ในวันที่อากาศร้อนแต่ก็ไม่ถึงกับระอุจนเหงื่อไหลไคลย้อย สองมือของเราบิดแฮนด์มอเตอร์ไซค์คู่ใจ ขับไปตามถนนกรุงเทพฯ – นนทบุรี ด้วยความเร็ว 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ก่อนจะค่อยๆ แตะเบรกลดความเร็วลงเนื่องจากสัญญาณไฟจราจรที่ห่างออกไปประมาณ 300 เมตรข้างหน้ากำลังเป็นสีแดง ทำให้ต้องค่อยๆ ลัดเลาะรถยนต์ทั้งหลายอย่างระมัดระวัง จนเห็นป้ายสีน้ำเงินเขียนว่า ‘ซอยกรุงเทพฯ-นนทบุรี 2’
ใช่แล้ว – นี่คือย่านเก่าเตาปูน
บรรยากาศทั้งสองฝั่งข้างทางพลุกพล่านไปด้วยผู้คน และร้านรวงมากมายทั้งเก่าและใหม่ปะปนกันไป เราเลี้ยวเข้าซอยดังกล่าวสู่ถนนเส้นเล็กที่ประกบด้วยตึกแถวเก่าคร่ำครึทั้งสองฝั่ง ซึ่งส่วนใหญ่ห้องข้างล่างเปิดเป็นร้านอาหาร ส่วนใหญ่ก็น่าจะเปิดมานานเกิน 50 ปี เหมือนกับจุดหมายปลายทางที่เราตั้งใจจะมาในวันนี้
พอเลี้ยวรถเข้ามาไม่ถึง 200 เมตร ด้านซ้ายมือเราก็เจอกับหมุดหมายที่ปักไว้ นั่นคือร้านไอศกรีมในตำนานแห่งย่านเตาปูน ซึ่งตอนนี้มีการปรับโฉมร้านใหม่ให้ดูเข้ากับยุคสมัยมากขึ้น โดยหน้าร้านตกแต่งใหม่ในสไตล์มินิมอลดั่งคาเฟ่เกาหลี ที่กำแพงด้านขวามีตัวอักษรสีแดงตัวใหญ่เขียนว่า ‘ทิพย์รส พ.ศ. ๒๕๑๓’
ย้อนรอยไอศกรีมเจ้าดังย่านเตาปูน
“ตอนได้ยินครั้งแรก คิดว่าเจ้าของเดียวกับน้ำปลาทิพรสเสียอีก” เราเย้าเล่นชายตรงหน้าเป็นเชิงทักทาย ก่อนจะเข้าบทสนทนาอย่างจริงจัง เขาหัวเราะก่อนจะตอบกลับมาว่า “ใครๆ ก็พูดอย่างนั้น”
วันนี้บรรยากาศภายในร้านค่อนข้างเงียบเชียบ หากจะบอกว่าผู้คนดูบางตาก็น่าจะเป็นคำที่ผิด เพราะแทบจะไม่มีคนเข้ามานั่งกินไอศกรีมดับร้อนในร้านเลย ทั้งที่ปกติจะมีลูกค้าแวะเวียนเข้ามากันเรื่อยๆ แต่เนื่องด้วยสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ถ้าไม่ใช่ลูกค้าที่เป็นคนแถวนี้ นอกนั้นก็สั่งเดลิเวอรีให้ไปส่งถึงบ้านแทน
หลังจากพักหายใจหายคอกันพอประมาณ ระหว่างที่รอไอศกรีมมาเสิร์ฟ ‘ก้อง’ – ตรีทศพล วิจิตรกุล ก็เริ่มเอ่ยปากเล่าถึงเรื่องราวที่เราอยากรู้ออกมา
“ผมรู้จักร้านนี้มาตั้งแต่ช่วงประถมต้นๆ เพราะคุณแม่ทำงานอยู่แถวนี้ เลยมีโอกาสได้มากินไอศกรีมร้านนี้ตั้งแต่เด็ก”
เขาเป็นหนึ่งในหุ้นส่วนร้านไอศกรีมทิพย์รสร่วมกับทายาทรุ่นปัจจุบัน (รุ่นที่ 3) ซึ่งเขารับหน้าที่ดูแลด้าน Brand Marketing เป็นหลัก นี่อาจเป็นเหตุผลว่าทำไมถึงเป็นเขาที่มานั่งคุยกับเราในครั้งนี้
