นวยนาด

‘นวยนาด’ แบรนด์ที่หยิบวิถีชีวิตในท้องถิ่นมาสื่อสารว่าบ้านเรามีอะไรดีผ่านผลิตภัณฑ์

การหลีกหนีออกจากเมืองใหญ่ หันไปลงหลักปักฐานอยู่ต่างจังหวัด คือความฝันของใครหลายคน 

        เช้าที่ไม่ต้องเจอกับรถติด ค่าครองชีพที่ถูกลงกว่าครึ่ง และชีวิตที่โอบล้อมด้วยธรรมชาติ ระยะหลังมานี้เราจึงเห็นคนเมืองโบกมือลากรุงเทพฯ อันแสนวุ่นวาย เข้าไปซบความเงียบสงบในชนบทมากขึ้น

        ‘ปุ้ม’ – นันท์พัทธ์ พูลสวัสดิ์ และ ‘ว่าน’ – ปกาสิต เนตรนคร ก็เช่นกัน ทั้งสองตัดสินใจจากบ้านในกรุงเทพฯ ที่อยู่มาตั้งแต่เกิด มาเริ่มชีวิตบทใหม่ในหมู่บ้านซับศรีจันทร์ โดยมีแบรนด์ ‘นวยนาด’ (nuaynard) เป็นเหมือนลูกที่ต้องคอยดูแลไปพร้อมๆ กัน ตลอดระยะเวลาสามปีที่ย้ายมาอยู่ที่แห่งนี้ ไม่เพียงแค่นวยนาดที่ค่อยๆ เติบโตขึ้นทีละนิด แต่ทั้งสองคนต่างก็เข้าใจตัวเองมากขึ้นจนมีความสุขกับสิ่งที่เป็นอยู่ ณ ปัจจุบัน 

        หมู่บ้านซับศรีจันทร์เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ใกล้กับเขื่อนลำตะคลอง อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ผู้คนที่นั่นนิยมทำไร่มันสำปะหลัง เพราะทนแดดทนฝนดี ระหว่างทางจึงเห็นไร่มันสำปะหลังกำลังโตได้ที่สลับกับบ้านหลังน้อยใหญ่ บ้านของปุ้มและว่านอยู่เกือบท้ายสุดของหมู่บ้าน แม้วันที่เราเดินทางไปสายฝนจะเทลงมาอย่างหนัก แต่มองจากถนนสายหลักเข้าไปก็สามารถเห็นสีส้มอิฐของตัวบ้านได้เด่นชัด ถนนสายเล็กที่พามุ่งไปสู่ตัวบ้านถูกประกบด้วยพื้นที่เปล่าซึ่งกะด้วยสายตาน่าจะราวๆ สองไร่ 

        เมื่อรถเข้าไปเทียบหน้าบ้านก็เผยให้เห็นเรือนหลังเล็กสีขาวที่ยื่นออกมาจากตัวบ้าน ภาพคุ้นตาที่เคยเห็นในบนเพจเฟซบุ๊กของนวยนาด ซึ่งทำให้รู้ทันทีว่านั่นคือสตูดิโอทำงานของทั้งคู่ ด้วยสายฝนที่โปรยปรายลงมาไม่มีทีท่าจะหยุด พวกเราจึงนั่งคุยกันอยู่หน้าระเบียงบ้านที่มีโต๊ะไม้สำหรับรับแขกตั้งอยู่    

        ก่อนย้ายมาอยู่ต่างจังหวัด ปุ้มทำงานนิตยสาร ส่วนว่านทำงานโปรดักชันโฆษณา การทำสบู่เริ่มต้นขึ้นจากความชอบส่วนตัวของปุ้ม เธอทดลองทำสบู่จากธรรมชาติร้อยเปอร์เซ็นต์สำหรับใช้เอง ก่อนขยายนำไปให้กลุ่มเพื่อนใช้ เมื่อใช้ดีก็มีการบอกปากต่อปาก จากงานอดิเรกจึงกลายมาเป็นงานเสริม 

        หลังจากปุ้มออกจากงานประจำมาทำฟรีแลนซ์ ตารางชีวิตกลับแน่นกว่าเดิม สองคนจึงคุยกันว่าอยากลองย้ายมาอยู่ที่บ้านต่างจังหวัด เพื่อใช้ชีวิตในแบบที่ตัวเองชอบได้ ซึ่งบ้านหลังนี้เป็นบ้านของพ่อแม่ว่านที่สร้างไว้สำหรับเกษียณ เลยไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นใหม่กันตั้งแต่ศูนย์ และถ้าไม่ไหวจริงๆ ก็สามารถหันกลับไปที่กรุงเทพฯ ได้ทุกเมื่อ การย้ายจากเมืองใหญ่มาอยู่ในชนบทจึงเริ่มต้นขึ้น 

