Zombie Books เขตเสพติดหนังสือของซอมบี้นักอ่าน ที่มาแล้วต้องมาซ้ำ!

ก่อนหน้านี้ ย่าน RCA ขึ้นชื่อว่าเป็นย่านแห่งผีเสื้อราตรี แสงสีไม่มียอมใคร กลางคืนจะพลุกพล่านไปด้วยผู้คนที่หลั่งไหลมาแฮงเอาต์ตามผับบาร์  แต่นึกไม่ถึงว่าท่ามกลางความบันเทิงสุดเหวี่ยงนี้ จะมีร้านหนังสืออิสระเล็กๆ อย่าง ‘Zombie Books’ แฝงตัวอยู่อย่างเงียบเชียบมาเนิ่นนาน คล้ายซอมบี้ที่คอยซุ่มรอผู้คน  

        แม้ในวันที่ RCA ตกอยู่ในสภาวะเงียบเหงา กึ่งหลับกึ่งตื่นเพราะพิษโควิด-19 พวกเขาก็ยังคงพร้อมเปิดบริการแก่นักอ่าน และถ้าซอมบี้ตัวนี้จู่โจมคุณแล้วละก็… ขอแสดงความยินดีและยินดีต้อนรับซอมบี้หนังสือคนต่อไป

เขตเสพติด (หนังสือ) ของซอมบี้นักอ่าน

        “กริ๊ง… กริ๊ง… กริ๊ง…” 

        ทันทีที่เราเปิดประตูเสียงกระดิ่งก็ดังขึ้น ส่งสัญญาณให้คนข้างในรู้ว่ามีคนนอกย่างกรายเข้ามาเยือนสถานที่แห่งนี้ ข้างในชั้นหนึ่งรายล้อมไปด้วยชั้นหนังสือสูงเลยหัวเราขึ้นไปประมาณเมตรกว่า ทุกช่องเต็มไปด้วยหนังสือวรรณกรรมมากมายที่เรียงรายให้เลือกสรร 

        เราเดินผ่านล็อกแต่ละชั้นด้วยความตื่นเต้น ลึกเข้าไปอีกนิดเป็นโซนทำการของผู้ดูแลร้านทั้งหลาย หนึ่งในนั้นมีชายวัยกลางคนยืนที่อยู่หน้าเคาน์เตอร์ สวมเสื้อยืดสีแดงสดตัดกับโทนสีและแสงของร้านที่ทำให้นึกถึงหนังของหว่องกาไว ทำให้เขาโดดเด่นและน่าเกรงขามอยู่ในที ชายคนนี้คือ ‘พี่โต้ง’ – ประวิทย์ พันธุ์สว่าง ผู้ก่อตั้งซอมบี้ บุ๊กส์ (Zombie Books) พวกเราทักทายกันเล็กน้อยก่อนเราจะขอตัวขึ้นไปนั่งพักรอพี่โต้งด้านบน รองท้องด้วยพิซซ่าหน้าแซลมอนอบชีสจาก Pizza Hour ซึ่งเปรียบเสมือนห้องครัวของแดนซอมบี้นักอ่านนี้ 

        “เมื่อก่อนผมชอบมาดูหนังที่ House RCA บ่อยๆ พอดูหนังเสร็จก็เห็นว่าแถวนี้ ไม่มีอะไรให้ทำต่อ เลยคิดว่าอยากให้มีร้านหนังสืออยู่ที่นี่ แต่พอมาเปิดร้านนี้  House RCA ก็ย้ายไปเลย (หัวเราะ)” 

        พี่โต้งมาถึงไม่พูดพร่ำทำเพลง เล่าย้อนไปถึงอดีตของตนก่อนจะมาก่อตั้งซอมบี้บุ๊ก ว่าเขาเองทำธุรกิจมาก่อน แต่ด้วยความรักในหนังสือจึงขยับจากคนอ่านมาเป็นนักเขียน และครั้งหนึ่ง เคยมีโอกาสขึ้นไปใช้ชีวิตอยู่ที่อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน (สมัยที่ปายยังเพิ่งแจ้งเกิดเป็นหมุดหมายยอดฮิตของนักท่องเที่ยว) เลยเปิดร้านหนังสือเล็กๆ ชื่อว่า Ten Book Shop พร้อมกับเขียนหนังสืออีกประมาณ 3-4 เล่ม จากนั้นก็ย้ายลงมาปักหลักอยู่ที่กรุงเทพฯ  

        “พอทำร้านหนังสือครั้งแรกก็เริ่มเสพติด พอเริ่มมีความสุขก็ยังอยากทำอีกครั้ง” เขาว่า 

