Analox Film Cafe

Analox Film Cafe: คาเฟ่คอนเซ็ปต์เท่ที่เชื่อมโลกของฟิล์มกับกาแฟไว้ด้วยกัน

ถึงแม้โลกจะหมุนไปอย่างรวดเร็วพร้อมๆ กับเทคโนโลยีที่สร้างความสะดวกสบายให้มนุษย์มากขึ้น หากแต่ในมุมหนึ่งก็ยังมีเรื่องราวของผู้คนที่ยังคงหลงใหลในความคลาสสิกของโลกแอนะล็อก โดยเฉพาะกับภาพถ่าย ที่กระแสการกลับมาใช้กล้องฟิล์มได้กลายเป็นไอเทมที่ผู้คนมากมายหลงรัก สะสม และบางคนยังศึกษาอย่างจริงจัง จนทำให้เกิดธุรกิจร้านล้างฟิล์มขึ้นมามากมายเพื่อตอบโจทย์แก่คนเหล่านี้

        ท่ามกลางร้านล้างฟิล์มที่มีตัวเลือกอยู่ไม่น้อย Analox Film Cafe คาเฟ่เล็กๆ ริมถนนใหญ่ย่านช่องนนทรี คือร้านที่เกิดจากไอเดียของการผสมผสานโลกของ ‘กาแฟ’ และโลกของ ‘กล้องฟิล์ม’ เข้าด้วยกัน ทั้งให้บริการล้าง สแกน และจำหน่ายฟิล์มหลากหลายรูปแบบ ในบรรยากาศแบบคาเฟ่สไตล์ลอฟต์บวกอินดัสเทรียล พร้อมเมนูเครื่องดื่มต่างๆ ที่ถูกนำเสนอในคอนเซ็ปต์ของกล้องฟิล์ม

        เรามาเยือน Analox Film Cafe ในช่วงหัวค่ำของวันหนึ่ง เพื่อพูดคุยกับ ‘หมี’ – พณิช ฉ่ำวิเศษ และ ‘โอม’ – ปัณฑพล ประสารราชกิจ นักร้องนำวง Cocktail โดยทั้งคู่เป็นทั้งเพื่อนและหุ้นส่วนของร้านล้างฟิล์มแห่งนี้ ซึ่งการสนทนาในครั้งนี้ได้ให้บทเรียนที่เป็นหัวใจสำคัญของการทำธุรกิจให้อยู่รอดในยุคที่คู่แข่งมีมากมาย กล่าวคือแค่แพสชันส่วนตัวยังไม่เพียงพอ แต่ต้องรู้จักคู่แข่งและมองหาจุดเด่นที่ทำให้เราไม่ซ้ำทางใคร 

 

Analox Film Cafe

ทำรีเสิร์ชก่อนเปิดร้าน 

        พณิช: จริงๆ แล้วเราทำเพิ่งร้านกาแฟครั้งแรกในชีวิต ฉะนั้น ก่อนมาเปิดร้านตรงนี้ เราใช้เวลาประมาณหนึ่งเดือนในการรีเสิร์ชโดยการจ้างให้เด็ก 2 คน ยืนหน้าร้าน แล้วก็ติ๊กว่าใครเดินผ่านบ้าง ผู้ชายหรือผู้หญิง เพศ อายุ คือถ้าเป็นเงินเราคนเดียว เราจะไม่คิดขนาดนี้นะ (หัวเราะ) แต่พอมันเป็นเงินเพื่อนด้วยกลายเป็นว่ามันต้องคิดเยอะมากๆ และต้องไปเทกคอร์สและเรียนรู้เรื่องการบริหารร้านกาแฟเพิ่มเติม

        ปัณฑพล: วง Cocktail เคยมาเล่นที่ร้านตรอกสีลมซึ่งอยู่ชั้นบน ร้านนี้เป็นร้านของรุ่นพี่เราเอง จนกระทั่งเราสังเกตเห็นพื้นที่ข้างล่างตรงนี้ที่ดูน่าสนใจดี หมีเขาเห็นก็มาถามว่า ‘มึงว่าโอเคไหม’ เราก็เห็นว่าพื้นที่ดูใช้งานได้ ค่าเช่าก็สมเหตุสมผล ทำเลดี เราจึงรู้สึกว่ามันมีความเป็นไปได้ที่จะสร้างร้าน อีกอย่างหนึ่งคือเรามีเครื่องมือในเรื่องของการล้างรูปอยู่แล้ว 

