Highlights
- Yarnnakarn Art & Craft Studio คือสตูดิโอขนาดเล็กในกรุงเทพฯ ที่เล่าเรื่องราวผ่านชิ้นงานเซรามิกแบบดั้งเดิมที่เกี่ยวกับกาลเวลา ความหลากหลายในหมู่มนุษย์และธรรมชาติ
- เซรามิกเกิดจากดินธรรมชาติ เสน่ห์และเอกลักษณ์ที่เกิดจากการไม่ฝืนธรรมชาติ ไม่สมบูรณ์แบบ และมีจุดบกพร่องที่กลายเป็นความงดงามที่มีชีวิตชีวา
- การสัมผัสดินระหว่างปั้นมีส่วนช่วยลดทอนจิตใจที่เคยว้าวุ่น ทำให้เกิดความสงบ จดจ่อกับปัจจุบันขณะ ได้ใช้เวลาอยู่กับตัวเองช่วงหนึ่ง และช่วยให้มองสิ่งรอบตัวด้วยความละเอียด ละเมียดละไมได้มากยิ่งขึ้น
ทันทีที่เปิดประตูไม้บานโตของสตูดิโอ ยานณกาล เข้าสู่ด้านใน สไตล์การตกแต่งร้าน ทำเอาเราอดเผลอจินตนาการไม่ได้ว่า ตัวเราคืออลิซ ที่ไขกุญแจประตูบานเล็กที่โพรงกระต่ายจนไปเจอกับวันเดอร์แลนด์ พื้นที่แห่งนี้ทำให้เรารู้สึกเช่นนั้น ซึ่งตรงกับความในใจของ กรินทร์ พิศลยบุตร และ ‘นก’ – พชรพรรณ ตั้งมติธรรม หนุ่มสาวที่อยากให้พื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่แห่งความลับ ที่ซี่งปลีกตัวจากเวลาเร่งรีบของภายนอกมาเนิบช้าไปกับเซรามิกและจิตใจภายใน
หลบหนีความวุ่นวายภายนอก มาหลบซ่อนตัวที่มุมเล็กๆ ภายในร้าน
หลังจากที่ยานณกาล แบรนด์เซรามิกดีไซน์เท่ที่ตั้งอยู่ในตลาดนัดสวนจตุจักรมาเป็นเวลากว่า 8 ปี ถึงคราวที่จะขยับขยายสตูดิโอให้ใหญ่ขึ้น แต่ยังคงน่าค้นหาเหมือนเดิม เพิ่มเติมดีไซน์และใส่เรื่องเล่าจนกลายเป็นสตูดิโอที่มีทั้งร้านค้าของแต่งบ้าน แกลเลอรีขนาดย่อม และคาเฟ่ที่อยู่ชั้นดาดฟ้า ซึ่งกรินทร์ เจ้าของสตูดิโอได้เล่าให้ฟังว่า
“พื้นที่ตรงนี้เป็นบ้านที่อยู่ในเมืองตั้งอยู่ริมถนน สิ่งที่เจอคือความวุ่นวาย เราอยากจะให้คนที่เข้ามาได้สลัดความวุ่นวาย แล้วเจอกับความเนิบช้าและความเป็นส่วนตัวที่ได้ใช้เวลานิ่งๆ บ้าง เราจึงออกแบบให้พื้นที่ภายในร้านให้มีกลิ่นอายเหมือน hidden corner เข้ามาแล้วรู้สึกสบาย สามารถเปลี่ยนโหมดความรู้สึกด้วยบรรยากาศที่เรานำเสนอ แค่เพียงเปิดประตูเข้ามาแล้วกลายเป็นอีกที่หนึ่งเลย โดยให้ทั้งอาคารสามารถเล่าเรื่องราวเดียวกันได้”
เริ่มจากชั้นแรกคือ Selected Shop ร้านไลฟ์สไตล์แฟชั่นแนววินเทจที่คัดสรรสิ่งของดีๆ โดยเฉพาะเซรามิกของยานณกาล ของแต่งบ้านที่มีเอกลักษณ์
ต่อมาคือชั้นสอง พื้นที่จัดแสดงงานศิลปะและมินิแกลเลอรี ซึ่งเขาได้อธิบายถึงพื้นที่ส่วนนี้ว่า “เราเรียกโซนนี้ว่า Experience floor & Contemporary Arts เป็นห้องจัดแสดงงานหมุนเวียนขนาดเล็ก ที่สามารถปรับให้เป็นมินิแกลเลอรี มิวเซียมเซรามิกเล็กๆ ได้ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจได้เข้ามาชม รวมทั้งให้เจ้าของผลงานได้เข้ามาโชว์ ซึ่งเราก็อยากให้เป็นเหมือนพื้นที่ที่ได้ทดลองทางศิลปะในอนาคตด้วย”