 

นวยนาด

ภาพที่ไม่ได้เป็นอย่างที่วาดหวังไว้ แต่ทำให้เข้าใจตัวเองมากขึ้น   

        ทุกวันนี้การมาอยู่ต่างจังหวัดของทั้งสองคนอยู่ในจุดที่ลงตัวแล้ว แต่พวกเขาสารภาพตามตรงว่ามีจุดที่สับสนจนอยากย้ายกลับไปอยู่กรุงเทพฯ บ่อยเหมือนกัน เพราะนอกจากการทำงานที่ต้องเปลี่ยนแล้ว การดำเนินชีวิตก็ต้องเปลี่ยนไปด้วย

        “ณ ตอนแรกที่คิดจะย้ายมาอยู่กรุงเทพฯ เราเห็นภาพที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ในเมืองว่ามันต้องเป็นไปในแนวทางนี้หรือทางนั้นถึงจะสามารถใช้ชีวิตให้อยู่รอดได้ และเรารู้สึกว่าเราไม่สามารถมีแพสชันที่จะไปสู้กับอะไรเหล่านั้น แม้เราจะรู้อยู่แล้วว่ามันมีทางให้รอดก็ตาม เพราะเราก็อยู่ที่นั่นมา 30 กว่าปี  แต่ตอนที่เราคิดว่าจะมาอยู่ต่างจังหวัด ภาพที่คิดก็ไม่ได้มีรูปแบบว่าเป็นการอยู่ต่างจังหวัดแบบคนเมือง มันมีแต่ภาพที่ต้องออกมาทำเกษตร แรกๆ เรามาอยู่ก็สับสนเหมือนกันว่าเราจะอยู่ต่างจังหวัดแบบไหน” ปุ้มเริ่มเล่าให้ฟัง ก่อนว่านจะเสริมว่าตัวเขาเองก็พยายามไปเข้าคอร์สเรียนเกี่ยวกับการทำเกษตรแบบต่างๆ มาหลายครั้ง บ้างก็แวะไปหาคนที่ย้ายมาอยู่ต่างจังหวัดเหมือนกันว่าพวกเขาใช้ชีวิตกันอย่างไร 

        “การที่เราไปเรียนมามันก็เป็นประสบการณ์แหละ แต่สุดท้ายเราก็ต้องมาประยุกต์ให้เหมาะกับเรา เมื่อมาอยู่ต่างจังหวัด ภาพที่เรารับมาจากสิ่งที่เราไปตามหากับสิ่งที่เราเจอมันคนละแบบ  ซึ่งตลอดระยะเวลาที่อยู่มา เราก็เพิ่งมาได้คำตอบเมื่อปีนี้เองนะว่าให้ทำเท่าที่ตัวเองไหว ปลูกต้นไม้ปลูกผักไม่ขึ้นก็ไม่เป็นไร เมื่อก่อนวาดภาพอย่างดีเลยว่าอยากปลูกต้นไม้ตรงนี้ให้เป็นป่า (ชี้ไปยังไร่ที่ว่างเปล่าบริเวณหน้าบ้าน) เพราะเราเห็นอย่างนั้นมา และเราเห็นว่ามันดี จริงๆ มันก็ดี แต่เราทำไม่ได้ พอทำไม่ได้ก็เกิดภาวะกดดันตัวเอง เหมือนตอนแรกเราล้อมกรอบให้ตัวเองมากเกินไป ตรงนั้นต้องเป็นแบบนั้น มาอยู่ที่นี่เราต้องใช้ชีวิตแบบนี้ แต่ตอนนี้เราคิดว่ามันจะเป็นยังไงก็ได้แล้ว     