ผสมผสานธุรกิจเข้าด้วยกัน 

        ปัณฑพล: เรามองว่าถ้าเปิดร้านล้างฟิล์มอย่างเดียวแล้วหวังจะทำให้ร้านมีเอกลักษณ์มันลำบาก และอีกเหตุผลหนึ่งก็คือถ้าหากมีคาเฟ่ คนที่มาล้างฟิล์มเขาย่อมสามารถใช้เวลาที่รอ 10 นาที 20 นาที 30 นาที หรือ 1 ชั่วโมง ในการนั่งแฮงเอาต์ได้ ตรรกะจริงๆ มันคือการเอาธุรกิจสองอย่างคือคาเฟ่และร้านล้างฟิล์มมารวมกัน มันคือวิธีที่ฉลาดที่สุดที่จะทำให้เราถูกมองเห็น กลายเป็นว่าร้านนี้ประสบความสำเร็จ และเป็นที่รู้จักขึ้นมาจากการผสมผสานทั้งสองสิ่งนี้

        พณิช: ก่อนที่จะเปิดร้าน เราไปรีเสิร์ชร้านล้างฟิล์มมาหลายร้าน แต่ละร้านมีสไตล์ต่างกัน เราไปร้านเพื่อนก็มีสไตล์อีกอย่างหนึ่ง ร้านรุ่นพี่ก็มีสไตล์อย่างหนึ่ง แต่เหตุผลที่เราเลือกทำร้านกาแฟบวกกับร้านล้างฟิล์มเป็นเพราะว่าเราอยากให้ฟิล์มเข้าถึงง่าย ถ้าคุณเป็นร้านล้างฟิล์มจริงจังก็จะเป็นแบบหนึ่ง แต่พอมีร้านกาแฟ ลูกค้าสามารถมากินกาแฟแล้วเห็นกล้องฟิล์มน่าสนใจ เขาเดินมาซื้อกล้องของเราได้ เราอยากให้มันเป็นอย่างนั้นมากกว่า

 

Analox Film Cafe

สร้างคุณค่าจากการเฝ้ารอเวลา 

        ปัณฑพล: เรามองว่าคนกินกาแฟกับคนล้างฟิล์มเป็นคนคนเดียวกันได้ การมาที่นี่คุณจะได้ใช้เวลาอย่างสำคัญกับทุกอย่างในการรอ เราอยากให้คนที่มานั่งรอได้อยู่ในบรรยากาศที่โปร่งโล่ง ให้เขารู้สึกว่าเขาอยู่ที่นี่แล้วเขาสะดวกสบาย

        พณิช: ทุกอย่างมันคือการรอ ถ้าคุณอยากกินกาแฟ slow bar คุณต้องรอ เราไม่สามารถที่จะมาปุ๊บ 5 นาที หยิบแก้วไปกินเลย ฟิล์มก็เหมือนกัน มันคือคอนเซ็ปต์ที่เราตีไปถึงชื่อร้านด้วยว่า Analox เราอยากให้ทุกคนได้สัมผัสถึงการรอ โดยเฉพาะคนเล่นกล้องฟิล์ม เพราะการรอทำให้เรารู้สึกว่าแต่ละรูปที่เราถ่ายไปมันมีคุณค่า กาแฟก็เหมือนกัน บ่มนานมันก็ยิ่งอร่อย ยิ่งรสชาติดี

