ทันทีที่เลี้ยวเข้าไปยังซอยประดิพัทธ์ 17 ถัดจากหัวมุมถนนด้านขวาเข้าไปเล็กน้อย เราจะเห็นสิ่งปลูกสร้างลักษณะเป็นกล่องสี่เหลี่ยมตั้งอยู่อย่างโดดเด่นท่ามกลางตึกรามบ้านช่องที่ดูเก่าคร่ำครึ ซึ่งขัดแย้งกับความเป็นเมืองใหม่จากคอนโดมิเนียมสูงตระหง่านเป็นแบ็กกราวนด์อยู่ด้านหลัง
หากมองเผินๆ สถานที่แห่งนี้อาจดูเหมือนกับคาเฟ่สไตล์มินิมอลเก๋ๆ ที่มีมุมให้ถ่ายรูปเช็กอินเช่นเดียวกับร้านอื่นทั่วไป แต่เบื้องหลังการเกิดขึ้นของสิ่งปลูกสร้างทรงสี่เหลี่ยมบนพื้นที่เพียง 90 ตารางวานี้กลับแฝงไปด้วยแนวคิดที่ต้องการให้สถานที่แห่งนี้เป็นพื้นที่แห่งการพักผ่อน และให้แรงบันดาลใจแก่ผู้คนที่เข้ามาเยี่ยมเยือน
Somewhere for Everyone
“หลังจากประมูลที่ดินผืนนี้มาได้แล้ว ตอนแรกเราก็คิดกันอยู่ว่าจะทำอย่างไรให้พื้นที่ให้เช่านี้เกิดประโยชน์มากที่สุด แล้วสุดท้ายก็มองว่าทำแค่เล็กๆ แต่ให้มีคุณภาพดีกว่า จะได้ไม่ต้องไปดิ้นรนเรื่องทุนมากด้วย ซึ่งพอทุกอย่างทำเสร็จก็ออกมาดีเกินคาดกับพื้นที่เพียงแค่ 90 ตารางวา แต่สามารถนำพาผู้คนเข้ามาได้อย่างมหาศาล”
‘อาจารย์โอ๊ต’ หรือ ผศ. นันทพล จั่นเงิน อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และ Founder & Design Director ผู้ออกแบบโครงการ Somewhere เล่าให้เราฟังหลังจากหยิบไอศกรีมช็อกโกแลตในตู้แช่เย็นซึ่งเป็นสินค้าที่ลูกศิษย์นำมาวางขายในงานนิทรรศการที่เพิ่งจัดขึ้น ณ พื้นที่สาธารณะแห่งนี้ มายื่นให้
“แต่ถามว่าถ้าอยากทำให้ Somewhere เป็นในลักษณะไหนก็อยากทำให้เป็นลักษณะของหมู่บ้าน ที่บ้านแต่ละหลังมีการเกื้อกูลกันซึ่งกันและกัน สมมติเราไปเช่าพื้นที่ด้านนอกของโครงการอื่นทำกิจกรรมสักอย่างก็ต้องเสียค่าที่ แต่ที่ Somewhere ของเราให้ใช้พื้นที่ว่างระหว่างบ้านแต่ละหลังได้เลย แต่ในฐานะเจ้าของและคนที่พัฒนาโครงการนี้เราก็บอกเขาว่าถ้าเรามีกิจกรรมก็ขอใช้พื้นที่หน่อยนะ ซึ่งส่วนใหญ่กิจกรรมของเราก็เป็นในเชิงเกื้อกูลกันอยู่แล้ว อย่างเวลาที่เราจัดอีเวนต์ที่ผ่านมาคนเยอะมาก ร้านค้า และร้านที่มาออกบูธก็แฮปปี้ไปด้วยเพราะเขาขายของได้ระหว่างที่มีคนมาดูนิทรรศการ”
เราถามต่อว่านอกจากทำให้สถานที่แห่งนี้เกิดรายได้แล้ว ความตั้งใจหลักของอาจารย์โอ๊ตที่สร้างหมู่บ้านเล็กๆ นี้ขึ้นมาคืออะไร เขาตอบว่าเพื่อตั้งใจให้เป็นพื้นที่สาธารณะที่นำพาผู้คนในระแวกชุมชน และคนจากข้างนอกมาเข้ามาพักผ่อนหย่อนกาย รวมถึงได้ฟื้นฟูจิตวิญญาณด้วยแรงบันดาลใจจากกิจกรรมต่างๆ ที่ถูกจัดขึ้นที่ Somewhere
