กรุงเทพฯ เป็นมหานครที่คลาคล่ำไปด้วยผู้คนจากทั่วสารทิศ ผู้คนมากมายมารวมตัวกันเพื่ออาศัย หารายได้ ใช้ชีวิตบนรถไฟฟ้ายามเช้า แออัดหนาแน่นในขบวนรถไฟใต้ดินตอนเย็น หรือคนที่ยืนรอรถโดยสารสาธารณะพร้อมกับหยดเหงื่อที่ชุ่มไปทั้งหลัง เสียงเครื่องยนต์ที่ดังจนแสบหูจากสภาพการจราจรที่ติดขัด บางวันก็เกิดอุบัติเหตุอยู่ด้านหน้าที่ทำให้การจราจรหยุดชะงัก ผู้พิการทางสายตาที่เดินสะเปะสะปะอยู่บนฟุตปาธ คนเดินทางที่ต้องหลบทางให้มอเตอร์ไซค์ปาดขึ้นฟุตปาธ ทุกอย่างล้วนชินตา แต่ไม่เคยชินใจ
จะเป็นไปได้ไหมถ้าภาพในชีวิตประจำวันนี้จะเปลี่ยนไป คำถามนี้อาจจะดูโลกสวยไปหน่อย แต่เราเชื่อว่าหนึ่งในวิธีการที่ดีที่สุดที่จะทำให้เป็นจริงได้คือ ความมีน้ำใจและหลีกเลี่ยงค่านิยมที่เห็นแก่ตัว น่าจะเป็นทางออกที่ง่ายที่สุด แต่กลับดูเหมือนทำยากที่สุด จะจริงหรือไม่นั้น ลองไปรู้จักน้ำใจผ่านสายตาของเด็กรุ่นใหม่ที่ได้ถ่ายทอดออกมาเป็นภาพถ่ายที่ได้รับรางวัลทั้ง 7 คน ในโครงการประกวดภาพถ่าย กรุงเทพเมืองแห่งน้ำใจ เมื่อปีที่ผ่านมา และจากมุมมองของพวกเขาอาจจะทำให้คุณมองย้อนกลับมาที่ตัวเองอีกครั้ง
ในสายตาของเด็กรุ่นใหม่ น้ำใจที่พวกเขาได้เห็นกลายเป็นภาพสะท้อนความเป็นจริงของสังคมกรุงเทพฯ ด้านหนึ่งอาจจะมีปัญหามากมาย แต่อีกด้านหนึ่งกลับเต็มไปด้วยความสวยงามที่เกิดจากน้ำใจของผู้คน ซึ่งพวกเขาพบเจอได้ในวันที่แสนธรรมดา และพบเห็นได้ในทุกๆ พื้นที่ทั่วกรุงเทพฯ
ชื่อภาพ : พ่อมองอยู่บนฟ้า / รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1
‘มอส’ – กฤตวัฒน์ อรรถสิษฐ์: นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย
“ย้อนกลับไปเมื่อปีที่แล้ว เป็นช่วงที่คนไทยไว้อาลัยให้กับในหลวงรัชกาลที่ 9 ทุกคนต่างรู้ดีว่า หากต้องการกำลังใจบางอย่าง เมื่อมองไปที่พระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์หรือมองขึ้นไปบนฟ้า ก็จะทำให้เรามีแรงบันดาลใจสักอย่างกลับคืนมาได้ และเมื่อหลายๆ คนคิดอย่างนั้น ก็จะทำแต่สิ่งดีๆ โดยเฉพาะการมีน้ำใจให้กับผู้อื่น และเพื่อเป็นการสื่อความหมายนั้น ผมจึงกำหนดรูปแบบของภาพขึ้น ด้วยการให้เพื่อนอีกสองคน ช่วยยกรุ่นน้องที่ขาเจ็บและต้องนั่งวีลแชร์ที่บังเอิญเจอพอดีค่อยๆ เดินขึ้นบันได เพราะแถวนั้นไม่มีลิฟต์สำหรับรถเข็น เมื่อถ่ายทอดเป็นภาพออกไป อาจทำให้คนที่เห็นได้นึกย้อนถึงน้ำใจที่อยู่ในตัวเองก็ได้”
ชื่อภาพ : น้ำใจในสังคมไทย / รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2
‘มิกซ์’ – ธนดล บุญกุลเศรษฐ์: นักศึกษาชั้นปีที่ 1 สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ภาควิชานิเทศศิลป์ สาขาการถ่ายภาพ
“ระหว่างที่ผมกำลังเดินอยู่ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ผมสังเกตเห็นคุณยายคนหนึ่งนั่งขายของอยู่ริมฟุตปาธ และมีผู้หญิงคนหนึ่งเดินมาเห็น แล้วก็อุดหนุนยาย ในขณะที่หลายๆ คนเดินผ่านไปโดยไม่ได้สนใจเลย ผมคิดว่านี่คือ การช่วยเหลืออย่างหนึ่งที่ทำได้ทันที โดยไม่ต้องรอให้เกิดเหตุการณ์ใหญ่ๆ แล้วค่อยออกไปช่วย หรือการแสดงน้ำใจที่ไม่หวังอะไรกลับมา ในมุมของคนเกิดที่จังหวัดอุบลราชธานี โตที่โคราช มาเรียนที่กรุงเทพฯ คนกรุงเทพฯ มีน้ำใจอยู่ไม่น้อยเลย
