เช้าตรู่ของวันเสาร์ เรามีนัดกับ ‘เต้ย’ – ธนัช เมฆากิตติธัช และ ‘เอก’ – อรรคเดช ศุภกิจโยธิน สองหนุ่มเจ้าของร้าน Kamaboko Coffee Camp ย่านพระราม 3 ในวันนั้นท้องฟ้าไม่แจ่มใส แต่ก็ไร้ฝน เมื่อถึงแคมป์คาเฟ่ สายลมได้หอบเอาความเย็นขึ้นมาจากแม่น้ำเจ้าพระยาเบื้องหน้า ด้านหลังไม่มีตึกระฟ้ามากั้นทิศทางลม ทำให้อากาศตอนนี้เย็นสบาย เหมาะกับการดื่มกาแฟสักแก้ว แล้วพูดคุยเรื่องร้านและการแคมปิ้งกันยาวๆ
แคมปิ้งสไตล์ญี่ปุ่น และแคมปิ้งคาเฟ่
ทั้งๆ ที่ยังไม่ถึงเวลาเปิดร้าน แต่ดูเหมือนเอกและเต้ยต่างง่วนกับการรับออร์เดอร์ตั้งแต่หัววัน ระหว่างที่กำลังดริปกาแฟอยู่ในเต็นท์ขนาดใหญ่ เต้ยจึงชี้ชวนให้ดูเต็นท์หลังนี้ที่เป็นโซนหลักก่อนเป็นอันดับแรก
“นี่คือเต็นท์ DoD รุ่นคามาโบโกะ ซึ่งเป็นชื่อลูกชิ้นปลาของญี่ปุ่น รูปทรงจะคล้ายๆ อุโมงค์ที่ผู้ใหญ่อย่างเราสามารถเดินเข้าออกได้อย่างสบาย สามารถกั้นเป็นสัดส่วนได้ หรือเพิ่มโถงส่วนกลางได้ อย่างในนี้จะแบ่งเป็นสามส่วนหลัก คือ โถงกลาง บริเวณเคาน์เตอร์สโลว์บาร์ ด้านหลังสามารถกั้นเป็นห้องนอน ด้านหน้าสุดก็กั้นได้อีกห้อง หรือเปิดหมดก็ได้ เพื่อให้ลมพัดออกได้สบายๆ ไม่ร้อน ยึดเต็นท์ด้วยสมอบกของ Snow Peak หลายสิบตัวเพื่อความมั่นใจ ส่วนตอนปิดร้านก็แค่รูดเต็นท์ปิดให้สนิท เพื่อกันลมและฝนเข้าเท่านั้น ซึ่งตั้งแต่กางมากว่าสองเดือน เรียกว่าเอาอยู่จริงๆ”
เรามองไปรอบๆ ร้าน จึงสังเกตเห็นว่าที่นี่คุมโทนด้วยสีเบจ เอกละสายตาจากกาดริปพร้อมรอยยิ้ม แล้วบอกว่า “เพราะเต็นท์ DoD รุ่นคามาโบโกะ มีแค่สามสี คือ เขียวขี้ม้า เบจ และดำ หากต้องกางเต็นท์ตลอดเวลาและทุกวัน สีดำคือสีที่ร้อนสุด สีเขียวก็จะดูกลืนไปกับต้นไม้ใบหญ้าไปหน่อย เมื่อมองภาพรวมแล้ว พวกเรามองเห็นว่าเวลาลูกค้ามาถ่ายรูป จะได้ภาพที่ดีกลับไป อีกอย่างสีเบจจะทำให้ที่นี่ดูเป็นมิตรมากยิ่งขึ้น” ซึ่งเราก็พยักหน้าเห็นด้วย
“ลูกค้าจะชอบมาที่นี่กันหลังสี่ห้าโมงเย็นเป็นต้นไป ส่วนมากจะเป็นกลุ่มครอบครัว พาลูกเล็กเด็กแดง พ่อแม่ผู้สูงอายุ หรือสัตว์เลี้ยง มากินเครื่องดื่มเย็นๆ นั่งคุยกันเพลินๆ หรือแค่นั่งมองบรรยากาศของพระอาทิตย์ตกดินริมแม่น้ำเจ้าพระยา นี่คือการแคมปิ้งอย่างหนึ่งที่พวกเรามอบให้” เอกยิ้มอย่างชื่นใจ
บรรยากาศเป็นกันเองแบบนี้ ไม่ได้แค่โชคช่วยเรื่องทำเลที่ตั้ง แต่ทั้งคู่บอกว่า เป็นเพราะพวกเขาออกแบบกันมาแล้ว โดยมีภาพแคมป์กราวนด์และบรรยากาศกางเต็นท์ของชาวญี่ปุ่นเป็นต้นแบบ
