กระเตงลูกเบบี๋ ตะลุยเส้นทางชายแดนไทย-พม่า ณ บ้านอีต่อง กาญจนบุรี สไตล์แม่ลูกอ่อนนอนน้อย

“เราไม่รู้ว่าการพาลูกไปท่องเที่ยวช่วงอายุเท่าไหร่ถึงจะดีที่สุด เรารู้แค่ว่าเราอยากให้ลูกได้เห็นอะไรมากขึ้นอีกสักหน่อย เห็นมากกว่าโลกใบเล็กในตึกแถวบ้านตายาย และเห็นหลากหลายกว่าในคอนโดฯ บ้านน้อยหลังเล็กของปะป๊าและหม่าม้า”

     นี่คือสเตตัสที่เราเขียนไว้ เมื่อพวกเราตัดสินใจพาลูกชายวัย 4 เดือนครึ่ง (ในวันนั้น) ออกเดินทางท่องเที่ยวหลายวัน ซึ่งเป็นครั้งแรกของลูก ที่มีพวกเรา พ่อ แม่ รวมทั้งตาและยายไปด้วยกัน โดยมีเป้าหมายเป็นชายแดนไทย-พม่า ณ หมู่บ้านอีต่อง จ.กาญจนบุรี ซึ่งค่อนข้างไกลและเป็นทางขึ้นเขา ที่ต้องเจอกับความโค้งชันทั้งหมด 399 โค้ง

     ด้วยความเชื่อมั่นในกันและกัน บวกการเตรียมตัวมาอย่างดี ทำให้การท่องเที่ยวกับเบบี๋ตลอด 3 วัน 2 คืน เป็นไปอย่างราบรื่น แถมภาพความสวยงามของวิวทิวทัศน์เบื้องหน้าทำให้ลูกชายของเราส่งเสียงออกมาดังๆ พร้อมกางแขน กางขา ยกขึ้นยกลงด้วยความตื่นเต้น ภาพธรรมชาติทำให้ลูกยิ้มง่ายกว่าที่เคยยิ้ม หัวเราะได้เหงือกบานกว่าที่เคยหัวเราะ ทำตาโตเพราะสนใจสิ่งรอบตัวมากกว่าที่เคยสนใจ

     ต่อจากนี้คือเรื่องราวและเรื่องเล่าจากประสบการณ์พาลูกเที่ยว พร้อมภาพถ่ายวิวสวยๆ ที่เราบันทึกเอาไว้ ที่นี่สวยจนอยากชวนให้ลองไปนอนเล่นสักคืนกันสักครั้ง

 

ก่อนเดินทางสู่อีต่อง

     ก่อนหน้าที่จะตัดสินใจพาลูกชายออกเดินทาง ก็มีหลายเสียงคัดค้านถึงการพาลูกวัยเบบี๋ออกเดินทาง บ้างก็บอกว่าไม่ควรพาไป เพราะลูกจะเหนื่อยจากการนั่งรถนานเกินไป เกรงจะไม่สบายจากอากาศ หรือติดเชื้อโรคจากคนอื่นๆ เพราะภูมิคุ้มกันยังไม่ดีพอ บ้างก็ว่าไม่น่าพาไป เพราะลูกวัยนี้ไม่มีทางจดจำอะไรได้ หรือเรียกง่ายๆ ว่าเขายังไม่รู้เรื่อง สิ่งที่ได้กลับไปคงมีแค่พ่อแม่เท่านั้นที่สนุก พร้อมกับภาพถ่ายนับร้อยที่จะเก็บไว้ให้ลูกและเราได้ดูตอนโต

     แต่สำหรับคนในครอบครัวของเราไม่ได้คิดอย่างนั้น ไม่ว่าจะเป็นบรรดาน้าๆ หรือแม้แต่ตาและยายเอง ต่างเห็นพ้องต้องกันว่าเราควรพาลูกชายตัวน้อยออกเดินทางกันตั้งแต่ตอนนี้ และเมื่อทุกอย่างเป็นใจ เราก็ออกเดินทาง

     แต่เพื่อไม่ให้ลูกชายเหนื่อยจากการนั่งรถนานจนเกินไป เราจึงเลือกพักและท่องเที่ยวริมแม่น้ำแควกันที่ อ.ไทรโยค เป็นหมุดหมายแรก ก่อนที่วันรุ่งขึ้นจะเดินทางต่อไปยัง อ.ทองผาภูมิ เพื่อมุ่งหน้าสู่บ้านอีต่องเป็นลำดับสุดท้าย

 

