เป่ายิ้งฉุบ คือชื่อร้านกาแฟไซซ์เล็ก เล็กจนขนาดที่เราขอเรียกว่า ‘จิ๋วหลิว’ ตั้งอยู่ตรงกลางของบ้านทั้งสามหลัง ซึ่งบ้านหลังแรกซ้ายมือ คือสถานที่ที่สำหรับเคารพบรรพบุรุษ เมื่อข้ามบ่อปลาคราปด้วยสะพานไม้ขนาดเล็กๆ ก็จะมาเจอกับร้านเป่ายิ้งฉุบ ที่มีบาริสตาหนึ่งในหุ้นส่วน ‘อาร์ม’ – อนุตร เหลี่ยมสกุล ที่อีกด้านเขาคือกราฟิกดีไซเนอร์ฟรีแลนซ์หน้าเข้ม โดยด้านข้างของร้านกั้นระหว่างบ้านพักอาศัยหลังที่สามด้วยต้นไม้ของ ‘หล่อ’ – เลื่องหล้า เกียรติภักดีกุล เจ้าของร้าน รวมๆ แล้วพื้นที่ทั้งหมดดูเล็กจิ๋ว แต่กลับรู้สึกได้ถึงความสบายกายสบายใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทั้งคู่ตั้งใจให้เกิดขึ้น ณ ที่แห่งนี้
“เดิมทีร้านเป่ายิ้งฉุบคือกราฟิกเฮาส์ของพวกเราสองคน พวกเราทำงานตรงนี้กันมานาน ก่อนจะเปลี่ยนจากออฟฟิศมาเป็นร้านกาแฟเล็กๆ เมื่อสองเดือนก่อน เพราะพวกเราเริ่มรู้สึกว่าจังหวะชีวิตถึงเวลาเปลี่ยนกันอีกครั้ง เมื่องานกราฟิกเริ่มน้อยลง” หล่อเอ่ยขึ้นหลังจากที่เสียงเครื่องเอสเพรสโซแมชีนเงียบลง พร้อมอเมริกาโนเย็นหนึ่งแก้วตรงหน้า
“เราเริ่มตั้งคำถามให้กับตัวเองว่า เราจะทำงานกราฟิกไปอีกนานแค่ไหน แล้วเราจะได้ใช้ชีวิตที่อยากใช้ได้เมื่อไหร่ พอเรามีคำตอบ เราก็เลยมาคุยกับหล่อว่า ทำร้านกาแฟกันดีกว่า ทำตามสิ่งที่เราสองคนชอบคือกาแฟ อย่างหล่อจะสะสมและใช้อุปกรณ์กาแฟแนวแมชีนในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว ส่วนเราก็ชอบการดริป เราเลยมีอุปกรณ์ดริปหลากหลายรูปแบบ เมื่ออุปกรณ์ไม่ต้องซื้อ ที่ทางก็มี โครงสร้างก็ปรับไว้แล้ว จะรออะไร เปิดเลยแล้วกัน” อาร์มอธิบาย
เสียงดนตรีที่ไม่คุ้นเคยดังมาจากเครื่องเล่นแผ่นเสียงโบราณที่ตั้งอยู่ผนังด้านในสุดของร้าน โซนที่นั่งได้ก็มีเพียงโซฟาตัวยาว และโต๊ะขนาดเล็กๆ สองโต๊ะให้วางแก้ว พร้อมโต๊ะไม้เก่าขนาดใหญ่ไว้เป็นพื้นที่เวิร์กช็อปดริปกาแฟ ด้านตรงข้ามคือเคาน์เตอร์สำหรับชงกาแฟ ถัดไปอีกห้องหนึ่งเป็นโซนทำงานของพวกเขา โดยแบ่งพื้นที่เล็กๆ ริมหน้าต่างเป็นพื้นที่คั่วกาแฟ ซึ่งทำขึ้นง่ายๆ พื้นที่ทั้งหมดถูกแบ่งสัดส่วนได้อย่างพอดี และพอเหมาะไปกับขีดความสุขของพวกเขาได้อย่างเหลือเชื่อ
“แม้ว่าเราจะมีเวลาค่อนข้างจำกัด ทำให้ 5 ปีที่ผ่านมา เราไม่กล้าที่จะเปิดร้านกาแฟอย่างที่ต้องการ เพราะกลัวไม่มีเวลา แต่พอเอาเข้าจริงๆ เรากลับหาเวลาได้ และทุกอย่างก็ลงตัว ชีวิตก็มีสีสันขึ้นมากกว่าเดิม” หล่อเล่าให้ฟัง โดยอาร์มได้เสริมว่า
“จะเห็นได้ว่าที่นี่เงียบมาก ลูกค้ายังรู้จักเราน้อย ส่วนใหญ่คนที่มาก็คือคนรู้จักกันมากกว่า นั่นเป็นส่วนหนึ่งที่เราต้องการ เพราะเราอยากให้ทุกคนมาที่นี่ มาดื่มกาแฟสไตล์พวกเรา เหมือนมานั่งกินกาแฟบ้านเพื่อน หรือได้มาเรียนรู้การดริปกาแฟ มาพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องกาแฟ แล้วค่อยๆ ให้รสชาติเป็นตัวกำหนดความชอบ และปริมาณลูกค้าในอนาคตอีกครั้ง”
เราชวนหล่อและอาร์มคุยว่า หลายคนอยากเปิดร้านกาแฟเพราะต้องการหารายได้ แต่เท่าที่ฟังมา ร้านกาแฟเล็กๆ แห่งนี้ดูเหมือนไม่ต้องการสร้างรายได้สักเท่าไร แต่กลับเหมือนที่ซ่อนตัวเล็กๆ ของคนที่อยากหลบหนีจากความวุ่นวายบางอย่าง พวกเขาสองคนตอบตรงกันว่า “ใช่”
ข้างนอกอาจขับเคลื่อนด้วยเวลาและการจราจร แต่ข้างในนี้กลับขับเคลื่อนไปด้วยพลังชีวิต พวกเขาสองคนยังมีอีกหลายอย่างต้องทำ โดยเฉพาะเรื่องกาแฟ ที่ต้องเรียนรู้และฝึกฝนจนได้รับใบประกาศเพื่อทำการฝึกสอนต่อได้ และหนึ่งในสองคนนั้นก็ตั้งใจแล้วที่จะก้าวเดินบนเส้นทางกาแฟไปพร้อมๆ กับร้านเล็กๆ แห่งนี้
“ในอนาคต ร้านกาแฟที่เป็นโฮมคาเฟ่จะเพิ่มมากขึ้น เพราะขนาดและต้นทุนจะต่ำกว่าเช่าพื้นที่ เจ้าของร้านก็ชงกาแฟได้อย่างสบายใจ ลูกค้าก็จะเปลี่ยนพฤติกรรมมานั่งร้านกาแฟที่เงียบๆ สบายๆ มากขึ้น” อาร์มกล่าวปิดท้าย
WHERE TO FINE ‘เป่า ยิ้ง ฉุบ’ CAFE COFFEE ROASTER
Facebook: เป่ายิ้งฉุบ