ทุกครั้งที่เราเลื่อนสไลด์หน้าฟีดเฟซบุ๊ก เวลาที่เราหัวเราะเยาะ ยิ้มขำ หรือพรมนิ้วพิมพ์ถ้อยคำตัดสินผู้อื่น บางครั้งเรายืนอยู่ชิดกับความคิดลบๆ จนเกินไป จึงไม่แปลกที่เราจะเลือกปฏิบัติกับผู้อื่นแบบไม่เป็นธรรมอย่างไม่รู้ตัว และวิธีคิดเหล่านั้นก็ส่งต่อมาสู่ชีวิตจริง ไม่น่าแปลกใจที่เราพบเจอความเหลื่อมล้ำในทุกมิติได้ทุกหย่อมหญ้า
เราอยากชวนคุณถอยห่างจากโลกที่เต็มไปด้วยการตัดสิน มาย้อนดูความแตกต่างหลากหลายของมนุษย์ ผ่านนิทรรศการเคลื่อนที่ ‘ดินแดนแสนล้านการเลือกปฏิบัติ’ ที่จัดขึ้นโดยมูลนิธิคุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ และเครือข่ายกลุ่มคนถูกเลือกปฏิบัติ ที่รวมรวมผลงานช่างภาพศิลปินหน้าใหม่มาสะท้อนเรื่องราวความหลากหลายที่ควรเคารพ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นกลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มผู้ไร้บ้าน สิทธิสตรี ฯลฯ ซึ่งพวกเขาเหล่านั้นล้วนผ่านประสบการณ์เลือกปฏิบัติ ที่เราทุกคนอาจจะเป็นหนึ่งสาเหตุที่ทำให้สิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นก็ได้
01 ไม่มีพิษภัยแต่ไร้สิทธิ | จิระพันธุ์ คล้ายฉ่ำ
คนไร้บ้านคือสัญลักษณ์ของการเลือกปฏิบัติ แทบไม่มีโอกาสเข้าถึงแหล่งงาน แม้กระทั่งเลขที่บ้านก็ใช้ทะเบียนกลาง นโยบายต่างๆ ที่ลงมาช่วยเหลือคนจน ทุกคนได้รับ เว้นแต่คนไร้บ้าน
02 กระบอกเสียงจากวัยอันควร | ณัทภัทร ชอบชื่น
กระบอกเสียงเล็กๆ จากหญิงไทยที่ท้องก่อนวัยอันควรคนหนึ่ง ปัจจุบันระบบการศึกษาไทยเปิดโอกาสให้กับเด็กเหล่านี้แล้วก็จริง แต่เธอต้องการโอกาสจากสังคมรอบข้าง ทั้งคำนินทา ดูถูกเหยียดหยาม ไม่เคารพสิทธิ การจำกัดการทำงานของคนท้องในบางที่ ความกดดันจากสังคมรอบข้าง จนก่อให้เกิดการคิดสั้นในบางครั้ง เราต้องทนเห็นหญิงเหล่านี้จบชีวิตและไร้โอกาสอีกกี่คน หากสังคมยังไม่เปิดรับและเข้าใจเขา…
03 ผู้หญิงกับรอยสัก | พิชญาภา แสงสีดา
ผู้หญิงกับรอยสัก หลายคนอาจจะมองไม่ดี นอกจากนี้การสักนอกร่มผ้า กลายเป็นว่าจะถูกห้ามทำงานในบางอาชีพ ทั้งๆ ที่ยังไม่รู้ตัวจริงของเขา ความสามารถของเขา การสักเป็นเรื่องรสนิยมที่สังคมร่วมตีตรา เพราะฉะนั้น อย่ามองคนแค่ด้านเดียว
04 แรงงานข้ามชาติ | สมสกุล เทียนชัย
ยังมีแรงงานอีกมากที่ไม่ได้รับสิทธิ์ และไม่ได้ถูกมองในฐานะเพื่อนมนุษย์ ทั้งยังถูกมองว่าเป็นปัญหานำโรคติดต่อ ถูกกดขี่เอาเปรียบค่าแรงเพราะเป็นแรงงานข้ามชาติ ถูกระแวงหวาดกลัวจากคนในสังคม ลูกของแรงงานถูกปฏิเสธรับเข้าเรียน และทุกครั้งที่มีเหตุร้ายต่างๆ แรงงานข้ามชาติมักจะถูกกล่าวหาเป็นอันดับต้นๆ เสมอ
05 เส้นแบ่ง | ธนวัฒน์ พงษ์ศักดิ์
การเลือกปฏิบัติเหมือนการมีเส้นบางอย่างที่มองไม่เห็น มาแบ่งสังคมเป็นหลายส่วน ไม่ว่าจะด้วยบทบาท อายุ ฐานะทางสังคม และเชื้อชาติ ปัจจัยเหล่านี้กลายเป็นเส้นแบ่งทางสังคมที่มองไม่เห็น แต่เกิดขึ้นจริง
06 เหยียด | กังสดาล โฟโต้อาร์ต
ถึงต้นทุนและโอกาสในชีวิตแต่ละคนไม่เท่ากัน หรือสังคมจะเหลื่อมล้ำมากมายอย่างไรก็ตาม คนเราไม่ควรดูถูกเหยียดหยามคนอื่น
FYI
สามารถไปรับชมผลงานอื่นๆ เพิ่มเติมได้ในนิทรรศการ ‘ดินแดนแสนล้านการเลือกปฏิบัติ’ ที่จะเดินทางไปจัดแสดงที่จังหวัดขอนแก่น ในวันที่ 29 กรกฎาคม – 2 สิงหาคม 2562 จังหวัดสงขลา ในวันที่ 19-23 สิงหาคม 2562 และจังหวัดเชียงใหม่ ในวันที่ 4-6 กันยายน 2562
ติดตามรายละเอียดเพิ่ม รวมทั้งสถานที่จัดนิทรรศการที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้ที่เฟซบุ๊ก ไม่เอาการเลือกปฏิบัติ