ลองจินตนาการว่าจะเกิดอะไรขึ้น หากประสาทสัมผัสในการมองเห็นของคุณถูกตัดขาด และภาพตรงหน้ามีเพียงสีดำสนิท ถึงเวลานั้นคุณจะยังใช้ชีวิตอย่างปกติได้อยู่หรือไม่?
เพื่อสัมผัสกับความรู้สึกนั้น เราจึงเดินทางมาที่ร้าน barefoot cafe คาเฟ่อาหารอิตาเลียนโฮมเมดหลังกระทัดรัดสองชั้นที่ซ่อนตัวอยู่ท้ายหมู่บ้านเพนกวิน จังหวัดเชียงใหม่ หมู่บ้านเล็กๆ ที่อยู่อาศัยของเหล่าผู้ประกอบการงานคราฟต์ คาเฟ่ และออฟฟิศขนาดย่อมของเหล่าสถาปนิกกับดีไซเนอร์ ร้านนี้มีเอกลักษณ์ในเรื่องของอาหารที่เลือกวัตถุดิบจากผู้ประกอบการท้องถิ่น และวัตถุดิบตามฤดูกาลมาปรุงแบบสดๆ ต่อหน้าผู้ที่มากินเพื่อเชื่อมโยงคนทำและคนกินเข้าหากันโดยไม่มีสิ่งใดขวางกั้น
ทางร้านได้พาผู้มาเยือนไปสัมผัสกับประสบการณ์การกินอาหารในความมืดผ่านกิจกรรมที่เรียกว่า Dine in the dark ซึ่งจัดเป็นครั้งที่ 5 แล้ว โดย ‘เอิน’ – สาธิตา สลับแสง เจ้าของร้าน ที่พาคนมากินอาหารร่วมกันโดยไม่รู้ว่าเมนูที่จะมาเสิร์ฟคืออะไร เพื่อเปิดประสบการณ์ให้กับผู้สนใจร่วมกิจกรรมได้ทดลองปิดตากินอาหาร เรียนรู้ และจำลองการกินอาหารของผู้พิการทางสายตา
ความน่าสนใจคือเมื่อเราถูกปิดตา และสิ่งที่อยู่ตรงหน้าอันตรธานหายไป มีเพียงแค่ความมืดปรากฏอยู่ตรงหน้า เมื่อประสาทในการมองเห็นของเรามืดดับลง นั่นจึงเป็นครั้งแรกที่เราจะได้ใช้ประสาทสัมผัสอื่นในการดำเนินกิจกรรมแม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ก็ตาม
เอินบอกกับเราว่าแม้จุดมุ่งหมายแรกคืออยากให้ผู้ร่วมกิจกรรมได้สนุกกับประสบการณ์การทานอาหารใหม่ๆ แต่เมื่อจบกิจกรรมเรากลับมีความรู้สึกที่ผสมปนเปมากกว่านั้น สนุก หดหู่ กลัว สิ้นหวังและมีความหวัง – แต่นั่นอาจเป็นเครื่องเตือนใจที่กิจกรรมนี้พยายามสอดแทรกให้กับเราก็เป็นได้ – ว่าให้เราตระหนักถึงการใช้ชีวิตให้มากกว่าเดิม
ความสงสัยต่อผัสสะที่ขาดหาย
กิจกรรมนี้เริ่มครั้งแรกตั้งแต่เรายังไม่ได้เปิดร้าน barefoot cafe เลย ตอนนั้นมีเพื่อนทำ co-working space แล้วเราก็ได้ไปเรียนรู้เรื่องประสาทสัมผัสต่างๆ ในงานที่เขาจัด ประจวบกับที่เราเป็นคนสนใจเรื่องวัตถุดิบท้องถิ่น การกินตามฤดูกาล
อีกอย่างช่วงนั้นเราได้ไปเข้ากลุ่ม Slow Food Youth Network Thailand ก็จะมีคนมาพูดเรื่องเซนส์ มีคนพูดเรื่องการกินอาหารประกอบด้วย รูป รส กลิ่น เสียง และการสัมผัสต่างๆ แต่ถ้าขาดไปหนึ่งเซนส์ การรับรู้จะเปลี่ยนไป
