Safebox อดีตโกดังเก็บอะลูมิเนียมเส้น หนึ่งในธุรกิจเก่าแก่ที่อยู่คู่กับถนนบรรทัดทอง-สามย่าน มาไม่ต่ำกว่า 50 ปี พื้นที่ดังกล่าวจึงคึกคักไปด้วยผู้คนและโกดังมากมาย กระทั่งมีการปรับปรุงพัฒนาอสังหาริมทรัพย์กลางเมือง นําไปสู่การขยับขยายย้ายถิ่นของธรุกิจดั้งเดิม รวมไปถึงธุรกิจอะลูมิเนียมของครอบครัวภรรยาของ ‘เน็ท’ – ขวัญพยัคฆ์ พยัคฆนันทน์ ผู้ก่อตั้ง Safebox ที่ได้ย้ายศูนย์กระจายสินค้าและหน้าร้านออกไปนอกเมือง แต่อาคารโกดังก็ยังคงตั้งอยู่ต่อไป ราวๆ 3-4 ปีก่อน ไอเดียเก็บอาคารเก่าเพื่อรีโนเวตแล้วสร้างโอกาสธุรกิจใหม่จึงเกิดขึ้น
Safe วันวานและโกดังทิ้งเปล่า
“เมื่อมีการปรับปรุงพื้นที่ในย่านนี้ ธุรกิจดั้งเดิมก็ค่อยๆ หายไป ธุรกิจของครอบครัวเราก็เช่นกัน เดิมมีหน้าร้านอยู่ริมถนน ไม่ไกลจากโกดังริมคลองบรรทัดทองตรงนี้ เมื่อความเป็นเมืองแพร่เข้ามา ทำให้การขนส่งต่างๆ ติดขัด เราจึงตัดสินใจย้ายที่เก็บของไปอยู่โซนมหาชัย ส่วนหน้าร้านก็ย้ายไปอยู่แถวพระราม 3 สิ่งที่หลงเหลือไว้คือโกดังเปล่าด้านหลัง พื้นที่ประมาณ 2,000 ตารางเมตร ที่ปล่อยทิ้งไว้ราวๆ 5 ปี จนกระทั่งทาง Rabbit Digital Group มาขอเช่าพื้นที่ทำออฟฟิศ แล้วเขาก็ทำออกมาได้ดีทีเดียว จุดเล็กๆ นั้นทำให้เราเห็นโอกาสที่จะเก็บพื้นที่ เก็บโกดังเก่าของเราไว้ แล้วเริ่มต้นทำธุรกิจใหม่ ที่วันนี้คือ Safebox”
นี่คือจุดเริ่มของ Safebox เปลี่ยนที่ที่ว่างเปล่าให้เป็นพื้นที่ที่สอดคล้องไปกับผู้เช่าเดิม ทั้งยังสามารถต่อยอดเกิดเป็นธุรกิจที่ยั่งยืนได้ ระหว่างที่กำลังชั่งใจ เขาได้เรียนรู้ ศึกษาหาข้อมูล จนไปพบกับแนวคิดของ Regus ธุรกิจให้เช่าสำนักงาน (serviced office) เมื่อนำมาประกบเข้ากับพื้นที่ชั้น 2-3 ของโกดังใหญ่ และโกดังย่อยๆ อีก จิ๊กซอว์ตัวนี้ก็ลงล็อกพอดิบพอดี
“เราเคยมีความคิดที่จะทุบทิ้งแล้วสร้างใหม่ แต่เราก็ยังชอบเสน่ห์ของอาคารเก่า ที่ที่ยังมีเรื่องราว มีร่องรอยเล็กๆ น้อยๆ ที่เราสามารถเล่าต่อได้ และเลือกที่จะไม่เปลี่ยนแปลงสภาพของงานสถาปัตย์เดิม”
เขาเล่าตัวอย่างพื้นที่ที่เก็บอดีตไว้ อย่างเพดานชั้นล่างบางจุดหากมองขึ้นไปจะเห็นเป็นไม้ นี่คือเอกลักษณ์ของอาคารพาณิชย์รุ่น 50 ปีที่แล้ว ชั้นล่างเป็นปูน แต่ชั้นสองจะปูพื้นด้วยไม้ หรือลิฟต์ขนของแบบประตูบานพับที่ยังคงใช้งานได้ เสาปูนเปลือยที่ผ่านวันเวลาและการใช้งานมาอย่างยาวนาน
บางจุดยังเหลือร่องรอยกะเทาะออกไปบ้างตามสภาพการใช้งาน รวมไปถึงประตูขนย้ายอะลูมิเนียมเส้น ที่เปิดเป็นช่องสูงขึ้นไปจนถึงชั้นสาม ก็ยังคงไว้เหมือนเดิม แต่มีการปรับนิดหน่อย เพื่อใช้ประโยชน์จากพื้นที่ชั้นสองให้กลายเป็นออฟฟิศ ซึ่งปัจจุบันเป็นพื้นที่ของ Rabbit’s Tale ที่ขยายมาจากโกดังด้านหลัง โดยเหมาชั้นสองทั้งหมด ส่วนชั้นสามเหลือเป็นช่องโปร่งแสง ฝั่งหนึ่งคือ Box ออฟฟิศ อีกด้านหนึ่งคือ ระเบียงหายใจ พื้นที่เอาต์ดอร์เล็กๆ ปลูกต้นไม้และเป็นที่นั่ง สามารถมองเห็นวิวกลุ่มอาคารพาณิชย์เก่าที่ยังคงอยู่ตรงข้ามกันได้
