xanap

XANAP: ร้านล้างฟิล์มและพื้นที่สร้างสรรค์ของผองเพื่อนที่อาสาบันทึกความทรงจำลงบนแผ่นฟิล์ม

“เมื่อก่อนเรารู้สึกว่าเวลาเข้าร้านล้างฟิล์มแล้วเราเด๋อ เพราะจะรู้สึกว่าเราไม่เก่ง พอเข้าไปเจอคนเท่ๆ ก็ไม่กล้าถาม เราเลยรู้สึกว่านี่เป็นสิ่งที่อยากส่งต่อให้กับคนที่มาล้างฟิล์มกับร้านเรา”

     คำบอกเล่าจากหนึ่งในสมาชิกของ XANAP ร้านล้างฟิล์มที่กำลังมาแรงในขณะนี้ ซึ่งหลายคนที่เล่นกล้องฟิล์มอาจจะเคยประสบพบความรู้สึกทำนองเดียวกันมาก่อน

     ย้อนกลับไปราวปลายปีที่ผ่านมา ชื่อของ XANAP ถูกพูดถึงในกลุ่มคนรักการถ่ายภาพด้วยฟิล์มเป็นอย่างมาก จากการเป็นร้านล้างฟิล์มน้องใหม่ขนาดกะทัดรัดและอบอุ่น ที่ใส่ใจในบริการด้วยความรวดเร็วแต่มีคุณภาพสมราคา ที่สำคัญคือมีความ ‘เป็นกันเอง’ พร้อมให้คำปรึกษาสำหรับทุกคนที่มาใช้บริการ จนถูกบอกเล่ากันปากต่อปากมากขึ้นเรื่อยๆ

     จุดเริ่มต้นของ XANAP เกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มของผองเพื่อนพี่น้องจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ อย่าง ‘ปุ๊’ – จักรพงษ์ ตะเคียนงาม, ‘หลิน’ – รินรดา พรสมบัติเสถียร และ ธันวา ลุจินตานนท์ สามสมาชิกตั้งต้นที่หลงใหลในเรื่องกล้องฟิล์ม จนมีโอกาสเปิดบูธขายกล้องฟิล์มในงานของคณะ และชักชวน ‘หนึ่ง’ – นพอนนต์ อิทธิอัครพงศ์ เพื่อนจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ มารวมกลุ่ม ก่อนที่จะเริ่มต้นความฝันจริงจังด้วยการร่วมหุ้นเปิดร้านที่บริเวณสามย่านในขณะนั้น ด้วยการมองว่าร้านล้างฟิล์มไม่ใช่แค่สถานที่สำหรับล้างฟิล์ม แต่เป็นสถานที่ที่สำหรับแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องการถ่ายภาพฟิล์มของผู้คนที่มาเยือน

     ช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา XANAP ย้ายร้านมาเป็นเพื่อนบ้านของ LIdo Conncect อันเป็นหมุดหมายใหม่สำหรับพื้นที่เชิงสร้างสรรค์ตามคำชักชวนของ ‘อาย’ – อคัมย์สิริ ภคปรีชาพัฒน์ ผู้ซึ่งกลายมาเป็นหุ้นส่วนคนที่ห้าของร้าน เพราะเชื่อมั่นในศักยภาพของพื้นที่แห่งนี้ที่เป็นศูนย์รวมของศิลปะและความสร้างสรรค์ ที่จะต่อยอด และส่งต่อความรู้ให้กับคนรักฟิล์มที่แวะเวียนเข้ามาพบปะสร้างบทสนทนาดีๆ ได้อีกมากมาย

     น่าสนใจว่าระยะเวลาเพียงแค่หนึ่งปีทำให้ XANAP เป็นที่พูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ ได้อย่างไร คงจะดีกว่าหากได้ไปฟังเรื่องราวจากพวกเขาเอง