เราก็มาคิดว่าจะมาทำอะไรได้บ้างที่เป็นการทดลองไปพร้อมๆ กันว่าถ้าขาดไปเซนส์หนึ่งแล้วการรับรู้จะผิดแผกไปยังไง ก็เลยคิดรูปแบบว่าลองเอาคนมาปิดตากินข้าวกันดีกว่า ปิดตากินข้าวด้วยกันแล้วจะเกิดอะไรขึ้น ตอนนั้นทำกับข้าวก็ยังไม่เป็นหรอก เรื่องเซนส์ก็ยังไม่ค่อยรู้ แต่ก็อยากลองทำ เหมือนเป็นการทดลองมากกว่า
จำลองเป็นคนตาบอดผ่านประสบการณ์การกิน
เรามีเพื่อนของเพื่อนที่เขาเป็นคนตาบอด แต่เป็นผู้หญิงที่เก่งมาก ทำงานกับ UN ด้วย เราได้ไปทำความรู้จักกับเขา แล้วก็ได้ไปลองเดินถนนด้วยกัน แค่เราเดินถนนกับเขาแป๊บเดียวยังรู้สึกเลยว่าการออกแบบถนนหรือทางเดินสำหรับผู้พิการในเมืองไทยมันไม่ตอบโจทย์กับคนกลุ่มนี้สักนิด ก็เลยเอาทุกอย่างมาผนวกกัน แล้วทำกิจกรรมทดลองนี้ขึ้นมา เพื่อให้คนอย่างพวกเราที่ไม่เคยนึกถึงว่าคนกลุ่มนี้ต้องประสบกับปัญหาอะไรบ้าง มาอยู่ในสถานการณ์จำลอง ให้ลองมามองเห็นแบบพวกเขาสักหนึ่งชั่วโมงด้วยการกินอาหาร เพราะอย่างน้อยทุกคนต้องกิน ถ้าเราต้องการจะส่งเมสเสจอะไร เราเชื่อว่าส่งผ่านการกินนี่แหละ ง่ายที่สุด
หัวใจสำคัญของการทดลองคือตัดการมองเห็น
ช่วงแรกรูปแบบกิจกรรมคือเราจะเซตให้ร้านมืดสนิทตั้งแต่เดินเข้ามา ทำอาหารเตรียมไว้ ให้คนนั่งเป็นโต๊ะยาวๆ เรียงกัน แล้วร่วมรับประทานอาหารที่เราเตรียมไว้ มีดนตรี มีคนตาบอดมาพูด แล้วให้ทายว่าวัตถุดิบที่เอามาทำอาหารคืออะไร กินแล้วรู้สึกยังไง รสสัมผัสเป็นยังไง แล้วก็สอดแทรกแมสเสจที่เราอยากจะสื่อสารเข้าไปบ้าง คือเรื่องการเข้าใจคนตาบอด ซึ่งเป็นประเด็นที่เราสนใจ แล้วก็การรับรสสัมผัสทั้งห้าผ่านการกิน
ส่วนครั้งนี้ซึ่งจัดเป็นครั้งที่ 5 เราลองเก็บฟีดแบ็กจากกิจกรรมคราวก่อนๆ มาปรับปรุงแก้ไข เราเปลี่ยนจากเซตร้านให้มืดทั้งหมดมาเป็นการใช้ผ้าปิดตาแทน เพราะส่วนใหญ่คนที่มาจะบอกว่าอึดอัด การที่เรามองไม่เห็น การที่เราไม่รู้ว่ามันคืออะไร ต้องเจอกับอะไรที่คาดเดาไม่ได้ หรือการที่เซนส์ของการมองเห็นหายไปมันทำให้เขารู้สึกกลัวเพราะเขาไม่รู้ แต่อีกมุมหนึ่งเขาก็มั่นใจร้านเรา เพราะคนที่มาก็จะรู้จักร้านเราในระดับหนึ่งแล้วว่าเราคงไม่เอาของไม่ดีมาให้กินแน่ เพียงแต่จะมีเรื่องความกลัวจากการมองไม่เห็นอย่างที่บอก
อีกอย่างเรื่องการปิดห้องมืด เนื่องจากห้องครัวเราอยู่ในบริเวณเดียวกับที่นั่ง ทำให้ต้องเตรียมอาหารทั้งหมดให้เสร็จก่อนเริ่มกิจกรรม พอเริ่มกิจกรรมอาหารก็เย็นชืดแล้ว ครั้งนี้เราเลยย้ายไปจัดที่ชั้น 2 ของร้าน และยังคงเปิดบริการแบบปกติที่ชั้นล่างหน้าบาร์ และที่นั่งด้านนอก แล้วทำอาหารใหม่เสิร์ฟจานต่อจาน เสิร์ฟทีละคอร์ส ทำให้แต่ละจานสดใหม่
