เมื่ออำนาจของประชาชนถูกปล้นอย่างไม่รู้ตัว เสียงเล็กๆ ถึงความไม่ชอบมาพากลไม่อาจถูกส่งผ่านตาข่ายของการเซ็นเซอร์จากอำนาจที่ใหญ่กว่า สิ่งที่จะแสดงออกถึงข้อสงสัย ความไม่พอใจ และคำทักท้วงจึงกลายเป็นศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นศิลปะในพิพิธภัณฑ์สุดหรู หรือกราฟฟิตีข้างถนน สิ่งนั้นก็คือน้ำเสียงของผู้สร้างมันขึ้นมา ซึ่งนอกจากบทบาทของศิลปิน พวกเขาก็คือ ‘ประชาชน’ และเป็นประชาชนที่มีส่วนร่วมกับสังคมที่ตนอาศัยอยู่ในฐานะ ‘Active Citizen’
“ความตั้งใจที่จะแยกศิลปะออกจากการเมืองมันโคตรจะเป็นเจตจำนงทางการเมืองในตัวมันเองเลย”
อ้าย เว่ยเว่ย ศิลปินและนักเคลื่อนไหวชาวจีนผู้ถูกทางการจีนมองว่าเป็นบุคคลอันตราย จากกรณีที่เขาท้าทายและตั้งคำถามต่ออำนาจรัฐหลายต่อหลายครั้ง กล่าวถึงทัศนคติของเขาต่อศิลปะไว้แบบนั้น
ก็เหมือนที่ศิลปินหนุ่มสองคนอย่าง ณัฐดนัย จิตต์บรรจง และศิลปินกราฟฟิตี Headache Stencil ได้ลุกขึ้นมาทำงานนิทรรศการศิลปะในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันท่ามกลางอุณหภูมิทางการเมืองของบ้านเราที่กำลังระอุคุกรุ่น ทั้งในแบบที่จะแจ้ง นำเสนออย่างรุนแรง ตรงไปตรงมา และทั้งในแบบที่ลุ่มลึก แยบคาย เพราะนอกจากทบาทของศิลปิน พวกเขาก็คือ ‘ประชาชน’ และเป็นประชาชนที่มีส่วนร่วมกับสังคมที่ตนอาศัยอยู่ในฐานะ ‘Active Citizen’
ก็อย่างที่ อ้าย เว่ยเว่ย ได้กล่าวไว้อีกนั่นแหละว่า “ศิลปะคือเสรีภาพในการแสดงออก คือหนทางใหม่ในการสื่อสาร มันไม่ใช่การจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ หรือการถูกแขวนบนฝาผนัง ศิลปะควรดำรงอยู่ในหัวใจของผู้คน …จุดประสงค์ของศิลปะคือการต่อสู้เพื่อเสรีภาพ”
เมื่ออำนาจของประชาชนถูกปล้นอย่างไม่รู้ตัว
นิทรรศการชื่อ LOOT หรือในชื่อไทยว่า สะดม โดย ณัฐดนัย จิตต์บรรจง นักปฏิบัติการศิลปะหนุ่มรุ่นใหม่ ที่สนใจในการสำรวจโครงสร้างอำนาจทางสังคม การเมือง ผ่านความเป็นวัตถุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่มุมของมิติทางประวัติศาสตร์ มาจากการสำรวจบริบททางความคิดของการล่าอาณานิคมยุคใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสงครามเวียดนาม ลาว เขมร รวมถึงประเทศไทย เขามองว่า งบประมาณของประเทศจำนวณมหาศาลถูกใช้ไปเป็นค่าใช้จ่ายในการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้อำนาจทางทหาร
