Natura Garden Café

Natura Garden Café: คาเฟ่ (ไม่ลับ) ทำจากไม้ไผ่ท่ามกลางสวนลิ้นจี่ร้อยปีริมคลองบางขุนเทียน

เรื่องราวของสวนลิ้นจี่ร้อยปี และแนวคิดของการสร้างคาเฟ่ไม้ไผ่ Natura Garden Café ที่สอดคล้องไปกับธรรมชาติภายในสวนโบราณของ ‘แอนดี้’ – อันดามัน โชติศรีลือชา ทายาทรุ่นสองแห่งภูมิใจการ์เด้น ซึ่งนำโดย ‘เอ๋’ – พรทิพย์ เทียนทรัพย์ ผู้ที่ตั้งใจเก็บมรดกสีเขียวผืนสุดท้ายแห่งคลองบางขุนเทียนนี้ไว้ให้นานที่สุด

Natura Garden Café

สวนโบราณ ‘ภูมิใจการ์เด้น’

        เรือหางยาวขนาดย่อมนั่งได้ไม่เกิน 3-4 คนเข้าเทียบท่าวัดใหม่ยายนุ้ย เราและช่างภาพเดินลงไปด้วยความรู้สึกแปลกใหม่ มองวิวสองฝั่งคลองด้วยความชื่นชม แสงแดดตอนช่วงบ่ายๆ กำลังอ่อนลง ทำให้ผิวน้ำเป็นประกายวิบวับ เรือแล่นผ่านไปได้พักใหญ่ เห็นเด็กชายสองคนกำลังดำผุดดำว่ายเล่นน้ำอยู่ในคลองอย่างสนุกสนาน

        ไม่ช้าเรือก็มาเทียบท่า ‘ภูมิใจการ์เด้น’ สวนลิ้นจี่โบราณอายุร้อยปีบนพื้นที่กว่า 8 ไร่ ซึ่งเราเข้าใจว่านี่คงเป็นด้านหลังของสวนแห่งนี้ แต่ที่จริงในอดีตริมคลองตรงนี้คือด้านหน้าของพื้นที่ทั้งหมด เพราะย้อนกลับไปในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ผู้คนจะเดินทางด้วยเรือเป็นส่วนใหญ่ และคลองคือเส้นทางสายหลัก แต่ในปัจจุบันรถยนตร์ได้เข้ามาแทนที่เรือ ทำให้เกิดถนนมากมายเพื่ออำนวยความสะดวก ท้ายสุดคลองก็แทบจะไม่มีความสำคัญอีกต่อไป

        แต่สำหรับเจ้าของโฉนดพื้นที่ร้อยปีอย่างเอ๋ กลับมองว่าที่นี่คือคลังประวัติศาสตร์ที่มีชีวิต เป็นหลักฐานที่บ่งชี้ถึงภูมิศาสตร์ วิถีชีวิต การค้าขาย และเมล็ดพันธุ์ที่สำคัญในสมัยรัชกาลที่ 3

        “พื้นที่ริมคลองตรงนี้คือปากแม่น้ำ ลักษณะดินลักจืดลักเค็ม เป็นน้ำกร่อย ทำให้ผักและผลไม้เมืองร้อนเจริญเติบโตได้ดี มีรสชาติที่หวานกว่าผลผลิตจากที่อื่น ต้นลิ้นจี่ของที่นี่ก็เช่นกัน มีอายุกว่าร้อยปีประมาณ 20 ต้น เติบโตจากเมล็ดพันธุ์ดั้งเดิมที่มาจากเมืองจีน ชาวจีนที่เข้ามาค้าขายในสมัยรัชกาลที่ 3 นำมาปลูกไว้ แต่ไม่ค่อยออกลูก เพราะกว่าจะออกดอกก็ต่อเมื่ออากาศหนาวติดต่อกันเป็นเวลานาน และใช้เวลานานกว่า 4 ปีถึงจะออกลูกครั้งหนึ่ง