        “ต่อให้ดูสื่อทั้งหมดที่เห็น มันก็เป็นเพียงการที่คนอื่นมาพูดให้ฟัง ไม่ใช่การไปเผชิญเอง พอมาอยู่จริงๆ ก็คนละเรื่องเลย เราเห็นเพื่อนเรากลับมาอยู่ที่บ้านต่างจังหวัดแล้วใช้ชีวิตง่ายมาก แต่ของเราทำไมมันยากจัง ซึ่งเราไม่มีพื้นฐานเลย มาอยู่ที่นี่มันจึงต่างกันกับคนที่มีพื้นฐานอยู่แล้ว เราต้องใช้เวลาค่อยๆ เรียนรู้ ทุกวันนี้ก็ยังเรียนรู้อยู่ เรามาเริ่มปรับตั้งแต่เรื่องน้ำ จากการลองใช้น้ำหลายๆ แบบ เช่น ใช้ปั้มเอาน้ำฝนที่รองไว้ส่งเข้าไปในบ้าน สุดท้ายจบด้วยปั้มอัตโนมัติแบบบ้านที่กรุงเทพฯ (หัวเราะ) หรือตอนอยู่กรุงเทพฯ เวลาอะไรพังเราเรียกช่างมาซ่อมได้เลย แต่เมื่อมาอยู่ที่นี่เราต้องเรียนรู้ที่จะซ่อมเอง เพราะช่างที่นี่เขาเรียกแล้วไม่ได้มาเลย ทำเองสบาย และถ้ากายมันสบาย ใจมันก็รู้สึกสบายด้วย”  

 

นวยนาด

 

        ปุ้มมองว่าความเป็นคนเมืองมันฝังอยู่ในวิถีชีวิตของพวกเขาโดยไม่รู้ตัว แต่พอมาอยู่ต่างจังหวัดก็ค่อยๆ เรียนรู้ ค่อยๆ ปรับไปทีละนิด

        “ที่กรุงเทพฯ มันจะมีไลฟ์สไตล์หลายอย่างที่เราแบกมันไว้ ตอนมาอยู่ที่นี่ใหม่ๆ เราไม่ยอมสลัดมันออก เราพยายามคิดว่าเราเป็นคนแบบนี้ ชอบแบบนี้ แต่พอมาอยู่ที่นี่นานๆ เหมือนเราเริ่มอยู่กับความหลากหลายได้ดีขึ้นกว่าเดิม เราค่อยๆ สลัดเงื่อนไขออกจากชีวิตไปด้วย เมื่อก่อนอยู่กรุงเทพฯ เราคิดว่าทำงานเหนื่อยต้องซื้ออะไรสักหน่อยเพื่อหาความสุขให้ตัวเอง ทุกวันนี้ก็ยังมีอยู่แหละ แต่ตอนนี้น้อยลง อยู่ในภาวะที่มีก็ได้ ไม่มีก็ได้ แต่เราไม่ได้พอเพียงนะ เรายังมีความอยากอยู่”

เปลี่ยนงานรองให้เป็นหลัก 

        ช่วงแรกที่ย้ายมา พวกเขายังพยายามทำงานเดิมที่เคยทำอยู่ก่อนหน้านี้ แต่ด้วยรูปแบบของการทำงานและระยะทาง การไป-กลับจึงไม่ค่อยสะดวกเท่าไหร่ ทั้งสองจึงขยับออกจากงานเก่ามาลุยกับนวยนาดเต็มตัว ว่านที่เคยดูอยู่ห่างๆ ก็มาลงมือช่วยอย่างจริงจัง 

 

นวยนาด

 

        “ช่วงแรกเรายังไม่มีการคิดชื่อแบรนด์จริงจัง แต่ด้วยความที่เรามาที่ซับศรีจันทร์บ่อย แล้วที่นี่น้ำประปาไม่ไหล ต้องใช้น้ำฝนกับน้ำซับธรรมชาติของหมู่บ้านแทน เราก็เลยนำจุดนี้มาเป็นคอนเซ็ปต์ สบู่คอลเลกชันแรกจึงเกิดขึ้นมา พร้อมตั้งชื่อแบรนด์ ว่า ‘นวยนาด’ ซึ่งว่านเป็นคนตั้งให้ แต่ตอนทำคอลเลกชันแรก โปรดักต์มีความเป็นธรรมชาติมาก ไม่มีกลิ่น ฟองก็ไม่มี ด้วยความที่เราอยากทำของดีมาก มากจนเกินไป ก็เลยไม่ค่อยมีคนซื้อ (หัวเราะ) เพราะตลาดส่วนใหญ่จะชอบสบู่ที่มีกลิ่นหอม และถ้ามีกลิ่นหอมก็ขายง่ายด้วย ตอนแรกเรายังใหม่ด้วย ไม่รู้อะไรเลย เหมือนไปลองผิดลองถูกเอา” 

        นวยนาดขายผ่านช่องทางออนไลน์เป็นหลัก มีไปออกร้านในตลาด green market เล็กๆ บ้าง แต่ปุ้มยอมรับอย่างตรงไปตรงมาเลยว่าไม่ได้ขายดี แค่พอขายได้ เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ซื้อ ปุ้มจึงคิดจะออกผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีกลิ่นขึ้นมา 