การรู้ในสิ่งที่ทำสำคัญที่สุด 

        พณิช: ตอนแรกเราแบ่งสัดส่วนของทั้งสองธุรกิจอยู่ที่ 40:60 คือล้างฟิล์ม 40 เปอร์เซ็นต์ และคาเฟ่ 60 เปอร์เซ็นต์ เพราะมองว่าการล้างฟิล์มมีโอกาสเกิดขึ้นได้ยากและน้อยกว่าการกินกาแฟ เช่น สมมติว่าเรามีโปรโมชันเครื่องดื่ม พอคนเดินผ่านหน้าร้านแล้วเห็นเขาก็มากิน แต่ปรากฏว่าในช่วงหกเดือนหลังกลายเป็นสลับกัน และทุกวันนี้กลายเป็น 30:70 แล้วคือคาเฟ่ 30 เปอร์เซ็นต์ ส่วนล้างฟิล์ม 70 เปอร์เซ็นต์ เพราะว่าคอนเทนต์ที่คนพูดถึงเรื่องฟิล์มเยอะกว่า ในขณะที่ร้านกาแฟแถวนี้มีเยอะอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม เราจะคงคุณภาพเรื่องกาแฟของเราไม่ให้ด้อย กาแฟเราก็ยังอร่อยเหมือนเดิม ไม่ใช่ว่ายอดขายกาแฟเราตกนะ แค่ยอดฟิล์มมันเพิ่มเท่านั้นเอง (หัวเราะ) 

        ปัณฑพล: เราจะไตร่ตรองทุกอย่างที่ทำว่าสมเหตุสมผลหรือยัง มีความต้องการในตลาดมากน้อยแค่ไหน คนของเรามีความรู้ในสิ่งที่ทำมากพอหรือเปล่า บางทีการตั้งเป้าที่เงินเป็นหลักมันไม่ได้อะไรเลยนะ ถ้าคุณถามว่าไม่หาเงินแล้วทำธุรกิจทำไม เราจะอธิบายว่า เงินมันได้อยู่แล้ว ถ้าคุณคิดทุกอย่างรอบคอบมากพอ แต่สิ่งสำคัญคือคุณมีความรู้เรื่องนั้นเพียงพอไหม คุณรู้ไหมว่าสิ่งที่คุณทำเกี่ยวโยงอะไรบ้าง รู้ไหมว่าคุณมีจุดเด่นแตกต่างอะไร เราว่าธุรกิจที่อ่านอะไรเหล่านี้ได้จะอยู่รอด 

 

Analox Film Cafe

Analox Film Cafe

แผนการในอนาคต 

        ปัณฑพล: เรามีกิจกรรม Photo walk ที่อยากจัดทุกๆ สามเดือน ซึ่งได้จัดไปแล้วหนึ่งรอบ โดยรวมพลกันประมาณ 20 คน มีค่ากิจกรรมคนละ 500 บาท มีกาแฟกับของว่างให้ พาเขาเดินถ่ายภาพและพรินต์รูปให้ ปีนี้อาจจะมีการเล่นดนตรีสดช่วงกลางคืน แต่ว่าจะเป็นการเล่นดนตรีสดในรูปแบบของ Analox ซึ่งจะต้องไม่เหมือนที่อื่น เพราะเราไม่อยากให้มันเป็นร้านเหล้า เราอยากให้เป็นดนตรีแนวบรรเลงไปเลย

        พณิช: เราคุยกันมานานแล้วว่าอยากเปิดร้านตัดผมเพิ่ม หรือชั้นบนอาจจะทำเป็นโฮสเทล แต่สุดท้ายเราจะพยายามหาจุดเชื่อมบางอย่างในธุรกิจแต่ละอย่างที่เราทำให้ได้ เพราะร้านเราเป็น combined business หากอยากทำอะไรในอนาคต ก็อยากทำแบบ combined ให้มันเชื่อมโยงกัน เรารู้สึกว่าธุรกิจเดี่ยวๆ อยู่ยาก เราไม่อยากเสี่ยง พื้นที่ในเมืองก็ค่อนข้างจำกัด ถ้าเราสามารถเอาอะไรมารวมกันและไม่ได้เสียพื้นที่มาก ค่าเช่าหารแบ่งกันได้ก็ถูกลงด้วย

        ปัณฑพล: ธุรกิจเดี่ยวอยู่ได้ไหม อยู่ได้ แต่คุณต้องมีพลังบางอย่างที่ทำให้มันเกิดข้อได้เปรียบจริงๆ เช่น เงินหนากว่า ทำเลดีกว่า มีต้นทุนสูงกว่า หรือสามารถเข้าถึงทรัพยากรได้มากกว่าใครๆ 