 

xanap

ฟิล์มม้วนที่หนึ่ง: คิด (ไม่) เล่น ทำจริง

     ปุ๊: ฟังดูเป็นเรื่องตลกนะ แต่ร้าน XANAP เกิดมาจากวงสนทนาหลังแก้วเบียร์ คือช่วงประมาณเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว ผม ธันวา กับหลิน ไปกินอาหารอีสานแถวมหา’ลัย แล้วก็กินเบียร์กันต่อ ทีนี้ผมก็พูดขึ้นมาว่าอยากเปิดร้านล้างฟิล์มมาก แต่งบไม่พอ ก็เลยลองถามกันในวงว่าต้องใช้งบเท่าไหร่ พอได้ตัวเลขกันมาคร่าวๆ ก็คุยกันต่อว่าน่าสนใจ วันรุ่งขึ้นผมก็ไปประสานงานเลย ทั้งเดินหาเครื่องมือ หาสถานที่ หาทุกอย่าง แล้วก็ตั้งกรุ๊ปไลน์กัน

 

     หลิน: ทีแรกคิดว่าปุ๊พูดเล่น แต่มีกรุ๊ปไลน์ แล้วมีการเขียนลิสต์จริงจังว่าต้องใช้เงินเท่าไหร่ ก็คิดว่าน่าจะต้องเอาจริงแล้ว หลังจากนั้นปุ๊กับธันวาก็ไปขายกล้องฟิล์มที่งาน 35:36 Film Camera Weekend ที่ Warehouse 30 เราก็แนะนำหนึ่งซึ่งเป็นเพื่อนให้มาช่วยทำกราฟิกให้ ตอนนั้นหนึ่งเองยังไม่ถ่ายกล้องฟิล์มเลย นอกจากกล้องใช้แล้วทิ้ง พอหนึ่งมาก็กลายเป็นว่าโดนปุ๊กับธันวาป้ายยาโดยการเล่าให้ฟังว่ากำลังจะเปิดร้าน และมีคอนเซ็ปต์อย่างไร เพียงแต่ว่าตอนนั้นหนึ่งยังไม่ได้มาเป็นหุ้นส่วนนะ แค่มาช่วยทำกราฟิกให้เฉยๆ ก็ทำมาเรื่อยๆ

     จนพอจะต้องย้ายร้านจากที่สามย่านมาลิโด้ แล้วต้องหาหุ้นส่วนเพิ่ม เราสามคนก็คุยกันว่าจะเลือกหนึ่งมาเป็นหุ้นส่วนด้วย เขาอยากลงหรือเปล่าไม่รู้ แต่เราเลือกเขาแล้ว (หัวเราะ) หลังจากนั้นก็มีพี่อายที่ทำงานอยู่เอเจนซีที่ทำลิโด้ ซึ่งเขาเป็นคนชวนให้พวกเราย้ายมาลิโด้ แล้วเขามาพูดเล่นๆ ว่าเอาหุ้นส่วนไหม แต่สมาชิกที่เหลือบอกว่าเอาจริงนะ สุดท้ายก็เลยเป็นห้าคนนี้

ฟิล์มม้วนที่สอง: ไม่ใช่แค่ล้างฟิล์ม แต่เป็นสถานที่สำหรับแลกเปลี่ยนความรู้และบทสนทนา

     ปุ๊: ไอเดียแรกในการทำร้าน XANAP คือเราอยากทำสถานที่ที่เอาไว้แลกเปลี่ยนเรื่องการถ่ายภาพฟิล์ม เพราะเด็กเจนเราหรือหลังจากเราไปเขาเกิดมาพร้อมกับความดิจิตอลที่โทรศัพท์มือถือถ่ายรูปได้แล้ว ทีนี้พอเด็กบางคนมาเล่นกล้องฟิล์มเยอะขึ้น บางคนก็ไม่เข้าใจว่า เอ๊ะ ทำไมถ่ายไม่ติด ทำไมถ่ายแล้วมืด ทำไมถ่ายแล้วสว่าง เราเลยรู้สึกว่าจริงๆ แล้วกล้องฟิล์มมันต้องอาศัยความเข้าใจ ถ้าเข้าใจปุ๊บมันทำอะไรต่อได้อีกเยอะ ศึกษาต่อได้อีกเยอะ พอมีน้องหลายคนมาถามเลยรู้สึกว่าเราน่าจะทำสถานที่ไว้สำหรับคุยกัน แลกเปลี่ยนกัน ว่ากล้องฟิล์มเป็นอย่างไรดีกว่า