        “ผลิตภัณฑ์ของเราเริ่มมาจากน้ำฝน ก็เลยคิดว่าอะไรบ้างที่เมื่อมาใช้กับน้ำฝนถึงจะมีกลิ่นหอม จนมาเจอ ‘น้ำอบ’ เพราะกระบวนการดั้งเดิมของการทำน้ำอบเป็นการใช้น้ำฝนมาลอยดอกไม้ และนำไปผ่านกระบวนการอบร่ำ ซึ่งเราก็ต้องคิดว่าเราจะขายน้ำอบยังไงในยุคนี้ เลยกลายมาเป็นคอลเลกชันน้ำอบสองกลิ่น คือ ‘ชื่นจิต’ กับ ‘ชื่นใจ’ ตอนนั้นเรายังไม่มั่นใจว่าทำเป็นน้ำอบออกไปคนจะใช้ไหม ก็เลยทำเป็นสบู่เหลวขึ้นมาด้วย เพื่อเป็นตัวเลือกว่าถ้ายังไม่อยากใช้น้ำอบก็ใช้สบู่เหลวแทนได้ จริงๆ น้ำอบสามารถใช้แทนน้ำหอมได้ แต่แค่ว่าไม่ได้ติดทน เพราะมันไม่มีแอลกอฮอล์” 

        น้ำอบกลิ่นชื่นจิตและชื่นใจวางขายครั้งแรกที่งานบ้านและสวนแฟร์ ซึ่งก็ได้การตอบรับดีมากอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน หลังจากนั้นสื่อเริ่มเข้ามาติตต่อขอสัมภาษณ์ ร้านค้าต่างๆ เริ่มติดต่อไปวางขาย นวยนาดถูกพูดถึงมากขึ้นในฐานะแบรนด์สกินแคร์จากธรรมชาติที่อัดแน่นไปด้วยกลิ่นอายของความเป็นอีสาน แถมการออกงานแฟร์ครั้งนั้นยังฝากแง่คิดในเรื่องการทำธุรกิจไว้ให้กับทั้งสองคนด้วย

        “จากตอนที่เราไปออกงานแฟร์บ้านและสวน เราก็ทำผลิตภัณฑ์หลายๆ อย่าง มีทำกับชุมชนด้วย ตัวเราก็กล้าที่จะทำอะไรมากขึ้น เหมือนเราเริ่มรู้แล้วว่ากลุ่มคนที่เขาเข้าใจในสิ่งที่เราสื่อสารเป็นยังไง เราก็กล้าคิดสิ่งที่เป็นเรามากขึ้น เราไม่ได้คิดแค่ว่าเราชอบอย่างเดียวหรือจะขายได้อย่างเดียว แต่ต้องทำให้มันเป็นสิ่งที่เราชอบด้วยและก็ขายได้ด้วย ก็เลยเป็นโจทย์สองอย่าง จากตอนแรกที่ทำเป็นของดี เราชอบอย่างเดียวเลย ไม่ได้คิดว่าลูกค้าจะชอบไหม มันก็ทำให้เรามาหาความเป็นตรงกลางในแบบคนทำธุรกิจ แต่เราไม่มีความรู้ด้านธุรกิจเลย ขายไม่เก่ง ไม่กล้าฮาร์ดเซลล์ ทั้งๆ ที่อยากขายนะ แต่เราก็มีความหน้าบาง ไม่กล้าฮาร์ดเซลล์มาก นี่ถือเป็นข้อเสียเหมือนกัน อยากให้ตัวเองกล้ากว่านี้” 

หยิบวิถีชีวิตและภูมิปัญหาของอีสานมาประกอบร่างเป็นผลิตภัณฑ์  

        เมื่อถามว่าความเป็นนวดนายคืออะไร พวกเขาให้คำตอบว่า อะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับโคราชหรือภาคอีสาน นี่เป็นสิ่งอิงมาจากแนวคิดที่ว่า หากจะอาศัยอยู่ที่นี่อย่างยั่งยืนต้องใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นให้ได้มากที่สุดเพื่ออำนวยความสะดวกในเรื่องการสรรหาวัตถุดิบและช่วยลดต้นทุนด้วยในเวลาเดียวกัน นวยนาดจึงเป็นการนำวิถีชีวิตและภูมิปัญญาของคนในโคราชมาต่อยอดด้วยการผสมผสานระหว่างความชอบส่วนตัวและความรู้ด้านสกินแคร์ กลายเป็นสบู่พื้นบ้านอีสานที่นำครามอินทรีย์ ใบย่านาง เหล้าอุหมักข้าวกล้อง หรือไวน์หมากเม่า มาใช้เป็นส่วนประกอบพื้นฐาน