คัดสรรเมนูจากวัตถุดิบตามฤดูกาล
เมนูที่เสิร์ฟในกิจกรรมจะมี 4 อย่าง เครื่องดื่มหนึ่งชนิด เมนคอร์สสองจาน แล้วก็ของหวานอีกหนึ่งอย่าง เครื่องดื่มที่เสิร์ฟเป็นอย่างแรกหลังจากปิดตาคือเลมอนที เพื่อเพิ่มความสดชื่นให้กับร่างกายก่อนเริ่มกินเมนูต่อๆ ไป วิธีดำเนินกิจกรรมคือ เราจะเตรียมอาหารเป็นคอร์ส มีพนักงานคอยดูแลอยู่ในห้องที่ทำกิจกรรม หากใครกินอาหารหมดแล้วอยากได้คอร์สต่อไปก็ยกมือ เราก็จะนำเมนูต่อไปมาให้
จานหลักจานแรกเป็นผักตามฤดูกาลชุบแป้งทอด ประกอบไปด้วยมันฝรั่งอบ แล้วท็อปด้วยแฮมที่ทำโดยผู้ผลิตในเชียงใหม่ แล้วใช้ไข่คน เราใส่ตัวโคจิที่เป็นข้าวหมักของญี่ปุ่นให้เกิดรสอูมามิตามธรรมชาติ ผัดกับผักกูด ท็อปด้วยชีสมอสซาเรลลาจากผู้ผลิตในเชียงใหม่เช่นกัน ส่วนผักทอดจะเป็นผักตามฤดูกาล ได้แก่ กระเจี๊ยบเขียวย่าง หน่อไม้ เห็ดต่างชนิด ฟักทอง แล้วก็เต้าหู้ไทยใหญ่ทอด ซึ่งมีสองสี ถ้าสีขาวเป็นรสธรรมดา ถ้าสีดำคืองาดำ
จานถัดมาเป็นพาสต้าน้ำพริกอาข่า เราเอาพวกมะเขือเทศ หอมแดงไปย่าง แล้วก็ตำให้เป็นน้ำพริก เติมเบคอนกรอบให้มีรสชาติมากขึ้น จานนี้พอปิดตาหลายคนมักทายผิด คือทายเป็นแกงเขียวหวาน
ส่วนขนมหวานจานสุดท้ายเป็นกระท้อนครัมเบิล เราใช้กระท้อนที่เป็นผลไม้ตามฤดูกาลแทนแอปเปิ้ล ท็อปด้วยโฮมเมดวิปครีมที่ทำในเชียงใหม่ ครัมเบิลก็จะใส่ถั่วเข้าไปให้เคี้ยวแล้วมีความกรอบ เมนูนี้ส่วนใหญ่คนก็มักทายเป็นผิดแอปเปิ้ลเหมือนกัน
เมื่อมองไม่เห็น สิ่งที่แต่ละคนได้รับก็ไม่เหมือนกัน
ปกติแล้วเรื่องการกินเป็นเรื่องการเอาเข้าปากก็จริง แต่ยังไงก็ไม่พ้นที่เราจะใช้ตามองก่อนเป็นอันดับแรก ทีนี้พอเราตัดการมองเห็นออกไป เราจะรู้สึกยังไง จะรู้สึกกลัวไหม อย่างคราวก่อนมีคนอยากเซอร์ไพรส์แฟน ก็ไม่บอกว่าพามากินอะไร พอพาเข้าไปแล้วมันมืดมาก เขาก็กลัวแล้วรับไม่ไหว มันเป็นกิจกรรมที่คนต้องพร้อมนะ ต้องเปิดมากๆ เป็นเรื่องส่วนบุคคลมากที่จะรับรู้ถึงกิจกรรมในมิติไหน บางคนอาจจะบอกว่ากินในที่มืดสนุกดี บางคนอาจจะรู้สึกว่าคนตาบอดต้องรู้สึกแบบไหน หรือบางคนอาจจะเน้นไปทางเซนส์ต่างๆ ประสบการณ์ที่เขาจะได้รับก็จะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับเขาว่ารับได้ขนาดไหน
จริงๆ แล้วพวกเราอาจไม่เคยโฟกัสกับสิ่งที่มองเห็น