ยิ่งเมื่อรัฐบาลเผด็จการในกลุ่มประเทศอาเซียน 11 ประเทศจับมือกัน คือประเทศไทย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมา ลาว เวียดนาม กัมพูชา บรูไน และติมอร์-เลสเต ก็ยิ่งเห็นได้ชัดว่าการพัฒนาแข่งขันเรื่องอาวุธเป็นประเด็นสำคัญลำดับต้นๆ ของแต่ละประเทศ จึงเป็นที่มาในการทำงานผ่านสัญลักษณ์ของอำนาจทางทหาร ซึ่งก็คืออาวุธอย่างลูกกระสุนปืน จาก 11 ประเทศในอาเซียนนั่นเอง
ในห้องแสดงงาน ลูกกระสุนปืนที่เป็นภาพแทนของความรุนแรง การเข่นฆ่า คุกคาม ทำลาย ถูกนำมาจัดแสดงในฐานะศิลปวัตถุที่ดูอลังการ เลอค่า สง่างาม
“ผมตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับประเทศในแถบอาเซียน ที่เมื่อเทียบกับพื้นที่แถบอื่นๆ ในโลก มักจะเป็นภูมิภาคที่มีประชาธิปไตยน้อยกว่า และมักจะใช้เงินงบประมาณของประเทศที่ได้จากภาษีประชาชนมาควบคุมจัดการ หรือเข่นฆ่าประชาชนของตัวเอง ผมจึงทำการค้นคว้าว่ากองทัพในแต่ละประเทศในแถบนี้มีการใช้อาวุธปืนอะไรเป็นมาตรฐาน แล้วนำไปเทียบว่าอาวุธปืนเหล่านั้นใช้กระสุนอะไรกันบ้าง หลังจากนั้นผมจึงไปเสาะหาปลอกกระสุนเหล่านี้มาในรูปแบบของ found object วัสดุเก็บตก ส่วนหัวกระสุน ผมหลอมขึ้นมาใหม่ โดยใช้ส่วนผสมของโลหะในชนิดและสัดส่วนเดียวกับเหรียญเงินตราของแต่ละประเทศเหล่านี้
“ส่วนการจัดวาง ผมสร้างบรรยากาศที่ดูเหมือนว่ากระสุนเหล่านี้เป็นของสะสมที่เก็บมาจากสิ่งที่หลงเหลือจากยุคก่อนหน้า ดังนั้น กระสุนจึงถูกขัดถูและเคลือบเงาจนแวววาว และจัดแสดงในกล่องครอบกระจกใส ทาสีผนัง ติดป้ายแสดงข้อมูล และจัดแสงที่ให้ความรู้สึกเหมือนกับมันเป็นวัตถุที่ถูกจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ ข้อมูลที่อยู่ในป้ายจะเป็นขนาดของกระสุน ภูมิลำเนาที่มา น้ำหนัก ชนิดของโลหะ และมูลค่าของเหรียญเงินเมื่อเทียบกับน้ำหนักของโลหะเมื่อนำมาหลอมเป็นกระสุน”
กระสุนของแต่ละประเทศถูกจัดแสดงในแต่ละกล่อง แขวนเรียงรายอยู่บนผนังรอบห้องแสดงงาน แต่ที่โดดเด่นในกล่องครอบใสขนาดใหญ่กลางห้องคือกระสุนศิลปะอันแววาว ที่โดยรอบมีแผ่นกระดาษขนาด A4 พิมพ์ข้อมูลรายละเอียดและตัวเลขต่างๆ วางไว้อยู่
“กระดาษเหล่านี้ก็เป็นเหมือนกับ found object ที่ได้มาจากงบประมาณปี 2562 ของกองทัพไทย ซึ่งเป็นข้อมูลที่เราทุกคนเข้าถึงได้จากอินเทอร์เน็ต ผมนำมาวางแสดงประกอบกับกระสุนเพื่อเป็นเหมือนการขยายความและทำความเข้าใจไปถึงผลงานชิ้นอื่นๆ ที่เป็นตัวแทนของกองทัพในประเทศต่างๆ ในอาเซียนด้วย เอาจริงๆ ผมไม่ได้ทำงานชุดนี้เพื่อวิพากษ์วิจารณ์กองทัพไทยหรือสถานการณ์ทางการเมืองไทยในปัจจุบันนะ แต่แค่อยากทำความเข้าใจกับโครงสร้างของประเทศเหล่านี้ว่ามันเกิดอะไรขึ้นกันแน่ สำหรับผมแล้วมันคือการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้มากกว่า”
