Portrait of Charoenkrung

Portrait of Charoenkrung: ภาพถ่าย ผู้คน ชุมชนเจริญกรุง

สมัยก่อนกว่าจะลั่นชัตเตอร์เพื่อบันทึกภาพหนึ่งภาพได้ ต้องพินิจอย่างละเอียดว่าองค์รวมของภาพดีแล้วหรือยัง รวมไปถึงค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่กว่าได้ภาพมาแต่ละใบต้องเสียเงินค่าอัดรูปไปเท่าไหร่ แต่ปัจจุบันความล้ำสมัยของเทคโนโลยีทำให้โทรศัพท์มือถือธรรมดากลายเป็นสมาร์ตโฟนที่สามารถแคปเจอร์สิ่งต่างๆ รอบตัวได้ง่ายขึ้น วิถีชีวิตของเราจึงแปรเปลี่ยนไป

        เพราะสาเหตุนี้ใช่หรือไม่ที่ทำให้คนเรามองเห็นคุณค่าของภาพถ่าย Family Portrait น้อยลง จึงเป็นที่มาของนิทรรศการ Portrait of Charoenkrung

 

Portrait of Charoenkrung
(จากซ้ายไปขวา) ตุลย์ หิรัญญลาวัลย์, ‘แบงค์’ – ชัยพฤกษ์ เฉลิมพรพานิช ‘เอ็กซ์’ – อาวุธ ชินนภาแสน, และ ‘โต้’ – วิรุนันท์ ชิตเดชะ

Portrait of Charoenkrung ความสุขของการบันทึกความสัมพันธ์

        เมื่อกลุ่มช่างภาพจากโรงเรียนสังเคราะห์แสงทั้ง 4 คน ประกอบด้วย ตุลย์ หิรัญญลาวัลย์, ‘แบงค์’ – ชัยพฤกษ์ เฉลิมพรพานิช ‘เอ็กซ์’ – อาวุธ ชินนภาแสน, และ ‘โต้’ – วิรุนันท์ ชิตเดชะ ได้นำภาพถ่ายครอบครัว (Family Portrait) มาใช้เป็นคอนเซ็ปต์หลักในการทำโปรเจ็กต์ Portrait of Charoenkrung ที่หวังสร้างคุณค่าบางอย่างผ่านการถ่ายรูปแนวนี้อีกครั้ง โดยโจทย์ที่ได้รับจาก Thailand Creative & Design Center (TCDC) คือต้องการพัฒนาเศรษฐกิจย่านเจริญกรุง 

        แบงค์: “พวกเราเริ่มต้นจากการเปิดมุมมองของคนในย่านเจริญกรุง แล้วสร้างสรรค์พื้นที่ชุมชนเก่าให้กลายเป็นพื้นที่แห่งการเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชนกับนักท่องเที่ยวจากข้างนอก หลังจากนี้เมื่อเขานั่งอยู่บ้าน แล้วเห็นคนถือกล้องเข้ามา เขาอาจจะรู้สึกอยากเป็นนายแบบ นางแบบ สำหรับการถ่ายรูปมากขึ้น หรืออาจแนะนำสถานที่อื่นๆ ให้ช่างภาพไปถ่ายก็ได้”

        ย้อนกลับไป สิ่งแรกที่จุดประกายให้เกิดคอนเซ็ปต์นี้ขึ้นมา คือตอนที่แบงค์ไปเห็นโปสเตอร์หนังเรื่อง Parasite (2019) ที่โดดเด่นและได้รับความนิยมมากในช่วงเวลานั้น หลังจากนั่งคิดอยู่นานก็ได้คำตอบว่ามันคือ ‘ภายถ่ายครอบครัว’ ที่ได้หายไปจากสังคมไทยมานานหลายปี นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นนิทรรศการ Portrait of Charoenkrung

