ใครจะไปคาดคิดว่า เทรนด์การทำงานอยู่บ้านจะสามารถเปลี่ยนค่านิยมและสไตล์การแต่งบ้านของผู้คนไปได้ ‘โอ๊ค’ – อัครรัฐ วรรณรัตน์ เจ้าของแบรนด์ MOTIF ผู้นำเข้าลักชัวรีเฟอร์นิเจอร์จากอิตาลี ที่เลือกทำธุรกิจนี้มากว่า 15 ปี ซึ่งเป็นระยะเวลามากพอที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทั้งเชิงสังคม และการใช้ชีวิตภายใต้การเลือกซื้อเฟอร์นิเจอร์แต่ละชิ้น เริ่มตั้งแต่ค่านิยมเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหญ่ หรูหรา อลังการ กระทั่งการมาถึงของโควิด-19 กลายเป็นเฟอร์นิเจอร์ขนาดเล็กลง แต่พื้นที่บ้านยังใหญ่เท่าเดิม ที่ทำให้เขาสังเกตเห็นเทรนด์ใหม่ที่น่าสนใจอีกครั้ง
เทรนด์ใหม่ที่ให้ความสำคัญต่อพื้นที่ทำงานในบ้าน
“หลังจากสถานการณ์โควิด-19 ทุเลาลงมากกว่านี้ เทรนด์ของการทำงานที่บ้านก็จะมีบทบาทมากขึ้น” โอ๊คแสดงมุมมองที่เขาเห็นในฐานะนักขายเฟอร์นิเจอร์รุ่นเก๋า ที่เห็นการเปลี่ยนแปลงของค่านิยมมาโดยตลอด
เขาเชื่อว่า รูปแบบการเข้าออฟฟิศจะเปลี่ยนไป จากเดิมที่ต้องไปทำงานที่ออฟฟิศ 5 วัน อาจจะลดจำนวนวันเข้าออฟฟิศลง เหลือแค่ 2 วัน นอกนั้นทำงานที่บ้าน หรือบางคนจัดสรรเวลาใหม่ด้วยวิธีการเฉลี่ยเวลาทำงานในวันธรรมดาให้น้อยลง เพื่อนำไปเพิ่มเวลางานอีกนิดหน่อยในช่วงวันเสาร์อาทิตย์แทน
เมื่อกลายเป็นเทรนด์ ส่งผลให้ผู้คนจำนวนไม่น้อยต้องปรับเปลี่ยนพื้นที่การทำงาน เริ่มมองหาเครื่องมือหรือเฟอร์นิเจอร์สำหรับการทำงานที่บ้าน พร้อมทั้งการแบ่งเนื้อที่บางส่วนให้กลายเป็นพื้นที่ทำงาน ในขณะเดียวกัน ผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ผันตัวมาเป็นสตาร์ทอัพ สร้างธุรกิจเล็กๆ ของตัวเอง พร้อมแบ่งเนื้อที่บางส่วนให้กลายเป็นพื้นที่ทำงาน เพื่อให้แบ่งแยกความรู้สึกของ ‘การอยู่บ้าน’ ให้ออกจาก ‘การทำงาน’ ได้อย่างสิ้นเชิง
“ผมยังคงรู้สึกว่า ‘บ้าน’ ก็คือ private space เป็นโลกทั้งใบที่แสนสบาย ทิ้งตัวลงนอนได้โดยไม่ต้องคิดอะไร” โอ๊คยืนยัน ดังนั้น หากหลังจากนี้ผู้คนต้องปรับพื้นที่บางส่วนของบ้านให้มีเนื้อที่สำหรับการทำงาน บางคนอาจจะเปลี่ยนที่ทำงานด้วยการย้ายของมาไว้บนโต๊ะกินข้าวครึ่งหนึ่งแทน ในขณะที่อีกหลายๆ คนก็ยังไม่ชิน
“ผมมองว่า จากเดิมเวลาที่ทำงานอยู่ออฟฟิศ แต่ละคนละอาจจะมีสเปซที่ค่อนข้างกว้าง ซึ่งรวมทั้งพื้นที่ส่วนกลางที่ทุกคนใช้ร่วมกัน เมื่อรูปแบบการทำงานเปลี่ยน สเปซเหล่านี้จะหายไปเพราะต้องย้ายมาทำงานที่บ้าน ซึ่งมีเนื้อที่ค่อนข้างจำกัด ทำให้ผู้คนบางส่วนจัดพื้นที่ได้ยาก แต่ผมเชื่อว่าเดี๋ยวก็ชิน (หัวเราะ) และทุกคนก็จะรู้วิธีลดข้าวของแล้วเพิ่มสเปซทำงานให้มากขึ้นแทน”
