เซตถ่ายภาพวิวเทือกเขาคิโสะ-โคมะ (Kisokoma) ในจังหวัดนากาโน่ ผ่านเพจ My Way JAPAN : เดินเล่นในญี่ปุ่น จากฝีมือการถ่ายภาพของ Mapletro Photography หรือ ‘ติ๊บ’ อดีตช่างภาพประจำวงค็อกเทล ซึ่งปัจจุบันเธอเป็นช่างภาพฟรีแลนซ์อยู่ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
หุบเขารูปครึ่งวงกลม
“ก่อนที่จะตัดสินใจมาอยู่ญี่ปุ่นโดยถือวีซ่าระยะยาว เราเคยลองมาปรับตัวและถามความแน่ใจของตัวเองด้วยการถือวีซ่าระยะสั้นและระยะกลางมาแล้ว จนเรามั่นใจว่า เราอยู่ได้ และเราจะอยู่ให้ได้” (หัวเราะ)
สิ่งที่จะการันตีว่าอยู่ได้ หนึ่งในนั้นก็คือการออกไปปีนเขา ที่เป็นกิจกรรมหลักในช่วงฤดูร้อนของชาวญี่ปุ่น แต่ลักษณะการปีนเขาของคนที่นี่มีหลายแบบ แต่ที่ง่ายที่สุดและได้รับความนิยมมากที่สุดคือ ‘ยามะโนโบริ’ (yamanobori)
“หากบอกว่า เราจะไปไฮกิ้งกุ (hiking) ทุกคนก็เข้าใจตรงกันว่า เป็นการเดินป่าและปีนเขาแบบเช้าเย็นกลับ แต่หากเราบอกว่าจะไปยะมะโนโบริ ชาวญี่ปุ่นก็จะรู้กันว่าไป ‘ปีนเขา’ ทั้งเขาลูกเล็ก หรือเขาลูกใหญ่ แบบค่อยๆ เดิน ไปเช้าเย็นกลับก็ได้ หรือจะค้างคืนก็ดี โดยคนส่วนใหญ่จะพกอุปกรณ์แคมปิ้งเล็กๆ เช่น เตาแก๊สกระป๋องไว้ต้มน้ำ ดริปกาแฟ อุปกรณ์ทำอาหารง่ายๆ เก้าอี้พับได้ต่างๆ เพื่อนั่งชมวิวอยู่บนยอดเขาก่อนจะเดินกลับลงมา”
เธอบอกว่า หมุดหมายของเธออยู่ที่ยอดเขาลูกที่สามที่มีชื่อว่า Kiso-Komagatake ซึ่งตั้งอยู่ในเทือกเขาคิโสะ-โคมะ และบริเวณหุบเขาเซนโจจิกิ เป็นเส้นทางปีนเขายอดฮิตของชาวญี่ปุ่น เธอจึงเลือกมาที่นี่ และเธอก็ไม่ผิดหวัง เมื่อภาพแรกที่เห็นก็คือหุบเขารูปครึ่งวงกลมที่อลังการ พร้อมแสงแดดที่ดูร้อน แต่อากาศด้านบนกลับเย็น อุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ 12-14 องศาเซลเซียส
“ที่นี่สวยมาก สวยจนลืมไปเลยว่า ‘ความคิด’ คืออะไร ยิ่งตอนที่เราไปเป็นฤดูร้อน หุบเขาแห่งนี้ก็จะแต่งแต้มไปด้วยสีเขียว แต่หากมาในช่วงฤดูใบไม้ร่วงที่นี่จะเปลี่ยนเป็นสีส้ม”
ทะเลหมอกตอนเก้าโมง
“เราเริ่มต้นกันที่สถานีติดเขา ซึ่งเป็นกระเช้าลอยฟ้า (ropeway) เราได้ขึ้นกระเช้าเป็นรอบแรกๆ โดยใช้เวลาประมาณ 7 นาทีครึ่ง ก็มาถึงสถานีเซนโจจิกิ ระยะเวลาเจ็ดนาทีกว่า เรามองไม่เห็นอะไรเลย เพราะโดนอัดแน่นอยู่ในกระเช้าท่ามกลางนักปีนเขาสมัครเล่นและมืออาชีพกว่า 40 คน แล้วเราดันอยู่ตรงกลางพอดี แต่เมื่อเราออกมาจากกระเช้า สิ่งที่เราเห็นก็คือ ทะเลหมอกในช่วงสาย ทั้งๆ ที่แดดแรงจัด รู้สึกชื่นใจจัง”
