ครืด… ซ่า
เสียงตกร่องอันเป็นเอกลักษณ์ขณะที่ประคองเข็มทิ่มลงบนแผ่นเสียงก่อนดนตรีจะเริ่มดังแว่วขึ้นมา ภายในบ้านสีขาวสองชั้นสไตล์โคโลเนียลเต็มไปด้วยแผ่นเสียงจำนวนมากที่เรียงรายอัดแน่นอยู่เต็มชั้นวาง เสียงตัวโน้ตเพลงสากลเก่าจากเครื่องเล่นแผ่นเสียงคลอเคล้าสร้างบรรยากาศยามบ่ายวันนั้นให้ผ่อนคลายและเนิบช้าลงไปถนัดตา ราวกับว่ากำลังเดินอยู่ในบ้านของเพื่อนผู้คลั่งไคล้การสะสมแผ่นเสียง ในวันที่โลกของการฟังดนตรีก้าวเข้าสู่ยุคสตรีมมิงบนออนไลน์ ‘นก’ – พงศกร ดิถีเพ็ง เจ้าของ ‘ร้านแผ่นเสียง’ แห่งนี้ ยังคงเชื่อในการเสพความสุนทรีย์จากแผ่นเสียงซึ่งเป็นมรดกจากยุคแอนะล็อก และเสน่ห์แห่งเสียงเพลงที่ผ่านกาลเวลาจากอดีตมาถึงปัจจุบัน
“ตอนเด็กๆ เราฟังรายการวิทยุ Radioactive กับ Together Again ดีเจสมัยนั้นก็มี คุณรุจยาภา อาภากร, พี่วาสนา วีระชาติพลี, วิโรจน์ ควันธรรม และ ธเนศ วรากุลนุเคราะห์ เขาก็จะมีเพลงอัพเดตจากอังกฤษทุกสัปดาห์ เราเลยฟังและติดตามมาตลอด ที่สำคัญ เราจับแผ่นเสียงมาตั้งแต่เด็กๆ เพราะพ่อแม่เล่นแผ่นเสียง แล้วที่บ้านเราทำร้านอาหาร ตอนอายุ 20 ก็ได้ไปช่วยเขาก๊อกๆ แก๊กๆ ไปช่วยใส่ดนตรีสดให้กับร้าน โฟล์กบ้าง แบนด์บ้าง จากนั้นก็เริ่มเสพติดเพลง เราโตมากับเพลงยุค 80s แล้วยิ่งมาเจอนักดนตรีที่เขาเล่นเพลงยุค 70s เราก็ได้เพลงเพิ่ม ทีนี้ก็เริ่มฟังเพลงถอยหลังไปอีกในยุค 60s-70s จนหลงมาทุกวันนี้”
หลังทำงานที่ร้านอาหารมาหลายปี พงศกรผันตัวไปบริหารสถานบันเทิงหลายแห่ง ก่อนโชคชะตาจะพาเขามาพบกับรุ่นพี่ที่มหาวิทยาลัยซึ่งเปิดร้านเครื่องเสียงที่ฟอร์จูน และกำลังจะเพิ่มช่องทางการขายแผ่นเสียง จึงชักชวนพงศกรมาร่วมทำด้วย และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นระหว่างเขากับการขายแผ่นเสียง
“พอหลังจากได้ไปทำ เรารู้เลยว่านี่คือทางของเราแน่นอน เพราะแผ่นเสียงที่เราไปแหวกดู เรารู้จักหมดเลย เหมือนเป็นเพื่อนเก่า พอมีลูกค้าเข้ามา เราก็สื่อสารกับลูกค้าได้ง่าย แต่พอปี 2553 เขาก็มีการรีโนเวตตึก 8 เดือน เรากับรุ่นพี่ก็เลยย้ายมาอยู่ที่ Coffee Model ตรงข้ามลุมพินีคอนโด แถวประดิพัทธ์ รุ่นพี่เราทำร้านกาแฟ ส่วนเราก็ทำร้านแผ่นเสียงข้างหลัง”
ด้วยโชคชะตาอีกครั้ง Coffee Model ก็ถูกเรียกที่ดินคืนเพื่อไปพัฒนาเป็นธุรกิจอื่น แต่เป็นโชคดีของพงศกรที่รู้จักกับเจ้าของบ้านซึ่งทำเป็นร้านแผ่นเสียงในปัจจุบัน และเพิ่งรีโนเวตบ้านเสร็จ จึงทำการย้ายร้านมาอีกครั้งบริเวณซอยประดิพัทธ์ 19 ในปี 2559 และอยู่มาถึงปัจจุบัน