“ในยุคแรกเลย ไอศกรีมของที่นี่จะมีแค่รสชาติพื้นฐานพวกสายพันธุ์กะทิทั้งหมด เช่น กะทิรวมมิตร กะทิแมงลัก กะทิเผือก หลังจากนั้นจึงค่อยมีรสช็อกโกแลตและวานิลลาเข้ามา ส่วนรสธรรมชาติก็จะมีเป็นทุเรียน พอคนมากินแล้วชอบ ติดใจ ก็จะบอกกันปากต่อปาก จากไอศกรีมรถเข็นก็เลยโตขึ้นมาเป็นห้องแถว แล้วก็มีรสชาติเพิ่มขึ้น”
ก่อนจะพูดคุยกันถึงเรื่องราวในปัจจุบัน ก้องก็ย้อนรอยอดีตไอศกรีมร้านดังให้ฟังก่อนเป็นอันดับแรก เขาเล่าว่าทิพย์รสเป็นร้านไอศกรีมที่อยู่คู่ย่านเตาปูนมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 ผู้ก่อตั้งรุ่นแรกคือ ‘เฮียโกย’ ซึ่งเป็นคนชอบทำอาหาร แล้ววันหนึ่งก็มีไอเดียคิดค้นสูตรไอศกรีมของตัวเองขึ้นมา จากตอนแรกขายเป็นรถเข็น แต่ด้วยความนิยมชมชอบที่เพิ่มขึ้นอย่างล้นหลามจากลูกค้า ทำให้ไอศกรีมทิพย์รสขยับขยายกลายมาเป็นห้องแถว จากห้องเดี่ยวเป็น 3 ห้องแถว เติบโต ยืนหยัด อย่างมั่นคงเรื่อยมาตลอดระยะเวลา 47 ปี จนเมื่อทายาทรุ่นที่ 3 เข้ามารับช่วงต่อ ทิพย์รสก็เป็นไอศกรีมไทยอีกเจ้าหนึ่งที่ได้ขยายสาขาเข้าไปขายในห้างสรรพสินค้า
กลายเป็นหุ้นส่วนร้านไอศกรีมที่ผูกพันมาตั้งแต่เด็ก
“แสดงว่าคุณกับทายาทรุ่นที่ 3 รู้จักกันมาตั้งแต่เด็กแล้วเหรอ พอโตขึ้นก็เลยเข้ามาร่วมหุ้นกันสานต่อเลย” เราถามต่อเป็นจังหวะเดียวกันกับที่ไอศกรีมหลากสีหลายรสชาติถูกวางลงบนโต๊ะพอดิบพอดี จึงใช้จังหวะนี้หยิบช้อนตักไอศกรีมรสกะทิรวมมิตรเข้าปากสักหนึ่งคำ
“ไม่ใช่ครับ ตอนเด็กที่มากินไอศกรีมที่นี่ผมไม่รู้จักมาก่อนว่าใครเป็นเจ้าของ มารู้จักแล้วเป็นเพื่อนกันตอนเรียนมหา’ลัย จึงรู้ว่าเพื่อนเรามีญาติห่างๆ ที่เป็นเจ้าของร้านนี้ แต่หลังจากเรียนจบก็ห่างหายกันไปบ้าง จนช่วงที่ทุกคนอายุ 28-29 ผมมีความคิดว่าอยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง แล้วด้วยความที่พวกเราทุกคน (หุ้นส่วนอีก 6 คน) ก็สนิทกัน จึงมาทำร่วมกัน
“แต่ตอนแรกก็มีคำถามว่าจะทำอะไรดี แล้วก็นึกถึงร้านนี้เพราะเพื่อนอยู่ในซอยนี้ แล้วเราก็เดินผ่านร้านนี้บ่อยเพื่อจะไปบ้านเพื่อน เลยแกล้งพูดว่าถ้าเป็นร้านนี้เราก็อยากลงทุนนะ วันต่อมาก็ได้เข้าไปพูดคุยกับเจ้าของเดิมแล้วได้โอกาสเข้ามาทำ”
จากนั้นเราและทีมก็ค่อยๆ ละเลียด ลิ้มรสไอศกรีมรสชาติต่างๆ อย่างเอร็ดอร่อย ในระหว่างที่ก้องเล่าถึงก้าวแรกที่เข้ามาเป็นหุ่นส่วนร้านไอศกรีมทิพย์รส เขาเล่าว่าทุกคนเริ่มจากศูนย์กันหมด ไม่มีความรู้อะไรเกี่ยวกับการทำธุรกิจร้านขนมหวานเลย ในระยะเวลา 2 ปีแรกจึงเป็นกระบวนการศึกษาหาข้อมูลก่อน ซึ่งในระหว่างนั้นก็เริ่มจากการรีโนเวตสถานที่ไปด้วย