        ร้านที่สองคือร้าน Candide Books สาขาแรกที่ตั้งอยู่แยกคอกวัว ก่อนจะขายกิจการให้คนอื่นไปสานต่อ   แต่เพราะความสุขที่ได้จากการทำร้านหนังสือยังคงเอ่อล้นอยู่ในใจดั่งที่เขาเพิ่งกล่าวไป พี่โต้งจึงคืนชีพกลับมาอีกครั้งในฐานะผู้ก่อตั้งร้านหนังสือ Zombie Books ด้วยคอนเซ็ปต์ที่ว่า

        “ถ้าคุณมาใช้บริการร้านเรา 1 ครั้ง คุณก็จะมาตลอด เหมือนกับโดนซอมบี้กัดแล้วก็จะกลายเป็นพวกเดียวกันตลอดไป

        “อีกอย่างก็คือ ในเมื่อผมเปิดร้านหนังสือก็อยากให้ลูกคลุกคลีอยู่กับหนังสือ ซึ่งปัจจุบันนี้ก็ประสบผลสำเร็จนะ เราเปิดร้านหนังสือแล้วลูกเราก็มีหนังสือดีๆ อ่าน แค่นี้เราก็ชนะแล้ว ผมมองว่าขอแค่คนเรามีหนังสือก็ใช้ชีวิตรอดนะ เพราะเราสามารถมีความสุขได้จากสิ่งเล็กๆ อย่างหนังสือเล่มหนึ่ง และหนังสือก็สร้างสติปัญญาให้กับเราด้วย”

อยากให้เป็นซอมบี้ที่มีความสุขที่สุดเมื่อมาที่ร้าน

        พวกเรานั่งคุยกันอยู่บริเวณชั้น 3 ของร้าน เป็นชั้นที่เน้น Co-working Space ให้ผู้คนได้นั่งอ่าน หรือหอบงานมาทำก็ได้ หากเบื่อๆ ก็มีตู้เกมยุค 90 arcade ให้เล่น ส่วนตู้หนังสือของชั้นนี้ส่วนใหญ่จะเป็นวรรณกรรมเด็กซึ่งเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด ช่วงเวลาที่รอพี่โต้งก่อนหน้านี้เลยสบโอกาสเดินสอดส่องแต่ละชั้นดูเสียหน่อย แล้วก็ได้ Tinker Bell’s True Talent ติดมือกลับมา

        “เมื่อคนเข้ามาที่ร้าน เราก็อยากจะบริการเขาเพราะเราเป็นคนขายหนังสือ ผมไม่ได้คาดหวังอะไรเลย แค่อยากให้เขาเข้ามาแล้วรู้สึกคุ้มค่าที่สุด ซึ่งถ้าได้มาที่ร้านผมก็อยากให้เขาได้มีความสุขที่สุด สิ่งที่เห็นในร้านนี้ก็เลยจะมีบาร์ให้นั่ง มี Co-working Space ให้ทำงาน มีดีเจเปิดเพลง 

        “เพราะร้านเราไม่ได้อยู่บนเส้นทางหลักที่มีรถขนส่งมวลชนผ่าน คนที่มาเขาก็ต้องตั้งใจมาจริงๆ แล้วสังเกตเห็นว่ามาครั้งหนึ่งซื้อหนังสือแค่เล่ม สองเล่ม เราก็เห็นใจเขา ผมเลยอยากให้คนเข้ามาแล้วจบที่ร้านเลย จึงทำพื้นที่ให้เขาได้เข้ามาใช้เวลาในร้านได้นานๆ หน่อย พอมีดีเจมาเปิดเพลงคนก็เข้ามาใช้พื้นที่ นั่งฟังเพลงเพลินๆ 

        “การทำร้านหนังสือนี้ทำให้เราได้เรียนรู้ว่า เวลาเรารักอะไรสักอย่างมันไม่มีราคาเลยนะ ต่อให้ต้องเสียงบเท่าไหร่เราก็ไม่สนใจ อย่างที่ผมทำงานหนังสือนี้ก็ไม่ได้คิดว่าจะต้องได้เงิน ที่ทำมาก็ขาดทุน แต่เราทำเพราะรักล้วนๆ ถึงเต็มที่กับมันอย่างทุกวันนี้”

 

สำนักพิมพ์ Zombie Books แล็บเพาะเชื้อซอมบี้นักอ่านระดับคุณภาพ

        เสียงเพลงเพราะๆ จากโซนดีเจตรงชั้นสองยังคงแว่วให้ได้ยินคลอไปตลอดการสนทนา จังหวะจะโคนแบบบอสซาโนวาสร้างบรรยากาศอบอุ่นเป็นมิตร ไม่เงียบเกินแต่ก็ไม่กระโตกกระตากเกินไปเช่นกัน 

