ทับขวัญ

ทับขวัญ รีสอร์ท แอนด์ สปา: ย้อนเวลาสู่ความละเมียดละไมของศาสตร์และศิลป์ต้นตำหรับชาววัง

หลายครั้งที่เรามักจะย้อนกลับมาดูตัวเองในปัจจุบัน เรากำลังเป็นคนที่จมอยู่กับวังวนของชีวิตแบบเดิมๆ ซ้ำไปซ้ำมา ตื่นขึ้นมาในเช้าวันจันทร์ทำงานด้วยความรู้สึกเบื่อหน่ายเฝ้ารอเวลาว่าเมื่อไหร่จะถึงเย็นวันศุกร์ เพื่อที่จะได้เป็นตัวเองจริงๆ ในวันเสาร์แล้วมาร้องโอดครวญในเย็นวันอาทิตย์ ว่าเวลาของวันหยุดกำลังจะหมดไปอีกแล้ว และเข้าสู่เช้าวันจันทร์ที่ไม่อยากให้มาถึง วนเวียนซ้ำเดิมทุกอาทิตย์ แล้วขยายเป็นเดือนจนครบปี สุดท้ายเราก็กลับมาถามตัวเองในวันที่พลังใจในตัวเองขึ้นเป็นขีดแดงว่า “นี่ใช่สิ่งที่เราต้องการจริงๆ เหรอ”

     หากคุณกำลังหาคำตอบจากความอาการวนเวียนแบบเดิม ลองไปเรียนรู้การทำอะไรซ้ำๆ ที่มีคุณค่า โดยผ่านภูมิปัญญา 3 ด้าน ไม่ว่าจะเป็นศาสตร์ของการทำอาหารแบบชาววัง ศิลปะการร้อยมาลัยและเครื่องหอมจาก 4 ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งเราคิดว่าอย่างน้อยๆ เรื่องราวของพวกเขา จะเป็นแรงส่งพลังเพื่อต่อสู้กับวันใหม่ที่จะมาถึงในไม่อีกกี่ชั่วโมงข้างหน้า

 

_

SECRET RECIPES

_

คุณยายขวัญ’ – อุ่นเรือน พวงภักดี
‘คุณยายแดง’ – พเยาว์ แสงอินทร์

 

ทับขวัญ

 

บางครั้งชีวิต ความรัก และการทำงาน หากเราอดทนที่จะรอคอยอีกสักนิด เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า เราก็ควรให้เวลาทำหน้าที่ของมัน แล้วรอคอยด้วยหัวใจที่เป็นสุข

 

     นอกจากเสียงนกกระจิบตัวเล็กๆ ที่ส่งเสียงอยู่ในรีสอร์ตแห่งนี้ในช่วงยามเช้า เรายังได้ยินเสียงสากกระทบครกหินแว่วมาเป็นระยะๆ พร้อมคาดเดาไปพลางๆ ว่า น่าจะเป็นเสียงของใครสักคนที่กำลังตำน้ำพริกอย่างขะมักเขม้น ผสมไปกับกลิ่นของกุ้งเผาอ่อนๆ ที่โชยมาตามลม จนเราต้องเดินไปตามเสียงโขลกอะไรสักอย่างที่หนักแน่นนี้ และได้พบกับสองคุณยายที่กำลังง่วนอยู่กับการตำน้ำพริก ซึ่งยังไม่ทันจะเอ่ยปากถาม คุณยายขวัญ แม่ครัววัย 77 ปี ก็พูดกับเราว่า “วันนี้จะได้ชิมน้ำพริกลงเรือสูตรชาววังแท้ๆ และแสร้งว่า เมนูโบราณที่หากินได้ยากนะลูก พร้อมกับรอยยิ้มของ คุณยายแดงหัวหน้าแม่ครัววัยไล่เลี่ยกันที่เพิ่งวางสากในมือลง

 

 

STORY TELLING:

