เสียงระฆังดังเป็นสัญญาณ นายสถานีประกาศผ่านลำโพงเสียงดังก้อง อีกไม่ช้ารถไฟกำลังจะจอดเทียบชานชาลา เวลานั้น ร้านค้าริมทางรถไฟต่างเร่งมือพากันหุบร่มเพื่อให้รถไฟผ่าน ผู้คนเดินลงจากขบวนรถไฟจนโล่งเมื่อมาถึงสถานีแม่กลอง ซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดของการเดินทาง แต่ที่สุดทางของรางเหล็ก คุณจะพบกับอาคารไม้ยกใต้ถุนสูงตั้งอยู่ริมแม่น้ำ ที่ผ่านการรีโนเวตใหม่ด้วยผีมือของสถาปนิกหนุ่มชาวแม่กลอง และเมื่อเดินขึ้นไปยังเรือนไม้ด้านบน ที่นี่คือคาเฟ่ชุมชน
เรื่องเก่าเล่าใหม่กับสองสถาปนิกหนุ่ม
ประวัติศาสตร์ของอาคารไม้สีน้ำตาลซีดหลังนี้ มาจากคำบอกเล่าของสองสถาปนิกหนุ่ม กึกก้อง เสือดี ผู้ที่เกิดและเติบโตที่นี่ และ ‘นูน’- ยศพร ปุณวัฒนา ผู้ร่วมพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ พวกเขาบอกว่า อาคารหลังนี้มีชีวิตของคนแถวนี้ล้อมรอบอยู่เต็มไปหมด และที่สำคัญ เมื่อสืบค้นข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์ พวกเขาก็พบความน่าสนใจของตัวอาคารที่มีอายุกว่า 120 ปีหลังนี้ ซึ่งคาดว่าน่าจะสร้างขึ้นสมัยที่เริ่มสร้างรถไฟสายนี้ใหม่ๆ
“ผมคาดว่าบ้านหลังนี้เกิดขึ้นในช่วงปี 2450” กึกก้องบอกเราในฐานะคนในพื้นที่ เขาศึกษาประวัติศาสตร์สถาปนิกชุมชนอย่างจริงจัง จากแปลนแผนที่เก่า เอกสารและภาพถ่ายในอดีต จนพบว่าอาคารหลังนี้เกิดขึ้นพร้อมกับสถานีรถไฟที่สร้างเสร็จแล้ว
“เขาเรียกกันว่าบ้านนายช่างฝรั่ง” นูนเสริม
เขาสันนิษฐานว่าที่นี่เป็นบ้านพักของนายช่างชาวตะวันตก ที่เดินทางมาจากกรุงเทพฯ ผ่านทางรถไฟสายมหาชัย-แม่กลอง แต่เมื่อนั่งรถไฟสุดสายถึงสถานีแม่กลองก็เป็นเวลาพลบค่ำแล้ว จึงต้องมีบ้านพักเอาไว้เพื่ออยู่อาศัยค้างคืน
“ถ้านับว่าอาคารหลังนี้มาพร้อมรถไฟ ก็ถือว่าเป็นอาคารที่ได้รับอิทธิพลตะวันตกหลังแรกในเมืองแม่กลอง” กึกก้องอธิบาย “อาคารหลังนี้เป็นการสร้างตามแบบตะวันตกโดยตรง ไม่ใช่แค่รับไอเดียมาก่อสร้างเอง เพราะวัสดุทั้งหมดนำเข้าผ่านทางรถไฟ รูปแบบการสร้างก็ตรงกับบ้านไม้อีกหลังหนึ่งที่สี่พระยา กรุงเทพฯ เกือบทุกส่วน” กึกก้องจึงนิยามว่านี่เป็นสถาปัตยกรรมยุคสีลมและเจริญกรุงที่ปรับตัวแล้ว ใช้ไม้ ยกใต้ถุนสูง ถือเป็นสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกที่ผสมกับมลายู เรียกประเภทว่า ‘บังกะโล’ หรือชื่อที่เรามักใช้เรียกบ้านพักตากอากาศริมชายทะเล
