ดาราศาสตร์ไม่ได้มีความสำคัญเพียงแค่การบอกให้รู้ว่ากลุ่มดาวหมีใหญ่มีดาวฤกษ์ส่องสว่างจำนวน 7 ดวง หรือจะหาดาวเหนือได้จากการตัดกันของเส้นสมมุติจากปีกของกลุ่มดาวค้างคาว สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NARIT จึงชวนเราไปเยี่ยมอุทยานดาราศาสตร์สิรินธร (Princess Sirindhorn AstroPark) และหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา (หอดูดาวแห่งชาติ) ที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเรียนรู้ว่าจริงๆ แล้วดาราศาสตร์นั้นสร้างประโยชน์มากมายให้กับผู้คนบนโลก
เพราะเทคโนโลยีที่ได้มาจากการวิจัยทางอวกาศนั้นถูกนำมาต่อยอดเป็นกล้องถ่ายรูป ระบบการสื่อสาร กระจกกันรอยโทรศัพท์มือถือ จอยสติ๊ก หรือแม้กระทั่งอวัยวะเทียมสำหรับผู้พิการ ดังนั้น ก่อนที่เราจะมารู้ว่าดาราศาสตร์เกี่ยวพันกับชีวิตของมนุษย์แค่ไหน เรามาเยี่ยมชมกันหน่อยว่าหอดูดาวทั้งสองแห่งนี้ ทำไมสุดยอดสมกับที่ NARIT เป็น 1 ใน 3 ที่ได้รับการเสนอชื่อรางวัล Best Brand Performance on Social Media ของ Thailand Zocial Awards 2019
เจ้าหน้าที่ของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) กำลังมอนิเตอร์และเก็บข้อมูลของเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์ทางไกลอัตโนมัติของ NARIT ที่ตั้งอยู่ในประเทศชิลี, สหรัฐอเมริกา, จีน และออสเตรเลีย ซึ่งกล้องเหล่านี้สามารถควบคุมจากระยะไกลผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
“เราเปิดให้ประชาชนสามารถเข้ามาใช้งานเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์ทางไกลอัตโนมัติของ NARIT ได้ โดยทำเรื่องเข้ามาขอรหัสผ่านกับทางเรา แต่ก็ต้องบอกว่าตอนนี้คิวขอใช้งานเพื่อเก็บข้อมูลนั้นแน่นไปจนถึงสิ้นปีแล้ว” ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา กล่าว
เทคโนโลยีทางดาราศาสตร์นั้นจะถูกนำมาใช้ต่อยอดกับการค้นคว้าอุปกรณ์สำหรับใช้งานในชีวิตประจำวันหลากหลายประเภท อย่างในภาพนี้คือการคิดค้นข้อเข่าเทียมที่มีความทนทานและประสิทธิภาพที่ดีกว่าเดิม ซึ่งผลิตได้เองไม่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ
ทีมเจ้าหน้าที่ในห้องเคลือบกระจกที่ทาง NARIT สร้างขึ้นมาเอง ซึ่งพวกเขากำลังหารือเรื่องของเทคโนโลยีในการส่องเรตินาเพื่อนำไปต่อยอดทางการแพทย์เพื่อใช้รักษาปัญหาทางสายตาของมนุษย์
กล้องโทรทรรศน์สะท้อนแสงแบบริชชี่ เครเทียน ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.7 เมตร กำลังตรวจสอบความพร้อมเพื่อให้เราได้ทดสอบดูดาวในวันนี้
ด้านหน้าของกล้องโทรทรรศน์สะท้อนแสงแบบริชชี่ เครเทียน ในอุทยานดาราศาสตร์สิรินธร (Princess Sirindhorn AstroPark)
ด้านข้างของอาคารดูดาว อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร (Princess Sirindhorn AstroPark) เป็นระเบียงดาว มีหลังคาแบบเลื่อนเปิดออกได้ มีการติดตั้งกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็กและขนาดกลางที่มีขีดความสามารถสูง สำหรับให้บริการดูดาว สังเกตวัตถุบนท้องฟ้า ไปจนถึงการถ่ายภาพวัตถุท้องฟ้า