“ในตอนนั้นมีการตกแต่งสไตล์ที่เป็นโอสกูลเกินไป แล้วลูกค้าหลักของเราก็ค่อนข้างมีอายุมากแล้วซึ่งคนรุ่นนั้นก็จะค่อยๆ หมดไป เพราะฉะนั้น เราก็ต้องปรับเปลี่ยนตัวเองให้เข้ากับลูกค้ารุ่นใหม่ จากนั้นเราก็สร้างสรรค์เมนูใหม่ขึ้นมาเพื่อที่จะได้สร้างคอนเทนต์ในการขายเพื่อดึงดูดลูกค้ากลุ่มใหม่นี้” เขากล่าวก่อนจะบอกถึงอุปสรรคแรก เมนูที่คิดค้นขึ้นมาใหม่อาจจะดูแปลกใหม่เกินไปจนเข้าถึงยาก แม้ในตอนแรกจะเรียกความสนใจจากคนรุ่นใหม่ได้ แต่ก็ได้เพียงระยะเวลาสั้นๆ นี่จึงทำให้หุ้นส่วนทั้ง 7 คนได้เรียนรู้ว่า ‘ตัวตนเดิมของทิพย์รส’ นี่แหละคือกุญแจดอกสำคัญ
Rebranding ไม่ใช่การโละของเก่าทั้ง แต่พัฒนาให้ทันสมัยขึ้น
“สำหรับผม ร้านไอศกรีมทิพย์รสมีความสำคัญมาก เรารู้จักกับร้านนี้มานาน พอเข้ามารับช่วงต่อในมุมของการทำงานก็ยิ่งทำให้เราคิดหนัก เขาอยู่มาถึง 47 ปีก่อนเราจะเข้ามา เพราะฉะนั้น ถ้าทุกอย่างมาจบที่รุ่นของเรา เราก็คงรู้สึกแย่ไปเลย ดังนั้น การเข้ามารีแบรนดิ้งก็เหมือนเราแบกความคาดหวังไว้บนบ่า พอเราได้เรียนรู้อุปสรรคที่เกิดขึ้นแล้ว แทนที่จะเปลี่ยนแปลง เราเลือกจะคงสิ่งที่ดีไว้เป็นแก่นหลักแล้วก็พัฒนาต่อดีกว่า เพราะเชื่อว่าสิ่งที่มีอยู่แล้วของเราค่อนข้างแข็งแรงมาก ดังนั้น เราจะไม่เปลี่ยนกรรมวิธีการผลิตแน่นอน
“เรามีการวาง Brand Positioning มาตั้งแต่ช่วงแรกเลยว่า จะพัฒนาภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้คงความเก่าแต่ให้ความรู้สึกที่อบอุ่น ถ้าจะให้เห็นภาพที่ชัดเจน แบรนด์เราก็คงเป็นคุณลุงสูงอายุคนหนึ่งรูปร่างอวบดูใจดี ที่คอยชวนทุกคนเข้ามากินไอติม ชวนให้ทุกคนเข้ามาได้ลองสัมผัสความหวานของขนมหวาน”
ก้องเสริมอีกว่า ถ้าทำให้ออกมาดูโมเดิร์นหรือสมัยใหม่ไปเลยก็ไม่ใช่ตัวตนของทิพย์รสแล้วคนก็อาจจะให้ความสนใจเพียงช่วงสั้นๆ แต่หลังจากนั้นก็อาจเงียบหายเพราะหากพูดถึงคำว่า ‘เทรนด์’ นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้วเปลี่ยนผ่านไปตลอด “แต่ความคลาสสิก ดั้งเดิม เป็นสิ่งที่อยู่ได้อย่างมั่นคงที่สุด” ซึ่งตรงกับสไตล์ส่วนตัวของเขาด้วยที่ชอบความยั่งยืนมากกว่าการมาแล้วก็ไปที่ฟังดูฉาบฉวย ไม่มั่นคง
ในวันนี้เราจึงได้เห็นไอศกรีมทิพย์รสที่ปรับเปลี่ยนโฉมใหม่ ต่อให้มีเมนูใหม่เพิ่มขึ้นจากเดิม แต่ยังคงมีกลิ่นอายความเก่าแก่ให้เห็นอยู่ สังเกตง่ายๆ จากบรรยากาศภายในร้าน แม้จะตกแต่งออกแนวมินิมอลหน่อยๆ พอให้นึกถึงคาเฟ่เกาหลี แต่ภาพรวมยังคงความเรียบง่ายที่ธรรมดาอยู่ ไม่ได้มีดีไซน์ที่หวือหวาอะไรมากนัก หากเราจะเรียกว่าให้อารมณ์แบบ Homey ก็คงไม่ผิดนัก
