chalu cafe

ฉลูคาเฟ่: สโลว์บาร์บนรถกระบะคันจิ๋ว คาเฟ่ไซซ์มินิ และแนวคิดการปรับตัวที่น่าสนใจ

อากาศยังคงร้อนอยู่แม้เวลาจะล่วงมาจนเกือบห้าโมงเย็น ขณะเลี้ยวรถเข้ามาในซอยมิตรประชา 22 เราเห็นท้ายรถกระบะสีขาวคันจิ๋วเปิดทำการอยู่ ด้านในมีเครื่องชงกาแฟ เตาปิ้งขนมปัง และมีหนุ่มสาวเจ้าของกิจการที่แอบซ่อนตัวอยู่หลังต้นเฟิร์นที่ย้อยระย้าลงมาจากหลังคาบ้านของ ‘ลูกหนู’ – สิริพร สมสกุล และ ‘แดน’ – กิจจภณ พุ่มไพบูลย์ ผู้ที่เชื่อมั่นว่า การรักในสิ่งที่ทำและทำในสิ่งที่เชื่อมั่น จะกลายเป็นรากฐานสำคัญของการใช้ชีวิตและการหารายได้อย่างสมดุล

 

ฉลูคาเฟ่

บาร์กาแฟชั่วคราว

        ลูกหนูเสิร์ฟนมคาราเมลที่เติมท็อปปิ้งด้วยฟองนมนุ่มๆ ให้เราดับกระหายคลายร้อน เพราะสิ่งที่พวกเราทำได้คือ การเว้นระยะห่างและยืนคุยกันอยู่หน้าร้านแค่นั้น 

        “เดิมที ฉลูคาเฟ่เปิดร้านประจำอยู่ที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช แต่ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้มหาวิทยาลัยปิดยาว เป็นเหตุให้ฉลูคาเฟ่เองก็ต้องปิดลงชั่วคราวเช่นกัน แต่พวกเราไม่ได้คิดว่านี่เป็นวิกฤตของการทำกิจการ พวกเรามองในแง่บวก ทำให้ได้ขยับแพลนมาเปิดร้านที่บ้านเร็วขึ้น เพราะมีช่วงเวลาได้ตระเตรียมสถานที่ ปรับโซนพื้นที่ในบ้านให้โล่งโปร่งสบาย มีความร่มรื่นไปด้วยแมกไม้ เพื่อคลายความร้อนให้กับลูกค้าที่มายืนรอ ในขณะเดียวกันพี่แดนเองก็ได้ออกแบบและทำฟังก์ชันในรถกระบะของเราให้เป็นบาร์กาแฟอย่างที่เคยตั้งใจ”

        ฉลูคาเฟ่สาขาสองนี้เริ่มเปิดขายวันแรกเมื่อวันที่ 27 มีนาคมที่ผ่านมา หลังจากที่รัฐบาลออกมาตรการเก็บตัว หยุดเชื้อ เพื่อชาติ และสถานที่ต่างๆ ต้องหยุดให้บริการใน 5 วันต่อมา   

        “โชคดีที่เราได้ลูกค้าจากคนในหมู่บ้านเป็นหลัก เพราะในหมู่บ้านเองก็มีคนที่ยังต้องออกไปทำงาน และคนที่ Work From Home รวมถึงคนบ้านใกล้เรือนเคียง ลูกค้าจากซอยอื่นที่ปั่นจักรยานหรือบังเอิญขับรถผ่านมาเห็นบ้าง กลายเป็นว่าทุกวันนี้ หลายคนที่เพิ่งรู้จักร้านของเรากลายเป็นลูกค้าขาประจำไปเลย” 

 

ฉลูคาเฟ่

เปลี่ยนความจำเป็นให้กลายเป็น ‘การปรับตัว’ 

        “อันที่จริงแล้วพวกเราแพลนเรื่องการเปิดฉลูคาเฟ่สาขาสองกันที่บ้านมาประมาณ 1-2 ปีแล้ว ตั้งใจจะปรับพื้นที่บ้านส่วนหนึ่งให้เป็นสโลว์บาร์ มีเครื่องดื่มต่างๆ กาแฟ ขนมปังปิ้ง รวมไปถึงเมนูอาหารเช้าหรืออาหารว่างกินง่ายๆ ให้ลูกค้าได้นั่งสบายๆ ท่ามกลางบรรยากาศที่เหมือนมานั่งบ้านเพื่อน โดยดึง ‘เจ้ามะลิ’ รถคันเล็กยี่ห้อ Daihatsu Midget 2 ที่พวกเราขับไป-กลับระหว่างบ้านและสาขาหนึ่งใน มสธ. มาทำเป็นบาร์กาแฟ เราคิดว่ามันคงน่ารักดี แล้วมันก็น่ารักจริงๆ หลังจากที่พี่แดนประกอบร่างเสร็จ”

        แต่แล้วเมื่อสถานการณ์ของโรคระบาดกลายเป็นความจำเป็น พวกเขาจึงต้องเร่งแผนนั้นขึ้นมาเพื่อปรับตัวให้ทัน ทั้งๆ ที่มีหลายคนคัดค้าน ทั้งเรื่องการทำรถให้เป็นบาร์กาแฟ และพื้นที่การขายที่ค่อนข้างจำกัด

