temp in sept

Youyen.bkk x Temp in Sept มินิคอมมูนิตี้ที่มีส่วนผสมของเสียงดนตรี งานคราฟต์ และต้นไม้

“จังหวะสโลว์ของเศรษฐกิจแบบนี้แหละคือเวลาที่ดีของการได้ออกจากเซฟโซน และได้ใช้โอกาสนี้เพื่อเริ่มต้นธุรกิจเล็กๆ ด้วยใจที่ฟูฟ่อง” คือความคิดเห็นของสองหนุ่มนักดนตรีที่หันมาเอาดีด้านงานคราฟต์ และปลูกต้นไม้ จนเกิดเป็นสองร้านเล็กๆ ในบริเวณเดียวกัน เพื่อช่วยผลักดันกันและกันทั้งด้านดนตรีและธุรกิจใหม่ของพวกเขา ซึ่งอยู่ลึกเข้าไปในเวิ้งเล็กๆ ระหว่างซอยอ่อนนุช 23 และ 25

temp in sept

เหตุเกิดจากความบังเอิญ

        “ที่นี่เกิดขึ้นจากความตั้งใจที่ได้มาจากความบังเอิญ” ประโยคบอกเล่าของเทมป์ หลังจากที่ช่างภาพของเราชวนคุยเรื่องดนตรีมาสักพักหนึ่ง ก่อนจะวนกลับมาถามถึงอาชีพใหม่ล่าสุดอย่างเจ้าของคราฟต์คาเฟ่ ที่เพิ่งเปิดได้เพียงสองสามเดือนที่ผ่านมา

        “บังเอิญแรกคือ เราตกงานตอนโควิด-19 เราว่างมากจนต้องหาอะไรมาทำเพื่อเป็นรายได้เล็กๆ น้อยๆ คาเฟ่ต้นไม้ อยู่เย็น จึงเกิดขึ้น” ต็อบเอ่ยขึ้นในขณะที่มือกำลังสาละวนอยู่กับการดูแลต้นไม้

        “บังเอิญต่อมาคือ ร้านเค้กวันเกิดที่เคยตั้งอยู่ตรงนี้ย้ายไปเปิดที่ปากซอย Temp in Sept จึงได้เข้ามาแทนที่ เราใช้เวลาในการตัดสินใจเพียง 5 วัน เพื่อควบรวมพื้นที่โซนด้านหน้าทั้งหมดให้เป็นบริเวณเดียวกัน ได้ทำในสิ่งที่อยากทำเหมือนกัน มีพื้นที่ตรงกลางไว้เล่นดนตรีสด และมีบาร์เครื่องดื่มไร้แอลกอฮอล์ให้ได้ชิม” เทมป์ขยายความ และขอเป็นตัวแทนในการเล่าเรื่องทั้งหมดให้เราฟัง

 

temp in sept

 

        หากมองมาจากริมถนน ขวามือจะเป็นร้านอยู่เย็น คาเฟ่ที่ถูกต้นไม้ขนาดเล็กโอบล้อมความสดชื่นไว้ทั้งร้าน เมื่อเข้าไปด้านในก็จะพบกับความอบอุ่นราวกับก้าวเท้าเข้าไปในห้องนั่งเล่นของคนตัวจิ๋วอย่างอาริเอตี้จากแอนิเมชันเรื่อง The Secret World of Arrietty (อาริเอตี้ มหัศจรรย์ความลับคนตัวจิ๋ว) ของค่ายสตูดิโอจิบลิ ตรงนั้น เราไม่พบหญิงสาวจิ๋ว แต่เราพบกับชายหนุ่มนักดนตรีผู้ที่หลงรักเสียงเล็กๆ ที่ดังมาจากต้นไม้พอๆ กับเสียงดนตรีจากการทำงานเพลงที่ผ่านมา 

        ตรงกลางคือทางเดินเล็กๆ ที่มีหลังคาไม้ไผ่เชื่อมทั้งสองร้านให้เป็นหนึ่งเดียว 

        “พื้นที่ตรงนี้คือเวทีดนตรีสดขนาดเล็ก ที่เราสองคนเชิญชวนเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ นักร้องที่เรารู้จักให้แวะเวียนมาทำให้พื้นที่บริเวณนี้มีสีสัน และมีเสียงเพลง โดยตั้งใจอยากให้เป็นอาร์ต คราฟต์ และมิวสิกสเปซ ซึ่งทุกวันนี้ก็เหมือนพื้นที่นั่งเล่นของพวกเรามากกว่า มาเล่นดนตรี ชมต้นไม้ ชิมนมและน้ำผลไม้ปั่น จากที่ตั้งใจปิดร้านกันตอนสามทุ่ม บางคืนก็ยาวไปปิดโน่น เที่ยงคืนก็มี” เทมป์ยิ้มกว้าง   

        ซ้ายมือคือ Temp in Sept ที่มีพื้นที่เล็กๆ หน้าร้านให้นั่งสองโต๊ะเพื่อรับความสดชื่นของต้นไม้ฝั่งตรงกันข้าม ด้านในร้านแบ่งออกเป็นสองส่วน คือส่วนขายงานแฮนด์เมด ที่มีสินค้าไฮไลต์อย่างไม้หอมพื้นเมืองจากชายฝั่งอเมริกาใต้ ‘Palo Santo’ แบ่งจำหน่าย อีกส่วนคือบาร์เครื่องดื่ม ที่มี ‘นมแมว’ หรือนมวัวผสมนมพิสตาชิโอปั่น ใส่อินทผลัม และอัลมอนด์ ซึ่งเป็นเมนูซิกเนเจอร์ที่เทมป์และต็อบทำกินเองเป็นประจำก่อนที่จะมาเปิดร้าน