        “ในเมื่อเราเสียค่าเช่าอยู่แล้ว ก็อยากให้ลูกค้าได้เข้ามานั่งทำงาน ขอแค่ให้เขาได้เข้ามาใช้สถานที่ เพราะผมทำใจมาแล้วในเรื่องของการขาดทุน แต่พอวันนี้ได้ทำสำนักพิมพ์อีกครั้ง สถานการณ์ก็เปลี่ยนไปเลย เพราะหนังสือ 6 เล่มที่ได้ออกจากสำนักพิมพ์ไปตอนนี้ได้ต้นทุนคืนมาแล้วเกือบ 70 เปอร์เซ็นต์ ระยะเวลาเร็วมากนะ ตอนนี้เราจึงทำต่อด้วยความสนุก” 

        พี่โต้งเล่าว่าประมาณ 10 ปีที่แล้ว เขาเคยทำสำนักพิมพ์มาก่อนแล้วชื่อว่าสำนักพิมพ์หมายเลขหนึ่ง พิมพ์ครั้งแรกก็ได้รางวัลซีไรต์เลย (พ.ศ. 2553) เรื่อง ไม่มีหญิงสาวในบทกวี เขียนโดย ซะการีย์ยา อมตยา หลังจากนั้นก็เลิกทำไป 

        “แต่พอทำแล้วมันก็เสพติด มันมีความสุข” เขากล่าวทำนองเดิมซ้ำอีกครั้งด้วยแววตาจริงใจ และรอยยิ้มภายใต้หน้ากาก 

        “ต้องบอกก่อนว่าจุดยืนของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน ส่วนตัวที่เราลุกขึ้นมาทำสำนักพิมพ์อีกครั้ง เพราะมีช่วงที่ว่างจึงเปิดหนังสือดู แล้วเห็นว่าหนังสือเล่มนิดเดียวเองแต่ขายในราคา 200 กว่าบาท เราเห็นแล้วก็โมโห ก็เลยอยากจะทำให้เห็นว่าในราคา 200 กว่าบาทนี้นักอ่านของเราจะได้อะไรบ้าง เลยตั้งสำนักพิมพ์ Zombie Books ขึ้นมา ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 จนถึงตอนนี้ก็ออกไปแล้ว 6 เล่ม” 

        เล่มแรกที่พิมพ์เป็นงานของ เรืองรอง รุ่งรัศมี ในผลงานชื่อว่า เดียวดายใต้เงาจันทร์ เป็นเล่มที่พี่โต้งชอบมาก เขาวางแผนไว้ว่าปีนี้จะจัดพิมพ์ 8 เล่ม ซึ่งตอนนี้การันตีการพิมพ์ครั้งที่ 2 แล้ว 3 เล่ม แล้วปีหน้าก็คิดว่าจะพิมพ์ที่ 25-30 เล่มด้วยกัน เราจึงถามว่า 

        “กังวลเรื่องสถานการณ์โควิด-19 ไหม ตอนนี้เห็นว่าทางการประกาศจะเปิดประเทศแล้ว” 

        “ผมไม่สนใจโควิด-19  อาจจะเป็นโชคดีของเราที่ได้เจอลูกค้าดีๆ ที่เขายังอุดหนุนเราตลอด แต่ผมเชื่อว่าตลาดหนังสือไม่เหมือนตลาดอื่นๆ คนอ่านหนังสือเขาจะเป็นคนอีกประเภทหนึ่ง แม้จะมีผลกระทบจากโควิด-19 แต่ผลกระทบมันไม่เหมือนอาชีพอื่น สมมติซื้อหนังสือมา 750 บาท ก็ใช้เวลาประมาณอาทิตย์หนึ่งในการอ่านให้จบ ดังนั้น เงิน 750 บาท เลยเป็นความสุขที่คนอ่านหนังสือต้องใช้เวลาในการย่อยนานกว่าสิ่งอื่น เราจึงเชื่อว่าคนที่อ่านหนังสือเขาสามารถจัดการกับเรื่องเงินแค่นี้ได้ เพราะเราไม่ได้ขายหนังสือแพง แล้วพอเห็นถึงความตั้งใจของคนทำหนังสือเขาก็ยังอยากซื้อ พอเราเอาชนะใจคนได้ เขาก็จะเห็นหัวใจเรา

        “ถ้าเราทำหนังสือให้ดีด้วยความจริงใจ ไม่เอาเปรียบคนอ่าน เขาจะรู้เอง อย่างที่บอกเราพิมพ์หนังสือดี ขายในราคาที่ถูก ยังไงก็รอด ทุกอย่างถ้าเราใส่ใจมากพอเราก็จะได้รับอะไรกลับคืนมาบ้างแน่นอน”