        “แต่หลังจากที่พื้นที่นี้กลายเป็นพื้นที่ตาบอด ชาวสวนเดิมเริ่มขายที่และย้ายออกไป ครอบครัวของเราเลือกที่ยังคงอยู่ แม้ว่าจะไม่ได้ปลูกเพื่อขายก็ตาม แต่เราตั้งใจจะอนุรักษ์ไว้ เพราะอย่างน้อยก็ช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับกรุงเทพฯ และช่วยเพิ่มออกซิเจนให้กับผู้คนได้ละแวกนี้ได้เหมือนที่เคยเป็นมา” เธอกล่าวอย่างภาคภูมิใจ

 

Natura Garden Café

การอนุรักษ์พื้นที่และวิถีดั้งเดิม

        “เมื่อก่อนที่นี่เป็นสวนปิด คือไม่ได้เปิดให้ผู้คนวอล์กอินเข้ามาชมสวนด้านใน แต่จะรับจัดเป็นกรุ๊ปทัวร์สวนส่วนตัว ชวนดูบรรยากาศริมคลองบางขุนเทียน ระหว่างชมสวนก็จะมีอาหารและเครื่องดื่มต้อนรับ พร้อมมีกิจกรรมเวิร์กช็อปทำอาหารสูตรโบราณ” แอนดี้อธิบายถึงการอนุรักษ์พื้นที่สีเขียวผ่านรูปแบบมินิทัวร์

        แต่การอนุรักษ์จะไปต่อได้ยากหากไม่ได้รับความร่วมมือจากคนในพื้นที่ที่ยังเหลืออยู่ แอนดี้และคุณแม่จึงพยายามดึงกลุ่มคนที่ยังมีแนวคิดคล้ายกันมาพัฒนาร่วมกัน อย่างคนขับเรือที่เรานั่งมา แอนดี้บอกกับเราว่า แต่ก่อนพวกเขาก็แค่ขับเรือให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ เริ่มจากวัดหัวไทร ผ่านคลองบางขุนเทียนแล้ววนกลับ แต่เมื่อเขาได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลและคิดหาหนทางการอนุรักษ์ให้มากกว่าแค่เพียงทัวร์สวน เขาจึงปรับกระบวนการใหม่

        “คนขับเรือท้องถิ่นจะเป็นผู้ที่รู้จักคลองสายนี้เป็นอย่างดี เขารู้ว่าเมื่อก่อนตรงไหนเคยเป็นอะไร มีอะไรน่าดูน่าชมบ้าง แต่ที่ผ่านมา เขาไม่มีโอกาสได้นำเสนอ เมื่อเขามาทำงานร่วมกับเรา เราจึงเริ่มชวนคุยและพาลงพื้นที่เพื่อไปดูว่าจุดไหนควรแนะนำให้กับนักท่องเที่ยวเพิ่มเติม เช่น บริเวณที่มีกอจากพืชที่ชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ อธิบายว่ามีตรงนี้มีต้นลำพู พืชริมน้ำที่ช่วยยึดตลิ่งไว้ไม่ให้พัง และยังมีหิ่งห้อยบินยามค่ำคืนกันอยู่ ปัจจุบัน คนขับเรือสามารถอธิบายและนำชมสองฝั่งคลอง สามารถสร้างรายได้และอยู่กับวิถีชีวิตริมคลองเหมือนเดิม” 

 

Natura Garden Café

คาเฟ่ร่วมสมัย ‘NATURA Garden Café’

        “เราอยากให้ที่นี่เป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับคนในย่านนี้ รวมทั้งผู้คนจากทั่วสารทิศ NATURA Garden Café จึงเกิดขึ้น” แอนดี้อธิบายถึงแนวทางการอนุรักษ์พื้นที่นี้แบบล่าสุดให้เราฟัง

        “บริเวณคาเฟ่เดิมคือบ้านคนงานเก่าที่โทรมมาก เรารื้อออกแล้วเหลือไว้แค่โครงสร้างเดิม แล้วใช้ไม้ไผ่ซึ่งเป็นพืชสารพัดประโยชน์ที่อยู่คู่กับสวนเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้าง เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงบริบทดั้งเดิมและภูมิปัญญาชาวบ้าน ทั้งยังมีความแข็งแรง ทนทาน หาง่าย และมีความสวยงาม สอดคล้องไปกับร่องสวนและริมคลองได้เป็นอย่างดี ทั้งหมดผ่านการออกแบบและก่อสร้างโดยผู้เชี่ยวชาญด้านงานไม้ไผ่ ธ.ไก่ชน ซึ่งทำออกมาได้ดีมาก”

