บ้านเก่าในกรุงเทพฯ คือสิ่งที่หาชมได้ยากขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะบ้านย้อนยุคสภาพดี ที่เปิดประตูให้ผู้คนเข้ามาชื่นชมความงดงามแห่งกาลเวลาอย่าง บ้านขนมปังขิง เรือนไทยสไตล์ฝรั่งที่คาดว่ามีอายุถึง 106 ปี โดยมีทายาทเจ้าของบ้านคนแรกอย่าง วิรัตน์, กีรติ คุณารัตนอังกูร และครอบครัว ช่วยกันปรับเปลี่ยนบ้านที่เคยเงียบเหงาทรุดโทรมให้กลายเป็นร้านกาแฟกึ่งพิพิธภัณฑ์ในบรรยากาศร่มรื่น แฝงไปด้วยคุณค่าทางประวัติศาสตร์และคุณค่าทางจิตใจ
เราเดินผ่านประตูไม้ที่ด้านบนสลักคำว่า ‘บ้านขนมปังขิง’ เข้าไปเจอต้นมะม่วงต้นยักษ์ที่ตั้งตระหง่านอยู่หน้าร้านกาแฟ ลมพัดเบาๆ กับแดดอ่อนยามเช้ายิ่งทำให้สถานที่แห่งนี้เงียบสงบร่มรื่น จนสัมผัสได้ถึงจังหวะหัวใจที่เต้นช้าลงกว่าที่เคย
“บ้านขนมปังขิงสร้างขึ้นใน พ.ศ. 2456 โดยมีเจ้าของคนแรกเป็นขุนนางชั้นรองอำมาตโทชื่อ ขุนประเสริฐทะเบียน หรือชื่อเล่นว่า ‘ขัน’ ซึ่งเป็นคุณตาทวดของภรรยาผม” วิรัตน์ผู้เป็นหนึ่งในเจ้าของบ้านหลังนี้เริ่มเล่าเรื่องราวแห่งวันวานให้เราฟัง
ขุนประเสริฐทะเบียนสร้างบ้านหลังนี้ขึ้นในยุคปลายรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นช่วงที่วัฒนธรรมยุโรปเริ่มเข้ามามีอิทธิพลในประเทศไทยค่อนข้างมาก ทำให้บ้านหลังนี้ถูกสร้างขึ้นด้วยสถาปัตยกรรมแบบ Gingerbread House มีลักษณะเด่นคือการตกแต่งลวดลายฉลุที่อ่อนช้อยและละเอียดลออรอบตัวบ้าน คล้ายคลึงกับบ้านขนมปังขิง หรือคุกกี้ที่ชาวยุโรปมักจะทำกินกันในเทศกาลคริสต์มาส และถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นสัญลักษณ์ประจำตัวของขุนประเสริฐทะเบียน คือการสลักอักษรบนแผ่นไม้เป็นชื่อเล่นว่า ‘ขัน’ สอดแทรกอยู่ในมุมต่างๆ ของบ้านด้วย
“ตอนนั้นบ้านขนมปังขิงเป็นบ้านธรรมดาๆ ของคนฐานะปานกลาง มีคุณตาทวดขันและภรรยาของเขา คือคุณยายทวดอำแดงหน่าย อาศัยอยู่กับลูกๆ หลานๆ” วิรัตน์หยิบรูปถ่ายใบเก่าขึ้นมาให้เราดูประกอบ “แล้วคุณตาทวดท่านเป็นคนใจดีมาก พอเงินเดือนออกก็มักเอาเงินไปแจกจ่ายเด็กๆ ในละแวกนี้ เมื่อก่อนบ้านหลังนี้จึงเป็นเหมือนศูนย์รวมของชุมชน”
หลังยุคของขุนประเสริฐทะเบียน บ้านหลังนี้ถูกขายต่อให้กับลูกหลานในครอบครัวอย่าง ท่านผู้หญิงเนื่องสนิท ที่ภายหลังได้ยกให้เป็นสมบัติของลูกสาวคือ ท่านผู้หญิงเพ็ชรา เตชะกัมพุช ทันตแพทย์ประจำพระองค์ของในหลวงรัชกาลที่ 9
“ตอนนั้นบ้านเริ่มทรุดโทรม ท่านผู้หญิงเพ็ชราจึงบูรณะเล็กๆ น้อยๆ แต่ก็ไม่ได้เข้ามาอยู่อาศัยแล้ว จะมีก็แค่ญาติๆ มาอยู่บ้างเป็นครั้งคราว อย่างวันเปิดร้าน ญาติที่มาเขาก็ยังเล่าให้ฟังว่า เคยนอนห้องนี้ เคยนั่งเล่นตรงนี้ เคยวิ่งเล่นตรงนี้” วิรัตน์เล่าด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้ม
หลังจากนั้น บ้านขนมปังขิงก็ถูกปิดเงียบมาหลายปี ทำให้คนที่เดินผ่านไปมาเริ่มสงสัย ชะเง้อมองความเป็นไปของบ้านที่เริ่มเสื่อมโทรมตามกาลเวลา บ้างก็มีนักศึกษาแวะเวียนเข้ามาวาดรูป แต่ไม่เคยมีใครได้ย่างกรายเข้าไป
“พอปีที่แล้ว บ้านมันโทรมมากๆ ฝ้าผุ หน้าต่างเริ่มปิดไม่ได้ เราเลยตัดสินใจปรับปรุงบ้านครั้งใหญ่ โดยพยายามคงเอกลักษณ์เดิมให้มากที่สุด พร้อมกับปรับเปลี่ยนให้เป็นร้านกาแฟ”
