“กับข้าวไหมครับ กับข้าว…. ” หากคุณคุ้นเคยกับประโยคประมาณนี้ ย่อมนึกถึง ‘รถพุ่มพวง’ ที่พ่อค้าแม่ค้าปรับรถกระบะให้เป็นรถขายอาหารหรือตลาดสดเคลื่อนที่ อัดแน่นไปด้วยของสด พืชผัก ข้าวสารอาหารแห้ง และกับข้าวนานาชนิด ที่ขับมาถึงหน้าบ้าน บางครั้งก็จะมาจอดกลางซอย แต่หลายๆ ครั้งเรากำลังวิ่งออกไปซื้อแต่ก็โบกไม่ทัน เห็นแค่เพียงรถกับข้าววิ่งไปลิบๆ โดยทิ้งไว้แค่ควันจางๆ แต่ทุกอย่างจะไม่เกิดขึ้นกับ The Yard Grocery ร้านขายของชำเคลื่อนที่สไตล์ใหม่จากการพลิกบทบาทและปรับมุมมองใหม่ของ ‘ส้ม’ (ใหญ่) – อมรรัตน์ อมรศิริชัยรัตน์ แห่งบ้านญาติโฮสเทล
The Yard Hostel 2020
“ทั้งๆ ที่ช่วงธันวาคมปีที่แล้วจนถึงราวเดือนเมษายนของทุกปี คือช่วงไฮซีซัน เราเตรียมรับมือกับปริมาณแขกเข้าพักที่สูงสุดอยู่ที่ 60 คน โดยไม่คิดเลยว่าโควิด-19 จะมาเยือนและกระทบเราได้มากขนาดนี้ ” ส้มใหญ่เล่าย้อนไปช่วงที่โควิดเริ่มเข้ามาราวปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แขกผู้เข้าพักเริ่มติดต่อขอแคนเซิล บางคนเริ่มทยอยกลับประเทศของตนตามคำประกาศแจ้งเตือนของทางสถานทูต ทั้งๆ ที่หลายคนเพิ่งเดินทางมาถึงก็ต้องตัดสินใจกลับ เพราะไม่มีใครบอกได้ว่า หากไม่กลับภายในช่วงวันและเวลาที่กำหนด จะได้กลับอีกเมื่อไหร่ และแล้วสิ้นเดือนมีนาคม เธอและทีมงานก็ได้ส่งแขกกลุ่มสุดท้ายกลับประเทศ
“ต้นเมษายนที่ผ่านมา บอกได้เลยว่ารายได้ของโฮสเทลเท่ากับศูนย์” แต่ส้มใหญ่ก็บอกว่า ถึงตอนนี้ยังเหลือแขกสองสามคนจากบางประเทศ ที่เลือกอยู่ที่นี่อย่างไม่มีกำหนดกลับ ธุรกิจโฮสเทลก็ต้องดำเนินต่อไปให้ได้ แต่จะใช้วิธีไหนกันล่ะ เธอและทีมงานจึงเริ่มคิดอย่างจริงจัง โดยใช้ต้นทุนเดิมที่มี
“ต้นทุนแรกคือ เรามีทีมงานที่เข้มแข็งซึ่งอยู่ด้วยกันมานาน ร่วมทุกข์สุขด้วยกัน อย่างที่สอง ตั้งแต่เราทำโฮสเทลก็ได้รู้จักคนมากมาย รวมทั้งเราก็มีเพื่อนเป็นคนขายของโฮมเมด และเป็นเกษตรกรปลอดสารพิษ ซึ่งพวกเขาเองก็ได้รับผลกระทบจากโรงแรม และร้านอาหารปิดตัวชั่วคราวเช่นกัน อย่างที่สาม ย่านอารีย์เป็นชุมชนที่ดี มีคนอาศัยอยู่เยอะ ไม่ใช่มีแต่แขกต่างชาติอย่างเดียว เพื่อนบ้านและคนในย่านนี้ต่างแวะเวียนมาที่โฮสเทสของเราเพื่อนั่งคุย นั่งเล่น นั่งดื่ม เสมือนเป็นจุดศูนย์กลางของเพื่อนบ้านย่านนี้ เมื่อเอาทั้งสามต้นทุนมารวมกัน เราค่อนข้างมั่นใจว่า หากเราทำอะไรบางอย่างขึ้นมา จะสามารถเชื่อมโยงทั้งสามนี้เข้าด้วยกันได้ และเราก็จะยังอยู่รอดต่อได้เช่นกัน
