Joon Studio

Joon Studio: สตูดิโอสอนปั้นเซรามิกสำหรับเด็ก ที่มีแรงบันดาลใจมาจากคำว่า ‘ครอบครัว’

ราวสองสามปีก่อน เราเคยมานั่งจิบกาแฟ ชิมผักโขมอบชีสที่ Joon Studio ซึ่งตอนนั้นสตูดิโอของจูนยังไม่ได้เป็นรูปเป็นร่าง มีเตาเผาเซรามิกเพียงเตาเดียว ในขณะที่ห้องทำงานปั้นของจูนนั้นกลับอยู่ในคาเฟ่แทน แต่ทว่าเรากลับรู้สึกได้ถึงความจริงจังและจริงใจของเธอ ที่อยากจะทำทั้งคาเฟ่และเซรามิกให้ออกมาดีที่สุด จนวันนี้เราได้กลับไปอีกครั้ง และพบว่าหลายอย่างเปลี่ยนไป แต่กลิ่นอายความรักและมุ่งมั่นที่เคยสัมผัสได้นั้นยังคงอยู่เหมือนเดิม  

 

Joon Studio

บ้านของจูน

        ก่อนหน้าที่เราจะสัมภาษณ์จูน เราบอกกับเธอว่า เราเคยมาที่นี่เมื่อหลายปีก่อน คงเป็นเพราะบรรยากาศเป็นกันเอง ทำให้เราคิดว่าที่นี่คือบ้านของจูน ที่ดัดแปลงพื้นที่บางส่วนให้เป็นคาเฟ่ แบ่งส่วนเป็นพื้นที่ทำงานเซรามิก และมีเตาเผาไฟฟ้าขนาดเล็กเป็นอุปกรณ์คู่ใจ ได้ทำคาเฟ่ ได้ทำงานอยู่บ้าน และได้ดูแลครอบครัว

        โชคดีจัง—คำนี้ผุดขึ้นในหัว ก่อนที่จะเก็บความรู้สึกและแรงบันดาลใจแบบนี้กลับกรุงเทพฯ โดยไม่ทันได้พูดคุยอะไรกับเธอมากนัก

        “โชคดีที่เมื่อ 6 ปีก่อน เราตัดสินใจถูกและไม่ยอมแพ้ง่ายๆ มากกว่า” จูนบอกกับเรา ก่อนจะเริ่มต้นเล่าเรื่องราวทั้งหมดให้ฟังด้วยน้ำเสียงหนักแน่น แต่ก็มีบ้างบางตอนที่เสียงของจูนสั่นเครือ

        “ตั้งแต่เราเรียนจบ ก็ตั้งใจไว้เลยว่าจะต้องทำงานที่บ้าน เพราะเราอยากอยู่เป็นเพื่อนเพื่อดูแลอาอี๊ (คำเรียกพี่สาวของแม่ในภาษาจีน) และแม่ที่มีอายุห่างจากเราถึง 40 ปี ในวันที่เราอายุ 25 ปี แม่ก็ 65 ปีแล้ว ส่วนพ่อเสียไปตั้งแต่เรายังเล็ก เราจึงผูกพันกับแม่และอี๊มาก ดังนั้น งานประจำจึงไม่ตอบโจทย์ เพราะอาจจะทำให้เราไม่ค่อยได้กลับบ้าน แค่คิดว่าทั้งคู่จะต้องอยู่กันเพียงลำพัง เราก็ไม่อยากทิ้งเวลาที่จะได้อยู่ด้วยกันตรงนั้นไป จึงเริ่มมองหาลู่ทางท่ามกลางโจทย์ที่เป็นไปได้”

        จูนมองกลับมาที่ตัวเองอีกครั้ง แล้วพบว่าเอกประติมากรรมที่เธอเรียนจบมานั้น สามารถไปต่อทางด้านเซรามิกได้ และจังหวัดนครปฐมก็ใกล้กับราชบุรี เมืองแห่งการปั้น เธอจึงไปฝึกงานกับ ‘ติ้ว’ – วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ ที่เถ้าฮงไถ่ หลังจากนั้นก็ไปฝึกงานต่อที่สตูดิโอเซรามิก เมืองนาโงย่า ประเทศญี่ปุ่น 3 เดือน พร้อมหอบความมั่นใจกลับบ้าน