เมื่อพระอาทิตย์เริ่มลับขอบฟ้า ความมืดมืดค่อยๆ คืบคลานมาแทนที่ ไฟที่พื้นสีแดงถูกเปิดขึ้นเพื่อให้มองเห็นพื้นที่นอบๆ โดยไฟสีแดงนั้นจะไม่ไปรบกวนรูม่านตาทำให้เราไม่ต้องปรับสายตาเวลาดูดวงดาวด้วยตาเปล่า
ผู้ที่สนใจเริ่มทยอยขึ้นมาชมดวงดาวผ่านกล้องโทรทรรศน์สะท้อนแสงแบบริชชี่ เครเทียน ที่ถูกตั้งระยะไว้อย่างสมบูรณ์แล้ว
อาคารหอดูดาวของหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา (Thai National Observatory) ตัวผนังอาคารเป็นผนังวงแหวน (Ring Wall) มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 8.4 เมตร ส่วนบนเป็นโดม (Dome) ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 9 เมตร สูง 5.5 เมตร ความสูงโดยรวมทั้งหมด 19 เมตร ตัวโดมและภายในอาคารสามารถหมุนได้สอดคล้องกับการเคลื่อนที่กวาดพิกัดของกล้องโทรทรรศน์ หรือเรียกง่ายๆ ว่าสามารถหมุนไปตามวงโคจรของดาวที่เรากำลังจับตามอง
Armin Hermann เป็นนักดาราศาสตร์สมัครเล่นชาวอเมริกัน นำกล้องดูดาวที่ตัวเองสร้างขึ้นมา เขาบอกว่าให้เวลาหลายปีกว่าจะประกอบกล้องตัวนี้สำเร็จ และเขาก็เชื้อเชิญให้เราลองส่องกล้องของเขา ซึ่งพบว่าคุณภาพของกล้องนั้นจัดอยู่ในระดับที่ดีมากๆ
ภายในหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา (Thai National Observatory) ที่ให้ความรู้สึกเหมือนอยู่ในหนังไซไฟ ซึ่งเรามารู้ภายหลังว่าเหตุผลที่ต้องใช้สีขาวเป็นหลัก เพราะสีขาวนั้นกระจายความร้อนได้ดีที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดไอน้ำเกาะตัวที่บริเวณกระจกรับแสงของกล้องดูดาว
ช่วงวิทย์ ปัทมะ เจ้าหน้าที่เทคนิคดาราศาสตร์ หนึ่งในทีมเจ้าหน้าที่ของหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา (Thai National Observatory) กำลังตรวจสอบความเรียบร้อยภายในอาคาร เพื่ออำนวยความสะดวกแก่คนที่มาดูดาวในคืนนี้
กล้องโทรทรรศน์สะท้อนแสงของหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา (Thai National Observatory) มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของกระจกกว้างถึง 2.4 เมตร ซึ่งเป็นขนาดที่ใหญ่และมีระบบควบคุมที่ทันสมัยที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา (Thai National Observatory) เป็นหอดูดาวเพียงไม่กี่แห่งในโลกที่ตั้งอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร ซึ่งสามารถใช้เป็นจุดสังเกตการณ์ทั้งซีกฟ้าเหนือและซีกฟ้าได้ตลอดทั้งปี
เวลาประมาณสามทุ่มบนยอดดอยอินทนนท์ที่ความสูง 2,457 เมตร (โดยประมาณ) เป็นช่วงเวลาที่ฟ้าเปิดพอดี หมู่ดาวพากันส่องแสงระยิบระยับออกมาจนมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า จนเราแอบเผลอฮัมเพลงออกมาว่า คืนที่ดาวเต็มฟ้า ฉันจินตนาการเป็นหน้าเธอ…
ช่วงก่อนหน้านี้ความชื้นในอากาศมีมากถึง 97% ทำให้ไม่สามารถใช้งานกล้องโทรทรรศน์สะท้อนแสงของหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา (Thai National Observatory) ได้ แต่เมื่อเวลาผ่านไปความชื้นสัมพัทธ์ลดลงต่ำกว่า 95% ทางเจ้าหน้าที่ก็อนุญาตให้เราเข้ามาลองดูดวงดาวด้วยกล้องตัวนี้ได้