Safe Space
จิ๊กซอว์ของ Safebox ลงตัวแล้ว มีจุดตั้งต้นที่ไอเดียการสร้างพื้นที่เปล่าให้กลายเป็นพื้นที่ที่น่าอยู่น่าใช้งานจากแรบบิทเทล แต่ยังขาดกรอบรูปสวยๆ ที่จะเติมเต็มให้ที่แห่งนี้สมบูรณ์แบบลงตัวและสร้างความมั่นคงทางธุรกิจให้ยั่งยืนได้จริงๆ อย่างที่เขาตั้งเป้าหมายไว้
“ระหว่างที่แรทบิทเทลเช่าพื้นที่โกดังด้านหลัง ต่อมาจึงขยายเช่าพื้นที่ชั้นสองเกือบทั้งหมด เราจึงเริ่มต้น Safebox แบบฉบับของเราจริงๆ ที่ชั้นสาม และชั้นหนึ่งส่วนที่เหลือ โดยเราแบ่งเป็นทั้งหมด 8 ออฟฟิศย่อย โดยแต่ละ Box เราจะกำหนดจำนวนคนไว้อยู่ที่ไม่เกิน 6 ตารางเมตรต่อ 1 คน เพื่อลดความแออัด
“แต่เหนือสิ่งอื่นใดเรายังให้ความสำคัญกับคำว่า พื้นที่ปลอดภัย และมีส่วนกลางที่น่าใช้งาน เพราะหนึ่งในสามของชีวิตคนเราคือ อยู่ที่ทำงาน เราจึงอยากสร้างพื้นที่ที่ทำให้คนทำงานรู้สึกอยากมาออฟฟิศทุกวัน มาแล้วมีพื้นที่ส่วนกลางที่ใช้ร่วมกันได้ น่าใช้งาน แม้แต่ห้องน้ำที่เราให้ความสำคัญ ต้องกว้าง ปราศจากกลิ่น และสะอาด มีมุมพักผ่อน มีห้องประชุมให้ใช้โดยไม่ต้องจ่ายเอ็กซ์ตราเพิ่มเพียงแค่มาจองคิวกันหน้าห้องเท่านั้น มีแพนทรีส่วนกลางให้ใช้พร้อมจาน ช้อนส้อมครบ แต่มีเงื่อนไขว่าจะต้องทำความสะอาดและเก็บกันเองให้เรียบร้อย”
ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา Safebox ได้ safe space อย่างที่ใจหวัง และในปีนี้ ที่นี่ก็สมบูรณ์แบบด้วยการรีโนเวตพื้นที่ชั้น 1 ส่วนที่เหลือจนแล้วเสร็จไฟนอลหลังโควิด-19 ด้วย Katanyu Lab ร้านกาแฟของ กตัญญู สว่างศรี จากดิจิตอลเอเจนซี A Katanyu หนึ่งในผู้เช่าของที่นี่ มาเติมเต็มให้ที่แห่งนี้ มีกลิ่นอายของความเป็นครีเอทีฟสเปซที่คึกคักด้วยกลิ่นหอมจากเมล็ดกาแฟ และจังหวะเท้าของผู้คนที่เดินเข้าออก และนี่คงเป็นการเลือกกรอบรูปที่สวยที่สุดและดีที่สุดให้กับจิ๊กซอว์ Safebox
พื้นที่มุมหนึ่งของชั้น 1 ระหว่างพื้นที่ส่วนกลางและใต้บันไดทางเชื่อมสู่สำนักงานชั้นบน ถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นกตัญญูคาเฟ่แบบ Grab and Go ที่ผนังด้านหลังมีหน้าต่างทะลุสู่ด้านนอก สามารถสั่งเครื่องดื่มได้โดยไม่ต้องเข้าส่วนออฟฟิศชั้นหนึ่ง แต่สามารถเข้ามานั่งชิมกาแฟได้จากทางบันไดเวียนสีน้ำเงิน ซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามหน้าต่าง เพื่อขึ้นไปยังห้องกระจกติดระเบียงชั้นสอง ที่แยกตัวออกจากโซนออฟฟิศของแรบบิทเทล คั่นกลางด้วยบันไดทางขึ้น
สมบูรณ์แบบ – นี่คือสิ่งเสียงที่สะท้อนผ่านพื้นที่โกดังว่างเปล่า สู่อาณาจักร Safebox ที่คึกคัก
Safe คน, Safe สิ่งแวดล้อม
แต่ความสมบูรณ์แบบจะตอบโจทย์ทางด้านธุรกิจและผู้คนทำงานอย่างเดียวไม่ได้ จะสมบูรณ์แบบทั้งทีก็ต้องเอาให้ครบ โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อม
