มีเรื่องเล่าขานถึงความหมายและความเชื่อของเทศกาลโคมไฟไว้มากมาย บ้างกล่าวว่าเป็นช่วงเวลาของการบูชาไท่อี้ เทพเจ้าแห่งฟ้าผู้กุมชะตาชีวิตมนุษย์ บ้างเห็นเป็นอนุสรณ์เพื่อระลึกถึงนักรบผู้นำการก่อกบฏต่อต้านกษัตริย์เผด็จการสมัยจีนโบราณ บางตำนานบอกว่า เทศกาลโคมไฟกำเนิดขึ้นจากการวางแผนเพื่อให้สาวใช้ในวังได้มีโอกาสพบหน้าพ่อแม่ของเธอ
ด้วยระยะเวลายาวนานกว่า 2,000 ปีมาแล้วที่การเฉลิมฉลองของเทศกาลโคมไฟเริ่มต้นขึ้นและขยายวัฒนธรรมออกไปจนกลายเป็นเทศกาลที่หลายประเทศทั่วโลกต่างมีเป็นของตนเอง เราจึงไม่อาจฟันธงได้ว่าตำนานไหนแท้จริงยิ่งกว่ากัน แต่ในความหลากหลายของเรื่องเล่าเหล่านี้ล้วนมุ่งสู่ความหมายถึง ‘การเฉลิมฉลอง’ ‘ความหวัง’ และ ‘การขอพร’
เช่นเดียวกับ ‘ไต้หวัน’ เกาะขนาดกะทัดรัดที่มีวัฒนธรรมจีนเป็นวัฒนธรรมหลัก จึงมีเทศกาลโคมไฟเป็นของตัวเองเหมือนกัน โดยเริ่มอย่างเป็นทางการต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 1990 จนเข้าสู่ปีที่ 30 แล้ว ชาวไต้หวันทุกคนต่างรู้กันว่า ทุกวันที่ 15 เดือน 1 ตามปฏิทินจันทรคติ หรือวันสุดท้ายในการฉลองเทศกาลปีใหม่ของจีน คือวันที่เทศกาลโคมไฟเริ่มต้นขึ้น โคมไฟน้อยใหญ่หลากหลายสีสัน ต่างถูกนำมาจัดแสดงไว้อย่างสวยงาม ให้ผู้คนได้เข้าไปสัมผัส และเดินแหวกว่ายท่ามกลางทะเลโคมไฟ
‘ทูน่ายักษ์แห่งความมั่งคั่ง (Giant Tuna Bringing Wealth)’… โคมไฟหลักของเทศกาลโคมไฟไต้หวัน 2019 ภาษาจีนออกเสียงว่า ‘จี้เหว่ยไหลฟู่’
หากเคยมาเที่ยวเทศกาลโคมไฟไต้หวันในปีก่อนๆ คุณคงแปลกใจว่า ทำไมโคมไฟในปีนี้ต่างจากปีที่ผ่านมา เพราะทุกๆ ครั้งมักจะใช้สัตว์ประจำปีนักษัตรเป็นคาแร็กเตอร์ของโคมไฟหลัก ส่วนสาเหตุที่เลือกใช้ทูน่าในปีนี้เป็นเพราะว่า พื้นที่หลักที่ใช้ในการจัดงานอย่าง ‘ตงกัง’ นับเป็นเมืองที่มีผลผลิตทางการประมงเยอะ และมีปลาทูน่าเป็นหนึ่งในสินค้าที่มีชื่อเสียง ซึ่งเจ้าโคมไฟทูน่ายักษ์นี้มีความสูงทั้งสิ้น 16 เมตร ถูกออกแบบให้เป็นท่าทางของปลาทูน่าที่กำลังทะยานตามคลื่นลม แสดงให้เห็นถึงพลังแห่งชีวิตของไต้หวัน พร้อมทั้งเป็นสัญลักษณ์แห่งความมั่งคั่ง และความอุดมสมบูรณ์
ขณะตะวันลับขอบฟ้า ณ อ่าวต้าเผิง… สีเหลืองส้มของท้องฟ้ายามเย็นคลอเคล้าไปกับสีสันจัดจ้านของโคมไฟภายในงาน ไม่ว่าจะยืนชมจากมุมใดก็ตาม คุณจะสามารถมองเห็นการเปลี่ยนแปลงของแสงสีบนตัวปลาโดยรอบด้าน