ยินดีต้อนรับนักปีนเขามือใหม่
“เราเป็นคนเดินช้า เพราะอ้อยอิ่งอยู่กับถ่ายภาพ สายตาของเราไม่ได้มองแค่พื้น ไม่ได้มองแค่วิวเบื้องหน้า แต่เรามอง 360 องศา มองไปถึงผู้ร่วมเดินทางคนอื่น แล้วเราก็พบว่าทุกคนแบกเป้ขนาดใหญ่ ด้านในเต็มไปด้วยอุปกรณ์ปิกนิกแบบมินิ มีทั้งเตาแก๊สพกพา อุปกรณ์ทำอาหารพับได้ อุปกรณ์ดริปกาแฟ ขนมและอาหารต่างๆ ที่แล้วแต่แต่ละคนจะเลือกพกขึ้นไป เพื่อวางทุกอย่างลงแล้วดื่มด่ำบรรยากาศตรงหน้า พร้อมดื่มกินเครื่องดื่มและอาหารสุดโปรด เราว่าจุดนี้คือความโรแมนติกของการปีนเขา ส่วนเราพกแค่ข้าวปั้นกับขวดน้ำ (หัวเราะ)
“อีกอย่าง การแบกเป้ใบใหญ่พร้อมชุดปีนเขาจัดเต็มสำหรับบางคนคือการมาซ้อมร่างกายด้วยการจัดกระเป๋าจริง เพื่อประเมินตัวเอง บางคนมาเพื่อนวดรองเท้าไฮกิ้งคู่ใหม่ให้สอดรับไปกับรูปเท้า นักปีนเขาหลายคนเป็นผู้สูงวัย แต่เท่าที่สังเกตลักษณะการเดิน ท่าทางการปีนเขาแล้วรู้เลยว่าไม่ธรรมดา เราเห็นคุณพ่อจูงมือลูกสาวตัวน้อยวัยประมาณเจ็ดขวบมาเดินด้วย น่ารัก และเด็กก็ดูสนุกมาก ดังนั้น สาวๆ อย่างเราต้องไม่ยอมแพ้ ลุย!”
แฟชั่นปีนเขาของชาวญี่ปุ่น
“เราชอบแฟชั่นการแต่งตัวของชาวญี่ปุ่น มีความน่ารัก มิกซ์แอนด์แมตช์ได้เสมอแม้ว่าจะเป็นการปีนเขา อย่างนักปีนเขาสองคนนี้ที่แต่งตัวคู่ มองปราดเดียวก็รู้ว่าจัดเต็ม มืออาชีพแน่นอน แต่จะแฟชั่นอย่างเดียวก็ไม่ได้ เพราะต้องเลือกออปชันด้วย อย่างในรูปนี้จะสังเกตเห็นผ้าสีส้มบริเวณหน้าแข้ง เราคิดว่าช่างเหมือนถุงเท้ากันทากเวลาเดินป่าหน้าฝน แต่แท้ที่จริงแล้วคือผ้ากันลมกันหนาวเฉพาะส่วน และนั่นก็กันส่วนหน้าแข้ง ซึ่งช่วยได้เยอะเลย
“แต่หลักๆ แล้วนักปีนเขาจะต้องมีเครื่องแต่งกาย 3 ชนิดที่ขาดไม่ได้ คือ ‘รองเท้าปีนเขา’ พื้นรองเท้าจะต้องมีความยึดเกาะสูง กระชับและล็อกข้อเท้าได้เป็นอย่างดี ‘หมวกกันยูวี’ เพราะด้านบนแดดจะแรงมาก และ ‘เลกกิ้งปีนเขา’ ที่ชาวญี่ปุ่นออกแบบมาแล้วว่าช่วยกระชับกล้ามเนื้อขา ทำหน้าที่ซัพพอร์ตไม่ให้เราปวดขาเวลาเดินมากๆ หรือเดินทางชัน