     คุณแม่ของคุณยายขวัญนั้นเคยเป็นข้าหลวงอยู่ในวังสมัยรัชกาลที่ 5 ภายหลังแต่งงานกับคุณพ่อ และย้ายออกมาใช้ชีวิตนอกวัง ทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยการค้าขาย จนกระทั่งคุณยายเกิด ก็เห็นคุณแม่ทำกับข้าวมาตลอด และได้ช่วยหยิบจับเครื่องปรุงในการทำอาหารมาตั้งแต่เล็กๆ เมื่อโตขึ้นก็ได้รับหน้าที่ทำกับข้าวให้ที่บ้านได้กิน และได้ทำกับข้าวขายในเวลาต่อมา ภายหลังไปสมัครไปเป็นแม่ครัว จากนั้นก็ไม่เคยเปลี่ยนอาชีพอีกเลยจนถึงทุกวันนี้

     ส่วนคุณยายแดง คุณแม่เป็นต้นเครื่องอยู่ในวัง ส่วนคุณพ่อเป็นมหาดเล็ก และคุณยายก็เป็นช่างทำของหวานอยู่ในวังช่วงสมัยปลายรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 5 ส่วนตัวคุณยายแดงเองก็เคยวิ่งเล่นอยู่ในวัง ได้เห็นผู้คนมากมาย และมีโอกาสเข้าไปช่วยในงานของห้องครัวอยู่เสมอ

     “ในวังคนอยู่เยอะมาก แต่ละคนก็มีหน้าที่ที่ชัดเจน อย่างแม่ก็ทำอาหารเป็นหลัก เราเห็นก็ชอบ เลยตั้งใจว่าจะเป็นแม่ครัว” ยายแดงพูดถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้สนใจอาหารมาตั้งแต่เด็กๆ กระทั่งหลงใหลจนตัดสินใจเอาดีในอาชีพนี้ทั้งชีวิต

 

 

LIFE

     “ทำไมต้องโขลกน้ำพริกเสียงดังขนาดนั้นละคะ” เราถามคุณยายแดงด้วยความสงสัยตั้งแต่ต้น

     “เพื่อให้ส่วนผสมแหลกเร็ว น้ำพริกก็จะอร่อย และทำให้รู้ว่าลูกสาวบ้านนี้ใส่ใจเรื่องอาหารการกิน มีความอดทน มีความพยายามเหมาะที่จะไปสู่ขอเป็นคู่ครอง ซึ่งวิธีนี้ก็ได้ผลนะ” คุณยายขวัญอธิบาย

     แต่กว่าที่คุณยายทั้งสองจะเรียนรู้และทำอาหารสูตรชาววังจนอร่อยได้นั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย คุณยายขวัญเล่าให้ฟังว่า คนสมัยก่อนจะใส่ใจเรื่องความสะอาด ความสวยงาม อย่างผักแนมต้องแกะสลัก จัดจานต้องตรึงสายตา รสชาติอาหารต้องกลมกล่อมครบรส ดังนั้น เวลาทำกับข้าวแต่ละครั้งจะจริงจังมาก ใช้สมาธิสูงมาก เพราะหากลนลานนิดเดียว หรือมีเหตุให้ต้องฟุ้งซ่านแม้เพียงแค่เล็กน้อย อาหารก็จะไม่อร่อย

 

 

FOOD

     ช่วงแรกๆ ของการทำอาหาร คุณยายก็ทำผิดพลาดค่อนข้างเยอะ เช่น ตำน้ำพริกช้าๆ ซอยใบมะกรูดก็ไม่ถี่ ล้างผักไม่สะอาด หั่นบวบก็ผิดวิธี ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องเล็กๆ แต่มองข้ามไม่ได้

     “แม่ของยายไม่เคยมาจ้ำจี้จำไช หรือดุด่า มีแต่บอกให้ลงมือทำ ทำซ้ำๆ อยู่อย่างนั้นจนกว่าจะทำได้ ให้เรียนรู้ด้วยตัวเอง แล้วค่อยอธิบายทีหลัง นั่นแหละทำให้ยายจำ จำทั้งๆ ที่ไม่มีสมุดเลย” คุณยายขวัญชี้ให้เห็นภาพชัดขึ้น