     ทีนี้ เครื่องมือของการจะทำที่แลกเปลี่ยนที่เกี่ยวกับฟิล์ม ถ้าจะทำร้านขายกล้องมันก็มีความเสี่ยงอยู่ เพราะคนที่ใช้กล้องบางคนอาจบอกว่าบางตัวเอามาแล้วใช้ไม่ได้ ก็เลยคิดว่าทำร้านล้างฟิล์มดีกว่า อย่างน้อยคนที่มีกล้องแล้วก็มาซ้ำได้ หรือคนไม่มีกล้องก็สามารถมาได้ สุดท้ายเลยเลือกการล้างฟิล์มเป็นเครื่องมือ

ฟิล์มม้วนที่สาม: กล้องคอมแพ็ค ตัวอักษร และยาโรควิตกกังวล ผลรวมความแตกต่างสู่ชื่อร้านที่น่าจดจำ

     หลิน: ปุ๊กับธันวาบอกว่าเราเป็นคนตั้งชื่อนี้ แต่เราจำไม่ได้ว่าเป็นคนตั้ง คือชื่อนี้มันเริ่มตอนที่ปุ๊กับธันวาเขาขายกล้องกันสองคนในตอนแรก แล้วปุ๊บอกว่าชอบคำว่า Snap เพราะช่วงนั้นเขาขายกล้องคอมแพ็คเป็นหลัก

 

     ธันวา: ส่วนเราบอกว่าขอตัว X ด้วยได้ไหม เพราะอยากได้ความเสี่ยวเล็กๆ แล้ว X มันดูมีความ 80s 90s นิดหนึ่งด้วย

 

     หลิน: ตอนนั้นเราทำซีรีส์กันอยู่เรื่อง SOS Skate ซึม ซ่าส์ แล้วก็มีตัวยาชื่อ Xanax ที่ใช้ในการรักษากลุ่มโรควิตกกังวล ก็เลยเปลี่ยน Xanax เป็น XANAP

 

     ปุ๊: ฉะนั้น บรีฟของชื่อมาจากสามคำ คือ Snap ตัว X แล้วก็ยา Xanax (หัวเราะ) แต่ลูกค้าชอบอ่านเป็น เอ็กซ์-อะ-แน็ป ตลอดเลย

xanap

ฟิล์มม้วนที่สี่: การทำธุรกิจกับเพื่อนต้องยอมรับข้อเท็จจริง และหลีกเลี่ยงการปะทะ

     ปุ๊: มีหลายคนมาเตือนว่าทำธุรกิจกับเพื่อนเสี่ยงนะ จะทะเลาะกันหรือเปล่า เราก็ไม่รู้นะว่าทำไม แต่มันเหมือนเป็นความสัมพันธ์แบบสนิทกันถึงขนาดที่ไม่มีอะไรเกลียดกัน คืออาจไม่ได้สนิทกันมาก เพราะแต่ละคนก็จะมีกลุ่มเพื่อนของตัวเองอีกทีหนึ่ง แต่พอหักล้างก็ถือว่าเราสนิทกันมากขึ้น

 

     หลิน: สมมติว่าถ้าจะมีการพูดไม่ดีหนึ่งทีปุ๊บ เราจะเลือกไม่ปะทะดีกว่า เพราะเรารู้ว่า โอเค เพื่อนก็เหนื่อย จบตรงนี้ดีกว่า ถ้าเราปะทะมันก็จะยาว ที่สำคัญคือก็จะไม่ดีกับงานที่เราทำ

 

     ปุ๊: จะมีความสัมพันธ์กับเพื่อนอีกกลุ่ม อีกแบบ ที่เราสนิทกันมาก แต่ว่ามีบางอย่างที่เราก็คิดไม่ตรงกับเขาอยู่ เหม็นกันอยู่ แต่กับกลุ่มนี้จะเป็นการอยู่ด้วยกันตรงๆ มีอะไรชอบไม่ชอบก็บอกกัน อย่างธันวาเป็นรุ่นน้อง เวลาเขาเอางานมาให้คอมเมนต์ อันไหนชอบเราก็บอกชอบ อันไหนไม่ชอบเราก็บอกเฉยๆ

 

     หลิน: อันนี้ถือเป็นข้อดีนะ คือปุ๊เขาเคยเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ ซึ่งวิธีการแก้ปัญหาของผู้ช่วยผู้กำกับจะค่อนข้างเร็ว และมีขั้นตอน เวลามีปัญหาอะไรเข้ามาที่ร้าน ปุ๊เขาก็จะบอก ‘นี่ไง ต้องทำแบบนี้ๆๆ’ เหมือนเขาเป็นหัวหน้าห้องเลย (หัวเราะ)