LOOT : สะดม
วันจัดแสดง: 9 มีนาคม-11 พฤษภาคม 2562
สถานที่: Gallery VER Project Room ซอยนราธิวาส 22 (สาธุประดิษฐ์ 15)
เปิดให้เข้าชม: ทุกวันพุธ-อาทิตย์ เวลา 12.00-18.00 ณ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
ข้อมูลเพิ่มเติม: โทร. 0-2103-4067 / Facebook: Gallery VER / E-mail: [email protected]
*หมายเหตุ: ข้อมูลบางส่วนเรียบเรียงจากบทความประกอบนิทรรศการโดย ถนอม ชาภักดี และขอขอบคุณภาพและข้อมูลจาก Gallery VER
…
ใช้การเสียดสีเพื่อท้าทายและปลดแอกออกจากอำนาจที่ไม่ชอบมาพากล
ขณะเดียวกัน เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ Headache Stencil มีนิทรรศการแสดงเดี่ยวชื่อ Thailand Casino แสดงออกถึงความกล้าหาญ สนุกสนานและตรงไปตรงมาของศิลปินผู้ต้องการแสดงความเห็นและความรู้สึกส่วนตัวในเรื่องการเลือกตั้งครั้งใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในประเทศไทย
วัตถุประสงค์ของนิทรรศการชุดนี้คือต้องการเป็นตัวแทนของการเปลี่ยนแปลงผ่านการสร้างสรรค์ภาพความรู้สึกของศิลปินในหัวข้อที่กำลังเป็นการถกเถียงมากที่สุดในสังคมไทยปัจจุบัน นอกจากนี้ยังเป็นการสนับสนุนให้ผู้ชมที่ได้เข้ามาดูงานมีความกล้าที่จะแสดงออกและตอบโต้กับปัญหาโครงสร้างของอำนาจที่ครอบงำในทุกอณูของสังคมไทย ดังที่ได้เห็นจากผลและเหตุการณ์ภายหลังการเลือกตั้งทุกครั้งที่ผ่านมาในประเทศไทย
“ในมุมมองที่ผมโตขึ้นมา เคยได้เลือกตั้ง เคยอยู่ตรงที่เขามีม็อบมาสองสามม็อบ ถ้าวัดเรื่องการเมืองเป็นกลิ่น สำหรับผมตอนนี้เป็นกลิ่นที่เหม็นที่สุดตั้งแต่ผมเคยได้กลิ่นมา เหมือนมันไม่จำเป็นต้องมีจรรยาบรรณ ไม่จำเป็นต้องมีศักดิ์ศรีอะไรกันแล้ว มันเปิดหน้าทำอะไรที่หน้าด้านได้หน้าตาเฉย เช่น อยู่ดีๆ คุณให้เจ้าหน้าที่รัฐไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน ซึ่งมันขัดกับเหตุผลที่คุณเข้ามา หรือสิ่งที่คุณพูดตลอดว่าต้านคอร์รัปชัน ต้านโกง คุณบอกว่าคุณไม่ได้คอร์รัปชัน คุณพูดได้ แต่พอถึงคิวคุณ คุณกลับไม่ยอมยื่นบัญชีทรัพย์สินน่ะ มันยิ่งทำให้ตรวจสอบยากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งปกติก็ตรวจสอบกันแทบไม่ได้อยู่แล้ว ถึงสอบได้ ก็ทำอะไรไม่ได้ ผมเลยคิดว่าตอนนี้มันเหม็นมาก”