ส่วนเมนูใหม่ๆ ที่เพิ่มเข้ามาก็ไม่ใช่เมนูสมัยใหม่อย่างบิงซูหรือชานมแต่อย่างใด แต่เป็นการนำวัตถุดิบขนมไทยมาปรับให้ดูทันสมัยขึ้นเท่านั้นเอง อย่างชุดเมนูน้ำสมุนไพรที่มีคอนเซ็ปต์ว่า ‘มารยาหญิง’ เขาก็นำสรรพคุณของน้ำสมุนไพรแต่ละชนิดมาตีความในแง่ของความเป็นผู้หญิง จึงได้ชื่อว่า ‘ชวนฝัน’ ‘เย้ายวน’ ‘ชดช้อย’ ‘ซาบซ่าน’ ‘โปรยเสน่ห์’
นอกจากนี้ เมนูไอศกรีมที่เป็นชุด ‘Amazing’ เขาก็เล่นคำให้มีความน่าสนใจมากขึ้น เช่น ‘ต้องมนต์’ ‘หอมหมื่นไมล์’ ซึ่งผลตอบรับคือ กลุ่มลูกค้าที่เป็นคนเก่าคนแก่ก็มักจะชอบมานั่งอ่านชื่อเมนูทุกครั้งที่มา แล้วยังดึงดูดใจคนรุ่นใหม่ได้ดีด้วย
‘กะทิรวมมิตร’ พระเอกตลอดกาลที่ไม่มีรสชาติใดมาแทนได้
เราวางช้อนในมือลงแล้วถามต่อว่า 50 ปีที่ผ่านมา ไอศกรีมรสชาติไหนที่ขายดีที่สุดมาตลอดคไตอบคือ “กะทิรวมมิตร พระเอกคนดีคนเดิมเลย” หุ้นส่วนหนุ่มตอบสวนทันทีโดยไม่ต้องหยุดคิดให้เสียเวลา เราจึงแซวกลับว่าคนนี้คงเป็นพระเอกตลอดกาลเลยสินะ เขายิ้มแล้วก็พยักหน้าหงึกๆ เป็นสัญญาณว่าเห็นด้วย
“ผมเชื่อว่าสินค้าและคุณภาพทุกขั้นการผลิตของเราคือตัวพระเอกตลอดกาล เพราะว่าเรื่องภาพลักษณ์ หรือเรื่องรูปลักษณ์ของแบรนด์เป็นเพียงสิ่งที่ห่อหุ้มแก่นของเราไว้เท่านั้นเอง”
เมื่อเกิดปัญหาให้มีสติ รู้จักปรับตัว แล้วจำศีล
ทว่าในยามที่กำลังไปได้ดีนั้น ใครจะรู้ว่าปีถัดไปจะการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ทำให้ร้านไอศกรีมสุดเก๋าที่เพิ่งปรับลุกส์ใหม่ต้องชะลอตัวในการเติบโต แม้จะวางแผนแล้วทำการขยายสาขาไปแล้วก็ตาม
“สาขาแรกที่เอาเข้าห้างคือเดอะมอลล์งามวงศ์วานเราก็เจอโควิดในรอบแรก สาขาที่ 2 ที่เราเอาเข้าห้างเซ็นทรัลปิ่นเกล้าเราก็เจอโควิด-19 รอบที่ 2 พอคนเริ่มจะกลับมาก็เจอโควิด-19 อีกรอบ 3” เขาเล่าด้วยเสียงจริงจังกึ่งหัวเราะ ราวกับโชคชะตากำลังมีบททดสอบให้เขา เราสัมผัสได้ถึงความรู้สึกเจ็บใจเล็กน้อย (แต่ก็น่าจะมากทีเดียว) จึงถามกลับไปว่าทั้ง 3 ครั้งที่ผ่านมาแก้ปัญหา หรือเอาตัวรอดมาได้อย่างไร
“เราปรับตัวทุกอย่างเลย ไม่ว่าจะเป็นการทำโปรโมชัน การทำเดลิเวอรี ด้วยข้อจำกัดของความที่เป็นไอศครีมด้วยเราก็พยายามทำทุกทางที่พอจะทำได้ แล้วก็จริงๆ ช่วงนี้ก็ถือว่าเป็นช่วงที่เรากำลังจำศีลอยู่ด้วย คือจะใช้พลังงานให้น้อยที่สุดเพื่อเอาตัวรอด เพราะถ้าเราทำหรือขยายอะไรตอนนี้ก็คงไม่มีใครที่จะมาซื้อ ในส่วนเรื่องของอนาคตเราก็ยังคิดหาทางออกที่จะพัฒนาต่อไป จะไม่ได้หยุดอยู่แค่นี้แน่นอน
