เป็นเวลากว่าสามศตวรรษ นับตั้งแต่การจัดแสดงผลงานศิลปะที่สร้างสรรค์ขึ้นโดยศิลปินภายใต้การอุปถัมภ์ของขุนนาง พ่อค้าผู้ร่ำรวย ซึ่งเป็นเรื่องซึ่งจำกัดอยู่เฉพาะชนชั้นสูงเท่านั้น เริ่มเปลี่ยนผ่านมาสู่การเก็บสะสมผลงานและจัดแสดงคอลเล็กชันส่วนตัวของนักสะสมงานศิลปะในยุคร่วมสมัย ก่อนที่จะเดินทางมาถึงในวันนี้ วันที่คนทั่วไปเริ่มเข้าถึงและดูงานศิลปะได้อย่างง่ายดาย กล้าเข้าใกล้ พบเจอกับผลงานที่มีปฏิสัมพันธ์ด้วยได้ ทั้งยังสนุกกับการถ่ายรูปงานศิลปะลงในอินสตาแกรม เพราะรู้สึกว่างานอาร์ตนั้นไม่ได้เป็นเรื่องไกลตัวอีกต่อไป
ประวัติศาสตร์ศิลปะนับตั้งแต่ยุคโมเดิร์นนั้นเดินเคียงคู่ร่วมกับการออกแบบสถาปัตยกรรมมาเสมอ จากการที่ครั้งหนึ่งศิลปะเคยเป็นเพียงส่วนประกอบตกแต่งงานสถาปัตยกรรม สู่จุดเปลี่ยนในช่วงยุค 1960 ที่เกิดการออกแบบอาคารมาเพื่อรองรับการแสดงผลงานศิลปะโดยเฉพาะ นั่นคือการก่อสร้างแกลเลอรีและพิพิธภัณฑ์จำนวนมากในระดับทั่วโลก เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านรูปแบบการจัดแสดงงานศิลปะจากในห้องสะสมส่วนตัวมาสู่พื้นที่ที่ทุกคนเข้าถึงได้
การออกแบบแกลเลอรีจึงเป็นศาสตร์ที่น่าค้นหา อย่างที่รู้กันว่าใจความของงานสถาปัตยกรรมนั้นคือการกำหนดขอบเขตให้กับความว่าง “แต่แกลเลอรีมีความท้าทายมากขึ้นกว่า นั่นคือสิ่งที่มากำหนดพื้นที่ว่างนั้นต้องแสดงถึงความว่างเปล่านั้นด้วย” นี่คือคำกล่าวจาก ชุตยาเวศ สินธุพันธุ์ สถาปนิกและและผู้ก่อตั้ง Site-Speciffiic: Architecture & Research และผู้ออกแบบ BANGKOK CITYCITY GALLERY รวมถึงแกลเลอรีอีกหลายแห่งในนิวยอร์ก
ในขณะที่พิพิธภัณฑ์คือการจัดแสดงผลงานที่เป็นของสะสม เน้นการเล่าเรื่องและมีการเก็บค่าใช้จ่ายในการเข้าชม แต่แกลเลอรีคือพื้นที่ที่คนทั่วไปสามารถเข้าถึงและเข้าชมได้ง่าย โดยส่วนใหญ่แล้วไม่มีการเสียค่าเข้าชม เพราะพื้นที่แกลเลอรีคือการนำเสนอผลงานศิลปะเพื่อการจำหน่าย เมื่อเป็นการทำเชิงพาณิชย์ เป้าหมายของแกลเลอรีจึงเป็นการเน้นให้เข้ามาได้เยอะที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ไม่ว่าจะเป็นคนที่สนใจศิลปะหรือไม่ก็ตาม
แกลเลอรีคืออาคารสถาปัตยกรรมที่มีหน้าที่ในการเป็นพื้นที่จัดแสดงผลงานศิลปะในหลากหลายรูปแบบตามที่ศิลปิน ภัณฑารักษ์ หรือแกลเลอริสต์ต้องการให้เป็น