Grocery on Wheels
“เรานั่งคุยหาไอเดียกันเพียง 3 วัน รถพุ่มพวงของบ้านญาติโฮสเทลก็พร้อมออกเดินทาง” ส้มใหญ่บอกว่า เมื่อคิดได้แล้วก็ต้องรีบลงมือทำทันที ไม่อย่างนั้นทุกอย่างจะไม่มีวันเกิดขึ้น แต่ด้วยคอนเซ็ปต์ของบ้านญาติโฮสเทลที่ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม ส้มใหญ่จึงผุดไอเดีย ‘รถพุ่มพวง’ ร้านขายของชำเคลื่อนที่
“เราค้นหารถที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า จนมาเจอกับคันนี้ ยี่ห้อ DAKO ไม่ต้องเติมน้ำมัน แค่เสียปลั๊กชาร์จไฟก็พร้อมออกเดินทาง แถมวิ่งได้ในระยะทางสั้นๆ ขับขี่ด้วยความเร็วเต็มที่ก็ไม่เกิน 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเดิมเป็นรถไฟฟ้าขนพืชผักจากทางเมืองจีน กระบะด้านหลังเปิดออกได้ทุกด้าน ขนาดประมาณเมตรคูณเมตร เราจัดเรียงสินค้าบริโภคในปริมาณที่ไม่เยอะมาก เน้นสินค้าออร์แกนิกและโฮมเมด ผักผลไม้ตามฤดูกาล กาแฟ ซึ่งเรารู้ที่มาที่ไป สามารถเล่าให้คนซื้อฟังได้ หนึ่งในนั้นก็มีสินค้าแบรนด์เราเอง อย่างโยเกิร์ตโฮมเมดและแยมโฮมเมดที่โฮสเทลเราทำเอง ซึ่งเคยทำให้แขกที่เข้าพักกินเป็นมื้อเช้าอยู่แล้ว ก็ทำออกมาเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือขาย” (หัวเราะ)
ส้มใหญ่บอกว่า เมื่อได้รถมา สินค้าพร้อม จัดวางแล้ว วันที่ 1 เมษายน เธอ ส้มเล็ก และรถคันนี้ ก็พร้อมออกเดินทางทั้งช่วงเช้าและช่วงเย็น โดยเส้นทางที่วิ่งคือ จากบ้านญาติโฮสเทล มุ่งหน้าอารีย์ 2, 3, 4, 5 เรื่อยไปจนถึง Centric Ari Station เป็นที่สุดท้าย แต่หลังจากนั้นเธอก็รู้แล้วว่า กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่ที่อยู่ในช่วงเวิร์กฟรอมโฮมนั้นมักจะออกมาจับจ่ายหาซื้อของกินในช่วงเย็น จึงปรับเวลาใหม่เป็นตั้งแต่เวลา 16.00-19.00 น. ทุกวัน นอกจากจะไม่ร้อนแล้ว ยังมีเวลาเตรียมของขึ้นรถ จัดของสำหรับลูกค้าบางคนที่สั่งสินค้าล่วงหน้า หรือสามารถมาดูได้ว่าในแต่ละวันมีอะไรวิ่งออกจำหน่ายผ่านเว็บไซต์ theyardgrocery.com
Sunday Market
เวลาผ่านไปหนึ่งเดือนเต็ม ร้านขายของชำคันแดงนี้ได้เรียกรอยยิ้มให้กับผู้พบเห็นมากมาย และยังเติมความสดชื่นให้กับทีมงานและธุรกิจที่ไม่รู้ว่าจะได้กลับมาเปิดอย่างเต็มรูปแบบอีกเมื่อไหร่ แต่ทว่าทุกอย่างก็ต้องดำเนินต่อไป ส้มใหญ่จึงต่อยอดอีกขั้นด้วยการพักรถสักวัน แล้วเชิญชวนคนในย่านอารีย์ให้แวะเวียนมาหากันอีกครั้ง ท่ามกลางเงื่อนไขเดิมคือ Social Distancing ผ่านการเปิดเป็นตลาดนัดขนาดกะทัดรัดในทุกๆ วันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 15.00-19.00 น. ที่หน้าโฮสเทล แล้วให้รถแดงคันนี้ เปิดกระบะหลังขายของเหมือนเดิม
