ถ้าพูดถึงร้านอาหารจีน เรามักนึกถึงห้องตึกแถวขนาด 1-2 คูหา ที่มีป้ายสีแดงแปะชื่อร้านสีทองอร่าม ด้านในได้ยินคนตะโกนสั่งออร์เดอร์เสียงดังพอๆ กับเสียงตะหลิวที่กระทบกับกระทะเหล็กขนาดใหญ่ ความชุลมุนวุ่นวายกลายเป็นเอกลักษณ์ของ ‘ร้านอาหารจีน’ แบบที่เราคุ้นเคย จนกระทั่งได้มาเจอกับ Chu Chinese Bangkok ร้านอาหารสไตล์จีนโมเดิร์นบริเวณปากซอยสุขุมวิท 49 ที่ลบล้างภาพจำเหล่านั้นเสียเกือบหมดทุกข้อ
คำว่า Chu (อ่านว่า ฉู่) เป็นภาษาจีนแต้จิ๋ว แปลว่า ตึกแถว สอดคล้องกับร้านน้องใหม่แห่งนี้ที่อยู่บนชั้นสองของตึกแถวเก่า ซึ่งเมื่อก่อนเคยเป็นร้านขายบักกุ๊ดเต๋ของคุณลุงคุณป้าคู่หนึ่ง “เมื่อก่อนเราและเพื่อนๆ มากินบักกุ๊ดเต๋ร้านนี้เป็นประจำ เพราะรสชาติมันอร่อยแบบดั้งเดิม ซึ่งหาทานยากมากๆ ในไทย แต่วันหนึ่งเขาบอกว่าร้านจะปิดแล้ว เพราะขาดทุน เรากับเพื่อนเลยตัดสินใจเปิดร้านนี้ขึ้นมาแล้วชวนคุณลุงคุณป้ามาอยู่ด้วย” ‘เปิ้ล’ – ถนอมขวัญ ชุติธนวงศ์ หนึ่งในหุ้นส่วนร้าน Chu Chinese Bangkok เล่าถึงจุดเริ่มต้นน่ารักๆ ของร้านนี้ให้เราฟัง เธอกับเพื่อนๆ ช่วยกันออกแบบและสร้างสรรค์เมนูอาหารออกมาในสไตล์ Home-Cooked โดยดึงเอาบักกุ๊ดเต๋ฝีมือคุณลุงคุณป้ามาต่อยอดเป็นเมนูซิกเนเจอร์ แถมพ่วงอาหารจีนอื่นๆ เข้ามาอีกหลายเมนู
เมื่อเดินขึ้นบันไดมาถึงชั้นสอง เราสัมผัสได้ถึงบรรยากาศจีนฮ่องกงที่ซุกซ่อนอยู่ในการใช้แสงไฟสลัวๆ ตกแต่งด้วยตัวอักษรภาษาจีนที่ส่องสว่างผ่านไฟนีออน โต๊ะกินข้าวที่มีทั้งแบบโต๊ะกลมเหมาะกับการสังสรรค์ในครอบครัว และมุมโซฟาหันหน้าชนกันสำหรับคู่รักราวกับหลุดมาจากฉากสุดโรแมนติกจากหนังเรื่อง In the Mood for Love ของ หว่อง กา ไว
“เราตกแต่งร้านนี้ในสไตล์ฮ่องกง เนื่องจากฮ่องกงเป็นประเทศที่เคยถูกปกครองโดยอังกฤษ จึงมีความเป็นตะวันตกผสมผสานกับจีนดั้งเดิมได้อย่างลงตัว เรานึกถึงหนังของ หว่อง กา ไว ที่เราดูมาตั้งแต่สมัยเด็กๆ มันเป็นหนังที่มีภาพและสีที่สวย ในขณะเดียวกันเราก็นึกถึงวัฒนธรรมการกินของคนจีนที่สบายๆ หนุ่มสาวสามารถชวนพ่อแม่หรืออากงอาม่า แต่งตัวง่ายๆ มานั่งล้อมวงกินข้าวด้วยกันได้”
เราเอ่ยถามถนอมขวัญไปว่า ‘ความเป็นจีน’ ของร้านนี้ จริงๆ แล้วขัดกับภาพจำของคนไทยอยู่มาก แต่ก็ช่วยสร้างความเข้าใจที่แปลกใหม่ให้กับลูกคนไทยแท้ๆ อย่างเราได้เยอะเหมือนกัน แล้วเธอเองในฐานะผู้ร่วมออกแบบ มีวิธีในการสื่อสารความจีนแบบโมเดิร์นนี้ออกไปได้อย่างไร