เขาเปิดไอแพดพาชมภาพถ่ายทางอากาศจากยุคสงครามโลก เผยให้เห็นหลังคารูปร่างคล้ายกันเป็นวงกว้าง เป็นหลักฐานอย่างดีว่าอาคารหลังนี้เป็นจุดเริ่มต้นและแพร่กระจายสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกสู่ชุมชนแม่กลอง
“ความพิเศษของที่นี่คืออยู่ริมแม่น้ำและมีรถไฟมาบรรจบ” กึกก้องเสริมความโดดเด่นของทำเลที่เป็นศูนย์รวมผู้คนมาทุกยุคทุกสมัย ทั้งท่าเรือและท่ารถไฟ แต่จากทำเลทองในชุมชน พื้นที่กลับโรยราลงตามกาลเวลา เมื่อเรือนไม้หลังนี้อยู่ในชุมชนจากรุ่นสู่รุ่นมาหลายชั่วอายุคน จนถูกปล่อยให้รกร้างและทรุดโทรมเป็นระยะเวลานาน
ด้วยความผูกพันกับบุคคลที่มีแนวคิดเหมือนกันอย่าง ‘เฮียสมบัติ’ หรือ สมบัติ ตั้งประเสริฐ เจ้าของโครงการเร็วเวย์-แม่กลอง จึงได้โอกาสเช่าพื้นที่จากการรถไฟไทยฯ พร้อมมาร่วมมือกับคู่หูสถาปนิกเพื่อซ่อมแซมและต่อเติมให้ที่แห่งนี้กลับมามีลมหายใจได้อีกครั้ง
เมื่อเรานั่งลงบนคาเฟ่ แหงนหน้าขึ้นไปมองเพดานบนร้าน จะเห็นกระจกใสเปลือยเผยให้เห็นฝ้าไม้แบบเก่าด้านบน เป็นกิมมิกที่ดูแปลกตา “เพราะเป็นพื้นที่สาธารณะ เราจะไม่ยุ่งกับของเก่าถ้าไม่พัง และเสริมโครงสร้างใหม่ให้รู้ว่าเป็นของใหม่แยกกัน” นี่คือแนวทางการรีโนเวตตามวัตถุประสงค์ของนูนและคนอื่นๆ
แต่กว่าจะเป็นคาเฟ่ในสภาพสมบูรณ์ การบูรณะให้อาคารกลับมาแข็งแรงดังเดิมก็ยังเป็นโจทย์ที่ท้าทาย นอกจากสภาพที่ทรุดโทรมไม่มีชิ้นดี ด้านล่างเป็นป่าเพิ้ง พื้นไม้แอ่นเป็นท้องช้างและโครงสร้างเอียงเกือบยกหลัง ทั้งคู่ยังวางแผนให้การซ่อมครั้งนี้เป็นไปในเชิงอนุรักษ์แบบ ‘คงสภาพเดิม’ ไม่ใช่ ‘เสริมสภาพใหม่’ ทั้งหมด เพราะคำนึงว่าที่นี่เป็น ‘พื้นที่สาธารณะ’ ของคนในชุมชนเป็นสำคัญ
“ปกติเราจะคุยกันก่อน อย่าเพิ่งรื้อ (หัวเราะ) ที่นี่เป็นการอนุรักษ์เชิงคุณค่าในเรื่องของความทรงจำ ที่ต้องใช้ร่องรอยเล่าเรื่อง ดังนั้น เราจะไม่ทาสีทับให้ดูสมบูรณ์แบบ แม้แต่รอยจดค่าน้ำเราก็ยังเก็บ เพราะอยากคงความทรงจำของทุกคนไว้” กึกก้องพูดกึ่งยิ้ม หลังผ่านการซ่อมแซมยกใหญ่จนสำเร็จ เขาอยากให้ตึกนี้เป็นเหมือน ‘ดาว’ ที่เปล่งประกายส่องแสงสะท้อนไปยังพื้นที่อื่นๆ เป็นแรงบันดาลใจให้กับชุมชนและสถาปัตยกรรมเก่าในบริเวณนี้เช่นเดียวกับที่เรือนไม้หลังนี้เคยทำหน้าที่เมื่อครั้งอดีต