บ้าน 3 หลังกับ 3 ฟังก์ชันที่ลงตัว
เมื่อละเลียดไอศกรีมรสช็อกโกแลตเข้มข้นจนหมด อาจารย์โอ๊ตก็พาเดินชมแต่ละส่วนของ Somewhere ระหว่างนั้นเองที่เราถามว่าทำไมอาจารย์ถึงตั้งชื่อนี้ “ด้วยความที่ผมเป็นสถาปนิก ทำงานเกี่ยวกับพื้นที่อยู่แล้ว เลยนึกถึงคำว่า somewhere เพราะความหมายของคำนี้ไม่ได้ชี้ชัดว่าอยู่ตรงไหน แล้วก็ชอบคำนี้ด้วย ฟังดูน่ารัก และน่าค้นหาดี” คำตอบที่ได้นั้นค่อนข้างผิดคาดนิดหน่อย เพราะนึกว่าจะมีที่มาที่ซับซ้อนกว่านี้ แต่ก็เห็นด้วยว่าคำนี้เป็นชื่อที่ดี และฟังดูน่าฉงน ชวนสงสัยดีอย่างเช่นที่อาจารย์ว่ามา
เรามาหยุดอยู่ที่บ้านหลังแรกที่มีลักษณะเป็นกล่องสี่เหลี่ยมสูง มีประตูกระจกบานใหญ่ที่เผยให้เห็นบาร์กาแฟด้านใน
“เมื่อตกตะกอนได้ตอนออกแบบว่าไม่ได้ต้องการที่จะทำอะไรให้ใหญ่มาก เลยมองว่าในพื้นที่เล็กๆ ของเรานี้ก็อยากจะให้มีบ้านประมาณ 3-4 หลัง โดยหลังแรกเราตัดสินใจเลยว่าต้องเป็นร้านกาแฟหรือคาเฟ่ เพราะอยากให้เป็นเหมือนล็อบบี้ หรือห้องรับแขก จึงได้ร้าน F.I.X Coffee ที่เขามีสาขาอยู่ที่ศาลาแดงมาร่วมด้วย”
ต่อมาคือร้าน 8Sqm (8 Square Meters) ร้านไก่คาราอาเกะที่ตั้งชื่อตามขนาดของร้านซึ่งมีพื้นที่เพียง 8 ตารางเมตร ความพิเศษของไก่ร้านนี้คือได้สูตรมาจากแม่บ้านญี่ปุ่น “ไก่ทอดที่นี่อร่อยมากเลยนะ อยากให้มาลองกัน” อาจารย์โอ๊ตโฆษณาขนาดนี้ เราจึงอดไม่ได้ที่จะซื้อกลับบ้านมากินเป็นมื้อเย็น
“มาถึงบ้านหลังสุดท้ายคือส่วนของออฟฟิศ ซึ่งผมไม่ได้อยากมีออฟฟิศที่ใหญ่ขนาดกินพื้นที่ทั้งหลังเลยขึ้นไปใช้บริเวณชั้นบน ส่วนชั้นล่างเอาไว้เป็นห้องประชุม แต่ก็ยังเผื่อเอาไว้อีกหนึ่งห้องเผื่อมีการขยายตัวในอนาคต แต่ ณ เวลานี้ก็มองว่าอยากให้เป็นห้องอเนกประสงค์เลยให้เป็นห้องที่เอาไว้จัดนิทรรศการ เวิร์กช็อป หรือหากไม่มีงานอะไรก็ให้เป็นห้องสำหรับ Co-working space”
Space in Between คือความส่วนเป็นตัวในที่สาธารณะ
ด้วยสไตล์มินิมอลที่ไม่ได้เน้นความซับซ้อนของสิ่งก่อสร้าง ทำให้บางคนอาจมองว่า Somewhere แห่งนี้ดูเป็นการออกแบบที่ไม่ได้มีความพิเศษอะไร แต่ที่จริงแล้วทุกอย่างถูกคิดและจัดวางเป็นอย่างดีมาแล้ว อย่างการออกแบบบ้านให้มีสีขาว อาจารย์โอ๊ตก็บอกว่าตั้งใจให้สีขาวขัดแย้งกับบริบทโดยรอบที่เป็นตึกเก่า