อีต่องวันวาน

     ระยะทางกว่า 150 กิโลเมตรจากไทรโยคสู่บ้านอีต่อง เราใช้เวลาขับรถเกือบ 3 ชั่วโมง ผ่านวิวทิวทัศน์ผืนป่า ยอดภูเขา ท้องฟ้ากว้าง ความสูงชัน และทางโค้งคดเคี้ยว กระทั่งถึงปากทางเข้าหมู่บ้าน ภาพหมู่บ้านอีต่องในวันวานของเราก็ผุดขึ้นมาอีกครั้ง เพราะเราเคยมาที่นี่แล้วถึง 2 ครั้ง เมื่อราวๆ 8-9 ปีที่แล้ว

     ตอนนั้นที่นี่ยังไม่เปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยว เท่าที่จำได้มีร้านอาหารชื่อว่า ครัวสุดแดน และบ้านพักอีต่องโฮมสเตย์เพียงที่เดียวเท่านั้น และหากเทียบกับครั้งนี้ เมื่อก่อนที่นี่คงมีความเงียบสงบราวกับร้างผู้คนเป็นไฮไลต์ มีธรรมชาติและความเย็นชื้นอยู่เป็นเพื่อน มีเสียงลมแรงๆ เป็นทำนองแทนเสียงเพลงจากลำโพงบลูทูธ นอกนั้นก็เหลือเพียงแค่เราและออกซิเจนสะอาดๆ ให้หายใจได้เต็มปอด

     แต่ตอนนี้ ทุกอย่างเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เราเห็นรถจอดริมสระน้ำแน่นขนัด เราเห็นโฮมสเตย์ผุดขึ้นตั้งแต่ปากทางเข้าหมู่บ้านยันท้ายหมู่บ้าน ตกเย็นก็มีถนนคนเดินที่เปิดทุกๆ วันศุกร์ถึงวันอาทิตย์ มีร้านอาหารเกิดขึ้นมากมาย มีของกิน (ขนมและของทะเลแห้งจากเมียนมา) มีร้านโชห่วยแทน 7-Eleven มีความสะดวกสบายตามอัตภาพรอให้คนเมืองอย่างเราได้มาดื่มด่ำ ในความคิดเห็นของเรา ถึงแม้ที่นี่จะเปลี่ยนไป แต่กลิ่นอายเดิมๆ ก็ยังคงมีอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง

อีต่องวันนี้

     “เมื่อวานไฟดับตั้งแต่ห้าโมงเย็นยันแปดโมงเช้า ไม่รู้ว่าวันนี้จะเป็นอีกไหม แต่เรื่องไฟดับเป็นธรรมดาของที่นี่ เพราะต้องแบ่งไฟฟ้าจากหมู่บ้านข้างๆ หากนักท่องเที่ยวมาเยอะ ไฟก็จะไม่พอ คงทำอะไรไม่ได้ ได้แต่ทำใจ” เจ้าของที่พักยิ้มแฉ่ง แต่ก็ยังดีที่เขาแจ้งกับพวกเราไว้ล่วงหน้า

     อีกเพียงราวๆ หนึ่งชั่วโมงก็จะห้าโมงเย็นแล้ว เราเองก็หวั่นใจเพราะมีเด็กเล็กมาด้วย หากดับขนาดนั้นจริง กลางคืนคงลำบากน่าดู ไหนจะล้างพร้อมลวกเครื่องปั๊มนมและขวดนม หากลูกตื่นกินนมกลางดึกล่ะ มืดสนิทขนาดนั้นจะทำยังไง อากาศจะร้อนไหม เราคิดไปต่างๆ นานา

     พึ่บ! และแล้วไฟก็ดับจริง

     พวกเราจึงรีบเตรียมตัวสำหรับยามค่ำคืนที่ไร้ไฟฟ้า เร่งทำทุกอย่างก่อนฟ้าจะมืด อาบน้ำลูกด้วยเครื่องทำน้ำอุ่นแบบแก๊ส ล้างและลวกขวดนมให้เรียบร้อย จัดที่ทางให้ลมเข้าออกสะดวก แล้วก็ปิดประตู เปิดหน้าต่างที่ติดมุ้งกันยุง ก่อนจะออกไปเดินเล่นหาของกินที่ถนนคนเดิน

     ที่พักของเราอยู่ท้ายสุดของหมู่บ้าน ตั้งอยู่บริเวณตีนเขา ทำให้เวลาเดินขึ้นลงเนินเขาบวกกับอุ้มลูกเรียกหอบได้หลายแฮก แต่ในความหอบ มีความเงียบสงบ และได้ความเป็นส่วนตัว

     “ไปเดินเล่นในตลาดได้นะ จริงๆ แล้วเลาะทางข้างล่างก็จะถึงประตูเขื่อนของสระน้ำ ตรงสะพานคล้องกุญแจนั่นแหละครับ ไม่ต้องเดินขึ้นก็ได้” เจ้าของที่พักทักเราทันทีที่เห็นทุกคนเดินขึ้นมาแล้วถามทาง แต่ก็ไม่ทันแล้วค่ะ