        “ระหว่างการฝึกงานที่นาโงย่า เราคิดเสมอว่า เมืองที่ไกลขนาดนี้ยังมีคนดั้นด้นมาเรียนเซรามิก แล้วบ้านเราอยู่แค่นครปฐม ใกล้กับกรุงเทพฯ ทำไมจะทำแบบนั้นที่นี่ไม่ได้ เมื่อคิดแบบนั้น หลังจากมาก็เริ่มทำงานเซรามิกที่บ้านทันที”

        บ้านที่เคยเป็นฟาร์มเลี้ยงหมูขนาดใหญ่ ถูกปรับเปลี่ยนบางส่วนให้เป็นพื้นที่ทำงาน และเริ่มนำชิ้นงานออกวางตลาด จนลูกค้าเริ่มสนใจอยากเรียนปั้นดิน เธอจึงคิดว่า ควรมีพื้นที่ที่ให้คนมาเจอเธอได้อย่างสะดวก แต่ยังคงความเป็นที่ที่สบายเหมาะกับคนในครอบครัว ครั้นจะมาใช้ที่ฟาร์มก็ห่วงเรื่องกลิ่น เธอจึงย้ายที่ทำงานออกมาอยู่พื้นที่ริมถนนอย่างในปัจจุบัน

        “แม่เป็นคนบอกเราเองว่า ทำแค่ที่ปั้นเซรามิกอย่างเดียวดูเปลี่ยว หากต้องการให้รู้สึกไม่เดียวดายจะต้องมีร้านกาแฟ เราเห็นด้วย เพราะอย่างน้อยชิ้นงานของเราก็จะถูกนำไปใช้จริงในคาเฟ่ และได้โชว์ผลงานไปในตัว”

        แต่การทำร้านกาแฟและการทำงานเซรามิก ดูเป็นงานใหญ่ที่ค่อนข้างหนัก จูนยอมรับเลยว่าสองสามปีแรกเป็นงานหิน แต่เพราะมีแม่ บวกกับความมุ่งมั่นจากใจ ทำให้เธอกัดฟันเดินหน้าต่อ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้เคยคิดว่าจะไปเป็นพนักงานประจำคงดีกว่า และแล้วจุดยืนของเธอก็ชัดเจนเมื่อการเข้าสู่ปีที่ 5 ของร้านคือปีที่แม่ของจูนจากไปด้วยโรคมะเร็งภายในเวลาเพียง 2 เดือน

 

Joon Studio

 

        “เราคิดถูกมากๆ เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมา เราได้ดูแลแม่อย่างเต็มที่และดีที่สุดแล้ว สิ่งนี้ยิ่งย้ำชัดเลยว่า เรามาถูกทาง แต่ทุกอย่างก็ไม่ได้ง่าย หลังจากที่แม่เสีย เราดูแลส่วนคาเฟ่คนเดียวไม่ไหว จึงต้องประกาศหาคนเช่า และก็โชคดีที่ได้คนที่มีแนวคิดเหมือนกันมารับช่วงต่อ กลายเป็น Thai Style Café ที่มีชื่อ Joon Studio อยู่ด้วย” (หัวเราะ)

สตูดิโอของจูน

        เราชอบทางเข้าสตูดิโอที่เป็นเหมือนซุ้มร่มไม้เลื้อย และทางเดินดินที่โรยด้วยเม็ดดินเผาสีอิฐกลมจิ๋วสลับกับแผ่นกระเบื้องกลมโตขนาดใหญ่ที่เพิ่งปูเสร็จได้ไม่นาน เบื้องหน้าคือ อาคารขนาดเล็กสองชั้นรูปตัวแอล โถงตรงกลางคือโต๊ะไม้สี่เหลี่ยมผืนผ้าตัวยาว พื้นที่หลักสำหรับเรียนปั้นดิน และเพนต์กระถางดินของเด็กๆ