 

Natura Garden Café

 

        ไม่ใช่แค่เพียงอาคารหลักที่ใช้ไม้ไผ่ตง รั้วบริเวณด้านหน้าและด้านข้างรวมทั้งโต๊ะเก้าอี้ทุกตัว ก็สร้างจากไม้ไผ่เช่นกัน นอกจากนี้แอนดี้และแม่ยังคงอนุรักษ์ภูมิปัญญาเก่าแก่ที่ทำจากไม้ไผ่เอาไว้ นั่นก็คือ ‘พะอง’ หรือบันไดลิงสำหรับขึ้นต้นลิ้นจี่เพื่อเก็บผลที่สุก และ ‘ตะขาบ’ อุปกรณ์ไล่กระรอก นก หนู และค้างคาว ซึ่งเป็นมิตรต่อสัตว์เล็กที่ลอบมากินผลลิ้นจี่สุกก่อนชาวสวนจะมาเก็บนั่นเอง

        “ตะขาบทำมาจากไม้ไผ่ผ่าซีก ทำที่แขวนด้านบน เจาะรูร้อยเชือกด้านล่าง โยงไว้กับตัวบ้านหรือที่นั่งร้านของชาวสวน เวลาไล่กระรอกก็จับดึงเชือกเข้าหาตัวแล้วปล่อย ไม้ไผ่ก็จะดีดตัวไปกระทบกันเอง เกิดเสียงดัง ปักๆ ในอดีตเสียงนี้จะดังไปทั่วสองฝั่งคลอง ปัจจุบันไม่มีตะขาบและเสียงนั้นอีกแล้ว แต่เรายังเก็บไว้ เพื่อให้ทุกคนได้มาเห็นและมาลองชักตะขาบกัน” ว่าแล้วแอนดี้ ก็เดินไปที่ใต้ต้นลิ้นจี่ขนาดใหญ่ แล้วชักตะขาบเสียงดังสนั่น ให้ได้ชมเป็นตัวอย่าง   

 

Natura Garden Café

Natura Garden Café

เมนูจากสวน

        เพื่อให้เรื่องราวในอดีตและภูมิปัญญายังคงอยู่ แอนดี้และแม่มองว่าอาหารคือสิ่งที่เชื่อมโยงและสื่อสารได้ง่ายสุด ที่นี่จึงมีเมนูโบราณที่ใช้พืชผักในสวนที่ถูกมองข้ามอย่างตะลิงปิง ใบทองหลาง รวมทั้งใบชะพลู นำมาประกอบอาหารและเครื่องดื่มด้วยสูตรตำรับชาววัง

        “หลายคนมักจะมองข้ามความอร่อยของตะลิงปิง มีบางคนนำไปแนมกับน้ำพริกกะปิ แต่เรานำมาทำเป็นเมนูซิกเนเจอร์อย่างเมี่ยงตะลิงปิง ที่มีส่วนผสมของขิง หอมแดง กุ้งแห้ง มะพร้าวคั่ว ถั่วคั่ว กินกับใบชะพลูและน้ำเมี่ยง เราขูดผิวส้มซ่า ซึ่งเป็นตำรับชาววังใส่เข้าไปด้วย แต่หากช่วงไหนมีมะเฟือง เราก็จะใช้ทำเมี่ยงมะเฟืองแทนตะลิงปิง

        “อีกเมนูที่เราคิดว่าหลายคนอาจจะไม่มีโอกาสได้ชิมก็คือแกงคั่วขาว ซึ่งมีส่วนผสมของตะลิงปิงเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีเมนูสูตรโบราณ อาทิ ไข่พะโล้ มัสมั่น และผัดไท ไว้ให้ชิม ส่วนเครื่องดื่มเราใช้ตะลิงปิงสด นำไปแช่อิ่ม ก่อนนำมาเป็นน้ำเชื่อมตะลิงปิงผสมโซดา เสิร์ฟพร้อมตะลิงปิงแช่อิ่มเนื้อนุ่มๆ เคี้ยวหนุบเสียบไม้ เอาไว้ให้คนน้ำเชื่อมกับโซดาและกินเป็นลำดับสุดท้าย”

 

Natura Garden Café

Natura Garden Café