     “เอาร่มไปด้วย เกิดจู่ๆ ฝนตก เมื่อวานตกหนักเชียว เดี๋ยวเจ้าตัวเล็กจะไม่สบาย” ว่าแล้วเขาก็ยื่นร่มให้สองคัน

 

 

     หลังจากนั้นเราก็เดินในตลาด ทะลุมาเดินเล่นที่ริมสระน้ำ ย้อนกลับมาหาของกินที่ถนนคนเดินสั้นๆ ภาพตรงหน้าสวยงามตามที่ควรจะเป็น บวกกับอากาศเย็นชื้นราว 23 องศาเซลเซียสในช่วงเดือนพฤษภาคม

     และก่อนที่จะเข้าที่พัก เราก็ได้รับข่าวดี… ไฟมาแล้ว

     ด้วยอากาศที่หนาวเย็นและชื้นตลอดทั้งปี ที่นี่จึงไม่ติดเครื่องปรับอากาศ และใช้เพียงพัดลมทั้งหมู่บ้าน

     “แค่พัดลมก็สะท้านแล้ว กลางคืนอุณหภูมิลดต่ำกว่าที่คิด ไว้ลองนอนดูนะครับ” นี่คือประโยคส่งเข้านอนของเจ้าของที่พัก ซึ่งเป็นอย่างนั้นจริงๆ อากาศค่อยๆ ลดลง นอนสบาย ลูกชายเข้านอนตั้งแต่สองทุ่ม หลับยาว กลางดึกตื่นมาจุ๊บเข้าเต้าพอให้รู้ว่าแม่อยู่ข้างๆ และตื่นเต็มตาอีกครั้งตอนเช้าตรู่

 

  • Tip for baby: เมื่อลูกต้องนั่งรถทางไกลให้นั่งในคาร์ซีต สลับกับพักริมทางหรืออุ้มสักพักเพื่อให้ลูกได้ยึดแข้งยืดขา และหากขึ้นที่สูง ลูกอาจหูอื้อ แนะนำให้เตรียมขวดนม จุกหลอก หรือให้เข้าเต้า เพื่อให้ลูกกลืน ก็จะช่วยให้ลูกไม่งอแง แต่สำหรับลูกชาย หลับไปตลอดทาง ตื่นมาก็ถึงที่หมายแล้ว

 

เหมืองปิล็อก

     ก่อนที่พระอาทิตย์จะโผล่พ้นขอบฟ้า ลูกชายของเราเริงร่ากันแล้ว อากาศเย็นๆ ไอหมอกจางๆ ที่ลอยอยู่รอบตัว ดอกไม้หลากสี เนินเขาสลับสูงต่ำเบื้องหน้าชวนให้ลูกสนใจ กระทั่งฟ้าสว่าง ไอหมอกถูกแสงแดดผลักไส พวกเราเตรียมตัวลูกชายเรียบร้อย และเดินขึ้นไปด้านบนเพื่อไปใส่บาตรในเวลา 07.00 น. กินอาหารเช้าที่ได้ทางที่พักได้เตรียมไว้ให้ และบทสนทนาสนุกๆ ก็ได้เริ่มต้นขึ้น

     “พ่อแม่ของเราเป็นคนพม่าที่มาอาศัยอยู่ที่นี่ เราเกิดและเติบโตที่นี่ ที่ดินตรงนี้ไม่มีโฉนดหรอก มีแค่การถือครองสิทธิ์ในฐานะคนที่อยู่มาก่อน เราจำได้ว่า ราวๆ 30 กว่าปีที่แล้ว ที่นี่มีชีวิตกว่านี้ แถมยังมีโรงหนังด้วยนะ ผู้คนทำอาชีพขุดแร่ เช่น ดีบุก ส่วนทองก็มี แต่สมัยนั้นยังไม่มีราคา มาขายให้เหมืองที่มีอยู่หลายเหมือง

     “หลายคนจะเข้าใจว่า มาที่นี่มาดูเหมือง แต่กลายเป็นว่าไม่มีเหมืองอย่างที่เข้าใจ นั่นเพราะว่าคำว่าเหมืองในอดีต เท่ากับคำว่าบริษัทในปัจจุบัน มีเหมืองรับซื้อแร่มากมาย ดังๆ ก็คือเหมืองสมศักดิ์ หรือร้านขนมป้าเกล็น ส่วนเหมืองปิล็อกก็คือบริษัทที่อยู่ในอำเภอปิล็อก ตั้งอยู่ตรงข้ามซุ้มประตูด้านหน้าถนนคนเดิน ด้านในก็มีรถขุดเก่าให้ชม มีบ่อปลาคาร์ป แต่หากอยากเห็นอุโมงค์ขุดสายแร่จะต้องขึ้นไปด้านบน ระหว่างทางที่จะไปเนินช้างศึก”