ชื่อภาพ : น้ำใจคนกรุงนี้เพื่อน้อง / รางวัลชมเชย
‘ปริ๊นส์’- สรธร ธีรสวัสดิ์: นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนเซนต์คาเบรียล
“ผมประทับใจน้องที่เล่นดนตรีอยู่บริเวณหน้าสยามสแควร์ทุกวันมาก เพราะเขามีความพยายามในการเล่นเพลงต่างๆ ทั้งไทยและสากลได้อย่างไพเราะ เพื่อให้คนมาบริจาคเงินเป็นทุนการศึกษา และในระหว่างนั้นก็ได้เห็นน้ำใจของคนกรุงเทพฯ ที่เดินผ่านไปผ่านมา หยุดฟัง พร้อมกับใส่เงินบริจาคให้กับน้องพอดี ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องที่ดีที่ผู้คนส่วนใหญ่ในกรุงเทพฯ ยังนึกถึงใจเขาใจเราอยู่เสมอ เพราะบางคนที่เขาขาดแคลนและต้องการการช่วยเหลือจริงๆ ยังมีอยู่มาก ถ้าเรามีน้ำใจให้กัน เขาก็จะให้น้ำใจเรากลับมา”
ชื่อภาพ : ขอทางหน่อย / รางวัลชมเชย
‘กิม’ – ธนวินท์ คงมหาพฤกษ์: นักศึกษาชั้นปีที่ 1 วิทยาลัยเทคโนโลยีพณิชยการภาษานุสรณ์บางแค
“ภาพนี้ได้มาด้วยความบังเอิญ แต่เต็มไปด้วยความประทับใจที่ทำให้ผมรู้สึกว่า คนกรุงเทพฯ มีน้ำใจ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เกื้อกูลกันเสมอโดยไม่แบ่งแยก เหมือนที่พี่ๆ ทหารช่วยเข็นรถผู้สูงอายุข้ามถนน และมีตำรวจจราจรช่วยโบกให้รถหยุด ผมตั้งใจส่งภาพนี้เข้าประกวด เพื่อบอกให้ทุกคนรู้ว่า น้ำใจเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะคนขับรถ เวลาที่เขานั่งอยู่หลังพวงมาลัย จากคนจิตใจดี บางครั้งก็กลายเป็นคนที่ไม่มีน้ำใจ ใจคอคับแคบได้ และนั่นคือจุดเริ่มต้นของอุบัติเหตุต่างๆ แต่หากคนขับมีน้ำใจ ก็จะช่วยลดอุบัติเหตุลงได้ ถนนก็มีความปลอดภัย ใครๆ ก็สามารถข้ามทางม้าลายได้อย่างสบายใจ ผมคิดว่าน้ำใจจะเกิดขึ้นได้ ต้องปลูกฝังกันมาตั้งแต่เด็กๆ คุณพ่อคุณแม่ของผมจะสอนเสมอว่า คนเราต้องคิดดี ทำดี แล้วจะได้ดีเอง”
ชื่อภาพ : สิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่าน้ำใจ / รางวัลชมเชย
‘โฟร์’ – ธนวัฒน์ ศิลา: นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ภาควิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
“ยอมรับเลยว่า ที่มาของภาพนี้คือความไม่ตั้งใจ เราเห็นแค่ว่า มีกลุ่มนักเรียนมายืนตั้งกล่องรับบริจาค และมีคนรุ่นใกล้เคียงกันร่วมสมทบทุน ผมว่าก็น่ารักดี พอรู้ว่ามีโครงการประกวด ผมจึงส่งรูปไปโดยไม่ได้คิดถึงรางวัล แถมยังทำให้ผมย้อนนึกไปถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ อย่างตอนน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 นั่นทำให้เห็นถึงพลังน้ำใจที่ยิ่งใหญ่ ผู้คนต่างออกมาช่วยเหลือกันและกัน สุดท้ายก็ช่วยให้ผ่านเรื่องราวร้ายๆ ไปได้ด้วยดีและเร็วขึ้น ผมคิดว่าการหยิบยื่นน้ำใจเล็กๆ น้อยๆ ให้ผู้อื่นเสมอ อย่างน้อยตัวผมเองก็มีความสุขที่ได้ทำ”
ชื่อภาพ: น้ำใจคุณป้า / รางวัลชมเชย
‘กล้า’ – จิรายุ คูหากาจน์: นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนอัสสัมชัญ
“ทันทีที่เห็นโจทย์ในโครงการประกวด ผมก็นึกถึงสถานีรถไฟหัวลำโพงที่มีคนพลุกพล่านมากหน้าหลายตา หลากหลายอาชีพ รวมทั้งคนไทย นักท่องเที่ยว และชาวต่างชาติ สถานที่แห่งนี้น่าจะมีเรื่องราวที่แสดงได้ถึงคำว่า กรุงเทพฯ เมืองแห่งน้ำใจ จากที่ผมได้ไปดูทุกวันๆ ที่แห่งนี้ก็ทำให้ผมได้พบว่า ที่นี่เต็มไปด้วยน้ำใจและการช่วยเหลือเล็กๆ น้อยๆ ตลอดเวลา เช่น การบอกทางนักท่องเที่ยว ช่วยคนอื่นยกของซึ่งเป็นภาพที่ผมเลือกส่งเข้าประกวด เพื่อสื่อความหมายว่า แม้บนรถไฟรางน้ำใจก็ยังไปถึง ไม่มีที่ไหนที่ได้รับการยกเว้น”