“คนญี่ปุ่นเขาแคมปิ้งกันจริงจัง และมีสไตล์ที่แตกต่างกัน แต่ทุกเต็นท์จะต้องมีอุปกรณ์ครบครัน” เต้ยเล่าถึงแรงบันดาลใจของการเปิดร้านสไตล์แคมปิ้งคาเฟ่ โดยมีตัวอย่างไอเดียมาจากการแคมปิ้งที่สะดวกสบายของชาวญี่ปุ่น ซึ่งมีตั้งแต่เครื่องนอน ครัวเล็กๆ แบบพับเก็บได้ แต่ทำกับข้าวได้หลากหลาย มุมดริปกาแฟที่มาเป็นแบบเคาน์เตอร์จริงจัง แถมอุปกรณ์ให้ความสว่างและกองไฟที่ใช้ฟืน
“ภาพแบบนั้นทำให้เรารู้สึกว่า ได้เวลาที่ควรแคมปิ้ง แต่ไม่ใช่แค่เราที่ต้องออกแคมป์ เราอยากให้ทุกคนรู้สึกแบบนั้น และคิดว่า หากทำร้านกาแฟธุรกิจเสริมเล็กๆ จากความชอบของพวกเรา มีแรงบันดาลใจแบบแคมปิ้งโดยยึดไอเดียนี้ก็คงทำได้ หลังจากที่เราตามหาทำเลเหมาะๆ พบ และอีกสองสามวันต่อมา เราก็ซื้อของครบ และเริ่มซอฟต์โอเพน จนถึงตอนนี้เปิดเต็มตัวก็เกือบสองเดือนแล้ว”
สโลว์บาร์และโทสต์ (มีมันม่วงเผาด้วย)
เอกดริปกาแฟแก้วแรกเสร็จ ก็หันไปกดเอสเปรสโซช็อตแบบแมนวลด้วย Flair Espresso อุปกรณ์ชงกาแฟที่ไม่ต้องใช้ไฟฟ้า เทเอสเปรสโซช็อตรสเข้มลงในแก้วที่รินนมสดแก้วหนึ่ง และน้ำส้มคั้นอีกแก้วหนึ่ง กาแฟรสเข้มพร้อมเสิร์ฟส่วนผสมที่แล้วแต่คนชอบก็พร้อมเสิร์ฟ
“ใจจริงเราตั้งเป้าว่าจะทำกาแฟสโลว์บาร์โดยไม่ใช้ไฟฟ้าเลย เพื่อให้ฟีลแคมปิ้งจริงๆ คิดไว้ว่า ทำได้สัก 50 แก้วก็เยอะแล้ว แต่เอาเข้าจริงๆ ก็เกินร้อย ทำให้เราต้องใช้ไฟฟ้าบ้างในบ้างส่วน แต่หลักๆ ก็ยังคงดริปกาแฟ และใช้เครื่องแบบแมนวล เพราะเป็นอุปกรณ์ที่ไม่ต้องพึ่งพาไฟฟ้าตลอดเวลา”
ระหว่างที่กลิ่นกาแฟชวนให้เราเคลิ้มเคล้ากับกลิ่นขนมปิ้งหอมๆ ที่ลอยมาแตะจมูกก็ชวนให้ท้องร้อง เราเห็นพนักงานในร้านกำลังหยิบโทสต์หนาๆ ออกจาก BALMUDA the Toaster เครื่องปิ้งขนมปังญี่ปุ่นที่ว่ากันว่าปิ้งขนมปังได้อร่อยสุดๆ ท็อปด้วยถั่วแดงกวนและเนยก้อนโต มาพร้อมกับมันม่วงญี่ปุ่นเผาร้อนๆ ควันฉุย ที่เสิร์ฟมาจากร้านเล็กๆ ด้านข้าง สร้างบรรยากาสแคมปิ้งญี่ปุ่นได้สมบูรณ์แบบจนเราต้องขอเบรกไปจัดการของกินพวกนี้ก่อนที่จะเย็นชืด
คอมมูนิตี้ชิลเอาต์ของเหล่าแคมเปอร์ และผองเพื่อน