บริบทในประเทศไทย หากลองย้อนกลับไป 20 ปีก่อน ในกรุงเทพฯ มีแกลเลอรีขนาดเล็กจำนวนมากที่นำพื้นที่เดิมอย่างตึกแถวมาใช้งานใหม่ สร้างความเคลื่อนไหวในแวดวงศิลปะจากกลุ่มคนเล็กๆ ให้เป็นรากฐานมาจนถึงปัจจุบัน จนในวันนี้ประเทศไทยมีแกลเลอรีที่ได้มาตรฐานสากลมากยิ่งขึ้น รวมถึงการเกิดงาน Bangkok Art Biennale 2018 ที่นำผลงานศิลปะมาจัดวางในพื้นที่สาธารณะอย่างวัดหรืออาคารเก่าในย่านสร้างสรรค์ต่างๆ เป็นการเปลี่ยนแปลงนิยามของคำว่าพื้นที่สาธารณะจากสิ่งที่คนไทยคุ้นเคยอย่างห้างสรรพสินค้าหรือสวนสาธารณะให้กลายเป็นพื้นที่อื่นๆ ที่มีขอบเขตกว้างมากขึ้น
“เราคิดถึงเรื่องแกลเลอรีในอนาคตพอสมควร โดยตั้งคำถามว่าต่อไปงานศิลปะจะต้องอยู่ภายในอาคารอย่างเดียวหรือเปล่า แล้วมันจะเป็นไปได้ไหมที่เราจะท้าทายศิลปินให้สามารถนำงานศิลปะออกจากข้างในมาสู่ข้างนอกของอาคาร”
ไม่ใช่แค่เพียงรูปแบบการจัดแสดงงานที่เปลี่ยนไป ความหลากหลายของแกลเลอรีก็มีเพิ่มมากขึ้น จากการรวมศูนย์อยู่เฉพาะในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ หรือเชียงใหม่ เริ่มมีการกระจายตัวออกและเกิดแกลเลอรีใหม่ๆ ในเมืองเล็กๆ ไม่ว่าจะเป็นลำพูน (Temple House Lamphun) อุดรธานี (NOIR ROW Art Space) หรือในพื้นที่จังหวัดภาคใต้อย่างปัตตานี (Melayu Living) ที่เปิดพื้นที่และทำให้แกลเลอรีนั้นกลายเป็นพื้นที่ของชุมชนมากขึ้น
แกลเลอรีหรือพิพิธภัณฑ์ในวันนี้จึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมและความต้องการพื้นฐานของสังคมหรือชุมชน ผู้เข้าชมมีความคาดหวังต่อประสบการณ์ในการเข้าชมที่เปลี่ยนไป งานศิลปะไม่ได้ถูกจัดตั้งไว้บนหิ้งให้เข้าถึงยากหรือบรรยากาศของแกลเลอรีที่ต้องเต็มไปด้วยความเงียบสงบ
การดูงานศิลปะในวันนี้กลับเต็มไปด้วยความสนุกสนาน ความน่าตื่นเต้น บรรจุความทะเยอทะยานในการขยายขอบเขตผลงานของศิลปินเอาไว้ แกลเลอรีก็เปิดพื้นที่ให้ผู้เข้าชมสามารถจับต้องหรือสื่อสารกับงานศิลปะได้อย่างไม่เคอะเขิน สร้างประสบการณ์และความรู้สึกเข้าชมที่เปลี่ยนไปจากในอดีต ซึ่งล้วนแต่เป็นผลลัพธ์ของการมีส่วนร่วมกันระหว่างผู้ออกแบบอาคาร แกลเลอริสต์ ศิลปิน ภัณฑารักษ์ และผู้เข้าชม ที่ทุกฝ่ายต่างก็มีส่วนขับเคลื่อนบทบาทของศิลปะในสังคมให้เดินหน้าสู่บันทึกบทใหม่ๆ ได้ต่อไป
WHERE TO FIND BANGKOK CITYCITY GALLERY
Facebook: BANGKOK CITYCITY GALLERY
Website: www.bangkokcitycity.com
เรื่อง: กมลกานต์ โกศลกาญจน์ ภาพ: รัชต์ภาคย์ แสงมีสินสกุล