ชื่อภาพ: น้ำใจของคนกรุง / รางวัลชนะเลิศ
‘ค๊อปส์’ – จิรวัชร สายวุฒินนท์: นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ภาควิชาคณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ สาขาภาพยนตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
“ตอนนั้นเพื่อนของผมขาเจ็บ แล้วมีพี่คนขับมอเตอร์ไซค์วินแถวนั้นรีบเข้ามาช่วยพยุงเพื่อน เพื่อพาข้ามถนน พอผมเห็นก็รีบคว้ากล้องขึ้นมาถ่ายภาพไว้ จากความรู้สึกส่วนตัวสู่ภาพที่ส่งเข้าประกวดด้วยความตั้งใจสื่อให้คนได้รู้ว่า แค่สิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่ใครสักคน หรือเราได้ทำให้คนอื่น ก็คือการทำความดี และการได้แสดงน้ำใจ ซึ่งมีอยู่ในทุกๆ คน เพียงแค่ไม่มีใครมาประกาศก้องให้โลกรู้ว่า บางสิ่งขนาดเล็กๆ นั้นเราได้ทำไปแล้วมากกว่า
“ผมเชื่อว่า ความดีเล็กๆ หรือการแสดงน้ำใจในทุกๆ ครั้ง คนอื่นอาจมองไม่เห็นแต่ตัวเราเองเห็นและรู้ดีที่สุด หากทุกคนยังเลือกทำความดี แสดงน้ำใจกันเรื่อยๆ ภาพแห่งการมีน้ำใจก็จะชัดเจนขึ้น ใหญ่ขึ้น คนทำดีจะได้รับการเชิดชู คนมีน้ำใจจะได้รับน้ำใจตอบ ผู้คนมีทัศนคติที่ดีต่อกันมากขึ้น สุดท้ายกรุงเทพฯ และเมืองไทยของเราก็จะน่าอยู่มากขึ้น
“สำหรับผมแล้วการแสดงน้ำใจกับทำความดีเป็นเรื่องเดียวกัน แต่จะทำด้วยรูปแบบไหนนั้น ก็ขึ้นอยู่กับตัวบุคคลตามความชอบหรือความถนัด อย่าง ผมชอบการถ่ายภาพ จึงใช้ความชอบนี้แสดงน้ำใจด้วยการไปถ่ายภาพและพริ้นต์ให้เด็กที่ไม่ค่อยมีโอกาสได้ถ่ายภาพตัวเองตามที่ต่างๆ ฟรี เช่น เด็กๆ ในสลัมคลองเตย รวมไปถึง เด็กๆ บนดอยที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนที่ได้ร่วมเดินทางไปกับหน่วยแพทย์อาสาฯ ผ่านโปรเจ็กต์ที่ชื่อว่า ASEAN SMILE จัดตั้งโดยรุ่นพี่ และเพื่อนๆ ส่วนผมเองก็เป็นหนึ่งคนที่ได้เข้าไปช่วยในโปรเจ็กต์นี้ ซึ่งพวกผมตั้งใจว่า อยากให้รูปถ่ายได้เป็นความทรงจำของเด็กๆ ขอแค่เขายิ้มให้กล้อง และรับรอยยิ้มที่มีความหมายของตัวเองกลับไป ส่วนรอยยิ้มของเขาก็ทำให้ผมชื่นใจและมีความสุขกลับมาได้เช่นกัน”
Bangkok city of kindness Photo Contest 2017
โครงการประกวดภาพถ่าย กรุงเทพฯ เมืองแห่งน้ำใจ เป็นโครงการที่จัดขึ้นเมื่อปีที่ผ่านมา โดยมูลนิธิรัฐบุรุษพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ร่วมกับกรุงเทพมหานคร และสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 เพื่อสนองพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เรื่องรู้รักสามัคคี เสริมสร้างค่านิยมเรื่องความมีน้ำใจให้แก่เด็กรุ่นใหม่ ผ่านการมีส่วนร่วมด้วยการถ่ายภาพในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ จนกระทั่งได้ผู้ชนะทั้ง 10 คน
นอกจากนี้ภาพที่ผ่านการคัดเลือกทั้ง 50 ภาพ ได้เคยจัดแสดงในหอศิลป์กทม. ระหว่างวันที่ 29 สิงหาคม – 10 กันยายน 2560 เพื่อให้ทุกคนได้มาซึบซัมคำว่าน้ำใจที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ก่อนจะมอบคืนให้กับเจ้าของภาพต่อไป