“จริงๆ มันไม่ใช่ความใหม่ขนาดนั้น แต่อาจจะเป็นการลดทอนมากกว่า ส่วนตัวเราเองเป็นคนที่ชอบความมินิมอล ทีนี้ก็ต้องกลับมาคิดว่า เรามองโจทย์ความเป็นมินิมอลของจีนอย่างไร เท่าที่เห็นทั้งหมดนี้มันไม่ได้มีรายละเอียดของป้ายจีน ตุ๊กตาจีน โคมแดง หรืออะไรแบบนั้นเลย มันเป็นแค่โครงสร้างและสีที่เราใช้ เพื่อให้มันเกิดบรรยากาศของความเป็นจีนมากที่สุด” เธอพูดต่อพลางชี้ไปที่สีผนังของร้านให้เราดู “เราไม่ใช้ผนังสีแดง เพราะรู้สึกว่ามันช่างจีนเสียเหลือเกิน มันร้อนแรงเกินไป จึงถอดให้มันเป็นสีโอลด์โรส สีส้ม มีความเป็นตึกแถวด้วยภาพอาคารจีน มีการเอาผ้าขี้ริ้วสีๆ ที่อาม่าชอบใช้มาตกแต่งพื้นที่ด้านนอก และใช้ตัวจับราวบันไดเป็นพลาสติกสีน้ำเงิน เพราะมันคือวัสดุที่บ้านตึกแถวคนจีนต้องมีแทบทุกบ้าน นี่คือสิ่งที่เรียบง่าย แต่มันเป็นรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำให้เรานึกถึงวันเก่าๆ เป็นอย่างดี”
Chu Chinese Bangkok เสิร์ฟอาหารจีนสไตล์ Home-Cooked เน้นกินง่าย อิ่มสบายท้อง เหมือนมีอากงอาม่ามาทำกับข้าวให้หลานๆ กินที่บ้าน “ตอนเปิดแรกๆ ก็มีกระแสตอบรับที่หลากหลายเหมือนกัน อย่างลูกค้าบางคนโตมากับร้านอาหารแสงชัย หมูสับต้มบ๊วยของเขามันต้องเป็นหมูสับเล็กๆ และลอยๆ แต่พอมาเจอที่นี่ หมูสับต้มบ๊วยของเราเป็นก้อนๆ กลมๆ ใหญ่ๆ เขาก็บอกว่า มันไม่ใช่หมูสับต้มบ๊วย มันไม่อร่อย” ถนอมขวัญและเพื่อนๆ จึงเริ่มสื่อสารออกไปให้ลูกค้าได้เข้าใจว่า อาหารในร้านแห่งนี้เป็นอาหารจีนในแบบที่พวกเขาคุ้นเคย มันเป็นอาหารของ ‘บ้าน’ พวกเขา ที่อาจจะไม่เหมือนบ้านหลังอื่น แต่ก็ทำด้วยความตั้งใจในทุกขั้นตอนเช่นกัน “ทุกบ้านมีการกินอยู่ที่ดีต่างกัน แต่วันนี้คุณขึ้นบันไดมากินที่บ้านหลังนี้ บ้านหลังนี้ก็จะทำอาหารเหมือนบ้านหลังนี้ให้คุณกิน”
เธอยกตัวอย่างเซตขนมจีบที่อาจจะไม่ได้ปั้นออกมางดงามเหมือนสูตรภัตตาคารจีน แต่ก็ทำด้วยความใส่ใจ เลือกวัตถุดิบที่ดีที่สุด เหมือนทำให้คนในครอบครัวได้รับประทาน
แม้ว่าถนอมขวัญจะตั้งใจทำให้ร้านอาหารจีนแห่งนี้มีบรรยากาศโมเดิร์นแตกต่างจากที่อื่น แต่เธอก็เน้นย้ำว่า กรรมวิธีประกอบอาหารจีนแบบดั้งเดิมต้องไม่หายไป “เราไม่ลืมสิ่งที่ดีๆ ในการทำอาหารจีน เช่น กลิ่นก้นกระทะ การผัดฟู่ไฟแบบแรงๆ เพราะการทำอาหารจีนให้อร่อยสุดท้ายมันหนีไม่พ้นเรื่องของการใช้ไฟที่แรง กระทะที่บาง การเคาะโป๊งๆ การทำด้วยความเร็ว เช่นเดียวกับการต้ม ตุ๋น ทอด นึ่งต่างๆ ที่ต้องครบกระบวนการของมันเช่นกัน”
เมนูแนะนำ
บักกุ๊ดเต๋ – ปาท่องโก๋ (280 บาท) / เป็ดพะโล้ (200 บาท) / ผัดหมี่ฮ่องกง (190 บาท) / หมี่ฮกเกี้ยนทะเล (190 บาท) / แขนงหมูกรอบ (170 บาท) / หมูสับผัดหนำเลี้ยบ (130 บาท)
WHERE TO FIND CHU
Facebook: Chuchinesebangkok