หลังจากนี้ ถึงแม้เทศกาลโคมไฟจะหมดลง แต่เจ้าทูน่ายักษ์จะยังตั้งตระหง่านเป็นแลนด์มาร์กประจำอ่าวต้าเผิงต่อไป ส่วนโคมไฟอื่นๆ จะถูกแบ่งไปไว้ในธีมปาร์กของไต้หวัน และบางส่วนจะส่งไปจัดแสดงตามเทศกาลโคมไฟในประเทศต่างๆ ทั่วโลก
ระลอกคลื่นท่ามกลางทะเลโคมไฟ… ผู้คนทยอยเดินเข้างานราวกับระลอกคลื่นท่ามกลางทะเลโคมไฟ มีทั้งพ่อแม่ลูก ปู่ย่าตายาย คู่รัก และกลุ่มวัยรุ่มที่จับกลุ่มกันมา รวมทั้งนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางมาชมความสวยงามของทัศนียภาพในยามนี้
โคมไฟทูน่ายักษ์เจิดจรัส… กลุ่มผู้ชมและสื่อมวลชนมาร่วมรอเก็บภาพของพิธีซ้อมเปิดงานกันจนแน่นขนัด ท่ามกลางแสงสีเสียงที่จัดให้อย่างเต็มเปี่ยม
ประกายพลุกลางอ่าวต้าเผิง… สัญญาณแห่งการเฉลิมฉลอง ที่บ่งบอกว่า เทศกาลโคมไฟไต้หวัน 2019 เริ่มต้นขึ้นแล้ว
โซนโคมไฟสำหรับครอบครัว… สีสันแห่งความสนุกสนานที่ผสมผสานความใหม่และความดั้งเดิมเข้าด้วยกัน
โคมไฟใบหน้าเด็กชาย… โคมไฟที่ส่องสะท้อนวิถีชีวิตของคนท้องถิ่นและผู้คนที่อพยพมาตั้งรกรากในไต้หวัน ใบหน้าของเด็กชายที่เกิดจากความหลากหลายของเชื้อชาติซึ่งสามารถสอดประสานอยู่ร่วมกันอย่างลงตัว
ซุ้มโคมไฟน้อยใหญ่… เพราะหมูคือสัญลักษณ์ของปีนักษัตรปีนี้ เราจึงเห็นหลายซุ้มโคมไฟมีรูปหมูในคาแร็กเตอร์ต่างๆ ร่วมอยู่ด้วย
ความเป็นพื้นถิ่นผสมผสานกับวัฒนธรรมร่วมสมัย… เทศกาลโคมไฟปีนี้ได้เชื้อเชิญศิลปินชื่อดังจากทั่วโลกมาร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานที่มีความเป็นท้องถิ่นและสากล ในรูปแบบที่หลากหลายและแปลกใหม่กลายเป็นโคมไฟที่เป็นดั่งผลงานศิลปะร่วมสมัย
สุกรสุขี (ผิงอันจู)… นอกจากชุดโคมไฟเพื่อการประดับประดาภายในงานแล้ว ทุกๆ ปียังมีโคมไฟน้อยๆ ที่บรรดาเด็กๆ ต่างรอคอย เพราะพวกเขาจะได้เดินถือเข้าไปเที่ยวชมเทศกาลโคมไฟ โดยในปีนี้ตั้งชื่อว่า ‘ผิงอันจู’ แปลว่า ‘สุกรสุขี’ ซึ่งนักท่องเที่ยวที่เข้าร่วมเทศกาลโคมไฟปี 2019 นี้จะได้รับโคมไฟขนาดมือถือชิ้นนี้ไว้เดินเข้างานด้วย
กล้องถ่ายรูป… อีกหนึ่งอุปกรณ์ที่ขาดไม่ได้ หากคิดจะมาเดินเที่ยวเทศกาลโคมไฟ
เทศกาลโคมไฟไต้หวัน ปี 2019 เริ่มตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ ไปจนถึง 3 มีนาคม โดยแบ่งออกเป็น 3 โซน ได้แก่
o โซนโคมไฟอ่าวต้าเผิง
o โซนโคมไฟผิงตง
o โซนโคมไฟอำเภอตงกัง
ขอขอบคุณการท่องเที่ยวไต้หวัน สำหรับประสบการณ์ที่แสนอบอุ่นและประทับใจตลอดการเดินทาง
ข้อมูลเพิ่มเติม: https://2019taiwanlantern.taiwan.net.tw