จากโซนที่เรานั่งพูดคุยกับสองหนุ่ม ตรงหน้าของเราคือ ชุดโต๊ะเก้าอี้เตี้ยๆ ที่พับเก็บตรงกลาง เพื่อสามารถก่อกองไฟได้ ถัดไปหน่อยคือ เต็นท์กระโจม DoD ขนาด 3 คน ตกแต่งพื้นที่ด้วยรถเข็น Coleman และมีอุปกรณ์กินข้าวแขวนอยู่ ใต้ต้นไม้ใหญ่มีชิงช้าตัวเล็กๆ ให้เด็กๆ ได้มานั่งเล่น ส่วนที่เหลือบริเวณด้านหลังกระโจมคือ พื้นที่ที่สองหนุ่มกำลังปรับใหม่ ตั้งใจจะปลูกต้นหญ้า และอาจเปิดเป็น ‘จุดกางเต็นท์’ ขนาดย่อมต่อไป
เต้ยอธิบายถึงคอมมูนิตี้แบบนี้ว่า “จริงๆ แล้วแคมเปอร์จะไม่ค่อยฉายเดี่ยว มีบ้างที่ออกแนวโซโล แต่สุดท้ายเมื่อไปกางเต็นท์ ก็จะมีเพื่อนใหม่ เต็นท์ข้างๆ จะเริ่มมาด้อมๆ มองๆ ท้ายสุดก็จะชวนคุย และหากถูกคอก็อาจจะชักชวนกันไปแคมปิ้งที่อื่นกันต่อ กลายเป็นกลุ่มแก๊งในที่สุด”
เอกพยักหน้าแล้วเสริมว่า “เช่นเดียวกับที่นี่ พวกเราไม่ได้มองว่าที่นี่คือร้านกาแฟสโลว์บาร์ มานั่งชิลดูพระอาทิตย์ตกตอนเย็นๆ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา หรือมาเสพบรรยากาศการแคมปิ้งในกรุงเทพฯ เพียงอย่างเดียว แต่ที่นี่คือคอมมิวนิตี้ของแคมเปอร์ ได้มานั่งพูดคุยกัน แลกเปลี่ยนความรู้ และวิธีการใช้งานอุปกรณ์ต่างๆ หรือแจ้งข่าวสารเกี่ยวกับแคมปิ้ง รวมทั้งจุดกางเต็นท์ใหม่ๆ ต่อกัน”
เรื่องน่าตกใจที่ได้รู้ก็คือ ประมาณสิ้นกันยายนที่นี่จะหมดสัญญา พวกเขาต้องมองหาสิ่งใหม่ๆ มาเสริมเพื่อให้เจ้าของยอมต่อสัญญา อาจจะปรับสไตล์และโทนสีของเต็นท์ใหม่ หรืออาจเพิ่มโซนให้มือใหม่หัดแคมปิ้ง หรือคนที่อยากกางเต็นท์แต่ไม่มีเวลาไปต่างจังหวัด นำเต็นท์มาทดลองกางที่นี่ได้ หากที่บ้านหรือคอนโดฯ ไม่สะดวกหรือมีพื้นที่กว้างพอที่จะกางเต็นท์ ซึ่งเป็นไอเดียที่ดี และจะทำให้ที่นี่ไม่ใช่แค่มาเช็กอินยืนถือแก้วกาแฟ และถ่ายรูปกับเต็นท์เท่านั้น แต่จะเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ทำให้วัฒนธรรมแคมปิ้งกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตเช่นเดียวกับชาวญี่ปุ่น เกาหลีและไต้หวัน
จากสิ่งที่ทั้งคู่แสดงความคิดเห็น ล้วนมีแต่ผลดี เพราะทำให้ภาคธุรกิจท่องเที่ยวในประเทศไทยปรับตัวสู่การมีแคมป์ไซต์มากขึ้น หรือบ้านคนธรรมดาแต่มีพื้นที่กว้าง มีต้นไม้ใหญ่ๆ หรือด้านหลังบ้านอาจมีลำธารเล็กๆ ก็อาจจะปรับให้เป็นแคมป์กราวนด์ดีๆ มีจุดอำนวยความสะดวก และมีความปลอดภัยได้มากขึ้น ผู้คนก็จะออกมาแคมป์กันมากขึ้น เห็นแต่จะเสียอย่างเดียวคือ ค่าอุปกรณ์ในการแคมปิ้งค่อนข้างแพง แต่หากเป็นของที่ดีต่อให้ราคาสูง ก็คงเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าในระยะยาว