“ตอนแรกที่เห็นด้านนอกคิดว่ามันใหญ่มากนะ มีสนามหญ้าด้วย แต่พอเปิดเข้าไปดูในบ้าน โอ้โฮ นี่แหละ ร้านแผ่นเสียงของเรา เพราะตัวบ้านดูมีความย้อนยุคอยู่แล้ว ยิ่งบวกกับของที่เราเอามาตกแต่ง มันก็เหมือนกับว่าบ้านหลังนี้เกิดมาเพื่อเราเลย”
ใครที่หลงใหลในเรื่องของแผ่นไวนิล หรือเป็นนักสะสม หากเดินเข้ามารับรองว่าอาจต้องใช้เวลาอยู่เป็นวันๆ เพื่อเดินดูให้ครบ ภายในบ้านแบ่งเป็นสี่ส่วนหลัก ด้านหน้าสุดจะเป็นโซนสำหรับแผ่นไวนิลที่มาใหม่ รวมไปถึงศิลปินใหม่ๆ ฝั่งซ้ายเป็นห้องสำหรับทดสอบเปิดแผ่นเสียงดีๆ กับเครื่องเล่น ซึ่งจะรวมแผ่นหายากจากที่ต่างๆ ถึงแม้จะไม่ได้ขาย แต่พงศกรเล่าว่าหากมีแผ่นซ้ำก็อาจแบ่งขายบ้างบางโอกาส ถัดมาฝั่งขวาเป็นห้องสำหรับพักผ่อน นั่งเล่น ละเลียดเวลาสบายๆ ส่วนลึกเข้าไปด้านในจะเป็นห้องที่มีคอนเซ็ปต์เป็นร็อกยุคเก่า 60s-80s และมีเครื่องเล่นให้สามารถลองฟังได้
“แผ่นไวนิลพวกนี้ แรกๆ ก็จะมีผู้นำเข้าแผ่นมือสองจากญี่ปุ่นมาขาย แล้วก็มีลูกค้าผู้ใหญ่ที่รู้จักเขาเล่นแผ่นเสียง พอหูเขาเริ่มล้า อายุมาก สายตาเริ่มประคองเข็มลงบนแผ่นเนื้อไวนิลไม่ได้ ก็เริ่มมีการส่งมาให้เรา หรือฝากให้เราขายบ้าง ทีนี้ย้อนกลับไปตอนที่ย้ายจากฟอร์จูนมาอยู่ที่ประดิพัทธ์ ก็เริ่มมีค่ายเพลงมาปรึกษาเรื่องการฝากขาย เริ่มมาคุยโครงงานกัน พอค่ายใหญ่ให้เราทดลองขาย ก็กลายเป็นว่าทุกคนที่จะซื้อแผ่นเสียงต้องมาที่ประดิพัทธ์ นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้คนรู้จักร้านแผ่นเสียงจริงจัง จนกระทั่งย้ายมาที่แห่งใหม่นี้ก็ยังตามมาอุดหนุนอยู่”
ปัจจุบันกระแสการสะสมแผ่นเสียงได้รับความนิยมมากขึ้น ผู้คนโหยหาการกลับไปยังบรรยากาศของเสียงดนตรีและฟอร์แมตในยุคดั้งเดิม พงศกรให้เหตุผลว่าเป็นเพราะกระแสเรโทรในช่วงสิบปีที่ผ่านมาเริ่มบูม ทั้งเสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์ รวมไปถึงร้านอาหารหรือสถานบันเทิงที่มักตกแต่งร้านด้วยเครื่องเล่นแผ่นเสียงเก่า
“อีกอย่างคือมันเป็นฟอร์แมตที่เก็บไฟล์เพลงที่ขับเคลื่อนด้วยเข็ม เสียงจึงมีความใกล้เคียงธรรมชาติของดนตรีเล่นสดมากที่สุด สอง ถ้ารักษาสภาพดีๆ อายุจะคงทนยาวนาน ทุกวันนี้บางแผ่นอายุ 60 ปี”