สมมติว่าคนปกติอย่างเรามีเซนส์ทุกเซนส์ครบสมบูรณ์ แต่ว่าด้วยสังคม ด้วยชีวิต ด้วยการทำงานต่างๆ มันก็ทำให้เราไม่ได้รู้สึกแบบ เฮ้ย ฉันจะกินข้าว ทุกคนต้องเงียบ มีสมาธิ มาตั้งใจกินกัน หรือว่า ฉันจะไปเที่ยว ฉันจะเปิดประสาททั้งห้า อะไรแบบนั้น ก็มีลืมไปบ้างแหละ
หรือว่าคนที่เขาไม่ได้มีประสาทครบก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะมาโฟกัสอะไรแบบนั้น เหมือนกิจกรรมที่เราจัดขึ้นจะเป็นการให้เรามีสมาธิมากกว่า เป็นการ meditate อย่างหนึ่ง ให้เราลองมาจับความรู้สึกของประสาทสัมผัสทีละอย่างไปพร้อมๆ กันว่ากลิ่นนี้คืออะไร สัมผัสนี้เป็นยังไง มากกว่า แต่ก็ไม่ได้คิดว่าการที่มีประสาทสัมผัสทั้งห้าแบบครบสมบูรณ์จะทำให้เราลืมอะไรตรงนี้ไป แต่ว่าเป็นด้วยปัจจัยภายนอกอื่นๆ มากกว่า
ยกตัวอย่างกิจกรรมครั้งที่ผ่านมา เมนูบางอย่างเป็นผักผลไม้หรืออาหารที่เขากินทุกวันอย่างไส้อั่ว เขายังทายกันไม่ถูกเลย พอแค่มองไม่เห็น เขาก็ลืมไปแล้วว่าอันนี้มันรสอะไร คือทุกคนบอกว่าคุ้น เคยกิน แต่ไม่รู้ว่าคืออะไร ต้นหอมกับผักชีเขาก็แยกไม่ได้ ผักอันนี้เป็นสมุนไพรไทย หรือฝรั่ง พอไม่เห็นรูปของวัตถุดิบหรืออาหาร เขาก็จะนึกไม่ออกแล้วว่าคืออะไร เลยคิดว่าอย่างปกติเราก็ไม่ได้โฟกัสมากว่าเรากินอะไรเข้าไป เราดูหนังไปด้วย คุยกันไปด้วย เราไม่ได้โฟกัสที่เซนส์มากเท่าไหร่
สอดแทรกประเด็นทางสังคมผ่านความสนุก
จริงๆ จุดประสงค์คืออยากให้ทุกคนมามีความสุขที่ร้านของเรา เพราะร้านเราเน้นกลุ่มลูกค้าที่เป็นครอบครัว อยากให้มาใช้เวลาด้วยกัน พ่อ แม่ ลูก หรือเพื่อนฝูง มาลองทายอาหารกัน ส่วนผลพลอยได้อื่นเราไม่ได้คาดหวัง คือขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของเขาด้วย ไม่ว่าเขาจะได้อะไร เช่น ความอยากเข้าใจคนพิการขึ้นสักนิดหนึ่ง หรือการที่คนบอกว่าปกติเราใช้เซนส์ไม่ครบเลย เรื่องความเข้าใจคนอื่น เรื่องความสนุก แล้วแต่ว่าเขารับรู้ได้แค่ไหน
มันก็เหมือนกับจุดประสงค์หลักที่เราเปิดร้านนี้ คือเราทำอาหารให้คนเห็นต่อหน้า หลักๆ คืออยากให้เขาสนุกแหละ ให้เขาดูเพลินๆ เวลาเราทำอาหาร แต่ผลพลอยได้ที่เขาจะได้จากการถูกเอนเตอร์เทนว่ามีอะไรให้ดู หรือมีของอร่อยให้กิน คือเราจะแทรกเรื่องการอาหารท้องถิ่น การกินของตามฤดูกาล political issue หรือว่าเรื่องสิ่งแวดล้อมอะไรเข้าไป เราก็พยายามแทรกแหละ แต่ว่าแต่ละคนจะได้มากน้อยแค่ไหน เราไม่ได้ไปคาดหวังตรงนี้ เรื่องสังคม เราอยากให้เป็นผลพลอยได้มากกว่า แต่สิ่งหลักที่จะดึงคนมาคืออาหารอร่อย มาแล้วมีความสุขกลับไป