ส่วนผสมของชุมชนเก่าและวัฒนธรรมสมัยใหม่คือเอกลักษณ์ที่นับวันก็ยิ่งชัดเจนขึ้นของย่าน ‘เจริญกรุง’ เช่นเดียวกับการเข้ามาของคาเฟ่สุดฮิป HĒIJīi Bangkok ของ ‘มิก’ – ประภาส ระสินานนท์ และหุ้นส่วนคนสนิทอีก 6 คน ที่แม้ว่าภายนอกจะดูเป็นร้านกาแฟเท่ๆ สไตล์จัดจ้านแบบคนรุ่นใหม่ แต่จริงๆ แล้วกลับแฝงด้วยรายละเอียดลึกซึ้งของความทรงจำวันวาน การใส่ใจสิ่งแวดล้อม และการอยู่ร่วมกับคนในชุมชนอย่างกลมกลืน
“เราเคยไปอยู่ซีแอตเทิล แล้วเข้าไปในร้านกาแฟร้านหนึ่ง เป็นร้านธรรมดามากๆ แต่บรรยากาศของคนที่อยู่ในนั้นเขาสนุก เปิดเพลงเต้นรำแบบ Carpenters, ABBA แล้วก็ร้องประสานเสียงกัน ชงกาแฟไปเต้นไป เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้อยากกลับมาเปิดร้านแบบนี้บ้าง” ประภาสเริ่มเล่าให้เราฟังอย่างออกรส
เขาเลือกเปิดคาเฟ่แห่งนี้ในย่านเจริญกรุง เนื่องจากหลงใหลในความคลาสสิกที่ผสมผสานเข้ากับโลกสมัยใหม่
“เราว่าย่านนี้สนุกดี ได้เห็นวิถีชีวิตของชาวบ้าน คนหลายวัยยังเดินด้วยกันได้ ที่เลือกที่นี่ไม่ใช่เพราะมันโลเกชันดี แต่เพราะเพื่อนบ้านน่ารัก มีแกลเลอรี Airbnb ร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านขายหนังสือพิมพ์ เราเดินเข้ามาก็ทักทุกคนได้หมดเลย ทั้งคุณป้า อาม่า อากง กลายเป็นคนรู้จักกัน มีเพื่อนต่างวัยเยอะแยะไปหมด ส่วนชื่อร้าน HĒIJīi (เฮยจี) แปลว่า ไก่ดำ มาจากเมนูตอนเด็กที่ม้าชอบทำให้กินคือ ไก่ตุ๋นยาจีน เลือกใช้ชื่อนี้เพราะมันเป็นเมนูอาหารแรกที่เราจำได้ตั้งแต่เด็ก และเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวเราที่สุด”
อาหารและเครื่องดื่มที่นี่เน้นการทำมือเป็นหลัก มีเพียงเครื่องช่วยเล็กๆ น้อยๆ อย่างเครื่องต้มนม และเครื่องต้มน้ำสำหรับทำกาแฟเท่านั้น
“กาแฟร้อนเราชงกันแก้วต่อแก้ว ด้วยวิธีการแบบ Aeropress คือใช้แรงดันเข้าไป ส่วนกาแฟเย็นก็จะทำเป็น cold brew ซึ่งใช้เวลาอย่างต่ำ 12 ชั่วโมง”
แม้จะเป็นวิธีที่ใช้เวลานาน แต่ประภาสก็ยังยึดมั่นในเสน่ห์ของงานคราฟต์ “เราอยากทำงานแล้วมีความสุข ซึ่งบางทีมันกำหนดไม่ได้หรอกว่าใครจะเข้าใจเราขนาดนั้น บางคนเขาอาจไม่ต้องการให้ทำทีละแก้ว ทำทีละ 5 แก้วเลยได้ไหม แต่เราไม่ได้เป็นแบบนั้น เราทำไม่ได้หรอก”
คาเฟ่นี้มีแนวคิดใส่ใจสิ่งแวดล้อมด้วยการใช้บรรจุภัณฑ์ย่อยสลายง่าย และใช้ของที่ช่วยเกื้อกูลคนในพื้นที่ โดยพวกเขาเสิร์ฟเครื่องดื่มเย็นในแก้วพลาสติกพีแอลเอ ปิดฝาด้วยกระดาษกันน้ำปั๊มตรายางรูปโลโก้ร้านและรัดหนังยางแบบง่ายๆ เมื่อใช้เสร็จก็ยังนำหนังยางไปล้างให้สะอาดแล้วนำกลับมาใช้ใหม่
“ของพวกนี้ราคาแพงกว่า และต้องใช้ความตั้งใจในการทำสูงกว่า แต่เราสบายใจ ไม่ได้ถึงขั้นจะเปลี่ยนโลกหรอก แค่ทำในสิ่งที่ทำได้ และมันไม่ลำบากเรา”
ส่วนกระดาษปูโต๊ะลายภาษาจีนที่เราเห็นนั้น แท้จริงแล้วเป็นกระดาษหนังสือพิมพ์ที่ประภาสซื้อมาจากคุณป้าเพื่อนบ้าน เนื่องจากเธอเล่าว่าขายหนังสือพิมพ์ภาษาจีนได้ไม่ดีเท่าที่ควร ทำให้หลายฉบับต้องกลายสภาพเป็นขยะไร้คุณค่า พวกเขาจึงไปรับมาปรับเป็นกระดาษปูโต๊ะสุดเก๋ ซึ่งเข้ากับบรรยากาศของร้านได้อย่างลงตัว
WHERE TO FIND
Facebook: HĒIJīi Bangkok