     “การทำอาหารไทยนี่เสียงดัง หรือดุไม่ได้เลย จะทำให้สติกระเจิง แทนที่จะออกมาดีกลับแย่กว่าเก่า แม่ของยายก็ไม่เคยดุสักคำ ยายจึงนำสิ่งที่แม่ปฏิบัติกับเรา มาทำกับลูกน้องในฐานะหัวหน้ากุ๊ก ซึ่งทุกอย่างออกมาดี” คุณยายแดงเสริม

     แต่บางครั้งน้ำเสียงที่ฟังแล้วดุดัน แต่แท้จริงไม่ได้ดุด่า คุณยายทั้งสองมั่นใจว่า จะทำให้คนที่ถูกฝึกมาแบบนั้นแกร่ง หากไม่ท้อใจล้มกลางทางไปเสียดื้อๆ เพราะนั่นคือ ความกดดันที่ต้องเผชิญ ทั้งยังช่วยฝึกในหลายๆ เรื่อง

     “ถ้าจะมีเสียงที่ดุดันขนาดนั้น คงมีแต่เสียงตะหลิวกระทบกระทะมากกว่า” คุณยายแดงหัวเราะ

 

ทับขวัญ

 

SKILL

     สิ่งสำคัญอีกอย่างของการปรุงอาหารสูตรชาววังคือ สมาธิ ที่พ่วงด้วยข้อดีคือได้มีเวลาอยู่กับตัวเองมากที่สุด

     “หมายความว่า ทำกับข้าวไปก็คุยกับตัวเองไปอย่างนี้เหรอคะ” เราถามปนกวนเล็กๆ

     ยายทั้งสองหัวเราะร่วน แล้วอธิบายให้ฟังว่า นั่นหมายถึงการที่รู้ตัวเองว่าต้องทำอะไรก่อนหลัง ขั้นตอนต่อไปจะผัดอะไร ใส่อะไร ใส่ไปแล้วเท่าไหร่ จะได้ทบทวนกับตัวเอง ได้รู้จักการวางแผน และการจัดลำดับความสำคัญ หากจะเปรียบกับการทำอาหาร จำเป็นต้องรู้ว่าเมนูนี้จะใส่อะไร ก็ต้องเตรียมของให้เรียบร้อยก่อน ถึงเวลาปรุงก็ทำตามขั้นตอน หากลัดไปสักขั้นตอน หรือไม่เตรียมให้พร้อม เรียกว่าผิดไปแค่ขั้นตอนเดียว อาหารก็อาจจะไม่อร่อย

     “แต่มันก็ยืดหยุ่นและปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ ไม่ถึงกับยึดติดว่าทุกอย่างจะต้องทำแบบเดิมเป๊ะ เพราะถ้าไม่ปรับอะไรเลย เราก็จะเหนื่อยเอง แถมบางครั้งอาหารออกมาไม่ดีด้วยซ้ำ” คุณยายแดงเสริมประเด็นความคิดเห็นของคุณยายขวัญ

     การเข้มงวดกับตัวเองของคุณยายขวัญ หรือความยืดหยุ่นได้ของคุณยายแดง เป็นสิ่งที่บ่งชี้ให้เราเห็นว่า ไม่ใช่แค่การทำอาหารแบบชาววังเท่านั้น แต่ในทุกๆ การทำงานจำเป็นจะต้องมีสองสิ่งนี้ เพื่อให้ผลลัพธ์ของงานออกมาดีที่สุด

 

ทับขวัญ

 