เทรนด์การจัดพื้นที่แบบนี้ นอกจากจะช่วงกระตุ้นความอยากทำงานแล้ว ยังช่วยให้สามารถแบ่งเวลาทำงานให้แยกออกจากการใช้ชีวิตอยู่บ้านออกจากกันได้อีกด้วย
ย่นย่อเนื้อที่การทำงาน แต่พื้นที่บ้านเท่าเดิม
“หลายคนคิดว่า การทำงานที่บ้านเป็นแค่เรื่องชั่วคราว หอบของกลับมาที่บ้านแล้ววางไว้ตรงนั้นตรงนี้ก่อนก็ไม่เป็นไร เพราะเดี๋ยวก็ต้องหอบกลับไปที่ออฟฟิศเช่นเดิม แต่อย่างที่บอก ผมคิดว่าต่อจากนี้อาจจะไม่ชั่วคราวอีกแล้วก็ได้”
เขาคิดว่า นี่คือเวลาที่ทุกคนต้องหันกลับมาให้ความสำคัญกับเรื่อง ‘พื้นที่’ เพราะต่อจากนี้จะต้องใช้เวลาส่วนหนึ่งที่มากกว่าเดิมทำงานอยู่บ้าน เมื่อเป็นเช่นนั้น จะต้องมีความสะดวกสบายจนถึงขั้นยกให้พื้นที่นั้นเป็นโฮมออฟฟิศย่อมๆ
“ก่อนหน้าเทรนด์เวิร์กฟรอมโฮม ก็จะมีเทรนด์โฮมออฟฟิศในภาคธุรกิจขนาดเล็กมาประมาณ 3-4 ปีที่ผ่านมา ดังนั้น เราจึงเริ่มนำเข้าเฟอร์นิเจอร์ที่ตอบโจทย์เทรนด์นี้มาหลายปี แต่เมื่อประมาณปีที่ผ่านมา เทรนด์พื้นที่ทำงานของทั่วโลก อย่างที่มิลานเอง ก็ให้ความสำคัญกับ small desk (โต๊ะทำงานที่มีขนาดเล็ก) หลายหลากแบรนด์ก็ออกแบบ desk เหล่านี้และวางจำหน่ายพร้อมๆ กันในช่วงเวลาเดียวกัน เราจึงรู้ว่าผู้คนเริ่มทำงานที่บ้านกันมากขึ้น
“รูปแบบของโต๊ะทำงานจะเล็กลง อาจเอาไว้ตั้งที่หัวเตียง และแค่ใช้วางแล็ปท็อปสักตัว ขนาดประมาณหนึ่งเมตรกว่าๆ ซึ่งเฟอร์นิเจอร์รูปแบบนี้กลายเป็นสินค้าของโมทีฟที่ขายดีมาตั้งแต่ตอนนั้นจนถึงช่วงนี้เลย และต่อไปเทรนด์ใหม่ที่น่าจะเข้ามาคือ คนต้องการโต๊ะทำงานที่ใหญ่กว่านี้ โดยเน้นไปที่ดีไซน์ผสานฟังก์ชัน แต่ผมยังเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ยังต้องการ small desk หรือการย่อเนื้อที่ของโต๊ะอยู่ เพราะพื้นที่บ้านของเรานั้นยังคงมีอยู่เท่าเดิม”
จัดโต๊ะทำงานแบบนี้ ดีต่อความคิดสร้างสรรค์
“เพื่อให้เห็นภาพว่าเนื้อที่และเฟอร์นิเจอร์นั้นส่งผลต่อการทำงานอย่างไร เดี๋ยวผมจะพาไปชมการจัดโต๊ะทำงาน พร้อมชุดโต๊ะเก้าอี้ที่ผมเองก็ใช้แบบนี้ และรู้สึกว่าตอบโจทย์ชีวิต และยังสบาย”
เริ่มต้นด้วยโต๊ะทำงานแบรนด์ Sovet สามารถเป็นได้ทั้งโต๊ะกินข้าว และโต๊ะทำงานในเวลาเดียวกัน ทำจากเซรามิกลายหินขาว Embossed Black