“ลองดูว่าตอนนี้ไม่มีบ้านหลังไหนถูกบังเลย เพราะเราจัดวางให้บ้านแต่ละหลังตั้งอยู่เยื้องกัน เพื่อให้สถานที่นี้มีความเป็นส่วนตัวอยู่ด้วย คนที่เข้ามาเขาจะได้รู้สึกสบายใจ และตัดขาดจากความพลุกพล่านภายนอก นี่จึงทำให้เกิด Space in Between หรือพื้นที่ระหว่างบ้านขึ้นมา เราจึงนำต้นไม้มาลงให้เกิดความร่มรื่น และเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ มาให้คนได้นั่งเพื่อให้มีปฏิสัมพันธ์กัน”
และด้วยความต้องการที่ไม่ได้อยากให้ทุกอย่างดูสมบูรณ์แบบเกินไป เขาจึงไม่ฉาบผนังให้เรียบเหมือนกันทั้งหมด แต่ทดลองเอาวัสดุหลายๆ อย่างมาทำเป็นลวดลายของผนังด้านใน แต่ไม่สร้างกำแพงขึ้นมากั้นระหว่างตึกแถว เพราะอยากให้คนที่เข้ามาได้เห็นเสน่ห์ของกำแพงตึกเก่าที่อยู่ติดกัน
“ทุกอย่างคือความงาม”
เขาย้ำพลางชี้ให้เราดูกำแพงที่เต็มไปด้วยงานศิลปะจากการต่อเติมเองของผู้คนที่อาศัยอยู่ในตึกแถว
‘Miss you, Springtime’
ในช่วงท้ายอาจารย์โอ๊ตถือโอกาส พาชมนิทรรศการ ‘Miss you, Springtime’ ซึ่ง ‘เบล’ – พนินทร โชคประเสริฐถาวร ผู้บริหารโครงการ Somewhere ได้แรงบันดาลใจมาจากตอนที่อยู่ต่างประเทศ ที่ในช่วงหน้าหนาวดูเหมือนว่าทุกอย่างจะสีขาวโพลนไปหมด อารมณ์ในช่วงนั้นก็ไม่สดใส แต่พอถึงฤดูใบไม้ร่วงเมื่อไรความสดใสก็กลับมา ทำให้นึกถึงสีสันของดอกไม้ที่สื่อถึงความหวัง และความสดใส และก่อนที่จะขอตัวลากลับกันไป เขายังได้ทิ้งท้ายไว้ว่า
“อยากให้ Somewhere เป็นพื้นที่ที่คนเข้ามาแล้วมีความสุข”
Somewhere ตั้งอยู่ที่ซอยประดิพัทธ์ 17 แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพฯ
เปิดทุกวัน วันจันทร์-ศุกร์ และ 07.00-21.00 น. และวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 08.00-22.00 น.
จอดรถได้ที่ :
- ริมถนนประดิพัทธ์ ตั้งแต่เวลา 9.00-16.00 น. (โปรดตรวจสอบฝั่งถนนที่จอดได้ก่อนจอดรถ)
- ร้านอาหารดาลัด ซ.ประดิพัทธ์ 19 ชั่วโมงละ 20 บาท เหมาวันละ 100 บาท
- โครงการ Camping Ground ชั่วโมงละ 20 บาท
*หากจอดผิดฝั่งหรือเกินเวลาให้จอดอาจมีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาล็อกล้อ
**ขอความร่วมมือเหล่า Cafe Hopper ไม่จอดกีดขวางทางเข้าบ้านในซอยประดิพัทธ์ 17 เพื่อให้ทุกคนมีโอกาสได้ใช้พื้นที่และอยู่ร่วมกันในย่านอย่างเป็นมิตร
ภาพ: Somewhere, ธนัชชา ยะสาธโร