THE FINEST RESULTS

     เสียงสากที่กระทบกับครกหายไป ควันไฟในเตาถ่านมอดลง บทสนทนาได้เดินทางมาในช่วงท้ายๆ สองคุณยายเล่าเรื่องอื่นไปเรื่อยๆ แต่เท่าที่ฟัง ชีวิตที่ผ่านมาของคุณยายทั้งสองก็แทบไม่มีอะไรเปลี่ยน แต่กลับมีสิ่งที่หนึ่งที่ยายขวัญบอกกับเราว่า “ทุกอย่างต้องเริ่มต้นที่ตัวเรา หากเรารู้ว่าชอบอะไรแล้วเป็นสิ่งที่ดี ก็ให้ลงมือทำทันที และก็ทำอยู่อย่างนั้น ซ้ำๆ บ่อยๆ หากทำแล้วยังไม่ดีก็ไม่เป็นไร ก็มุ่งมั่นทำต่อ ทำจนกลายเป็นนิสัยของเรา สุดท้ายผลที่ออกมามันจะดีสมใจเรา”

 

_

WHEN OUR HEART BLOOMS

_

‘ป้อง’ – อักขเรนทร, ศิลปินนักจัดดอกไม้

 

ทับขวัญ

 

     แสงแดดด้านนอกเริ่มส่องแสงแรงขึ้นเรื่อยๆ อุณหภูมิที่เย็นสบายค่อยๆ สูงขึ้นตามลำดับ เราเร่งฝีเท้าขึ้นมายังเรือนใหญ่เพื่อหาที่หลบร้อนตอนช่วงเที่ยง พลันได้ยินเสียงทำนองเพลงไทยโบราณแว่วมาจากห้องรับรอง ซึ่งภายในเต็มไปด้วยดอกไม้นานาชนิดที่แข่งกันอวดโฉม ไม่ว่าจะเป็นดอกมะลิ กลีบดอกกุหลาบสีชมพูเข้ม สีม่วงจิ๋วๆ จากดอกบานไม่รู้โรย และดอกรักสีขาวสะอาด รวมทั้งพวงมาลัยข้อพระกรที่เพิ่งร้อยเสร็จใหม่ๆ ซึ่งเป็นผลงานของป้องเอง เขาเป็นทั้งนักจัดดอกไม้และวิทยากรพิเศษประจำทับขวัญ รีสอร์ท แอนด์ สปา ที่เดินเข้าประตูตามหลังเราเข้ามา พร้อมยิ้มน้อยๆ แล้วเอ่ยว่า “พร้อมที่จะร้อยมาลัยกันไหม” จากนั้นเรื่องราวชีวิตของเขาที่ถูกเรียงร้อยเข้ากับดอกไม้เหล่านี้ก็เริ่มต้นขึ้น

 

STORYTELLING

     ถึงแม้จะไม่ได้รับการถ่ายทอดวิชาร้อยมาลัยมาจากในวัง แต่เขาก็ศึกษาและค้นคว้าข้อมูลการร้อยมาลัย เพื่อให้เทียบเคียงพวงมาลัยในวัง ซึ่งเขาได้รับแรงบันดาลมาจากละครเรื่องสี่แผ่นดิน ที่เคยดูมาก่อนหน้านี้

     เขาเห็นความมุ่งมั่นของสาวชาววังที่ค่อยๆ บรรจงร้อยมาลัยด้วยดอกไม้สด ประคองกลีบดอกไม้เล็กๆ อย่างทะนุถนอม ด้วยในวังมีคนจำนวนมาก การร้อยมาลัยจึงแบบออกเป็นส่วนๆ ได้ แต่ละส่วนก็จะจริงจัง คนร้อยมาลัยก็จะมีหน้าที่เพียงอย่างเดียวคือ ร้อยอยู่อย่างนั้น ทำซ้ำอยู่อย่างนั้น ร้อยจนได้ดี ท้ายสุดได้เลื่อนขึ้นและได้รับการยกย่อง ที่สำคัญสาวชาววังไม่เคยถูกบังคับให้ทำ เป็นการยินยอมพร้อมใจ เลือกที่จะทำเพราะรู้ว่า สิ่งที่ทำอยู่นั้นคือของสูงค่า และรู้ว่าทำเพื่อใคร ซึ่งก็คือเพื่อถวายให้พระมหากษัตริย์ และทำถวายจนตัวตายเพียงเพื่อให้ได้สิ่งนี้ตลอดไป

 

ทับขวัญ

 

