำให้พื้นที่แห่งนี้เติบโตทางความคิด และมีผู้คนที่มองเห็นในเรื่องเดียวกัน มาช่วยกันพัฒนาสังคมประเทศให้เดินหน้าต่อไปอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ คงเป็นการพยายามทำอะไรใหม่ๆ เพื่อให้เท่าทันโลกที่เปลี่ยนแปลงไปรวดเร็วอย่างในทุกวันนี้
“ทุกเรื่องที่เราลงมือทำ ต้องสอดแทรกวิธีคิดใหม่ๆ รวมทั้งต้องมีนวัตกรรมที่สร้างสรรค์อยู่ด้วยเสมอ อย่างครั้งหนึ่งที่มีการเลือกตั้งซ่อมที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เราคุยกันว่า จะทำยังไงให้เวทีปราศรัยแตกต่างไปจากการหาเสียงแบบเดิมๆ เราเริ่มจากการหาโลเคชันที่มีแบ็กกราวนด์ที่สะท้อนความเป็นท้องถิ่นของพื้นที่นั้นๆ เรื่องต่อมา เราเอาของดีในพื้นที่ เช่น พวกกระเป๋าจักสาน ผลไม้ประจำจังหวัด เรานำมาวางบนเวทีเพื่อให้ตอนที่มีการถ่ายทอดสด ผู้คนจะได้เห็นของประจำจังหวัดเหล่านี้
“และสิ่งที่ทำสุดท้าย ปกติเวลาปราศรัยหาเสียง นักการเมืองมักจะขึ้นพูดกับประชาชน แต่สำหรับงานของเราครั้งนี้ เราให้ประชาชนขึ้นมาพูดกับเรา เรียกว่ากว่า 70% ที่เป็นประชาชนขึ้นมาพูด พอทุกคนขึ้นมา เราบอกให้เขาเป็นธรรมชาติที่สุด ไม่ต้องพยายามเลียนแบบการพูดแบบนักการเมือง คุณเป็นยังไง คุณก็พูดไปแบบนั้น งานนั้นจึงกลายเป็นการปราศรัยในอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งเรามีความรู้สึกว่า มันได้สร้างความแตกต่างออกไป เราอย่าทำอะไรซ้ำๆ อย่าทำอะไรแบบเดิมๆ ในทุกๆ รายละเอียด เราสามารถเพิ่มความคิดสร้างสรรค์เข้าไปได้ ทุกอย่างอยู่ที่เรา ว่าอยากจะเปลี่ยนแปลงแค่ไหน”
พรรคการเมืองในปี 2022 ควรจะเป็นอย่างไร—เราถามกรณ์
“มันควรจะต้องเป็นพรรคที่เข้าใจบริบทความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นรอบตัว เราจะทำทุกอย่างแบบเดิม หรือคิดแบบเดิมไม่ได้แล้ว โลก 5 ปีที่ผ่านมา มันเปลี่ยนไปจากเมื่อ 20 ปีก่อนเยอะมาก อนาคตที่กำลังจะมาถึง เรากำลังจะต้องเจอเรื่องราวใหม่ๆ อีกมากมาย ไหนจะเมตาเวิร์สที่กำลังจะมา ความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจโลก หรือแม้แต่ยุคสังคมผู้สูงอายุที่อาจจะเหลือคนไทยในวัยทำงานน้อยลงเรื่อยๆ สิ่งเหล่านี้คือความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิด หรือบางอย่างก็ได้เกิดขึ้นแล้ว
“เพราะฉะนั้น พรรคการเมืองจึงต้องมีความเข้าใจก่อนว่า ไม่มีอะไรเหมือนเดิม ต้องกล้าที่จะท้าทายตัวเอง ต้องกล้าตั้งคำถาม ว่าสิ่งที่เป็นอยู่มันยังใช่อยู่หรือเปล่า ถ้ามันไม่ใช่ ก็ต้องกล้าที่จะยอมรับ และเปลี่ยนแปลง หรือบางทีมันอาจจะมีช่วงเวลาหนึ่งที่เรามีแนวคิดที่ไม่ได้เป็นไปตามกระแสหลัก แต่เราก็ต้องกล้าที่จะยืนหยัด แล้วอธิบาย ชี้แจง ทำความเข้าใจกับประชาชนให้ได้ ว่าเราต้องปรับความคิดนะ เพื่อที่เราจะได้อยู่รอด และสร้างโอกาสที่ดีต่อไปในอนาคต
“คือถ้าคุณเป็นพรรคการเมืองที่รอเพียงแค่เออออไปกับกระแสหลัก เพื่อหวังคะแนนเสียงส่วนใหญ่ คุณก็จะไม่ได้ทำหน้าที่ในฐานะพรรคการเมืองที่ดี ในการที่จะเป็นผู้นำสังคมไปสู่โลกที่มีการเปลี่ยนแปลง”
1 ปีเศษๆ กับการเดินทางในนาม ‘พรรคกล้า’ สำหรับกรณ์แล้ว มันยังเป็นเพียงจุดเริ่มต้น ยังมีการบ้านให้ต้องทำอีกมากมาย แม้ไม่รู้ว่าอนาคตจะประสบความสำเร็จในเส้นทางการเมืองสักแค่ไหน แต่หากได้มีส่วนในการนำพาประเทศไปสู่จุดที่พัฒนามากขึ้น รวมทั้งได้ทำประโยชน์สูงสุดให้กับบ้านเมือง เท่านี้เขาก็ภูมิใจอย่างที่สุดแล้ว
“สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าเราจะประสบความสำเร็จสักแค่ไหน แต่อย่างน้อยที่สุด เส้นทางที่จะเดินไป หากมันสร้างความภาคภูมิใจ และได้ลงมือทำในสิ่งที่ควรทำ มันก็เป็นความสุขให้กับเราแล้ว เรากำหนดอนาคตไม่ได้ทั้งหมด แต่ผมเชื่อว่าถ้าเราทำได้ดี ต้องมีคนที่เห็นและคิดแบบเดียวกัน ซึ่งตอนนี้มีมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับเราด้วย ที่จะต้องทำให้เขามั่นใจ รวมทั้งต้องแน่วแน่กับแนวทางที่คิดไว้ด้วย”
ติดตามพื้นที่ทำงานและการสร้างสรรค์นโยบายของพรรคการเมืองอื่นๆ ต่อไปเร็วๆ นี้
‘Space-Craft’ คือคอลัมน์ที่เราอยากนำเสนอสเปซที่คราฟต์ ตั้งแต่วิธีคิดและเป็นเสมือนตัวแทนแนวคิด และการใช้ชีวิตของเจ้าของพื้นที่นั้น ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวจะเป็นร้าน มุมเล็กๆ ที่ว่าง หรือแม้แต่โต๊ะกว้างๆ สักตัว ที่เจ้าของใช้สร้างสรรค์งานที่ตัวเองรักขึ้นมา
อีกนัยหนึ่ง คำนี้ก็แปลว่า ‘จรวด’ ที่จะพาเราพุ่งไปสู่จักรวาลอันกว้างใหญ่ ในที่นี้คือจักรวาลแห่งจินตนาการและแรงบันดาลใจที่ไม่วันสิ้นสุดของเจ้าของพื้นที่ ซึ่งในที่สุดแล้ว ก็จะนำมาซึ่งการจุดประกายให้คนอื่นสร้างพื้นที่เพื่อขยายขอบเขตแห่งจินตนาการและใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ต่อไป
เรื่อง: สันทัด โพธิสา | ภาพ: เชิดวุฒิ สกลยา