“เราไม่ได้ปรับพื้นที่แค่ตัวอาคารอย่างเดียว แต่เรายังเล็งเห็นถึงการรักษาและดูแลสิ่งแวดล้อมที่เราสามารถทำได้ด้วย แม้ว่าเอาจริงๆ แล้วบางส่วนคือต้นทุนที่เพิ่มขึ้น แต่เรามองว่านี่คือการลงทุนกับสิ่งแวดล้อมให้ระยะยาวที่คุ้มค่า”
การลงทุนที่ว่านั้นต้องอาศัยแรงกาย แรงใจ และงบประมาณ เมื่อทั้งสามรวมกัน บวกลบคูณหารด้วยจุดคุ้มทุนทั้งในเชิงตัวเลขและสิ่งแวดล้อม เขาก็พร้อมลุยเพื่อให้ที่นี่กลายเป็น green building แห่งใหม่ในย่านบรรทัดทอง เคียงข้างไปกับพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ของอุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่สร้างเสร็จในเวลาไล่เลี่ยกัน
“เราตั้งใจให้ที่นี่มีพื้นที่สีเขียวด้วยการปลูกต้นไม้ในกระถางและนำมาตั้งไว้ตามจุดต่างๆ เพื่อเพิ่มความสดชื่น และเรายังให้ความสำคัญกับเรื่องของสิ่งแวดล้อมทั้ง 4 มิติ ดิน น้ำ ลม ไฟ รวมไปถึงการจัดการขยะ
“เริ่มจากจุดที่เล็กที่สุด แต่เยอะที่สุด คือขยะ เราจะให้ทุกคนแยกขยะรีไซเคิล กระดาษ ขวด PET ส่วนขยะเปียกจะนำไปใส่ในถังหมักปุ๋ยอินทรีย์ ใช้บำรุงดินให้กับต้นไม้ในอาคาร ถัดไปเป็นเรื่องของน้ำที่เราเห็นจากหยดน้ำทิ้งของเครื่องปรับอากาศทุกตัวในแต่ละวัน หากนำถังใส่น้ำมารองก็จะมีน้ำในปริมาณที่มาก หากจะทิ้งไปเฉยๆ ก็เสียดาย ช่วงแรกเราจึงนำกระถางต้นไม้ไปวางรองหยดน้ำจากทุกจุดที่มี แต่สุดท้ายเราใช้วิธีวางระบบท่อน้ำทิ้งเพื่อรวบรวมน้ำทุกหยดจากเครื่องปรับอากาศทุกตัว มาใช้เป็นน้ำรดต้นไม้แทน
“ต่อมาคือเรื่องของอากาศ ที่ทุกวันนี้เราต้องเผชิญกับปัญหาฝุ่น PM 2.5 กันมากว่า 2 ปี เราอยากให้ทุกคนเข้ามาแล้วได้สูดอากาศบริสุทธิ์ เราจึงตัดสินใจติดตั้งระบบ Fresh Air ที่ดึงอากาศจากภายนอกอาคาร ซึ่งจุดที่ดึงอากาศจะหันหน้าไปทางสวน 100 ปี จุฬาฯ แล้วอากาศก็จะถูกดูดเข้ามาตามท่อ ผ่านแผ่นกรองอากาศ แล้วจ่ายอากาศที่บริสุทธิ์ตามท่อให้เข้ามาในอาคาร โดยไม่ต้องใช้เครื่องฟอกอากาศทั้งใน Box ออฟฟิศของลูกค้า พื้นที่ส่วนกลาง และห้องประชุม
“สุดท้ายคือพลังงาน เรามีโรงไฟฟ้าเป็นของตัวเองอยู่บนหลังคา กับแผงโซลาร์เซลล์ขนาด 112 กิโลวัตต์ เต็มหลังคา เพื่อนำพลังงานแสงอาทิตย์มาผลิตเป็นไฟฟ้า สามารถประหยัดพลังงานไปได้ประมาณ 70% ของการใช้พลังงานทั้งหมด คิดออกมาเป็นค่าไฟประมาณ 30,000-40,000 บาทต่อเดือน คำนวณแล้วจะคืนทุนเร็วสุดอยู่ที่ประมาณ 6 ปี
“ทั้งหมดที่เราทำมีต้นทุนสูงก็จริง แต่มันขึ้นอยู่กับการให้ ‘คุณค่า’ มากกว่า ‘มูลค่า’ ที่เห็นเป็นตัวเลข คุณค่าที่ให้กลับคืนต่อสิ่งแวดล้อมและโลกที่เราอาศัย เสียงแห่งความสุขจากคนรอบข้างที่อยู่ใกล้ๆ ที่ได้ใช้พื้นที่ที่เราตั้งใจสร้างขึ้น เราเองก็พลอยมีความสุขไปกับสิ่งเหล่านั้นไปด้วย นี่ต่างหากคือคุณค่า ที่มาพร้อมมูลค่าของการสร้างธุรกิจแบบยั่งยืน”