ฟิล์มม้วนที่ห้า: จากสามย่าน สู่ Lido Connect

     หลิน: อย่างที่บอกว่าเราย้ายร้านจากสามย่านมาที่ลิโด้เพราะว่าพี่อายชวน ตอนที่มาแนะนำโปรเจ็กต์เขาบอกว่า ลิโด้จะกลายเป็น co-cultural space มีร้านชิคๆ มีหนัง มีละคร มีเวที มี mixed art เราก็รู้สึกว่าน่าจะดี เราจะได้สนุก ได้อยู่กับบรรยากาศที่ซึมซับศิลปะได้ง่ายขึ้น เพราะเวลาเราไปต่างประเทศเราจะมีที่ที่เป็นศิลปะแล้วคนเข้าถึงได้ง่าย เราก็อยากให้ตัวเองอยู่ที่แบบนั้นบ้าง

 

     ปุ๊: อีกอย่างคือเรามองว่าลูกค้าเราเป็นกลุ่มนักเรียนนักศึกษา ที่จริงสามย่านก็ใกล้มหาวิทยาลัยแหละ แต่ว่าสยามก็เป็นศูนย์รวมของนักศึกษา ก็เลยคิดว่าอาจจะได้ลูกค้ามากขึ้นด้วย เพราะอาจจะไม่ใช่แค่เด็กจุฬาฯ แล้ว เด็กมหา’ลัยอื่นก็เดินสยามกัน

 

     หลิน: เวลาในสยามเร็วกว่าที่อื่นด้วย สมมติว่าส่งฟิล์มปุ๊บ สองชั่วโมงที่สามย่านอาจไม่มีอะไรทำ แต่สองชั่วโมงที่สยามไปดูหนังเรื่องหนึ่งได้ ไปกินข้าว เข้าร้านกาแฟได้ บางคนมาถ่ายรูปเล่นที่สยามก็ส่งฟิล์มได้เลย ไม่ต้องนั่งรถไปหาเราที่เดิม หรืออย่างเด็กมาเรียนพิเศษ เขามาส่งฟิล์ม เรียนเสร็จก็มารับได้เลย

 

     ปุ๊: ตอนอยู่ที่สามย่านก็มีลูกค้ากลุ่มหนึ่งที่มักจะส่งฟิล์มด้วย Grab จากสยามมา ตอนแรกเราก็คิดว่าแค่นี้จากสยามมาไม่น่ายากมั้ง แต่พอเห็นลูกค้าบางกลุ่มเขาก็คิดว่าระยะทางนี้อาจจะไม่สะดวกกับการเดินทาง แถมยังหาที่จอดยาก ก็เลยกลายเป็นว่าถ้าเป็นสยามก็น่าจะเป็นศูนย์กลางของลูกค้ามากขึ้น ฉะนั้น หนึ่ง เราย้ายตัวเองมาอยู่ในจุดที่เป็นศูนย์รวมของศิลปะ สอง คือความสะดวกของลูกค้า

ฟิล์มม้วนที่หก: Friendly, Well-Organize, Active

     ปุ๊: ตอนแรกเราคุยกับหนึ่ง ซึ่งเป็นคนดูกราฟิกกับภาพรวมของร้านตั้งแต่ที่สามย่าน หนึ่งบอกว่าไม่อยากได้ร้านกล้องฟิล์มที่วินเทจ เพราะกล้องฟิล์มมีความเป็นวินเทจในตัวอยู่แล้ว แล้วเราเห็นร้านสไตล์นี้มาประมาณหนึ่งแล้ว เลยตั้งใจจะทำแบบ future ไปเลย แต่ทีนี้ที่สามย่านเราตั้งใจว่าจะเปิดร้านไปแต่งร้านไป เพราะไม่มีเงิน (หัวเราะ) แต่พอทำไปกลายเป็นว่าไม่มีเวลาแต่ง สุดท้ายก็ทำไม่ได้ ก็เลยคุยกันว่าร้านใหม่ต้องคงคอนเซ็ปต์เดิม คือต้อง future นะ ไม่วินเทจ

 

