ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ

ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ (สสส.): อาคารแห่งการเรียนรู้ที่เอื้อต่อการใช้ชีวิต สำหรับทุกบุคคล

เพราะคำว่า Universal Design ของ สสส. ไม่ได้หมายถึงแค่การออกแบบอาคารเพื่อให้คนทุกเพศทุกวัยเข้าถึงเชิงกายภาพ แต่ด้วยลักษณะการทำงานที่ร่วมมือกับหน่วยงานหรือภาคีต่างๆ มากมายเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการสนับสนุนให้เป็นพื้นที่ทางความคิด เพื่อให้ทุกคนได้ใช้สถานที่แห่งนี้เป็นแหล่งให้ความรู้และแหล่งเรียนรู้ได้จริงในระยะยาว ซึ่งทางผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ ‘อุ๋ม’ – เบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร ได้ให้ความสำคัญมากเป็นอันดับหนึ่ง

        “เราอยู่ สสส. ตั้งแต่ก่อตั้ง ปีนี้ก็เข้าปีที่ 18 แล้ว เราเห็นความเปลี่ยนแปลงของ สสส. โดยเฉพาะเรื่องการออกแบบพื้นที่ เมื่อก่อนเราก็อยู่ตึกสูง แล้วก็ทำงานเอกสารเพียงอย่างเดียว ผู้คนก็จะไม่เข้าถึงเรา และก็ไม่รู้ว่า สสส. ทำอะไร แต่เราอยากให้ทุกคนได้เข้าถึงความรู้มากมายที่เราต้องการนำเสนออย่างจริงจัง จนเมื่อ 6 ปีที่แล้ว เราคิดที่จะออกแบบตึกนี้ ให้เป็นที่เรียนรู้ ทุกคนสามารถเข้าถึง และเข้าใจ สสส. ได้มากกว่าการเห็นแค่โฆษณา นี่คือสิ่งสำคัญที่สุด”

 

ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ

Place for Everybody

        “เราตั้งใจให้ที่แห่งนี้เป็นที่ที่ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว เด็กเล็ก ผู้ใหญ่ ผู้พิการ ผู้สูงอายุ ก็สามารถเข้าถึงได้ บางคนอาจมานั่งอ่านหนังสือในห้องสมุดชั้นสอง มานั่งรับลมหรือคิดงานสบายๆ  เราก็มีที่นั่งให้พร้อม หรือจะชักชวนกันมาทำกิจกรรมในทุกๆ วันเสาร์ก็ไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งมีทั้งการออกกำลังกาย มาซื้อของออร์แกนิก มาดูงานศิลปะ ฟังทอล์กต่างๆ และยังมีเปิดสอนรำกระบี่กระบองให้กับเด็กๆ อีกด้วย ล้วนมาจากการทำงานร่วมกับภาคีและหมอชาวบ้าน ทำให้ที่นี่มีเวิร์กช็อปและกิจกรรมที่ให้ความรู้มากมาย

        “ส่วนวันอาทิตย์ เราร่วมกับสถาบันคึกฤทธิ์ มีกิจกรรมการเรียนโขนและเรียนดนตรีไทย เปิดให้กับเด็กๆ ในชุมชนรอบๆ สสส. หรือผู้ปกครองที่สนใจพาเด็กๆ มาเรียนรู้เรื่องศิลปวัฒนธรรมไทย” 

        ผอ. อุ๋ม อธิบายด้วยรอยยิ้ม ก่อนจะพาเดินชมพื้นที่ทั้งหมดของอาคารสีเขียวแห่งนี้ โดยเริ่มจากบริเวณโถงกลาง ลานกว้างทำกิจกรรม ชั้น 1 ชานระเบียง ห้องสมุด และห้องจัดนิทรรศการหมุนเวียนทุกสี่เดือน ชั้น 2 ห้องโยคะและห้องประชุม ชั้น 3 ชั้น 4-5 ออฟฟิศพนักงาน เรื่อยไปจนถึงแปลงผักและแผงโซลาร์เซลล์ที่ชั้นดาดฟ้า 

 

ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ

Healthy Building 

        “ที่นี่ร่มรื่นและมีลมพัดผ่านตลอดเวลา ก็เพราะเราออกแบบให้ที่นี่เป็นเหมือนบ้านเรือนไทยภาคกลางประยุกต์ มีชานอยู่ตรงกลาง ซึ่งก็คือบริเวณโถงกลาง สดชื่นด้วยสระน้ำเล็กๆ ตรงกลาง สามารถมองขึ้นไปจนสุดด้านบน ซึ่งเป็นชั้นดาดฟ้า ล้อมรอบไปด้วยห้องต่างๆ และเชื่อมกับพื้นที่ทางเดินลานสาละด้านข้าง และสวนสาธารณะของ กทม. อย่าง สวนเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (สาทร) ทำให้มีลมธรรมชาติไหลเวียนเข้ามาตลอดทั้งเวลาและตลอดทั้งปี”

        ผอ. อุ๋ม ชี้ชวนให้ดูไฮไลต์หลักของอาคาร และเล่าให้ฟังต่อว่า ไม่ใช่แค่เพียงความสบายจากอากาศถ่ายเทเพียงอย่างเดียว แต่ที่นี่ยังส่งเสริมให้ผู้คนสบายกายในระยะยาว จึงออกแบบบันไดให้อยู่บริเวณตรงกลางอาคาร ให้ลิฟต์ทำหน้าที่บริการเฉพาะผู้สูงอายุและผู้พิการ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณด้านข้าง 

        “เราอยากให้คนเริ่มเดินเพื่อสุขภาพที่แข็งแรง เราจึงให้บันไดมาอยู่ตรงกลาง แล้วออกแบบให้ไม่ชันจนเกินไป สเต็ปก้าวกว้างพอให้เดินได้อย่างปลอดภัย และมีชานพักทุกระยะ เพื่อให้การเดินนั้นง่ายขึ้น  เมื่อมาหยุดที่ชานพักก็จะสามารถมองเห็นความเคลื่อนไหวได้ในหลายๆ พื้นที่ และยังเป็นพื้นที่ส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนในองค์กรผ่านการเดินขึ้นลงอีกด้วย” 

        จากนั้นก็เดินเข้าสู่ห้องสร้างปัญญาหรือห้องสมุด คลังความรู้ที่มาในรูปแบบเดิมคือ ยืมหรือนั่งอ่าน รวมทั้งยังมี SOOK Library แอพพลิเคชันที่ให้ผู้คนสามารถเข้าถึงสื่อต่างๆ ทั้งหมดที่ทาง สสส. มีได้สะดวกและง่ายขึ้น  

        แล้วจึงเดินย้อนมาชมชานระเบียงเขียว ไอเดียน่ารักที่ช่วยลดปริมาณการใช้พลังงานไฟฟ้าและสร้างความผ่อนคลาย ซึ่งจะมีในทุกชั้นและทุกห้อง มีลักษณะเป็นทางเดินและเส้นทางสัญจรระหว่างภายในและภายนอกอาคาร เชื่อมต่อกับห้องทำงานและห้องประชุมที่ตั้งอยู่ตั้งแต่ชั้น 3 ไปจนถึงชั้น 5 

        “นอกจากต้นไม้ที่เราปลูกไว้บริเวณระเบียงเพื่อความสดชื่นแล้ว เรายังใช้แผงกันแดด หรือ Automatic Fin ที่มีอยู่รอบๆ อาคาร ช่วยควบคุมปริมาณแสงและลดความร้อนที่เข้าสู่ตัวอาคาร โดยฟินจะทำงานอัตโนมัติ ปรับเปลี่ยนตามทิศทางของพระอาทิตย์หมุน และเรายังใช้กระจกสองชั้นหรือที่เรียกว่า LOW-E (Low Emission) กระจกที่เคลือบกันรังสีความร้อน ช่วยปกป้องรังสียูวีและยังช่วยลดปริมาณความร้อนเข้าสู่ตัวอาคาร”

 

ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ

ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ

Great Idea for the Rooftop 

        ระหว่างที่เราเดินขึ้นบันได ผอ. อุ๋ม ได้ชี้ให้เราดูด้านบนสุดของอาคาร ตรงนั้นก็คือโซลาร์เซลล์แทนหลังคาทั้งหมด เพื่อเก็บแสงอาทิตย์ให้เป็นพลังงานไฟฟ้าส่วนกลาง สำหรับใช้เป็นไฟฟ้าสำรอง และใช้สำหรับส่องสว่างบริเวณที่จอดรถ B1-2 และเมื่อขึ้นมาจนถึงชั้นดาดฟ้า ก็จะพบพื้นที่พักผ่อน และการเรียนรู้กับแปลงสาธิตปลูกผักปลอดสารพิษ ที่ได้ภาคีอย่างสวนผักคนเมืองมาช่วยดูแลและให้ความรู้ด้านการปลูกผักสวนครัวเดือนละครั้งในวันเสาร์ 

        แต่ที่สำคัญคือพื้นที่สีเขียวส่วนนี้จะช่วยลดความร้อนเข้าสู่อาคารผ่านหลังคา ช่วยกรองมลพิษ และช่วยลดภาวะเกาะความร้อนเมืองที่เกิดจากไอร้อนแผ่ขึ้นมาจากคอนกรีตที่สะสมความร้อนไว้เป็นเวลานานนั่นเอง

 

ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ

Happy Living and Workplace 

        ท้ายสุดแล้ว พื้นที่ทางกายภาพอาจจะตอบโจทย์ให้กับทุกคน พื้นที่ทางความคิดก็ตอบโจทย์นโยบายการเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญ แต่สิ่งที่มองข้ามไม่ได้เลยก็คือการเป็นพื้นที่ที่สร้างความสุขและให้กับคนทำงาน ซึ่งจะเห็นได้จากบริเวณโซนออฟฟิศชั้น 4-5 

       “ปัจจุบันเรามีเจ้าหน้าที่อยู่ประมาณ 200 คน เราสามารถให้ทุกคนทำงานบริเวณไหนของอาคารก็ได้ เช่น นั่งทำงานที่ห้องสมุด หรือริมทางเดินที่มีโต๊ะเก้าอี้ให้นั่งก็ได้ เพราะเรามี Wi-Fi ทั่วอาคาร สำหรับการติดต่อสื่อสารและทำงานได้ตลอดเวลา รวมทั้งบุคคลภายนอกก็สามารถมานั่งทำงาน และขอใช้ Wi-Fi ฟรีได้เช่นกัน มีห้องออกกำลังกาย ห้องพยาบาล และห้องเลี้ยงเด็ก สามารถพาลูกหลานมาดูแลในช่วงปิดเทอมได้เช่นกัน รวมทั้งเรายังมีเจ้าหน้าที่เป็นนักวิชาการของ สสส. อยู่หนึ่งคน เป็นผู้พิการทางสายตา เขาก็สามารถทำงานกับเราได้อย่างแฮปปี้มาก”

        เมื่ออาคารหนึ่งหลังสามารถสร้างประโยชน์ให้กับผู้คนได้มากมาย ผอ. อุ๋ม จึงมองอาคารแห่งนี้โดยเปรียบกับร่างกายมนุษย์ว่า พื้นที่แห่งนี้เป็นดั่งจิตใจ และเสมือนหัวใจของคนเรา

        “การทำงานของ สสส. คือ ทุกส่วนของร่างกาย แต่เรามองว่า พื้นที่ตรงนี้คือ ใจ ซึ่งสำคัญมาก เรามองว่า หากเป็นสมอง ก็อาจจะเริ่มต้นการสั่งงานอย่างมีเหตุผล แต่หากเริ่มที่ใจจะเป็นการทำงานที่เริ่มจากแพสชัน สสส. ก็เช่นกัน เราไม่ได้ทำงานเพียงแค่รับคำสั่ง แต่สิ่งที่เราทำเพราะเป็นภารกิจที่เราอยากทำ อย่างที่ผู้สูงอายุท่านหนึ่งได้บอกกับเราว่า ที่นี่เป็นสัปปายะคือ สิ่งที่เป็นสบายและเป็นความสุข”

 

ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ

 

อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) 

ที่อยู่: ซอยงามดูพลี เขตสาทร กรุงเทพฯ (MRT สถานีลุมพินี)

เวลาให้บริการ: วันอังคาร-วันศุกร์ เวลา 09.00-17.00 น. และวันเสาร์ เวลา 10.00-17.00 น.

โทรศัพท์: 09-3724-6914, 0-2343-1500 กด 2 

เว็บไซต์: www.thaihealthcenter.org