มองให้เห็นความเชื่อมโยงของสรรพสิ่ง

        ปัณฑพล: บนโลกนี้ไม่มีอะไรที่ stand alone อย่างแท้จริง ต่อให้คุณทำธุรกิจเดี่ยวคุณก็เกี่ยวพันกับเรื่องบางเรื่องเหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจร้านอาหารซึ่งเกี่ยวพันไม่รู้ตั้งกี่อย่าง ผักมาจากไหน ก็มาจากเกษตรกร ปลามาจากชาวประมง หรือมาจากซัพพลายเออร์ ถ้าคุณทำร้านอาหารญี่ปุ่น คุณต้องรู้ว่าขณะนี้ปลาอะไรขาดแคลน กระแสอากาศเป็นอย่างไร กระแสน้ำเป็นอย่างไร ฤดูไหนปลาชุก คุณต้องเกี่ยวกับอย่างอื่น เวลาคิดอะไรจึงควรคิดให้รอบด้าน มองความสัมพันธ์หลายอย่างให้ออก ถ้าคุณเห็นความเชื่อมโยงของสิ่งเหล่านี้ และเข้าใจปัจจัยทั้งหมด คุณจะได้คำตอบเองว่าคุณควรทำสิ่งนั้นหรือไม่ควร 

        พณิช: บางคนชอบพูดว่าต้องรู้จริงในธุรกิจของตัวเอง เรามองว่า ใช่ เราต้องรู้ แต่ถามว่าเรารู้เรื่องกาแฟเท่าบาริสตาไหม เรารู้เรื่องฟิล์มเท่าคนที่ล้างฟิล์มทุกวันไหม เราไม่รู้ แต่เรารู้ว่าธุรกิจจะไปต่อได้อย่างไร เรารู้ว่าอะไรควรจัดวางไว้ตรงไหน

        ปัณฑพล: ปัญหาคือคุณรู้จริงเรื่องกาแฟเกี่ยวอะไรกับการเปิดร้านกาแฟ อาจจะเกี่ยวนิดหนึ่งว่าขายกาแฟต้องรู้เรื่องกาแฟสิ แต่ว่าเวลาเปิดเป็นบริษัทขายกาแฟขึ้นมามันคือเรื่องการจัดการ แล้วคุณรู้จริงเรื่องการจัดการร้านอาหารหรือยัง ไม่เช่นนั้นก็ไม่ต่างอะไรกับคุณเอานายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผ่าตัดไปบริหารโรงพยาบาล โรงพยาบาลก็เจ๊งเป็นธรรมดา เพราะการบริหารเกี่ยวอะไรกับการผ่าตัดล่ะ จริงไหม 

 

Analox Film Cafe

Analox Film Cafe

ความสุขที่แตกต่าง

        พณิช: ความสุขของเราไม่เหมือนกัน สำหรับเรา ความสุขไม่ใช่การทำร้านกาแฟ แต่เป็นการทำธุรกิจ คือทั้งกาแฟและฟิล์มมีพาร์ตที่เราชอบแหละ แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราจะอยู่ทั้งชีวิตเพื่อมาล้างฟิล์ม หรืออยู่ทั้งชีวิตเพื่อทำร้านกาแฟ แต่ถ้าทุกอย่างในธุรกิจสามารถจัดการให้ดำเนินไปได้ดี นั่นคือความสุขของเรา

        ปัณฑพล: เราชอบการมาร้านแล้วได้เปิดดูรายงานประจำวัน ได้โทร.ถามตัวเลขตลอดว่าขายได้เท่าไหร่ หรือตอนเราเห็นกราฟว่าอะไรมันลดลง หรืออะไรเพิ่มขึ้น เรามองว่าไม่มีอะไรบนโลกนี้ไม่มีเหตุผล ทุกอย่างที่เกิดขึ้นเราจะคิดหาวิธีแก้ ถ้าสมมุติฐานเราถูก เราแก้ปัญหาได้ เราจะเอนจอยกับโมเมนต์นั้นมากๆ 

 


Where to find Analox Film Cafe 

เปิดบริการทุกวัน 07.00-20.00 น.

สถานที่: ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร (BTS ช่องนนทรี ทางออก 3)

Facebook: Analox Film Cafe