LIFE

     ระหว่างที่เขาค่อยๆ ร้อยมะลิอย่างเบามือ เราก็เอ่ยถามเขาว่า ในขณะที่สาวชาววัง เลือกร้อยมาลัยหรือถวายงานจนตัวตาย ซึ่งเป็นความภูมิใจที่สุดในชีวิตของพวกเธอ แล้วตัวเขาล่ะ การจัดดอกไม้และร้อยมาลัยนั้นทำไปเพื่ออะไร เขานิ่งไปครู่หนึ่งแล้วตอบกลับ อย่างฉะฉานถึงภาพชีวิตตั้งแต่เริ่มต้นที่เขาสนใจดอกไม้นั้น คือการที่ได้เห็นกระบวนการต่างๆ ที่กว่าจะเป็นพวงมาลัยสักพวง นั้นเต็มไปด้วยความงดงามและอ่อนโยน รวมทั้งสีสันที่เปลี่ยนไปตามฤดูกาลทำให้เขายิ่งสนใจการร้อยมาลัยมากขึ้น

 

FLOWERS

     “ยิ่งดูละคร สี่แผ่นดิน เราก็ยิ่งอิน ยิ่งได้ศึกษาศาสตร์ของการร้อยมาลัยก็พบว่า สมัยก่อนใช้ดอกไม้สดในการร้อยมาลัย ซึ่งต้องแข่งกับเวลา อย่าง ดอกมะลิ อยู่ไม่นานก็เริ่มช้ำและสีคล้ำ ยิ่งระหว่างการร้อยดอกมะลิ หากจับดอกแน่นเกินไป ก็จะช้ำ หากเสียบเข็มเข้าออกมากเกินไปก็จะพรุน ต้องอาศัยความเร็ว แต่ต้องเบามือในการร้อยมาลัย มันเป็นความละเอียดอ่อนที่น่าสนใจ เรากลับมาตอบคำถามที่ว่า หากสาวชาววังทำงานฝีมืออย่างสุดตัวเพื่อถวายพระมหากษัตริย์ เราคงทำเพื่อได้เห็นความงามของพวงมาลัยที่ถ่ายทอดออกมาจากสองมือของเราเอง”

 

ทับขวัญ

 

SKILL

     เรารู้มาว่าเขาจัดดอกไม้และร้อยมาลัยแบบชาววังมากว่า 10 ปี เราจึงถามไปตรงๆ ว่า ไม่เบื่อบ้างหรือ เขายิ้มเล็กน้อยแล้วตอบกลับทันทีว่า “ขอกลับไปเทียบกับสาวชาววัง การที่พวกเธอร้อยมาลัย แล้วไม่รู้สึกเบื่อ เพราะพวกเธอรู้ว่า งานที่ทำคือสิ่งที่สูงค่า รู้ว่าตัวเองมีความสามารถและทำสิ่งนั้นออกมาอย่างเต็มที่ เราก็เหมือนกันที่รู้ว่า งานที่เราทำมีคุณค่าแม้จะแสนธรรมดาในสายตาของคนอื่นก็ตาม เราก็เลือกที่จะทำและทำอย่างภาคภูมิใจ ยิ่งมีคนเห็นคุณค่างานของเราด้วย ก็จะยิ่งเพิ่มความตั้งใจทำงานออกมาให้ดีที่สุด”

 

THE FINEST RESULTS

     “แต่รู้ไหมว่าตลอด 10 ปีที่ผ่านมา การร้อยมาลัยทำให้เราเปลี่ยนนิสัย และปรับทัศนคติต่อการทำงานได้ดีขึ้น จากที่เราทำอะไรจริงจัง ทำแล้วคาดหวังให้คนยอมรับมาก เรากลับพบว่า คุณค่าไม่ได้อยู่ที่ตรงนั้น เรายอมรับความผิดหวังได้มากขึ้น ยอมรับความผิดพลาดได้ดีขึ้น ใจเย็นขึ้นจากเดิมที่เคยเหวี่ยงวีนมานาน” นี่คือสิ่งที่เขาบอกระหว่างดำดิ่งสู่โลกของการร้อยมาลัยในวัง ที่อยู่ๆ ก็พูดขึ้นมาเหมือนกับอ่านใจออกว่าเรากำลังจะถามอะไร