 

Joon Studio

 

        “เมื่อเดินเข้ามาก็จะเจอโต๊ะปั้นเลย เราตั้งใจวางไว้แบบนี้ เพราะไม่ต้องการให้การเรียนรู้ถูกห้องสี่เหลี่ยมตีกรอบ ที่นั่งตรงนี้ เด็กๆ และผู้ปกครองสามารถมองต้นไม้ ได้ยินเสียงนก ได้สัมผัสสายลมหรือไอร้อนจากพระอาทิตย์ เราเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้ช่วยสร้างจินตนาการที่ดีให้กับเด็กๆ ได้”

        ข้างๆ กันคือ Selected shop ที่ด้านในจะเป็นร้านค้าจำหน่ายสินค้าของ Joon Studio อย่างจานผสมสีน้ำ จานรองแก้ว แก้วน้ำ หรือกระถางต้นไม้ และชิ้นงานน่ารักจากฝีมือของเด็กๆ รวมทั้งสินค้าชิ้นเล็กชิ้นน้อยจากเพื่อนๆ ที่มาฝากขาย หน้าช็อปก็มีมุม garden ที่จูนตั้งใจจะทำให้ที่นี่สดชื่นขึ้นมากกว่าเดิม ด้วยต้นไม้ขนาดเล็กในกระถางเซรามิกแฮนด์เมด ที่มีกิจกรรมเพนต์กระถางให้ทำเพิ่มเติมเข้ามาด้วย

 

Joon Studio

 

         ส่วนมุมที่น่าสนใจและเป็นมุมทำงานหลักของที่นี่ก็คือ โซนพักดินให้แห้งเพื่อรอเข้าเตาเผาไฟฟ้า ที่มีรูปทรงและหน้าตาละม้ายคล้ายหม้อหุงข้าวขนาดใหญ่ตั้งอยู่มุมห้อง  

        “เรามีแค่เตาเผาเซรามิกเพียงเตาเดียว ซึ่งมีขนาดเล็ก เอางานเข้าได้ครั้งละ 30-40 ชิ้นเท่านั้น แถมยังเสียบ่อยมาก เมื่อก่อนเราก็นั่งร้องไห้บ่อยมากเหมือนกัน (หัวเราะ) ตอนนี้ไม่ร้องแล้ว เพราะเราใช้วิธีเช่าเตาที่มหาวิทยาลัยศิลปากรแทน”

 

Joon Studio

 

        เมื่อมองขึ้นไปด้านบนชั้นสอง ซ้ายมือสุดจะเป็นห้องทำงานของจูน ฝั่งขวามือจะเป็นห้องพักนักศึกษาฝึกงาน และห้องเก็บห้อง ซึ่งในอนาคตจะปรับให้เป็นห้องพักสำหรับผู้ที่สนใจงานเซรามิกแล้วอยากมาเรียนรู้งานแบบระยะยาว

        “เผื่อใครที่เบื่อๆ เมืองใหญ่แล้วอยากมาพัก แล้วลองทำงานสายนี้สักอาทิตย์สองอาทิตย์ จูนสตูดิโอก็ยินดีต้อนรับ”

เด็กน้อยและเวิร์กช็อปของจูน

        จุดที่เราชื่นชอบเป็นพิเศษอยู่ที่ฉากไม้สีขาว ตกแต่งด้วยจานเซรามิกหลากสีต้อนรับเราทันทีที่ก้าวลงจากรถ เสมือนเป็นประตูแห่งจินตนาการที่พร้อมจะพาทุกคน โลดแล่นเข้าสู่พื้นที่แห่งดินด้านใน

 

Joon Studio

 