        “เรารู้สึกว่าถ้าจะทำงานที่นี่ อยู่ที่นี่การหาของที่มันใกล้ตัว จะทำให้เราใช้ชีวิตได้ง่าย อย่างสุราแช่พื้นบ้านที่เราเห็นขายเป็นของฝากจากตอนเดินทางกลับกรุงเทพฯ แล้วเราเคยทำสบู่เบียร์ มันก็หมักจากข้าวเหมือนกัน ก็เลยคิดว่าถ้าเบียร์ทำได้ เหล้าอุหมักข้าวกล้องกับไวน์หมากเม่าที่ใช้การหมักจากผลไม้และข้าวเหมือนกันก็น่าจะทำได้ อีกอย่างเราอยากชวนคิดด้วยว่าถ้าพูดถึงสุราแช่พื้นบ้านหรือเหล้า คนจะมองมิติเดียว แต่ถ้าเรามาเล่าในมิติอื่นๆ มันก็จะดูน่าสนใจ เพราะมันเป็นภูมิปัญญา และทุกอย่างไม่ได้มีแค่ด้านเดียว เราก็เลยลองเอามาใช้”

 

นวยนาด

 

        “หินทรายที่เราเอามาลองทำเป็น diffuser (ผลิตภัณฑ์กระจายกลิ่น เช่น เครื่องพ่นอโรมา) เทียนหอม เราก็ใช้บรรจุภัณฑ์ที่มาจากดินด่านเกวียนและใช้ฝาหินทรายที่ทำโดยช่างหินในอำเภอสีคิ้ว เวลาขับรถผ่านถนนมิตรภาพ เราจะเห็นช่างแกะองค์พระสองข้างทางใช่ไหม แต่เรามองว่ามันเป็นได้มากกว่านี้ไหม เลยตั้งคำถามว่าทำไมหินทรายถึงไม่ได้รับความนิยมเท่ากับหินอ่อนหรือหินชนิดอื่นๆ เราก็ลองเอามาคิดต่อดูว่ามันสามารถทำอะไรได้บ้าง และเราก็พบว่าหินทรายมันเป็นหินที่มีรูพรุน เนื้อไม่ได้แน่นเหมือนหินอ่อนสามารถเป็น diffuser ได้ เหมือนพวกหินภูเขาไฟที่เขาเอามาหยด อันนี้คือการคิดแบบนวยนาด ถ้าเป็นคนอื่นเขาอาจจะไปทำอย่างอื่น แต่พอเป็นนวยนาดมันเป็นเรื่องเกี่ยวกับของใช้ในบ้าน เรื่องเครื่องหอม ก็เลยเอามาออกแบบ ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันกับวัตถุดิบในท้องถิ่นด้วย เราอิสระกับตัวเอง แต่โจทย์มันก็ต้องอยู่บนพื้นฐานว่าต้องใช้วัตถุดิบในพื้นที่ ช่างในพื้นที่ หรือถ้าไม่ได้จริงๆ ต้องใช้ทรัพยากรจากกรุงเทพฯ ก็ได้” 

        ทุกผลิตภัณฑ์ของนวยนาดมาจากการออกแบบของปุ้มทั้งหมด และทุกขั้นตอนการทำงานก็เป็นแค่การทำเพียงแค่สองคนเท่านั้น แถมยังเป็นการทำมือที่ไม่มีการใช้เครื่องจักรเลยตั้งแต่ขั้นตอนแรกจนถึงขั้นตอนท้ายสุด ฟังดูเหมือนหนักไม่ใช่น้อย เพราะนอกจากทำงานในส่วนของการผลิตแล้ว ยังมีส่วนการขายที่ต้องดูแล ส่วนบัญชีที่ต้องทำ หรือคอนเทนต์ที่ต้องทำให้สม่ำเสมอ พวกเขาเล่าให้ฟังว่า เมื่อก่อนเคยมีคนมาช่วยงาน แต่ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่จุดหนึ่งเขาจะมองหาความมั่นคงในการทำงาน ซึ่งนวยนาดอาจจะยังไม่มีกำลังพอที่จะตอบสนองต่อสิ่งนั้นได้ ตอนนี้จึงเป็นการทำงานที่สองคนช่วยกันทำช่วยกันดูแล ‘เอาเท่าที่ตัวเองไหว’ ทั้งว่านและปุ้มย้ำคำนี้เสมอ 

ไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงใคร แต่ต้องการสื่อสารให้รู้ว่าเราอยู่กับอะไร 

        ความคาดหวังเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก โดยเฉพาะเมื่อเป็นคนเมืองที่ย้ายมาอยู่ต่างจังหวัด สายตาที่จับจ้องมามักคาดหวังว่าพวกเขาจะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับคนในท้องที่ได้อย่างไรบ้าง นี่เป็นคำถามที่ทั้งสองคนต้องเจออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่พวกเขาเชื่อว่าไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนใคร เพราะนั่นอาจเป็นสิ่งที่เขามีความสุขอยู่แล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่พวกเขาพอจะทำได้คือการสร้างโอกาสให้เห็น 

        “เราอยากให้ระบบหรือโอกาสของคนที่นี่เหมือนในเมืองที่เจริญ คนที่นี่มีงานให้เลือกไม่กี่อย่าง ไม่เป็นเกษตรกรก็ทำงานโรงงาน ไม่ก็รับจ้างรายวัน แค่นั้นเอง ทั้งที่มันอยู่ใกล้กรุงเทพฯ แค่นี้ ตอนเรามาอยู่แรกๆ ก็แปลกใจเหมือนกันว่าทำไมงานถึงไม่หลากหลาย แล้วจะมีวิธีไหนได้บ้างที่จะเปลี่ยนสิ่งนี้ได้ แต่เราคนเดียวไม่สามารถเปลี่ยนได้ทั้งหมดหรอก เราแค่ทำให้เขาเห็นภาพใหม่ว่าการที่เรามาอยู่ที่นี่ เราก็ใช้ชีวิตได้หลายแบบ ยกตัวอย่าง ช่างหินที่เราไปทำงานกับเขา ซึ่งเขาไม่เคยทำงานชิ้นเล็กมาก่อนเลย เขาก็ได้เห็นว่าสกิลเขาสามารถทำงานชิ้นเล็กได้และมีมูลค่าเท่ากับชิ้นใหญ่ ไม่ใช่แค่แกะองค์พระอย่างเดียวอีกต่อไป และเขาอาจขยับไปสู่การทำอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้นะ

        “สิ่งที่เราทำได้อาจจะไม่ใช่มิติการเปลี่ยนแปลงของผู้คน สิ่งที่เราทำได้คือทำให้คนข้างนอกเห็นว่าไม่ว่าที่ไหน ไม่จำเป็นต้องเป็นแหล่งท่องเที่ยว ไม่จำเป็นต้องมีป่า มีน้ำตก ที่ไหนมันก็ไปสร้างอะไรบางอย่างให้เหมือนกับโอกาสที่คนเมืองได้รับได้ อาจจะไม่ต้องถึงขั้นให้อาชีพคน แต่ให้คนได้รู้จักว่ามีหมู่บ้านเล็กๆ อยู่ตรงนี้ ถ้าคนจะมาเที่ยวเราบอกได้เลยว่าไม่มีที่เที่ยว มีแต่วิถีชีวิตคน มีหมู่บ้าน มีชาวบ้าน” 

        การที่นวยนาดเน้นย้ำกับคำว่าซับศรีจันทร์ตลอด จุดหนึ่งก็เพื่อสื่อสารให้คนข้างนอกรับรู้ว่ามีหมู่บ้านนี้อยู่ และคาดหวังให้มีอะไรเข้ามาเปลี่ยนแปลงระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานอย่างเรื่องน้ำที่เป็นปัญหามาตลอดสักที  

        “จริงๆ ที่เราพูดถึงเรื่องน้ำฝนบ่อยๆ เราไม่ได้วิ่งเล่นอยู่บนทุ่งหญ้าลาเวนเดอร์นะ เป้าหมายของเราจริงๆ คืออยากให้คนตั้งคำถามว่า หมู่บ้านใกล้กรุงเทพฯ แค่นี้ทำไมไม่มีระบบสาธารณูปโภคน้ำประปา นี่คือสิ่งที่เราซ่อนอยู่ อยากให้คนฉุกคิด ไม่ใช่มองแค่เพราะชาวบ้านเขาอยู่กับธรรมชาติ เราอยากให้มองลึกไปกว่านั้นว่าสิ่งที่เราต้องการบอกคืออะไร คนที่นี่ต้องซื้อน้ำใช้ รถละสองร้อยบาท ถ้ามีน้ำเข้ามา เขาอาจจะไม่ต้องปลูกมันสำปะหลัง อาจจะทำเกษตรอย่างอื่น อาจมีทางเลือกในอาชีพอื่นๆ แต่พอไม่มีน้ำ ทางเลือกมันจำกัดเขา น้ำที่เป็นคุณภาพชีวิตพื้นฐานเขายังเป็นปัญหาอยู่ แล้วเขาจะพูดไปเรื่องอื่นต่อได้ยังไง เขาจะไม่ไปถึงที่อยากเรียนรู้อะไรสักที” ปุ้มทิ้งทายไว้ว่านี่คือปัญหาหลักที่เขาต้องการสื่อสารผ่านแบรนด์นวยนาด แต่ไม่มั่นใจว่าสื่อสารไปถึงทุกคนไหม  