“คิดว่าในขณะที่เจอแต่เป็นหารุมเร้าเช่นตอนนี้ จะใช้คติไหนเป็นตัวนำทางให้การบริหารธุรกิจอยู่รอด”
“สำหรับตัวผมไม่ได้มีคติประจำใจอะไร ผมใช้ ‘สติ’ มากกว่า ผมเป็นคนมองโลกในความเป็นจริง เพราะบางครั้งถ้าเรามีคติไว้อย่างหนึ่ง แต่ปัญหาที่เราเจอเป็นอีกแบบหนึ่งอเราก็ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการอยู่ดี ดังนั้น สติคือสิ่งที่สำคัญที่สุด ไม่ว่าเราจะอยู่ในสถานการณ์ไหน ถ้ามีสติ ไม่หน้ามืด ไม่โลภมาก เราจะรู้ว่าต้องคิดแบบไหน มองแบบไหน ทำเพื่ออะไร เพราะทุกอย่างที่เราจะทำมีผลกระทบกับมาหมด ไม่ว่าจะดีหรือไม่ดี
“อีกเรื่องคือการปรับตัว ธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตทุกอย่างต้องปรับตัวจึงจะอยู่รอด กระทั่งการรีแบรนดิ้ง ผมว่านั่นก็คือการปรับตัวของพวกผมเหมือนกัน เพื่อที่จะให้ร้านอยู่รอดและเติบโตมากขึ้น เพราะฉะนั้น ผมจึงคิดว่าหัวใจหลักคือการที่เราต้องตื่นตัวและปรับตัวอยู่ตลอดเวลา แล้วสำหรับผมเรื่องการวางแผนนั้นสำคัญมากกว่าการกระทำ เพราะถ้าเราไม่คิดวางแผนให้ดีเรา สักแต่ว่าทำๆ ไปสุดท้ายก็จะเปลืองแรงเปล่า ไม่คุ้มกับทั้งแรงงาน เวลา หรือสิ่งต่างๆ ที่เราเสียไป ก็เหมือนกับการขับรถแล้วไม่เปิดแผนที่ เราก็จะแวะไปเรื่อย”
หลังจบบทสนทนา เรานั่งกินไอศกรีมที่เหลือพลางตกตะกอนสิ่งที่ชายผู้นี้เล่าออกมา ระหว่างที่ลิ้มรสกะทิหวานมัน สัมผัสเนื้อที่นุ่มละมุนซึ่งกำลังละลายอยู่ในปากนั้น ก็ทำให้เราตระหนักถึงความจริงอันธรรมดาอีกครั้งว่า ท้ายแล้วไม่มีอะไรยั่งยืนคงอยู่เสมอไปจริงๆ สิ่งมีชีวิตทุกชีวิตล้วนปรับตัวเพื่อก่อนอยู่รอดดั่งที่หุ้นส่วนหนุ่มว่า ร้านไอศกรีมทิพย์รสแห่งนี้ก็เช่นกัน ต่อให้อร่อย และมีคุณภาพดีขนาดไหน แต่หากจะให้อยู่ต่อไปได้ก็ต้องปรับตัว จะได้ไม่เลือนหายไปกับลูกค้ารุ่นแรกๆ
เราออกจากร้านที่เย็นฉ่ำไปด้วยสายลมจากเครื่องปรับอากาศตัวใหญ่ และไอศกรีมที่ไปทำความเย็นอยู่ในท้อง สองมือบิดแฮนด์มอเตอร์ไซต์ขับออกไปสู่กับไอร้อนภายนอกอีกครั้ง ก่อนจะนึกได้ว่าลืมซื้อไอศกรีมรสนมสดกลับมาก็ถึงห้องเสียแล้ว
Where to Find
สามารถคลายร้อนจากอากาศภายนอกที่ร้าน ‘ไอศกรีมทิพย์รส’ ได้ทั้ง 3 สาขา ได้แก่ สาขาเตาปูน ซอยกรุงเทพ-นนทบุรี 2 สาขาเดอะมอลล์ งามวงศ์วาน และสาขาเซ็นทรัล ปิ่นเกล้า หรือสั่งซื้อออนไลน์ที่ไลน์ @thipparot, เฟซบุ๊ก: ไอศกรีมทิพย์รส หรือโทร. 0-2585-0415
ภาพ: สรภูมิ ก้อนฆ้อง และ ตรีทศพล วิจิตรกุล