     หลิน: ทีนี้เราก็มานั่งวิเคราะห์กัน เพราะพี่ที่เป็นอินทิเรียร์เขาให้หาคำจำกัดความความเป็นร้านเราสามคำ ซึ่งเราก็สกัดออกมาได้คำว่า friendly, well-organize และ active พอสกัดสามคำนั้นได้ ก็กลายมาที่การแต่งร้านที่เราอยากได้ หนึ่งเลยคิดออกมาเป็นเหมือนกล่องไฟสีขาวแบบในร้าน Apple Store

 

     หนึ่ง: ตอนแรกมันเริ่มจากว่าเราถามว่าจุดยืนของร้านคืออะไร จะแตกต่างจากร้านล้างฟิล์มอื่นๆ อย่างไร ซึ่งร้านอื่นๆ ก็จะพูดถึงการโฟกัสด้านแอนะล็อก ด้านความคราฟต์ที่เป็นยุคเก่าเลย แต่ XANAP ไม่คิดแบบนั้น XANAP เป็นคนที่ค่อนข้างโฟกัสไปในเรื่องของการทำให้คนรุ่นใหม่เข้าถึงฟิล์มแอนะล็อกได้มากขึ้น อย่างเช่นการสแกนให้เป็นไฟล์ดิจิตอล หรือการ collaboration ระหว่างดิจิตอลกับแอนะล็อกไปด้วยกัน เลยรู้สึกว่ามันไม่ควรทำให้แตกต่างไปจากจุดยืนของเขา และทำออกมาให้ดูเป็นปัจจุบัน แต่ก็อยากให้ดูเป็นแบบ well-organize มีความเป็น digitalize แต่ว่าก็มีองค์ประกอบบางอย่างที่ทำให้รู้สึกว่ายังเป็นแอนะล็อกอยู่

xanap

ฟิล์มม้วนที่เจ็ด: ส่งต่อความสบายใจและความรู้ให้ลูกค้า

     หลิน: เมื่อก่อนเรารู้สึกว่าเวลาเข้าร้านล้างฟิล์มแล้วเราเด๋อ เพราะจะรู้สึกว่าเราไม่เก่ง พอเข้าไปเจอคนเท่ๆ ก็ไม่กล้าถาม เราเลยรู้สึกว่านี่เป็นสิ่งที่อยากส่งต่อให้กับคนที่มาล้างฟิล์มกับร้านเรา

 

     ปุ๊: ช่วงหนึ่งตอนเปิดร้านที่สามย่านมีน้องๆ มาถามเราเยอะมากเกี่ยวกับกล้อง แล้วก็เจอสิ่งที่น้องๆ มักจะบอกกันว่า เวลาไปร้านกล้องฟิล์มบางแห่งแล้วไม่กล้าถาม เพราะบางทีเขาจะคิดว่าบางคำถามเป็นคำถามที่ง่ายมาก เช่น ทำไมถึงเปิดฝากล้องแล้วฟิล์มจะเสีย แต่เด็กเดี๋ยวนี้เขาไม่เข้าใจไง แต่เราก็เข้าใจนะ บางทีเจ้าของร้านที่เขาเป็นผู้ใหญ่มากๆ รู้เรื่องพวกนี้มานานมาก แล้วเจอคำถามนี้บ่อยๆ ก็เข้าใจว่าเขาอาจจะรำคาญได้

     กับอีกอย่างหนึ่ง ถ้าเป็นร้านสไตล์ร้านล้างรูป ร้านอัดรูปอยู่แล้ว มักจะใช้ลูกจ้าง ซึ่งบางทีเขาอาจจะไม่รู้ข้อมูลมากมายนัก เราก็เลยมองว่าเราจะทำร้านที่เรามีความรู้เองก่อน แล้วก็สามารถให้ความรู้ลูกค้าได้

     ทีนี้พอขยับมาสยาม เราก็ไล่สอนทุกอย่างให้น้องๆ ทุกคน หากเราไม่อยู่น้องต้องให้ความรู้กับลูกค้าได้ เพราะเราไม่อยากให้เป็นบรรยากาศที่ทุกคนไม่กล้าถาม ตั้งแต่ช่วงเปิดร้านพวกเราก็ไม่ได้รู้เยอะ เราได้ความรู้จากลูกค้าก็มาก บางปัญหาไม่เคยเจอลูกค้าเคยเจอ ก็แชร์กัน หรือมีกลุ่มชาวแล็บอยู่ประมาณหนึ่งที่คุยกันตลอดเวลาว่าใครเจอปัญหาอะไรแล้วแลกเปลี่ยนกัน หรือก็จะมีกิจกรรมให้ลูกค้าได้ทำร่วมกัน เขาก็จะเกิดบทสนทนาต่อกันไป