 

  • Tip for baby: สำหรับบ้านเรา จะเตรียมสต็อกนมแม่แช่ฟรีซไปด้วย สำรองไว้เกิดแม่ไม่สะดวกให้เข้าเต้าจริงๆ ด้วยการนำถุงนมสต็อกใส่กล่องเล็ก ก่อนนำไปใส่กล่องโฟมที่รองด้วยเจลเย็นแช่แข็ง โปะน้ำแข็งจนเต็ม และเมื่อไหร่ก็ตามที่น้ำแข็งละลาย ให้เทน้ำทิ้งและเติมน้ำแข็งเรื่อยๆ เพียงเท่านี้ก็จะมีตู้เย็นแฮนด์เมดไว้ใช้ตลอดทั้งทริป

 

 

เนินช้างศึก

     อากาศยามเช้าเร่งเร้าให้พวกเราสตาร์ทรถเพื่อไปชมวิวด้านบน จุดแรกเราไปที่เนินเสาธง ซึ่งเป็นจุดที่ระบุชายแดนไทย-พม่า พร้อมธงไทยและธงพม่าตั้งคู่กัน จากนั้นก็วกกลับทางเก่า เพื่อมุ่งตรงไป ‘เนินช้างศึก’ พิกัดที่เราตั้งใจจะพาลูกชายไปชมวิวพาโนรามาภูเขาและขอบฟ้า พร้อมสัมผัสก้อนเมฆที่ลอยต่ำ

     ระหว่างทางขึ้นเนิน จะพบอุโมงค์เล็กๆ ริมทาง หากสังเกตดีๆ จะพบว่าผู้ใหญ่ไซซ์ปกติจะสามารถมุดเข้าไปด้านในได้ บริเวณนั้นเองคืออุโมงค์เหมืองแร่ จุดตั้งต้นและทางเข้าออกของคนงานเหมืองในอดีต

 

 

     และจากที่เราเคยมา เราจำจุดชมวิวที่ประทับใจได้ ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างทาง ก่อนถึงเนินช้างศึกไม่กี่ร้อยเมตร สังเกตต้นไม้ยืนต้นตายเป็นซากไม้สีดำทางด้านซ้ายมือ ข้างหน้าจะเป็นเนินเล็กๆ สามารถเดินขึ้นไปได้ พื้นที่ตรงนั้นยังคงสวยงามเหมือนเดิม วิวเบื้องหน้ายังคงทำให้เราประทับใจเหมือนวันวาน ภาพภูเขาน้อยใหญ่อยู่ไกลริบๆ ด้านล่างคือบ้านอีต่อง และเมื่อพ้นภูเขาลูกไกลๆ ก็คือประเทศเมียนมา

     เราส่งสัญญาณให้ทุกคนลงจากรถ เพราะเวลานี้ก้อนเมฆคล้อยต่ำ ลมแรงๆ พัดเอาก้อนเมฆและไอหมอก เคลื่อนผ่านตัวเราไปเรื่อยๆ จากภาพสีเขียวของต้นไม้และภูเขา กลายเป็นภาพสีขาวขุ่นๆ ของไอหมอก พร้อมความเย็นกำลังดี เวลานี้คงไม่มีอะไรดีไปกว่าการยืนรับสิ่งดีๆ อยู่อย่างนี้ อากาศก็ดี วิวก็สวย แถมยังมีครอบครัวอยู่ข้างๆ อีก… สบายใจ

 

 

     ไม่นานไอหมอกก็หยุดเคลื่อนตัว เราลงจากเนินที่ไม่มีชื่อนี้ แล้วไปเดินเล่นชมวิวกันต่อที่เนินช้างศึก พวกเราใช้เวลาละเลียดบรรยากาศนั้นอยู่นาน ลูกชายตัวน้อยก็พลอยตื่นเต้นไปกับทุกสิ่งที่เห็นและเกิดขึ้น ยายและตาต่างพากันชี้ชวนให้ดูธรรมชาติ พร้อมเอ่ยเป็นคำศัพท์ต่างๆ ช้าๆ เพื่อให้หลานชายได้ร่วมฟัง

     มาถึงตรงนี้ เราในฐานะแม่มือใหม่ ดีใจเหลือเกินที่ตัดสินใจพาลูกมาด้วย อย่างน้อยๆ สิ่งที่ลูกไม่เคยเห็นเขาก็ได้เห็น ได้เก็บไว้ในส่วนลึกของความทรงจำ ซึ่งเราก็ไม่รู้หรอกว่าประสบการณ์เล็กๆ นี้เขาจะนำไปประยุกต์ใช้กับเรื่องอะไรในชีวิตข้างหน้าได้บ้าง แต่เรามีหน้าที่แค่ช่วยนำพาสิ่งดีๆ ให้เขาเท่านั้นเอง