        “ฉากหน้าร้านที่เห็นเป็นผลงานของเด็กๆ ในฟาร์มที่บ้านเราเอง พวกเขาช่วยกันทาสี และออกตามหาจานเซรามิกที่เป็นงานเก่าๆ ของเราในสตูดิโอ นำมาติดที่ฉากไม้เก่า แถมยังคอยแวะเวียนมาช่วยกันตรวจดู และซ่อมด้วย”  

        เด็กๆ ในฟาร์มที่จูนบอกก็คือ ลูกหลานของคนบ้านใกล้เรือนเคียงที่อยู่ละแวกบ้าน ซึ่งเธอใช้เวลาช่วงปิดเทอมและสถานการณ์ล็อกดาวน์ที่ผ่านมาชักชวนเด็กๆ ซึ่งโตพอที่จะรับผิดชอบและดูแลตัวเองได้ มาทำกิจกรรมที่สตูดิโอ ทั้งปั้นดิน ลองทำจานเซรามิก หรืออย่างช่วงนี้ก็ชักชวนกันเล่นขายของ ด้วยการนำผักในฟาร์มออกมาวางจำหน่ายจริงในวันหยุดสุดสัปดาห์

 

Joon Studio

 

        “จริงๆ แล้วที่นี่ไม่ใช่แค่สตูดิโอ แต่เป็นพื้นที่แห่งการสร้างสรรค์และโอกาสให้กล้าลงมือ โดยเฉพาะเด็กๆ อย่างน้องบาส เด็กชายที่อยู่กับเรามาตั้งแต่ช่วงโควิด-19 เขามีพรสวรรค์ทางด้านงานปั้นเซรามิก ซึ่งผลงานของน้องบาส รวมทั้งเด็กคนอื่นๆ กลับได้รับความนิยมกว่างานของเราเสียอีก (หัวเราะ) หรืออย่างน้องตอง มีทักษะทางด้านงานบริการ เวลาเราเปิดตลาดขายผักกันข้างๆ ร้าน น้องตองจะทำได้ดี เรียนรู้ว่าควรจัดบูธอย่างไร ซึ่งเด็กๆ แต่ละคนก็มีทักษะและได้การเรียนรู้ผ่านสตูดิโอแห่งนี้ต่างกันด้วย”

        เมื่อเห็นว่าเด็กๆ ว่าเป็นวัยแห่งการเรียนรู้ มีความสุขได้ง่ายแม้กระทั่งสิ่งเล็กๆ รอบตัว และมีความกล้าที่จะลงมือทำ เธอจึงเลือกที่จะเปิดเป็นคอร์สสอนปั้นดินสำหรับเด็ก ซึ่งผู้ใหญ่หรือผู้สูงวัยก็สามารถมาเรียนได้เสมอ

        “เราชอบเด็กๆ และคิดเสมอไว้ว่า หากมีลูก เราก็จะสอนแบบนี้ ให้ได้อยู่กับธรรมชาติ ได้มองเห็นความสุขง่ายๆ และเรียนรู้ความกล้า โดยเริ่มแค่กล้าปั้นดิน ในขณะที่ความเป็นผู้ใหญ่จะกลัว กลัวไม่สวย กลัวทำไม่ได้ แต่สำหรับเด็กๆ เขาจะไร้กังวลใดๆ เลย ซึ่งเรามองว่า นี่คือการปูพื้นฐานวิชาชีวิต ที่เขาอาจจะได้ดึงไปใช้ในอนาคตต่อไปได้”

        ประโยคของจูน ทำให้เรามองว่า คงไม่ใช่แค่เด็กที่จะได้รับสิ่งดีๆ จากความสุขรอบตัวหรือการกล้าลงมือทำ ผู้ใหญ่ก็เช่นกัน หากสักครั้งที่มองหาความสุขข้างตัวให้ง่ายขึ้นอีกนิด กล้าอีกสักหน่อย ชีวิตในแต่ละวันก็คงจะสบายขึ้นตามไปด้วย และจูนสตูดิโอก็เป็นหนึ่งในสถานที่ที่ให้ความรู้สึกแบบนั้นกับเราได้