สำหรับคนนอกอย่างเรา การปรับเปลี่ยนบ้านเก่าอายุกว่าร้อยปีให้กลายเป็นสถานที่สาธารณะอย่างร้านกาแฟนั้นฟังดูไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ไหนจะต้องดูแลรักษาเพิ่มเติมมากมาย แถมการเข้ามาของลูกค้าอาจจะทำให้บ้านทรุดโทรมกว่าเดิมด้วย แต่วิรัตน์กลับเห็นต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง
“ไม่ครับ ตอนจะเปลี่ยนให้กลายเป็นร้านกาแฟเราตัดสินใจไม่ยากเลย เพราะเราไม่เคยอยู่บ้านหลังนี้ มันเป็นบ้านที่ผู้ใหญ่ยกมาให้ แล้วเราก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะทำอะไรกับมัน อีกอย่างคือการเปิดเป็นร้านกาแฟจริงๆ แล้วทำให้บ้านอายุยืนขึ้น คือถ้าเราอยู่ในบ้านที่ปิด ไม่ได้ถูกใช้งานนานๆ มันจะชื้นและพังเร็ว ยิ่งถ้าวันไหนหลังคารั่ว ไม้ผุ ปลวกกิน เราไม่รู้เลย แต่พอทำเป็นร้านกาแฟเราก็เข้ามาดูบ่อยๆ บ้านมันถูกเปิดให้โปร่งโล่ง อายุมันจะยืนยาวขึ้น”
เขาและนักออกแบบบ้านลงมือรีโนเวตบ้านด้วยความพยายามรักษาสภาพเดิมให้ได้มากที่สุด “เราแค่ยกฝ้าให้สูงขึ้น ขัดผนังให้มันสะอาด แต่ไม่ได้ทาสีใหม่เลย เพราะเราอยากรักษาคราบความเก่าของอดีต ทำให้คนได้เห็นเสน่ห์ของร่องรอย นักออกแบบเองก็เห็นด้วยว่าการทำให้ใหม่มันง่ายมาก แค่ทาสีเอง แต่การทำให้เก่าได้ขนาดนี้มันยากกว่ากันเยอะ”
ลมเย็นๆ ที่พัดเข้ามาในหน้าต่างชั้นสอง ทำให้เรามองออกไปเห็นต้นมะม่วงอกร่องขนาดใหญ่บริเวณหน้าบ้าน “จริงๆ มะม่วงต้นนี้อายุอ่อนกว่าบ้านนิดเดียว แล้วมันเป็นมะม่วงที่ยังออกผลทุกปี ยังคิดไว้เลยว่าถ้าถึงฤดูแล้วเราน่าจะได้เอามาทำเป็นเมนูมะม่วงกัน ต่อไปก็อาจจะเอาของเก่า นาฬิกาโบราณ รูปถ่าย มาติดบนผนังด้วย”
ภายในร้านมีกาแฟและเครื่องดื่มสุขภาพไว้บริการ เช่น กาแฟเย็นซิกเนเจอร์ ชาไทยเย็นราดกาแฟ ส่วนขนมจะเน้นเป็นขนมไทยสไตล์ฟิวชั่น เช่น บัวลอยไอศกรีม ตะโก้ยักษ์ไอศกรีม ไอศกรีมโรยฝอยทอง รวมถึงเค้กมะตูมสูตรโบราณรสชาติกลมกล่อม ที่ล้วนนำเสนอความเป็นไทยที่ปรับเข้ากับยุคสมัยได้เป็นอย่างดี
ในฐานะคนหลงใหลบ้านเก่า วิรัตน์ได้พูดเสริมไว้ว่า “เศร้าใจเหมือนกันที่ตอนนี้บ้านเก่าหายไปจากกรุงเทพฯ เยอะมาก เพราะเมื่อก่อนเวลาไปแถวสาธรจะเห็นบ้านเก่าริมถนนเต็มไปหมด ผมว่าบ้านเก่า ต่อให้มีเงินก็ซื้อไม่ได้ มันมีคุณค่าอย่างอื่นที่ไม่ใช่เม็ดเงิน แม้แต่ในยุโรปซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของสถาปัตยกรรมขนมปังขิงเองก็ยังเหลือบ้านสไตล์ขนมปังขิงน้อยมาก ช่างที่สามารถซ่อมแซมได้ก็แทบจะเป็นรุ่นสุดท้ายกันหมดแล้ว”
“ถ้าใครบอกว่าการรีโนเวตบ้านไม้เก่าๆ มันไม่คุ้ม สร้างใหม่ดีกว่า ผมว่าเป็นความคิดที่ไม่ถูกเสียทีเดียว เพราะมันเป็นคุณค่าทางจิตใจ พอได้บ้านหลังนี้มา เรารู้สึกว่ามันเป็นของมีค่า ต้องทำให้มันดีกว่าเดิม และส่งต่อให้รุ่นถัดไป อย่างที่ผมปรับปรุงบ้านหลังนี้ก็ทำให้ท่านผู้หญิงเพ็ชรามีความสุขมากๆ ว่าบ้านที่เขาเคยอยู่มาตอนเด็กมันไม่พังไปตามยุคสมัย วันที่เราเลี้ยงพระก็เชิญญาติทุกคนที่เคยอยู่บ้านหลังนี้มา ทุกคนมีความสุข ในขณะเดียวกัน ลูกค้าเข้ามาก็ได้เรียนรู้เรื่องประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมบ้านขนมปังขิง ซึ่งคงเหลืออยู่เพียงหลังเดียวในกรุงเทพฯ แล้ว”
WHERE TO FIND GINGERBREAD HOUSE BANGKOK
เปิดให้บริการ: เวลา 11.00-20.00 น. (ปิดวันจันทร์)
Facebook: บ้านขนมปังขิง เสาชิงช้า