“ตอนแรกเราก็ไม่เชื่อ แต่ด้วยความอยากลองเราจึงไปซื้อมาใส่ และก็รู้ว่าไม่ค่อยปวดขาเลยหากเทียบการเดินขึ้นเขาขนาดนี้ อีกอย่างเนื้อผ้าของเลกกิ้งจะแตกต่างกันตามฤดูกาล เนื้อผ้าสำหรับฤดูร้อนจะระบายอากาศได้ดี กันยูวีด้วย ส่วนฤดูใบไม้ผลิและฤดูใบไม้ร่วงก็จะช่วยกักเก็บความอุ่นและกันยูวีได้เช่นกัน หากใครปีนเขาเราเชียร์ให้ซื้อ
“ส่วนที่เหลืออย่าง เป้ ก็ต้องเลือกแบบซัพพอร์ตหลัง ซึ่งมีหลายขนาด บางคนก็ต้องใช้ไม้เท้าปีนเขาเพื่อช่วยดันตัวเองให้เดินขึ้นไปได้ง่าย แต่เราไม่ใช้เพราะมือไม่ว่างแล้ว” (หัวเราะ)
‘ครึ่งทาง’ และความหมายของการหยุดพักระหว่างทาง
“จาก ropeway เราเดินตามหิน ซึ่งเป็นทางเดินกึ่งธรรมชาติ โดยการนำท่องซุงขนาดย่อมๆ มากั้นหินไว้ให้คล้ายบันได เพื่อให้นักปีนเขาเดินได้อย่างสะดวก เมื่อเราเดินมาจนถึง ‘ครึ่งทาง’ ก็หันหลังกลับไปมอง เราก็พบภาพนี้ ทุกอย่างยังคงสวยหยด สะกดการเคลื่อนไหวของเราให้หยุดนิ่ง เสี้ยวนาทีเราคิดขึ้นมาว่า บางอย่างการได้หันหลังกลับไปมองบ้างก็ดี จะได้เห็นความสวยงามอีกมุม
“ชีวิตก็เหมือนกัน เมื่อเจออะไรแย่ๆ ลองมองหันหลังกลับไปดู แล้วก็จะรู้ว่า สุดท้ายก็ไม่มีอะไรแย่ เพราะในความแย่นั้น เมื่อผ่านมาแล้วเราก็มองเห็นด้านดีที่เหลืออยู่ เหมือนกับการปีนเขาครึ่งทางในวันนี้”
ไปปีนเขาคนเดียว แต่ไม่ได้ปีนอยู่คนเดียว
“อีกนิดเดียวเราจะเข้าใกล้ยอดที่หนึ่งที่มีชื่อว่า Nokkoshijodo จุดนี้เป็นไฮไลต์ของการปีนเขา เราเห็นว่าข้างหน้าคือ ทางบันได แต่เอาเข้าจริงๆ ต่อให้เป็นทางบันได ก็ยังปีนลำบากอยู่ดี เพราะทางชันและแคบ เราต้องคอยมองหาที่เหยียบของตัวเอง เพื่อให้เดินและก้าวขึ้นไปได้ บางครั้งจะต้องเดินซิกแซ็กซ้ายขวา เห็นว่าเป็นทางไม่ไกล แต่เราเริ่มเหนื่อย เริ่มหอบ และมองหาจุดที่จะหยุดพักหายใจ
“แต่ไม่ใช่ว่าอยากจะจุดตรงไหนก็หยุดได้ เพราะมีคนรอเดินขึ้นมาต่อ การปีนเขาทำให้เราหันกลับไปมองข้างหลังตลอดเวลา เราเรียนรู้ที่ต้องมองไปข้างหน้า มองซ้าย มองขวา เพื่อรอจังหวะคนอื่นด้วย”
บ้านพักหลังคาสีแดง
“และแล้วเราก็ถึงยอดเขาแรก โดยใช้เวลาประมาณ 1.10 ชั่วโมง แต่คนทั่วไปใช้เวลาเฉลี่ยอยู่ที่ 50 นาที เมื่อขึ้นมาถึงยอดเขา หากมองฝั่งซ้ายมือก็จะเจอกับบ้านพักหลังคาสีแดง เป็นภาพที่เราเห็นในอินเทอร์เน็ตจนทำให้เราอยากมาที่นี่ และเท่าที่รู้มา จุดนี้มีห้องน้ำไว้บริการแต่เสียเงิน สามารถจองเข้าพักได้ แต่เป็นห้องนอนรวม เรายืนมองวิวอยู่สักพัก พร้อมแล้วที่จะไปยอดถัดไป”