บ้านใหม่ในแบบของเราสอง 

        เมื่อฝนหยุดตกปุ้มและว่านพาเราขยับแข้งขยับขาเดินสำรวจรอบๆ บ้าน ที่แรกที่ว่านพาไปคือลำธารที่อยู่บริเวณด้านหลัง น้ำในลำธารเป็นสีแดงตามสีของดินที่ถูกซัดมาพร้อมกระแสน้ำ ว่านเล่าว่า ปกติสามารถเดินลงไปในลำธารได้ แต่สภาพดินตอนนี้เดินลงไปคงหกล้มหัวคะมำแน่ๆ เราจึงทำได้แค่ยืนจ้องมองสายน้ำค่อยๆ ไหลผ่านไป พลางสูดกลิ่นดินและกลิ่นต้นไม้ใบหญ้าหลังฝนตกหมาดๆ  

        ด้านข้างของบ้านมีโอ่งขนาดใหญ่สามสี่ใบสำหรับรองน้ำฝนไว้ใช้ ส่วนบริเวณรอบๆ โอ่งเป็นแปลงผักสวนครัวขนาดเล็กที่ว่านปลูกเอาไว้ เรายืนพิจารณาผักในแปรงกันอยู่พักหนึ่ง ก่อนจะพากันเดินเข้ามาสำรวจสตูดิโอทำงานหลังสีขาวที่ว่านเปิดประตูต้อนรับเอาไว้แล้ว 

        ปุ้มเล่าว่า เดิมทีพื้นที่ตรงนี้เป็นโรงจอดรถ มีแค่หลังคากับเสาเท่านั้น เมื่อตัดสินใจจะมาอยู่ก็เลยขนประตูหน้าต่างจากกรุงเทพฯ มาต่อเติมให้กลายเป็นสตูดิโอที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน ภายในห้องสี่เหลี่ยมผืนผ้าแห่งนี้ตกแต่งอย่างเรียบง่าย มีโต๊ะไม้สองตัวตั้งไว้กลางห้องสำหรับเป็นพื้นที่ในการแพ็กสินค้า ส่วนโต๊ะขนาดย่อมด้านในสุดที่ติดกับบริเวณล้างจาน เป็นพื้นที่การทำงานที่ต้องเละหน่อย น่าเสียดายที่วันนั้นเป็นวันหยุดของทั้งคู่ จึงไม่ได้เห็นภาพกระบวนการทำสบู่ ถึงอย่างนั้นก็ยังคงมีกลิ่นหอมจางๆ กระจายอยู่รอบห้อง ซึ่งคาดว่าน่าจะมาจากขวดสีน้ำตาลขวดใดคนหนึ่งที่วางเรียงรายกันอยู่ในตู้ 

        ปกติวันจันทร์-ศุกร์ จะเป็นวันทำงานของพวกเขา ส่วนเสาร์-อาทิตย์จะเป็นวันหยุดพักผ่อน เหมือนกับเวลาทำงานในออฟฟิศทั่วไป แต่ก่อนเริ่มวันทำงานทั้งว่านและปุ้มจะแบ่งกันไปทำหน้าที่ของตัวเองก่อน ว่านดูแลเรื่องต้นไม้ ปุ้มดูแลเรื่องอาหาร หลังจากนั้นจึงเริ่มทำงานกันในช่วงบ่าย และเลิกงานห้าโมงเย็น 

 

นวยนาด

 

        ยิ่งตกเย็นที่นี่ยิ่งเงียบ มีเแค่เสียงแมลงและเสียงลำธารดังอยู่ใกล้ๆ บรรยากาศที่ชวนให้เปิดเพลงฟังคลอไปด้วยเช่นนี้ พวกเขาทั้งสองคนกลับไม่ได้ทำนานมาแล้ว ว่านบอกว่า ช่วงแรกๆ ที่มาอยู่ต้องเปิดเพลงฟังระหว่างทำงานไปด้วยตลอด แต่ระยะหลังมา การอยู่เงียบๆ กลับดีกว่า ทุกวันนี้จึงแทบไม่ได้เปิดเพลงฟังเลย