ฟิล์มม้วนที่แปด: ใส่ใจฟิล์มทุกม้วนราวกับเป็นฟิล์มของตัวเอง

     หลิน: ความใส่ใจและความรับผิดชอบสำหรับเราต่อคนที่มาล้างฟิล์มคือ ต้องดูแลฟิล์มทุกคนให้ดีเหมือนฟิล์มเราเอง เราล้างทุกอันให้ดี สแกนให้ดี ดูแลเรื่องคุณภาพ หรือเรื่องรายละเอียดอย่างซองฟิล์ม เราเคยเถียงกันว่าจะเอาซองกระดาษหรือซองพลาสติก เพราะจะมีปัญหาเรื่องอย่างการเก็บรักษาและความชื้นซึ่งจะส่งผลต่อการทำลายเนื้อฟิล์ม เราต้องลงรายละเอียดกันขนาดนั้น

 

     ปุ๊: ทุกอย่างเราต้องคอนโทรลมันให้อยู่ตามมาตรฐานของเครื่อง คือเครื่องมือทุกอย่างจะมีค่า default ของมัน เราต้องเช็กทุกวันว่าตรงตามค่าปกติหรือเปล่า แล้วก็คิดเสียว่าฟิล์มทุกม้วนที่เราล้างคือฟิล์มเรา ก็บอกน้องๆ ที่ร้านทุกคนว่ามันคือฟิล์มเรา ต้องดูแลให้ดีที่สุด คือเราก็เคยเป็นลูกค้ามาก่อน ตอนทำร้านเราก็จะนึกว่ามีอะไรที่เราชอบและไม่ชอบ อะไรที่ไม่ชอบก็จะเอามาแก้ในร้านเรา เรามองว่าถ้าล้างฟิล์มที่ร้านตัวเองเราไม่อยากได้อะไร เราก็จะไม่ทำอย่างนั้น

 

xanap

xanap

ฟิล์มม้วนที่เก้า: การทำงานกับความทรงจำคน

     ปุ๊: ช่วงแรกๆ ก็กดดันมาก เพราะเราก็เคยล้างฟิล์มแล้วฟิล์มพัง แล้วเราก็ตอบไม่ได้ว่ามันพังเพราะเราหรือเพราะร้าน แรกๆ กลัวไปหมด กลัวทำฟิล์มลูกค้าเสีย แต่พอทำไปสักพักเราจะรู้แล้วว่าอะไรที่จะทำให้มันเสีย อะไรที่เราคอนโทรลได้คือถ้าเราทำทุกอย่างตามขั้นตอน ตาม default โอกาสเสียจะน้อยมากจนแทบไม่มีเลย เพราะว่าอุปกรณ์พวกนี้อยู่ในยุคที่คนถ่ายฟิล์มกันวันละหมื่นม้วน

     เมื่อก่อนคุณลุงคุณป้าที่เคยเปิดร้านล้างฟิล์มเขาเคยเล่าให้ฟังว่า เมื่อก่อนงานเขาวันหนึ่งหลักพันม้วนเลย ก็แปลว่าอุปกรณ์พวกนี้มันซัพพอร์ตอะไรที่เป็นมาตรฐานประมาณหนึ่ง error เดียวที่เกิดขึ้นได้คือจากตัวคนเท่านั้น เลยรู้สึกว่าพอเราทำบ่อยเข้าจนมันคุ้นเคย error มันก็น้อยมาก เท่าที่จำได้เราไม่เคยทำฟิล์มลูกค้าพัง มีแต่ทำฟิล์มของกันเองพัง (หัวเราะ)

 

     หลิน: ขอโทษ (หัวเราะ) เราเลยไม่ค่อยทำส่วนนี้ เพราะไม่ค่อยมีสติ

 

     ปุ๊: คือต้องมีสติในการทำ เพราะจริงๆ มันเป็นงานที่โคตรจะแมชีน โคตรจะหุ่นยนต์เลย ทำทุกอย่างเหมือนเดิมตลอดเวลา แต่ว่าต้องชัวร์มากๆ