“เราเปิดตลาดเล็กๆ แค่วันเดียว ตอนเย็นๆ เพราะเราตั้งใจที่จะเน้นลูกค้าในย่านนี้เป็นหลัก ลูกค้าที่มาส่วนใหญ่จะมีแนวคิดแบบเดียวกัน ชอบและให้ความสนใจในเรื่องสิ่งแวดล้อมเหมือนๆ กัน อีกอย่าง บรรจุภัณฑ์ของเราก็มีจำกัด อย่างการหมุนเวียนและใช้ซ้ำโหลแก้วใส่โยเกิร์ต เมื่อลูกค้าซื้อโยเกิร์ตของเราไป ก็นำขวดกลับมาคืน เราก็จะทำความสะอาดและต้มฆ่าเชื้อ ก่อนจะทำไปบรรจุใหม่ โดยยึดสิ่งที่บ้านญาติและเราให้ความสำคัญเรื่อยมา”
บ่ายแก่ๆ ของวันอาทิตย์ ร้ายขายอาหารญี่ปุ่นเล็กๆ และร้านเบอร์เกอร์ที่เคยเปิดบริเวณหน้าโฮสเทลก็จะปิด รถแดงถูกเข็นออกมาประจำตำแหน่ง ป้ายผ้าระบุ The Yard Market ถูกนำขึ้นมาแขวน ทีมงานทยอยจัดเตรียมของขาย ใกล้ๆ กันมีแม่ค้าขายอาหารอินเดียและเค้กโฮมเมดมาเสริมให้ตลาดแห่งนี้มีสีสัน มีโซนสินค้าอุปโภคแบบ Pump Refill ถัดไปเป็นคาเฟ่ที่เด่นเรื่องน้ำผลไม้สกัด ขยับเข้าไปด้านในคือส่วนของโฮสเทล ซึ่งเวลานี้บริเวณลานหญ้ากลางโฮสเทสปรับเป็นแปลงผักสวนครัวขนาดเล็ก ทดลองปลูกผักไว้ทำอาหารและตัดขายเป็นรายได้เล็กๆ น้อยๆ
“ยอมรับว่า รายได้ตอนนี้ไม่ได้เท่ากับตอนทำโฮสเทส แต่หากมัวจมอยู่แต่สิ่งนั้น เราก็จะไม่ได้เห็นโอกาสใหม่ๆ หรือสิ่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น อย่างตอนนี้ ทีมงานและเราก็สนุกกับสิ่งเหล่านี้กันมาก มีเรื่องให้คิดและทำใหม่ทุกวัน แถมที่นี่ยังกลายเป็นพื้นที่เชื่อมต่อให้กับผู้คน จากที่ไม่เคยรู้จักกัน ให้มารู้จักกันได้อีกด้วย
“หากต่อจากนี้หลังจากสถานการณ์ดีขึ้น ทุกอย่างที่ทำตอนนี้ก็อาจจะคงอยู่เหมือนเดิม และมีบางอย่างที่เราอาจจะต่อยอดให้มีความเคลื่อนไหวมากกว่านี้ เช่น แบ่งเป็นวันที่จัดเฉพาะ Farmer Market รวมเกษตรกรผู้ผลิตสินค้าที่เราขาย อาจจะมีการทำวงสนทนาหรือเชิญวงดนตรีมาเล่นในสวนเล็กๆ บ้าง ก็ต้องรอดูสถานการณ์กันอีกครั้ง”
เธอเล่าจบพร้อมกับยิ้มออกมา ซึ่งเป็นรอยยิ้มที่สดใสออกมาจากใจไม่ได้เป็นการยิ้มเพื่อฝืนหรือกลบเกลื่อนความทุกข์แม้แต่น้อย และรอยยิ้มนี้แหละที่เราเชื่อว่าเป็นพลังสำคัญที่ช่วยให้คนในบ้านญาติโฮสเทล เกิดเป็นกำลังใจที่พร้อมช่วยกันฝ่าฟันความยากลำบากที่เกิดขึ้นตอนนี้ไปด้วยกันอย่างเข้มแข็ง