 

temp in sept

 

        เทมป์เล่าให้ฟังเราว่า อาชีพหลักของทั้งคู่คือ นักดนตรี ชีวิตก็มักจะวนเวียนอยู่กับงานทำเพลง แต่ในขณะเดียวกันพวกเขาก็ยังมีอย่างอื่นที่สนใจไม่น้อยไปกว่า นั่นก็คือการปลูกต้นไม้ และทำงานคราฟต์ ไม่ว่าจะเป็นการย้อมสีธรรมชาติ งานผ้า งานปัก งานถัก งานสาน ซึ่งทั้งหมดก็คือศิลปะเช่นเดียวกับงานเพลง ที่ต้องใส่ใจและลงลึก ถึงขั้นไปคุยกับชาวบ้านในชุมชนเพื่อให้ได้งานคราฟต์ดีๆ และยังรวมไปถึงศาสตร์แห่งกลิ่น ความคราฟต์ที่มาในรูปแบบของไม้หอมที่เขาเพิ่งสนใจได้ไม่นาน ผสมผสานไปกับบาร์เครื่องดื่มที่ดึงเมนูที่ทำกินกันเองขึ้นมาไว้ในร้าน

 

temp in sept

 

        “เราเริ่มต้นจากเล็กๆ แบบนี้ดีแล้วละ อย่างน้อยเราก็ได้ลองทำในสิ่งที่เราไม่เคยได้ทำให้เป็นรูปเป็นร่าง จับต้องได้ และอาจกลายเป็นช่องทางทำเงินให้เราอีกทาง” นี่คือสิ่งที่เทมป์และต็อบบอกกับตัวเองมาโดยตลอด  

ทำในสิ่งที่ชอบ และเชื่อมั่นในทางที่เลือก

        เทมป์หยิบพาโลซานโตขึ้นจุด แล้วสะบัดปลายไม้ให้ไฟดับคล้ายกับการจุดธูป จากนั้นควันจากไม้พื้นเมืองเริ่มส่งกลิ่นตามธรรมชาติของการโดนเผา กลายเป็นกลิ่นหอมเย็นๆ ที่ลอยฟุ้งอยู่ในพื้นที่เปิด แล้วเริ่มต้นเล่าสิ่งที่อยู่ข้างในให้ฟัง

        “กลิ่นของไม้จะช่วยทำให้ผ่อนคลาย โอบล้อมร่างกาย คล้ายจะดูดเอาความเหนื่อยล้าและพลังงานด้านลบออกไป ซึ่งเราเชื่อว่านี่คืออีกหนึ่งตัวช่วยที่ทำให้เรากล้าออกจากเซฟโซนของตัวเอง หรืออีกนัยยะหนึ่งก็คือ ความกลัวของตัวเอง กลัวการเริ่มต้น กลัวปลายทาง กลัวล้ม วันนี้เราคงไม่มีคาเฟ่งานคราฟต์เล็กๆ ที่รวมเอาสิ่งที่เราสนใจไว้ในที่เดียวกันได้”

 

temp in sept

 

        เซฟโซนของเขาเกิดจากความรักและเป็นห่วงของครอบครัว ในหลายๆ ครั้งที่เขากำลังจะก้าวไปสู่อาชีพใหม่ มักจะโดนดึงเบรกมือเอาไว้เสมอด้วยคำว่า จะดีหรือ จะรอดหรือเปล่า ไม่ไหวหรอก อย่าทำเลย เหนื่อยเปล่าและเสี่ยงเกินไป เขาเป็นอีกคนที่ชะงักเท้าแล้วเดินกลับทางเก่าด้วยหัวใจที่ห่อเหี่ยว

        แต่แล้ววิกฤตในครั้งนี้ก็เป็นตัวกระตุกให้เขาเลือกอีกครั้ง 

        “เราต้องตัดสินใจให้แน่วแน่แล้วลงมือทำเลย ทำให้รู้กันไปเลย เริ่มต้นจากเล็กๆ ในสิ่งที่ทำได้และเป็นสิ่งที่ชอบ เราเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะทำให้เราไม่ยอมถอยง่ายๆ แม้ว่าจะเจออุปสรรค จังหวะนี้ดีที่สุดแล้ว สุดท้ายจะเป็นอย่างไรก็ค่อยว่ากันอีกครั้ง” 

        “หากไม่เริ่มทำในสิ่งที่อยากทำตอนนี้ เดี๋ยวนี้ แล้วจะเริ่มตอนไหน” ต็อบมาเสริมในตอนท้าย เพราะเขาเองก็เป็นคนหนึ่งที่ตกงานเพราะโดนพิษโควิด-19 เล่นงานไม่ต่างจากคนอื่นๆ เขาทุบกระปุกใช้เงินเก็บที่มี กำความหวังไว้ในใจประคองด้วยสองมือ แล้วเดินหน้า จนท้ายสุดโควิด-19 ค่อยๆ จางลง ต็อบได้กลับมาทำงานอีกครั้ง และในครั้งนี้ เขามีอาชีพที่สองที่เขารักและสร้างสามารถสร้างรายได้ได้อีกทาง

 

temp in sept

 

        วันนี้ได้ทำแล้ว สุดท้ายจะเป็นอย่างไรก็ค่อยว่ากันใหม่  – ชายหนุ่มทั้งคู่คิดเห็นตรงกัน อุดมการณ์เดียวกัน สเปซแห่งนี้จึงอบอวลไปด้วยพลังงานอุ่นๆ ที่ชักชวนให้ทุกชีวิตเคลื่อนที่ไปข้างหน้าด้วยจิตใจที่ไม่ยอมแพ้ แม้กระทั่งตัวเอง