ฟิล์มม้วนที่สิบ: วิธีเปลี่ยนความฝันเป็นความจริงคือลงมือทำ

     ปุ๊: ย้อนกลับมาช่วงต้นปีที่แล้ว เราเคยจะทำร้านกันมาแล้วรอบหนึ่ง ทีนี้หลินเขามีญาติเป็นคนทำร้านล้างฟิล์มเหมือนกัน เขาก็เตือนเราว่า ถ้าในแง่ธุรกิจมันตายไปแล้วนะ มันเป็นแค่เรื่องของเล่นหรืองานอดิเรกไปแล้ว แต่เรายังมีความคิดอยากทำอยู่ แล้วเราเห็นร้านแล็บเปิดใหม่เยอะขึ้นเรื่อยๆ จากเมื่อก่อนจะมีย่านลาดพร้าวกับสยามเป็นหลัก หลังจากนั้นภายในเวลาแค่ประมาณสองปี มันขึ้นกันมา 5-10 ร้านเลย เราเลยรู้สึกว่าน่าจะอยู่ได้ ก็เลยคิดว่าลองอีกทีไหม

 

     หลิน: รู้ว่าเสี่ยงแต่ก็ต้องลอง ในชีวิตนี้อยากทำต้องทำเลย ยักแย่ยักยันก็ไม่ได้ทำ ปุ๊เขามาพูดกับเราเหมือนกันว่า ‘มึงเชื่อกู มึงเป็นเพื่อนกูมากี่ปีละ ไม่เจ๊งแน่’ ก็เลยคิดว่า โอเค ไม่เจ๊ง

 

     ปุ๊: จริงๆ เราก็มีความระวังอยู่สูงมาก นิสัยส่วนตัวเราเวลาจะทำอะไรต้องคำนวณทุกอย่าง คำนวณว่าจะไม่ล้ม จะไม่เจ๊ง ตอนที่ได้ยินญาติหลินพูดเราก็ฟัง พอมานั่งเช็กอีกทีพอเห็นว่ามันน่าจะรอด ก็คิดว่าเราก็น่าจะได้ ทีนี้พอเปิดร้านที่สามย่านตอนแรก เรามั่นใจว่าเด็กนิเทศถ่ายฟิล์มกันเยอะ อย่างน้อยน่าจะมีลูกค้าเป็นน้องในคณะ ที่สำคัญคือใกล้มหาวิทยาลัย เพราะเรารู้ว่าเด็กมหา’ลัยใช้กล้องฟิล์มกันเยอะ ใกล้ถิ่นเก่าเราด้วย เรารู้ว่าทางหนีทีไล่แถวนี้เป็นอย่างไร

ฟิล์มม้วนที่สิบเอ็ด: ฟิล์มทุกม้วนล้วนมีค่าและความทรงจำ

     ปุ๊: ครั้งหนึ่ง มีน้องที่น่าจะอยู่ประมาณปี 1 หรือปี 2 เขาอยากเล่นกล้องฟิล์ม ก็เลยไปถามที่บ้านว่ามีกล้องไหม ที่บ้านก็ให้กล้องมาแล้วบอกน้องเขาว่า ‘คงใช้ได้อยู่มั้ง’ น้องก็เอามาถ่ายทั้งที่ฟิล์มยังค้างอยู่ในกล้องแล้วเอามาให้เราล้าง น้องเขาก็ถามว่า ฟิล์มบูดล้างได้ไหม ปกติบางร้านจะไม่รับฟิล์มบูด แต่ร้านเราจะเช็กก่อนว่ามันบูดจนมีสารเคมีลอกออกมาไหม มีกลิ่นไหม ถ้าไม่มีก็ทำได้ พอเช็กว่าไม่มีก็เลยล้างให้น้องเขา ทีนี้พอสแกนออกมา มันมีรูปของน้องคนนี้ตั้งแต่ประมาณสิบห้าปีที่แล้ว ตอนเขายังเด็กอยู่เลย กับรูปเขาในปัจจุบันอยู่ในม้วนเดียวกัน เราสแกนไปแล้วก็ขนลุก ประทับใจมาก

 


WHERE TO FIND XANAP FILMLAB

เปิดบริการ: ทุกวัน 11.30-21.00 น. สถานที่: ชั้น 2 LIDO CONNECT Facebook: XANAP