ที่นี่จึงไม่มีลานจอดรถเพราะอยากให้ผู้คนได้มาเดินเที่ยมชมเมือง เดินตลาดร่มหุบ ผ่านศาลเจ้าแม่กวนโอ และสถานที่สำคัญโดยรอบ ได้รู้จักเมืองผ่านสายตาและประสาทสัมผัสด้วยตัวเอง
“ที่นี่ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้คนมาแล้วได้แค่นั่งคาเฟ่อย่างเดียว เราอยากผู้มาเยือนให้เห็นเมืองมุมอื่นบ้าง ให้คนใช้เวลากับเมืองให้มากที่สุด คงจะเป็นทางรอดของการอนุรักษ์มากกว่าแค่รีโนเวตแล้วไม่มีส่วนร่วมกับสิ่งใดเลย”
คาเฟ่ชุมชน นั่งชมแม่น้ำ ชิมขนมไทยประยุกต์
เมื่อสามหัวเรือใหญ่ กึกก้อง-นูน-สมบัติ ตัดสินใจรีโนเวตอาคารไม้แห่งนี้ คำถามต่อมาก็คือ เมื่อปรับปรุงอาคารไม้หลังเก่านี้สำเร็จ ควรต่อยอดให้กลายเป็นอะไรต่อได้
ด้วยทำเลและโจทย์ที่ตั้งไว้ จึงมีแนวคิดที่ปัดตกไป ทั้งร้านอาหาร ที่พัก หรือแฟรนไชส์เจ้าดัง จนกลายเป็นแนวคิดที่ลงตัวกันคือ ‘คาเฟ่ริมฝั่งคลอง’ เพราะสามารถนั่งสบายๆ ได้เป็นระยะเวลานาน เสริมบรรยากาศโรแมนติกด้วยระเบียงสร้างใหม่ให้อยู่ริมฝั่งคลอง มีเงาสะท้อนเป็นลายน้ำที่เคลื่อนไหวเป็นประกายระยิบระยับผ่านผนังในยามเย็น
แต่สิ่งที่เราคิดว่าน่าสนใจไม่แพ้ตัวคาเฟ่บนเรือนรับรองแห่งนี้ก็คือ เมนูขนมไทยประยุกต์ที่เราเคยจินตนาการถึงในฝัน ทั้งกาแฟมะพร้าวน้ำหอม, ไอศกรีมบัวลอยไข่เค็ม, เปียกปูนกะทิสด, ไอศกรีมโฮมเมดไทยหลากรส และโฟลตชานมที่ใส่ลูกจาก ลูกตาล และลูกลานแทนไข่มุก
ทั้งหมดนี้เป็นความคิดสร้างสรรค์และความและใส่ใจของ ‘บี’ – ภาณิกา ตั้งประเสริฐ สาวเปี่ยมรอยยิ้มที่เรียนจบด้านอาหาร กับ ‘บัส’ – ดรัสพงศ์ วรรณะ คู่ชีวิต กับคู่ธุรกิจที่ร่วมกันสร้างเมนูจนกลายเป็น สุธาคาเฟ่
“เราเอาของดีที่อยู่ในท้องถิ่นมารวมกัน อย่างบัวลอยที่เรารู้สึกว่ามันเข้ากับไข่เค็มมาก เลยทำเป็นไอศกรีมไข่เค็ม ส่วนไอศกรีมโฮมเมดเราเวียนขายทั้งอาทิตย์เพราะเก็บไม่ได้นาน มีทั้งรสน้ำตาลมะพร้าว อัญชัน ใบข้าว เราจะขูดน้ำตาลมะพร้าวแท้ท็อปปิ้งลงบนไอศกรีม ในขนม และเป็นส่วนผสมในเมนูกาแฟซิกเนเจอร์ของร้าน” บัสอธิบายรสชาติจนเราต้องขอสั่งเพิ่มเพื่อมาลองชิม
บีเล่าถึงสาเหตุในการเลือกทำขนมไทยประยุกต์ ว่าก่อนเปิดร้าน เธอเคยทำขนมสูตรดั้งเดิม เช่น ทองพลุ ทองเอก แต่ลองแล้วกลายเป็นว่าเข้าถึงยากกว่า จึงทำเป็นแบบประยุกต์และปรับให้เข้ากับสมัยนิยม เธอมองว่านี่เป็นทางรอดของขนมไทยยุคใหม่
“เรายังคงให้ความสำคัญกับลูกค้าประจำในท้องถิ่นเป็นหลักเสมอ ทุกอย่างจึงผ่านการคิดมาเพื่อคนในชุมชน ก่อนที่จะขยายออกไปนักท่องเที่ยว”