        “เริ่มแรกมีคนบอกกับพี่แดนว่า การทำรถคันเล็กแค่นี้ให้ครบทุกฟังก์ชันเป็นเรื่องที่ยากและแทบจะเป็นไปไม่ได้ แต่พี่แดนมองว่า นี่คือโจทย์ที่ท้าทายตัวเขาเองว่า แล้วจะทำอย่างไรให้เป็นไปได้ และเขาก็ทำได้จริงๆ อีกอย่าง เราไม่ได้มองแค่ว่าน่ารัก แต่เรามองไปในระยะยาว ว่าวันหนึ่งอาจต่อยอดเป็น coffee car หรือ coffee to go ที่เคลื่อนที่ไปที่อื่นๆ ได้ 

        “บาร์กาแฟในรถจะทำให้เป็นจุดสังเกตได้ง่าย สร้างภาพจำให้ลูกค้าได้ แถมไม่ต้องห่วงเรื่องทำเลมาก เพราะช่วงนี้เราเน้นขายให้ลูกค้าซื้อแบบ take away ลูกค้าสามารถโทรศัพท์มาสั่งไว้ก่อนแล้วมารับได้ที่นี่โดยไม่ต้องรอ ส่วนลูกค้าที่มาสั่งที่หน้าร้าน เราก็จัดพื้นที่ตรงโรงรถ มีเก้าอี้เพียงไม่กี่ตัวให้นั่งรอ โดยไม่ลืมเว้นระยะห่างทั้งระหว่างลูกค้ากับลูกค้า และระหว่างเรากับลูกค้า”

 

ฉลูคาเฟ่

บ้านเล็กในเมืองใหญ่ และรายได้ประจำจากสองมือ 

        แดดร่มลมตกมาได้สักพักแล้ว แต่เรื่องเล่าเรื่องราวอุ่นๆ ของร้านไซซ์เล็กยังคงน่าสนใจ แดนได้เปลี่ยนมาเป็นผู้เล่ารายละเอียดเรื่องบ้านและคาเฟ่ให้เราฟังต่อ

        “สิ่งที่ดีที่สุดคือการได้ทำในสิ่งที่เรารักอยู่ที่บ้าน ที่ที่เราตกแต่งเอง ออกแบบเอง และเป็นที่ที่พอดีแล้วสำหรับพวกเรา กลายเป็นคาเฟ่ที่สร้างรายได้ให้กับเราได้ด้วย อีกทั้งเราไม่มีต้นทุนเรื่องสถานที่ เพราะได้จัดโซนบ้านไว้หลากหลายมุม พร้อมตกแต่งบ้านคล้ายสไตล์คาเฟ่อยู่แล้ว ทำให้การเปิดสาขานี้รวดเร็วขึ้น 

        “ที่นี่ทำให้พวกเราตื่นเช้ากันมากขึ้น ได้อยู่บ้านมากกว่าเดิม ได้ดูแลต้นไม้ ดูแลบ้านและอยู่เป็นเพื่อนพ่อกับแม่ ได้ใกล้ชิดกันขึ้น การเปิดคาเฟ่จึงคล้ายกิจกรรมที่รอพวกเราอยู่ในแต่ละวัน จากบ้านที่มีแค่เรา ลูกหนู พ่อแม่ และน้องหมาสามตัว กลายเป็นว่าทุกวันนี้พวกเราได้คุยกับลูกค้ามากขึ้น หลายๆ คนอยู่บ้านใกล้เรือนเคียงกันมานาน แต่เพิ่งจะเคยเห็นหน้าค่าตากัน ทำให้ช่วง Social Distancing ไม่เหงา ไม่น่าเบื่อจนเกินไป ที่สำคัญ ก็ยังมีรายได้จากการเปิดร้านกลับเข้ามาด้วย”

 

ฉลูคาเฟ่

ความสุข ชีวิต เราสองคน และฉลูคาเฟ่ สาขา 2 

        เราถามพวกเขาว่า หากสถานการณ์โรคระบาดได้ทุเลาลง สถานที่ต่างๆ ได้เปิดแล้ว ที่นี่จะเปิดต่อหรือเปล่า ลูกหนูพยักหน้า แล้วบอกว่า เปิดแน่นอน

        “สาขาแรกที่ มสธ. ให้พี่แดนดูแลเป็นหลัก ตรงนั้นเราคาดหวังเรื่องรายได้ ส่วนสาขาที่บ้านนี้ เราตั้งใจว่า คงเป็นเราเองที่จะอยู่ดูแลร้าน บ้าน พ่อแม่ และน้องหมา โดยไม่ได้คาดหวังเรื่องกำไรเท่าสาขาแรก

        “เราอยากให้สิ่งนี้อยู่บนพื้นฐานของความสุขที่ได้ทำ เราสองคนอยากตื่นขึ้นมาในทุกๆ เช้า เพื่อได้ทำสิ่งที่รักทุกๆ วัน ในขณะเดียวกันก็ยังได้ connect กับผู้คนผ่านคาเฟ่เล็กๆ ซึ่งเราคิดว่ามันสำคัญกว่าการที่เราไปตั้งเป้าแต่เรื่องกำไรหรือขาดทุนอย่างเดียว เพราะหากเป็นอย่างนั้น พวกเราก็อาจจะไม่มีโอกาสได้รู้จักคำว่า ชีวิตที่แท้จริง อย่างทุกวันนี้”