        นอกจากแผนการพิมพ์หนังสือแล้ว อาทิตย์นี้ Zombie Books ก็เริ่มมีนักดนตรีกลับมาบรรเลงเพลงให้ผู้คนที่มาเยี่ยมเยือนร้านของพวกเขาได้ฟังกันอีกครั้ง โดยเปิดที่ชั้น 4 ของร้าน ซึ่งเป็นชั้นบาร์ที่พี่โต้งจะสรรหานักดนตรีมาเล่นโดยเฉพาะ หากในสถานการณ์ปกติก็จะมีเบียร์ขายเพื่อให้เราได้ดื่มด่ำกับบรรยากาศอีกด้วย แต่หากคุณมาในช่วงนี้ก็อาจจะต้องจิบน้ำเปล่า โซดา หรือชาไปก่อนระหว่างนั่งฟังเสียงดนตรี 

        “กริ๊ง… กริ๊ง… กริ๊ง…” 

        เราดึงประตูเข้าหาตัวก่อนจะก้าวออกไป กระดิ่งส่งสัญญาณให้คนข้างในรู้ว่ามีซอมบี้คนใหม่ติดเชื้อกลับออกไปอีกครา พร้อมกับหนังสือในมือที่ได้รับมาชื่อว่า เฟือง หรือ Haguruma ผลงานชิ้นท้ายๆ ในชีวิตของ ริวโนะสุเกะ อะคุตะงะวะ หนึ่งในนักเขียนคนสำคัญของญี่ปุ่น แน่นอน…เราจะกลับมาอีก 


หนังสือของสำนักพิมพ์ Zombie Books 

• ปรัชญากัมปนาท – คมความคิดทางปรัชญาของบิดาความคิดแบบเอ็กซิสต็องส์ ผู้นำปรัชญามาสู่ท้องถนนและชีวิตประจำวัน
• Historia Memoir – รวมบทความและเกร็ดประวัติศาสตร์โลก ย่อยง่าย อ่านเพลิน เรียนรู้สิ่งที่เกิดมาบนโลกแบบมีที่มาที่ไป
• เมียซามูไร – แปดเรื่องเล่าของเหล่ามวลมนุษยชาติ เพื่อความเคารพในเพื่อนมนุษย์ต่างเผ่าพันธุ์ ต่างสีผิว ต่างศาสนาและต่างความคิด
• ความลับของทะเล – รวมบทกวีจากเด็กนักเรียนประถมไห่ป่าว แสนบริสุทธิ์จับใจผู้คน
• เดียวดายใต้เงาจันทร์ โกวเล้ง รำพัน  – ความเรียงแสดงสภาวะเปลี่ยวเหงา แปลกแยก แต่ดำรงด้วยคุณธรรมน้ำมิตร แหลมคม ลึกซึ้ง ตรึงใจ
• เฟือง – ข้อเขียนชิ้นท้ายๆ ของริวโนะสุเกะ อะคุตะงะวะ ปราศจากโครงเรื่อง สร้างอารมณ์หนักหน่วง เปี่ยมล้นด้วยความรู้สึก

Where to Find

Zombie Books | 21/118 รอยัล ซิตี้ อเวนิว แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ
เปิดบริการทุกวัน เวลา 10.30-24.00 น.
โทร. 09 2404 7111
Facebook: Z-Books


‘Space-Craft’ คือคอลัมน์ใหม่ ที่เราอยากนำเสนอสเปซที่คราฟต์ ตั้งแต่วิธีคิดและเป็นเสมือนตัวแทนแนวคิด และการใช้ชีวิตของเจ้าของพื้นที่นั้น ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวจะเป็นร้าน มุมเล็กๆ ที่ว่าง หรือแม้แต่โต๊ะกว้างๆ สักตัว ที่เจ้าของใช้เพื่อสร้างสรรค์งานที่ตัวเองรักขึ้นมา

อีกนัยหนึ่ง คำนี้ก็แปลว่า ‘จรวด’ ที่จะพาเราพุ่งไปสู่จักรวาลอันกว้างใหญ่ ในที่นี้ก็คือจักรวาลแห่งจินตนาการและแรงบันดาลใจที่ไม่มีวันสิ้นสุดของเจ้าของพื้นที่ ซึ่งในที่สุดแล้ว ก็จะนำมาซึ่งการจุดประกายให้คนอื่นสร้างพื้นที่เพื่อขยายขอบเขตแห่งจินตนาการและใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ต่อไป