“บางคนอาจบอกว่าที่เขาทำแบบนี้ได้เพราะเขามีปืน ซึ่งมันก็มีเหตุผลแหละ แต่จริงๆ แล้วถามว่า ต่อให้ประเทศเราอยู่ในสภาวะแบบนี้ อยู่ๆ เขาจะเอาปืนมายิงเราทิ้งก็ไม่ได้หรอก ยิ่งจังหวะนี้ที่เขาจะต้องทำตัวหล่อมากๆ เขาจะไม่กล้ามาแตะ ไม่กล้ามาทำอะไรที่ดูงี่เง่ามากเท่าไหร่ ผมว่าในเวลานี้ คนที่มีความรู้ความสามารถในประเทศนี้ยิ่งควรจะออกมาพูด ออกมาวิจารณ์หรือวิเคราะห์ในสิ่งที่เกิดขึ้น คุณเห็นอะไรที่มันไม่ดีมา ถ้าคุณเป็นคนที่ชี้นำความความคิดคน หรือกระตุ้นให้คนกลับไปคิดต่อได้ คุณก็ควรจะออกมาพูด”
เมื่อถามว่าศิลปินจำเป็นต้องข้องแวะกับการเมืองไหม? เขาตอบว่า
“ผมไม่คิดว่าศิลปินทุกคนจำเป็นต้องข้องแวะกับเรื่องการเมืองนะ ทุกคนมีเรื่องที่ตนเองสนใจ ศิลปินทุกคนมีสารที่ตัวเองอยากจะส่งผ่านงานศิลปะของตนเอง แต่ผมเสือกไปสนใจเรื่องการเมืองมากที่สุด เพราะสิ่งที่ผมชอบพูดชอบคุยก็คือเรื่องการเมืองไง แต่ถ้าเราไปทำเรื่องที่เราไม่ได้สนใจจริง ไม่มีแม้กระทั่งอุดมการณ์หรือแนวคิดของตัวเองจริงๆ เราจะไปพูดไปอธิบายถึงสิ่งที่เราทำให้คนอื่นเข้าใจได้ยังไง ถ้าคนอื่นเถียงหรือถามเรามา เราก็จะไม่มีข้อมูล ไม่มีทางไปตอบเขาได้ สุดท้ายเราก็จะเป็นแค่ตัวปลอมคนหนึ่งที่คอยเกาะสถานการณ์หรือกระแสสังคมเท่านั้นเอง”
นิทรรศการครั้งนี้อยู่ภายใต้กฎกติกาการเลือกตั้งที่พิสดารมากๆ และเขามองว่ามันคือการเดิมพันครั้งสำคัญของประเทศไทย
“ผมว่านี่มันเป็นการเดิมพันชาติ การเลือกตั้งครั้งนี้มันเดิมพันชาติจริงๆ ต่อให้ฝ่ายประชาธิปไตยเป็นรองมากๆ ต่อให้รู้ว่าเลือกไปยังไงเขาก็จะต้องชนะอยู่แล้ว แต่ผมว่าอย่างน้อยที่สุด เราก็ควรจะออกมาแสดงสิ่งที่เราคิด ว่าเราเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เขาทำอยู่ตอนนี้”
เพราะเมื่อไม่มีเสรีภาพในการแสดงออก ความงามของชีวิตก็จะสูญหาย การมีส่วนร่วมในสังคมจึงไม่ใช่แค่ตัวเลือกทางศิลปะ แต่มันคือความจำเป็นของมนุษย์
Thailand Casino
วันจัดแสดง: ตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์-31 มีนาคม 2562
สถานที่: WTF Gallery & Cafe ซอยสุขุมวิท 51 (สถานีรถไฟฟ้า BTS ทองหล่อ)
เปิดให้เข้าชม: ทุกวันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 16.00-22.00 น. โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
ข้อมูลเพิ่มเติม: โทร. 0-2262-6246, 08-9926-5474 / Facebook: WTF Gallery and Cafe / E-mail: [email protected]
*ขอขอบคุณภาพจาก: WTF Gallery & Cafe