“ผมคิดว่า โต๊ะทำงานที่ใหญ่ขึ้นมาหน่อยจะช่วยให้เรารู้สึกอยากทำงาน เนื้อที่ที่มากขึ้นไม่ได้หมายความว่าจะต้องวางของจนเต็ม การวางของน้อยชิ้น เลือกชิ้นที่จำเป็น แล้วปล่อยให้มีเนื้อที่บนโต๊ะ จะช่วยให้เรามีสมาธิกับงานตรงหน้าได้ดีกว่า ดังนั้น บนโต๊ะจึงมีแค่โน้ตบุ๊กสักเครื่อง แท็บเล็ตอีกหนึ่ง โทรศัพท์มือถือ กระดาษ A4 ไว้จดโน้ตด่วนๆ สักสองสามแผ่น สมุดจดงานเล่มเล็กๆ พร้อมปากกา แค่นั้นก็พร้อมทำงานแล้ว”
นอกจากนั้นสิ่งที่ควรมีก็คือโคมไฟตั้งโต๊ะทำงาน เขาแนะนำให้เรารู้จักกับ Anglepoise แบรนด์โคมไฟเก่าแก่ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ ค.ศ. 1932 โดยวิศวกรเครื่องยนต์อย่าง จอร์จ คาร์วาร์ดีน (George Carwardine) ได้ประดิษฐ์สปริง ข้อหมุน และเหล็กงัด ที่โยกย้ายตำแหน่งได้เพียงแค่แตะเบา ๆ และยังคงตำแหน่งเดิมเมื่อปล่อยมือ
“โคมไฟนี้ดีไซน์สวย ฟังก์ชันดีเหมาะกับการใช้อ่านหนังสือเป็นอย่างมาก แสงนวลๆ ที่พอดีจะช่วยถนอมสายตา แต่หากบ้านไหนโต๊ะทำงานติดริมหน้าต่าง ผมก็คิดว่า โคมไฟอาจไม่จำเป็น หากไม่ได้นั่งทำงานในตอนกลางคืน”
สำหรับคนที่คิดว่าจะต้องมีอุปกรณ์ทำงานจุกจิกหลายอย่าง โอ๊คแนะนำว่า ควรจะมีลิ้นชักแยกแทนการเลือกซื้อโต๊ะทำงานที่มีลิ้นชักติดมาด้วย เพราะโต๊ะทำงานที่ด้านล่างโล่งๆ ก็จะช่วยให้ยืดขาได้อย่างอิสระมากกว่า
เขาแนะนำ Container 360° แบรด์ Magis ขนาดกำลังพอเหมาะ มีสามชั้น แต่ละชั้นสามารถดึงออกมาจากด้านข้างได้ หยิบจับสะดวก พร้อมล้อที่ช่วยให้เคลื่อนย้ายได้อย่างสะดวก ผ่านออกแบบฟังก์ชันรูปทรงเรขาคณิตความเรียบง่ายและวัสดุไฮเทคจาก Konstantin Grcic ดีไซเนอร์ชื่อดังระดับโลกชาวเยอรมัน
สุดท้ายสิ่งที่สำคัญที่สุดคือเก้าอี้ทำงาน เขาเชิญชวนให้เราลองนั่งเก้าอี้พนักพิงสูงแบรนด์ Sesta ซึ่งเป็นเก้าอี้นุ่มกำลังดี รองรับสรีระได้ตั้งแต่นั่งครั้งแรก ตัวเบาะนั่งสามารถปรับระดับสูง พนักพิงปรับระดับเอนและโยกได้ด้วยกลไกพิเศษที่นักออกแบบชาวอิตาลีได้คิดค้น
“เพราะเราต้องนั่งทำงานเป็นเวลานาน เก้าอี้จะทำให้เราสบาย อย่างตัวนี้นอกจากพนักพิงจะสูงมากพอที่จะเอนหลังได้แล้ว เวลาต้องการผ่อนคลายหรือคิดอะไรไม่ออก ก็สามารถใช้หลังดันพนักพิงเพื่อโยกเบาๆ ไปในตัวได้”
ทั้งหมดคือสเปซการทำงานแห่งยุคโควิด-19 ที่จะเปลี่ยนโฉมเนื้อที่ทำงานในบ้านให้กลายเป็นมินิโฮมออฟฟิศได้อย่างลงตัว โดยที่ไม่ต้องเบียดเบียนพื้นที่ของบ้านได้อย่างแน่นอน