 

_

AROMATIC MOMENT

_

โอ๊ตจตุรพักตร์ พวงประดับ
วิทยาการพิเศษด้านการทำน้ำปรุงและเครื่องหอม

 

ทับขวัญ

 

     เวลาสี่โมงเย็น พระอาทิตย์เริ่มอ่อนแสง แต่เวลาของเราที่จะใช้ไปกับการเรียนรู้ศาสตร์และศิลป์ชิ้นสุดท้ายเพิ่งเริ่มต้นขึ้น พร้อมกับกลิ่นหอมจากดอกไม้ที่ฟุ้งปะทะเข้าจมูกทันทีที่เดินมาถึงศาลาริมน้ำหลังเล็ก ซึ่งมาจากการปรุงน้ำปรุงของเขานั่นเอง ซึ่งเราเคยได้ยินมาว่า กว่าจะได้น้ำปรุงแต่ละออนซ์ ต้องใช้เวลาหมักกันนานแรมปี

 

STORYTELLING

     นักสร้างกลิ่นหอมคนนี้เริ่มต้นเท้าความถึงที่มาของน้ำปรุงให้ฟังว่า น้ำปรุงหรือน้ำหอมไทย เข้ามาช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 เพราะเริ่มมีวัฒนธรรมและสินค้ามากมายจากต่างประเทศ รวมทั้งน้ำหอมฝรั่ง แต่คนไทยไม่ค่อยถูกจริตกับกลิ่นนั้นนัก ตามเดิมก็ใช้และชอบน้ำอบที่มีดินสอพองอยู่แล้ว แต่กลิ่นจะระเหยไว ไม่ทนเท่าน้ำหอมฝรั่ง สาวชาววังก็เลยคิดทำน้ำหอมกลิ่นดอกไม้ขึ้นมา ด้วยการเริ่มเก็บดอกไม้ที่นิยมปลูกมาแช่ในเหล้า เพื่อสกัดเอาน้ำมันหอมระเหย แช่ทุกวัน เมื่อดอกไม้เริ่มดำ ก็ช้อนทิ้งและหาดอกไม้ชนิดอื่นๆ มาแช่ต่อ หรือชนิดเดียวกัน แล้วค่อยนำมาผสมเพื่อให้เกิดกลิ่นใหม่ ซึ่งก็เรียกว่า น้ำปรุง และใช้เวลาหมักข้ามปีว่าจะได้มาในแต่ละออนซ์

 

LIFE

     โอ๊ตคือคนที่อยู่กับความถนัดของตัวเองเพียง 3 ปี แต่เป็นเวลาที่เต็มไปด้วยความรู้และทักษะด้านเครื่องหอมและน้ำปรุง ซึ่งต้องอาศัยความสะอาด ละเอียดลออ ที่เขาได้รับมาตั้งแต่สมัยเรียน

     “ผมประทับในกระบวนการทำน้ำปรุง รวมทั้งครูผู้สอนที่ดุมาก ไหนจะมีเวลาถ่ายทอดวิชาเพียง 3 วัน เลยยิ่งเข้มงวดเป็นพิเศษ คอยตีมือทุกครั้งที่พบความสกปรก และยังได้เปลี่ยนความเข้าใจใหม่ จากที่เคยคิดว่า น้ำอบน้ำปรุงใช้เฉพาะในงานศพเท่านั้น แต่ความเป็นจริงแล้วคนโบราณนิยมใช้ในชีวิตประจำวันจนเป็นเรื่องธรรมดา”

 

PERFUME

     เราคิดเอาเองว่า ความรู้จากครูอาจจะยังไม่ทำให้เกิดแรงฮึดที่อยากจะทำ เราเลยถามไปตรงๆ ว่า เขามีหนังสือหรือละครเรื่องไหนที่เป็นแรงบันดาลใจให้ทำน้ำปรุงบ้างหรือเปล่า เขาตอบว่า อ่านหนังสือเรื่อง เมื่อคุณตาคุณยายยังเด็ก