สุดท้ายชั้นสามกับ rooftop garden & outdoor café รวมทั้งเป็นห้องเวิร์กช็อปที่พวกเขาตั้งใจเซอร์ไพรส์ผู้มาเยือนด้วยสวนลับบนดาดฟ้า พื้นที่ด้านบนสุดที่เปิดโล่งได้เห็นท้องฟ้าและสวนสีเขียว
“เราตั้งใจให้ทุกคนที่เข้ามาในร้าน รู้สึกไม่ต่างจากตอนที่ไปหาของที่ตัวเองชอบ เหมือนตอนที่เราอยู่จตุจักร การได้เข้ามาที่นี่ก็เช่นกัน เรานำเสนอความสนุกที่น่าค้นหาผ่านการออกแบบพื้นที่ การตกแต่งและบรรยากาศทั้งหมด”
ศิลปะที่เกิดจากความบกพร่อง กลายเป็นเสน่ห์ของเซรามิก
เพียงแค่ออกแบบสตูดิโอให้น่าสนใจ อาจจะไม่เพียงพอในการเชื้อเชิญผู้คน ดังนั้น สิ่งที่ทำให้เซรามิกแบรนด์ยานณกาลสามารถครองใจใครหลายๆ คนคงเป็นเพราะจิตวิญญาณในการสร้างสรรค์ชิ้นงาน และมุมมองที่แตกต่างของผู้สรรสร้างเซรามิกอย่างกรินทร์ ซึ่งเขามีความเห็นต่อเซรามิกว่า
“ตลอด 8 ปีที่ทำแบรนด์มา เซรามิกของเราเปลี่ยนอยู่เรื่อยๆ เริ่มจากเซรามิกที่ปั้นเป็นธรรมชาติและสิ่งมีชีวิต เช่น ต้นไม้ หัวสัตว์ต่างๆ ซึ่งลูกค้าก็ชอบเสียด้วย เราเลยทำไปเรื่อยๆ จนวันหนึ่งพบว่าเริ่มเบื่อ จึงเติมสิ่งที่ตัวเองชอบลงไป เช่น สิ่งที่ไม่มีชีวิตอย่างกะโหลก เขาสัตว์ต่างๆ คล้ายเป็นเชิงสัญลักษณ์ของความตาย เพื่อให้ตรงข้ามกับสิ่งมีชีวิต และเมื่อนำคอนเซ็ปต์ที่ไม่มีชีวิตไปผสมผสานกับคอนเซ็ปต์เดิม ทำให้เกิดเรื่องราวที่น่าสนใจมากขึ้น นั่นทำให้เรารู้สึกว่าการเปลี่ยนแปลงทำให้เราค่อยๆ เติบโตในงาน
“จนปัจจุบันเราเล่าเรื่องราวผ่านธรรมชาติ เช่น เปลือกหอย ปะการัง ที่เราไปเจอตอนไปเที่ยวทะเล เราเอาสิ่งที่เห็นมาปั้น ทดลองและสร้างงานขึ้นมาให้ดูเหมือนจริงมากที่สุด มากจนคิดไม่ถึงว่านี่คือเซรามิก”
แต่เซรามิกจะมีเสน่ห์มากขึ้นได้ อาจไม่ได้อยู่แค่เพียงเทคนิคในการปั้น หรือการเลือกดิน การวัดอุณหภูมิของการเผา หรือความชื้นของดินต่างๆ แต่รวมไปถึงความไม่สมบูรณ์แบบ หรือที่กรินทร์เรียกว่าความบกพร่องที่สวยงาม
“เซรามิกแฮนด์เมดเกิดจากวัสดุธรรมชาติ ซึ่งเป็นเสน่ห์ที่หาจากโรงงานเซรามิกที่ผลิตทีละหมื่นแสนชิ้นและเหมือนกันเป๊ะๆ ไม่ได้ ระบบโรงงานเป็นการบังคับธรรมชาติ ทั้งดิน ทั้งน้ำเคลือบต่างๆ ดังนั้น การทำเซรามิกแฮนด์เมดจึงต้องมีของเสีย และจะให้ทำเหมือนกันเป๊ะหนึ่งพันใบโดยไม่มีความต่างเลยคงเป็นไปไม่ได้ และโดยส่วนตัว เราชอบของที่มีจุดบกพร่อง ของที่เขาทิ้ง หรือของที่ทดลองแล้วใช้ไม่ได้ในระบบโรงงานเซรามิกมากกว่า พอวันที่เราออกมาทำเอง จึงนำจุดเล็กๆ นี้มาเป็นจุดแข็งของงานเรามากกว่า”