        เป็นเวลากว่าสามปีแล้วที่ปุ้มและว่านย้ายมาอยู่หมู่บ้านซับศรีจันทร์ เราถามว่าตอนนี้มองว่าที่นี่คือบ้านหรือยัง ปุ้มหยุดคิดครู่หนึ่ง และให้คำตอบว่า นี่เป็นบ้านในความหมายใหม่ของพวกเขา 

        “นี่คือบ้านในแบบของเรา และมันก็มีพื้นที่ที่เป็นของเราจริงๆ เพราะเรากับว่านต่างก็โตมาในบ้านพ่อแม่ จึงมีกรอบว่าอันนี้ทำไม่ได้ อันนั้นทำไม่ได้ พอมาอยู่ที่นี่เรามีอิสระมาก มากจนไม่รู้ขอบเขตว่าควรหยุดที่จุดไหน ก็ยากที่จะตบมันให้แคบและเป็นเราจริงๆ แต่ตอนที่อยู่กรุงเทพฯ เราคิดว่าเราชอบเที่ยว ชอบออกเดินทาง แต่เราเพิ่งมารู้ตอนนี้เองว่าจริงๆ เราไม่ได้ชอบเที่ยวหรอก แต่เราคิดว่าการอยู่บ้านมันไม่เหมือนตอนเราออกไปที่อื่น ความหมายของการเกิดเป็นมนุษย์คนหนึ่ง ความหมายของคำว่าอิสระในการใช้ชีวิตจริงๆ  มันไม่ใช่แค่การออกไปเที่ยว มันคืออิสระในการเลือกว่าเราจะมีชีวิตแบบไหน

        “เมื่อก่อนบ้านหลังนี้มันจะเป็นไปในแบบที่พ่อกับแม่ของว่านจัด ก็จะมีร่องรอยของความเป็นผู้ใหญ่อยู่ อย่างผนังลมลายฉลุอะไรแบบนี้ ซึ่งก็ไม่ได้ผิดนะ เพราะมันคือบ้านเขา แต่เราก็ค่อยๆ เริ่มเปลี่ยนให้เป็นบ้านเรา สิ่งของชิ้นสุดท้ายที่ว่านหยิบออกไปคือทีวีของแม่ เราไม่กล้าขยับมันสักที จนมันเหลือชิ้นสุดท้ายแล้วที่จะต้องเปลี่ยน ว่านจึงตัดสินใจย้ายเข้าไปเก็บในห้องเก็บของ พอเอาทีวีเข้าไปเก็บเท่านั้นแหละ มันเหมือนได้เคลียร์อะไรบางอย่างที่เราไม่กล้าตัดสินใจมานาน เพราะบางทีผู้ใหญ่มาเขาไม่เห็นอะไรที่อยู่ที่เดิมเขาก็จะถามว่ามันไปไหน” ปุ้มยิ้มเล็กน้อยหลังตอบคำถามจบ  

 

นวยนาด

 

        จุดที่ปุ้มและว่านยืนอยู่ช่างต่างจากภาพฝันอันสวยหรูที่มักถูกเสนอว่าการออกมาอยู่ต่างจังหวัดจะต้องดีกว่ากรุงเทพฯ แต่ความเป็นจริงทุกพื้นที่ล้วนมีปัญหาในตัวเอง เหมือนเป็นโจทย์ที่บีบให้ต้องเลือกด้วยว่าเราจะอยู่กับปัญหานั้นอย่างไรหากเลือกทางนี้ อาจพูดได้ว่าตลอดระยะเวลาที่ทั้งสองคนออกมาอยู่ต่างจังหวัด จนกระทั่งปลุกปั้นแบรนด์ที่ยังไม่เข้ารูปเข้ารอยให้กลายมานวยนาดในวันนี้ ทุกๆ อย่างค่อยๆ สอนแง่คิดและมุมมองการใช้ชีวิตให้กับพวกเขาทีละนิดด้วย จนในที่สุดปุ้มและว่านก็พิสูจน์ตัวเองได้แล้วว่า เขาสามารถมีชีวิตในแบบที่ต้องการได้ โดยไม่จำเป็นต้องละทิ้งไลฟ์สไตล์เดิมของตัวเองไป