     “มีตอนหนึ่งที่พูดถึงใบเนียม ที่กล่าวว่าเป็นใบไม้หอมสำหรับทำน้ำอบน้ำปรุง และเป็นต้นไม้โบราณหายาก ทำให้ผมสนใจในน้ำปรุงมากขึ้นเรื่อยๆ”

 

ทับขวัญ

 

SKILL

     หลังจากนั้นไม่นาน เขาก็ดึงความรู้พื้นฐาน ผสานไปกับการลองผิดลองถูก ลองหมักและทำแจกเพื่อนๆ จนท้ายสุด เขาก็หลงรักกลิ่นและชื่นชอบตัวเองเมื่อตอนที่ลุ้นว่า กลิ่นที่หมักไว้นั้น เมื่อผสมกันแล้วออกมาเป็นอย่างไร แถมยังรู้ซึ้งถึงคำว่าอดทนได้มากกว่าเดิม โดยระหว่างการพูดคุย เขามักจะเปรียบเทียบกับสาวชาววังให้เห็นภาพ ว่าสมัยก่อนผู้คนละเมียดละไมในทุกๆ ขั้นตอนการทำน้ำปรุงแค่ไหน และมีความอดทนสูง รู้จักรอคอยมากขนาดไหน รอคอยและทำไปเรื่อยๆ จนเกิดเป็นทักษะและเป็นความรู้ติดตัว ก่อนจะถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น จนถึงวันที่เขามีโอกาสได้เรียนรู้อย่างในปัจจุบัน

 

THE FINEST RESULTS

     แต่ใครจะไปรู้ว่าวันหนึ่งทหารเกณฑ์ ผู้ที่ชื่นชอบกลิ่นดอกไม้และสนใจการทำน้ำปรุงแบบชาววัง จะได้ใช้ความชอบนี้ มาเป็นอีกหนึ่งอาชีพของตัวเอง “หลังจากเข้าไปฝึกทหาร ผมก็ถูกถามว่ามีความสามารถพิเศษอะไร เรามั่นใจที่จะตอบออกไปว่า ทำเครื่องหอม และดอกไม้ประดิษฐ์ได้ นั่นเป็นจุดเริ่มต้นให้ผมได้ไปช่วยงานที่สมาคมแม่บ้าน เป็นวิทยากรสอนกำลังพลในกรม ใครจะไปคิดว่า สิ่งที่เราตอบไปในวันนั้น แถมยังเป็นงานผู้หญิง จะทำให้เรารับราชการต่อได้และได้ทำสิ่งที่ตัวเองถนัดควบคู่ไปด้วย นี่ก็คือการรอคอยอย่างหนึ่ง เหมือนรอคอยให้ดอกไม้และแอลกอฮอล์หมักบ่มจนได้กลิ่นที่หอม ซึ่งมันคุ้มค่าจริงๆ”

 

HAPINESS

     บทสนทนาท้ายสุดของวันจบลงด้วยการจากลาของพระอาทิตย์ สายลมอ่อนๆ พัดกลิ่นน้ำปรุงขวดน้อยที่โอ๊ตหมักไว้ข้ามปีลอยขึ้นมา เราหลับตาแล้วรู้สึกเห็นด้วยไปกับโอ๊ตว่า บางครั้งชีวิต ความรัก และการทำงาน หากเราอดทนที่จะรอคอยอีกสักนิด เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า เราก็ควรให้เวลาทำหน้าที่ของมัน แล้วรอคอยด้วยหัวใจที่เป็นสุข

 


 

FYI

     ปลดความหนักอึ้งของชีวิตแล้วไปเรียนรู้ชีวิตและการทำงานผ่านศาสตร์และศิลป์จากผู้เชี่ยวชาญด้านอาหาร การร้อยมาลัยและเครื่องหอมที่ ทับขวัญ รีสอร์ท แอนด์ สปา

www.dhabkwan.com
www.facebook.com/DhabkwanResort/