(บางครั้ง) ปัญหามีไว้ให้ได้เชยชม
“ระหว่างทางจากยอดที่หนึ่งสู่ยอดที่สอง ยังคงเป็นทางเดินหิน ระหว่างที่เรากำลังจะก้าวเดินต่อ เราก็เห็นเจ้าหน้าที่วิ่งกระหืดกระหอบเข้ามาทางนักปีนเขาในบริเวณนั้น และเราก็อยู่ในกลุ่มนั้นด้วย เจ้าหน้าที่ได้แจ้งข่าว ropeway ด้านล่างมีปัญหาติดขัด ให้รีบเดินลงให้เร็วที่สุด เราก็ลังเล เพราะใจอยากไปถึงยอดที่สาม แต่สุดท้ายก็เลือกความปลอดภัย แล้วปล่อยให้การคาดเดาไม่ได้ให้เป็นเพียงปัญหาไว้เชยชม รับรู้ แล้วก็ถอนหายใจแรงๆ” (หัวเราะ)
เป้าหมายมีไว้ให้กลับมาอีก
“เราเดินต่ออีกประมาณ 20 นาที ก็ถึงยอดที่สองที่มีชื่อว่า Nakadake ซึ่งหากเดินต่อไปยอดที่สามจะใช้เวลาประมาณ 40 นาที แต่เราก็ต้องหยุดไว้เพียงเท่านี้ แล้วยืนมองเป้าหมายที่อยู่เบื้องหน้า แล้วบอกกับตัวเองไว้ว่า ก็ดีเหมือนกัน จะได้หาเรื่องให้ตัวเองกลับมาที่นี่อีกในฤดูถัดไป”
บ้านพักหลังคาสีฟ้า
“จากยอดเข้าที่สอง หากมองไปทางฝั่งขวามือก็จะพบกับบ้านพักหลังคาสีฟ้า ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าหลังแรก เรามองวิวนี้จนอิ่ม คิดอยู่สองอย่างคือ เสียดายที่ไม่ได้ไปต่อ ดีใจที่รู้ว่าตัวเองจะกลับมาอีก เป็นความรู้สึกที่ย้อนแย้งดีจัง แต่เราก็รู้สึกอย่างนั้นจริงๆ ลึกๆ ก็ทำให้เรารู้ว่า นี่คือเรื่องธรรมดาของชีวิตที่ทุกคนต้องเจอกับบางเรื่องที่ทำให้เป้าหมายที่เคยตั้งใจเปลี่ยนไป เมื่อเปลี่ยนแล้วก็ยอมรับแล้วตั้งหลักใหม่ ไม่แน่เพื่อเจอสิ่งดีๆ มากกว่ารออยู่ก็ได้ และวันนั้นเราอาจจะได้พบกับหุบเขาสีส้มที่ชาวญี่ปุ่นมักพูดถึงอยู่บ่อยๆ”
คอนนิจิวะ และกัมบัตเตะเนะ
“เรารีบเดินกลับ ระหว่างทางก็พบคนที่กำลังกลับมากมาย วัฒนธรรมการปีนเขาของชาวญี่ปุ่นมีความน่ารักอย่างที่เราไม่คิดว่าจะเจอ นั่นก็คือเวลาที่เราเดินผ่านกันและกัน จะต้องทักทายด้วยคำว่าคอนนิจิวะ (Konnichiwa) แม้จะเหนื่อยก็ยังทักด้วยเสียงที่แผ่วเบา หรือเวลาที่เดินสวนคนที่กำลังเดินลงมา ก็มักจะได้ยินเสียงตะโกนเชียร์ว่า กัมบัตเตะเนะ (Ganbatte ne) ประมาณว่าสู้ๆ นะ พยายามเข้านะ เราก็เหมือนกัน สู้ๆ นะตัวเอง” (หัวเราะ)
ภาพโดย: Mapletro Photography
สามารถอ่านรายละเอียดการเดินทางทั้งหมดได้ที่ www.facebook.com/mywayjapannihonsampo