ถึงแม้ทุกวันนี้จะก้าวเข้าสู่โลกแห่งสตรีมมิงแล้ว ทุกอย่างทำได้ง่ายขึ้นในการฟังเพลงซึ่งถูกย้ายไปอยู่บนโลกออนไลน์ แน่นอนว่าธุรกิจการขายแผ่นเสียงก็ต้องมีคำถามถึงการอยู่รอดในเรื่องรายได้ เพราะหลายคนก็อาจมองว่า แม้ผู้คนจะหันมาให้ความสนใจมากขึ้น แต่ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป รูปแบบเดิมอาจไม่เอื้อในการทำกำไรมากนัก แต่พงศกรกลับบอกว่า ทุกวันนี้ตลาดแผ่นเสียงโตขึ้นมาก ผู้ผลิตแผ่นเสียงอิสระก็เกิดขึ้นแทบจะรายวัน แต่ละเดือนมีแผ่นเสียงเพลงไทยส่งมาที่ร้านเกินสิบอัลบั้ม ส่วนหัวนอกมีวันละ 5-10 ปก เลยทีเดียว
“จริงๆ มันไม่ทำให้รวยหรอก แต่ทำให้เรามีความสุข ไม่ต้องไปคาดหวังที่จะมีกำไรเยอะมหาศาล เอาให้เลี้ยงครอบครัวได้ เลี้ยงจิตวิญญาณได้ก็พอแล้ว ที่สำคัญ ร้านก็อยู่ใกล้บ้าน เดินทางภายในสองนาทีถึง ลูกเต้าปิดเทอมก็เอามาเลี้ยงได้ ร้านนี้เกิดจากความชอบ ความรัก ความผูกพัน เพราะเราฟังแล้วได้เล่นแผ่นเสียงตั้งแต่เด็ก พอมันมีโอกาสกลับมาเกิดใหม่ ถึงเราไม่ได้เป็นคนขายคนแรก แต่อยู่ในยุคบุกเบิก มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ได้ให้คำแนะนำในการผลิต ก็ทำให้เรายิ่งรักและผูกพันนะ”
นอกจากการขายแผ่นไวนิล ซีดี และเครื่องเล่นแผ่นเสียงแล้ว ร้านแผ่นเสียงแห่งนี้ยังมีการจัดกิจกรรมสำหรับศิลปินด้วย ทั้งการให้ศิลปินมาโปรโมตเพลงและแจกลายเซ็นที่ร้าน ที่สำคัญ บริเวณสนามหญ้าหน้าบ้านยังเป็นข้อได้เปรียบที่ทำให้สามารถจัดโชว์เล็กๆ ของศิลปินแบบอบอุ่นและใกล้ชิดได้ด้วย
“ปีนี้พีกมาก คิวศิลปินแน่นเอี๊ยดเลย ผลตอบรับดีเกินคาด เพราะอยู่กลางเมือง สามารถเดินทางรถไฟฟ้าแล้วเดินมาได้ ที่จอดรถพอมี สถานที่ก็เป็นอีกบรรยากาศ แทนที่จะไปดูในฮอลล์ ก็ได้มานั่งดูบนหญ้าใต้ต้นไม้”
ความสุขอีกอย่างของร้านแผ่นเสียงที่พงศกรเล่าให้ฟัง คือการที่ร้านเป็นเหมือนคอมมูนิตี้เล็กๆ ที่เชิญชวนคนที่มีรสนิยมเดียวกันหรือคนที่สนใจ มาร่วมพบปะ สนทนา แลกเปลี่ยนเรื่องดนตรีและแผ่นไวนิลกัน
“ปกติลูกค้ามาเลือกซื้อแผ่น ตกบ่ายก็ไปกินข้าวด้วยกัน หรือมาซื้อเย็น ก็กินข้าวเย็นด้วยกัน ทุกวันนี้ก็ยังเป็นอยู่ เพราะฉะนั้น แผ่นเสียงคืองานศิลปะชิ้นหนึ่ง อย่าไปมองว่าเป็นสินค้า แต่เป็นงานศิลปะที่ซื้อขายกันได้ ดึงดูดคนมีรสนิยมเดียวกันให้มาเจอกัน พัฒนามาเป็นพี่น้อง มาเป็นเพื่อนกัน บางคนซื้อกับเราตั้งแต่ยังไม่แต่งงาน ตอนนี้ลูกห้าหกขวบแล้วก็มี (หัวเราะ)
“เราอยากอยู่กับแผ่นเสียงจนกว่าจะทำไม่ไหว อยากทำเป็นอาชีพสุดท้ายด้วย”
WHERE TO FIND RECORD SHOP
Facebook: Records Shop