ประกอบกับแนวคิดการดูแลลูกค้า เมื่อบีรู้สึกว่าสถานที่แห่งนี้เป็นเหมือนญาติ เป็นเพื่อนพี่น้องในครอบครัวที่อยู่แล้วสบายใจ “ในความรู้สึกของเรา บ้านหลังนี้เหมือนคุณยายคนหนึ่งที่ได้กลับมามีชีวิตชีวาขึ้นอีกครั้ง” แนวคิดนี้จึงขยายไปยังลูกค้าเช่นกัน เธอมองว่าไม่ควรวางตัวเหนือกว่าลูกค้าแต่ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน กลายเป็นความอบอุ่นที่ลูกค้าได้รับการพักผ่อนจากบรรยากาศริมน้ำ ได้สบายกายสบายใจอย่างเต็มที่ แล้วพวกเขาก็จะกลับมาอีกจนกลายเป็นลูกค้าประจำเอง
แนวคิดรัก(ษ์)ชุมชน
เธอยังแบ่งปันความรู้สึกที่แตกต่างในการเลือกเปิดคาเฟ่ ณ บ้านเกิด ด้วยรอยยิ้มกว้าง “มันอุ่นใจ ถึงเราไม่รู้จักเขาแต่เขารู้จักเรา คนเข้าคาเฟ่ร้อยคนเรารู้จักแล้วห้าสิบคน มีคนทักตลอดว่าน้องบ้านอยู่ตรงนี้ใช่ไหม กลายเป็นสถานที่ที่เราคุ้นเคยและสามารถกลับมาได้ เพื่อนก็กลับมา เป็นจุดรวมให้มาเจอกัน”
แม้กระทั่งในช่วงเหตุการณ์โควิด-19 ตรงกับช่วงใกล้เปิดร้าน ครอบครัวนี้ก็มีโอกาสได้กลับมาเจอกันพร้อมหน้าเพื่อช่วยกันเปิดสุธาคาเฟ่ และเตรียมฝ่าฟันวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน
นอกจากแนวคิดอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่สุธาคาเฟ่ใช้พลาสติกย่อยสลายได้กับหูหิ้วแบบไม้เพื่อลดขยะพลาสติกในชุมชน บัสยังเสริมว่า เขาต้องการให้คาเฟ่แห่งนี้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ทางความทรงจำของชุมชนด้วย โดยเปิดให้แต่ละคนสามารถนำของสะสมแวะเวียนมาจัดแสดงที่นี่ได้ เมื่อมองไปรอบๆ ร้าน จะเห็นภาพวาดขนาดน้อยใหญ่ที่แขวนอยู่เรียงรายล้อมรอบ
“ถ้ามีคนถามว่ารูปมาจากไหน เราบอกได้หมดเลย” บัสกล่าวพร้อมรอยยิ้ม
“เราอยากคนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมกับเรา ผมประกาศเลยว่าทุกคนสามารถนำของมาโชว์ที่นี่ได้” บัสกล่าวติดตลกว่าในร้านนี้มีเพียงโทรศัพท์ติดผนังเครื่องเดียวที่เป็นของตน นอกนั้นเป็นของที่คนอื่นยกให้หมด
“ส่วนผนังที่ว่าง เพราะยังไม่เลือกติด เผื่อมีคนมาเติมเรื่องราวของตัวเองต่อไป” บัสทิ้งท้าย
ณ สุธาคาเฟ่ มีผู้บอกเล่าเรื่องราวต่อยอดจากอาคารไม้หลังเก่ามากมาย คล้ายเป็นสถานที่ให้ร่วมกันแต่งแต้มชุมชนจากความทรงจำ ให้ผู้มาเยี่ยมเยือนได้รับรู้ ให้ผู้เป็นเจ้าบ้านเกิดความภาคภูมิใจว่า ‘ที่นี่คือบ้านและชุมชนของเรา’