ของแห่งความทรงจำที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวา
เมื่อความบกพร่องที่งดงามได้เข้ามามีส่วนร่วมในชีวิตของผู้คน เซรามิกหนึ่งชิ้นที่พวกเขาได้รังสรรค์ยังเป็นตัวแทนของความมีชีวิตชีวาซึ่งพวกเขาตั้งใจนำเสนอและอยากเล่าให้ฟัง
“คงเป็นเพราะเราชอบต้นไม้และแลนด์สเคปเล็กๆ ไซซ์แค่โต๊ะทำงาน เหมือนสิ่งของบางสิ่งที่มีความหมายกับเรา เราก็อยากเอามาวางไว้ มาตกแต่งรวมๆ กัน เพื่อให้เราสามารถนึกถึงวันวานและเหตุการณ์ที่ประทับใจ เช่น ของชิ้นนี้ได้มาจากไหน เราเคยวางไว้ตรงไหนของบ้านเรา เรียกว่า เป็นของแห่งความทรงจำ ที่มีรูปทรงที่เข้าใจได้ง่าย เห็นแล้วคุ้นเคย เวลาที่คนมาหยิบจับบางชิ้น เขาอาจจะมีภาพความทรงจำคล้ายๆ กับเซรามิกชิ้นนั้นก็เป็นได้ ซึ่งเราก็หวังให้เขารู้สึกเช่นนั้น อีกอย่างเราอยากทำของที่เปลี่ยนพื้นที่นั้นๆ ได้
“ยกตัวอย่าง เรานำนกเซรามิกที่มีมูฟเมนต์สองตัว ไปวางไว้บนกองหนังสือที่มุมหนึ่งของห้อง คุณเชื่อมั้ย นกสองตัวนั้นสามารถเปลี่ยนบรรยากาศของห้องให้เหมือนเป็นภาพวาดที่ใช้ตกแต่งห้อง มีความเคลื่อนไหว และเต็มไปด้วยชีวิตที่มีชีวา”
ผลลัพธ์ของการปั้นเซรามิกคือความเนิบช้าที่เกิดขึ้นภายใน
ความงดงามที่มีความหมายไม่ใช่แค่ออกมาเป็นนามธรรมจับต้องได้ ตกแต่งบ้านได้เพียงอย่างเดียว แต่ความงดงามที่เกิดขึ้นระหว่างการปั้น ได้ช่วยให้จิตใจของคนปั้นสงบขึ้น รู้สึกได้ถึงการเดินทางภายในที่ช้าลง รอยสัมผัสแบบนี้จะหาไม่เจอหากไม่ได้มาสัมผัสด้วยตัวเอง จึงเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้พวกเขาเปิดเวิร์กช็อปปั้นเซรามิกขึ้น
“เรามองว่า การเวิร์กช็อปคือการสร้างประสบการณ์และสร้างการรับรู้แบบใหม่ จากที่เราจัดเวิร์กช็อปมาแล้ว 4 ครั้ง ผู้เข้าร่วมได้เล่าให้เราฟังว่า ระหว่างการปั้นเซรามิกจะมีจุดที่เรียกว่า จดจ่อ 10 วินาที คือเป็นช่วงเวลาที่ตัดความคิดฟุ้งซ่าน ละจากจิตใจที่ว้าวุ่น แล้วจดจ่อกับสิ่งตรงหน้า จุดนั้นเองที่เปลี่ยนจากความรีบเร่ง อยากทำให้เสร็จ เป็นความเนิบช้า ที่ค่อยๆ เติม ค่อยๆ บรรจงใส่ให้กับงาน ส่งผลให้มองทุกอย่างรอบตัวได้ละเอียดมากยิ่งขึ้น ซึ่งตรงกับสิ่งที่ยานณกาลต้องการนำเสนอนั่นเอง”
WHERE TO FIND YARNNAKARN
เปิดบริการ: วันอังคาร-วันศุกร์ เวลา 11.00-19.00 น. และ วันเสาร์-อาทิตย์ 10.00-19.00 น.
Facebook: Yarnnakarn
Website: www.yarnnakarn.com