        แบงค์: “เมื่อก่อนเวลาเราไปเยี่ยมบ้านใคร เราจะไปหยุดดูรูปครอบครัว แล้วเราก็จะค่อยๆ รู้จักคนในครอบครัวเขา พอเราต้องทำโปรเจ็กต์นี้จึงตั้งคำถามกันว่า ถ้าจะให้คนอื่นรู้จักความเป็นเจริญกรุง ควรนำเสนอออกมาในรูปแบบไหน”

เราสรุปกันได้ว่า ‘คน’ ล้วนเป็นสื่อกลางในการสร้างความเป็นชาติ ศาสนา วัฒนธรรมขึ้นมา หลังจากนั้นจึงกลายเป็นนิทรรศการที่พวกคุณได้เห็นกัน

Portrait of Charoenkrung

โรงเรียนสังเคราะห์แสง ที่สังเคราะห์ตัวตนของช่างภาพ

        ครั้งแรกของการได้ยินชื่อทำให้คิดว่าเป็นสถาบันกวดวิชาวิทยาศาสตร์สักแห่งหนึ่ง แต่แท้จริงแล้วโรงเรียนสังเคราะห์แสงคือสถาบันสอนถ่ายภาพซึ่งมีแนวทางการสอนในฐานะครูที่ปรึกษา คอยให้คำแนะนำนักเรียนมากกว่าการสอนแบบตีกรอบ และให้นักเรียนทำตามแนวทางของตัวเอง เพื่อให้พบในสิ่งที่ตัวเองชอบ

        ตุลย์: “โรงเรียนจะไม่เปลี่ยนสไตล์การถ่ายภาพของลูกศิษย์ เราจะไม่ทำตัวเป็นแม่พิมพ์ที่ปั๊มตัวก๊อบปี้ออกมาให้เหมือนต้นฉบับ แต่จะทำหน้าที่ประคับประคอง และดึงตัวตนของเขาออกมาให้มากที่สุด รวมถึงช่วยเติมเต็มสิ่งที่เขาขาดหายไปด้วยเช่นกัน”

        เขาเล่าให้ฟังต่อว่าหัวใจสำคัญของโรงเรียนนี้คือ ‘ภาพที่คนถ่ายชอบ’ โดยเวลาวิจารณ์งานแต่ละครั้งพวกเขาจะยอมรับตัวตนของนักเรียน ทำหน้าที่รับฟังแนวคิดและมุมมองของนักเรียนเท่านั้น จะไม่วิจารณ์ด้วยรสนิยมส่วนตัว แต่จะดูว่าภาพที่ถ่ายมาสะท้อนแนวคิดที่นักเรียนต้องการนำเสนอหรือเปล่า หากมีตรงไหนสามารถพัฒนาได้ก็แนะนำเพิ่มเติม ถ้ารูปที่ถ่ายมายังไม่สะท้อนแนวคิดก็จะแนะนำเชิงตั้งคำถามให้ฉุกคิดว่าควรจะถ่ายอย่างไรเพื่อให้ได้ในสิ่งที่เขาต้องการจะสื่อสาร

 

Portrait of Charoenkrung

Portrait of Charoenkrung

บักทึกเรื่องราวเป็นภาพถ่ายเพื่อเก็บไว้บอกเล่า 

        เป็นเรื่องธรรมดาที่การทำงานต้องพบเจอกับอุปสรรค สำหรับโปรเจ็กต์ Portrait of Charoenkrung ในแรกเริ่มของการทำงาน ผู้คนในย่านยังคงไม่เห็นด้วยกับการถูกรุกล้ำความเป็นส่วนตัวเท่าไหร่นัก การใช้ชีวิตประจำวันโดยที่มีคนไม่รู้จักมากดชัตเตอร์ตลอดเวลา สร้างความไม่พอใจให้กับคนในชุมชนอยู่บ่อยครั้ง

        แบงค์: “ถ้าอยากจะพัฒนามันต้องให้คนข้างในรู้สึกอยากเปิดรับคนข้างนอก ไม่ใช่เอาคนจากข้างนอกเข้ามาอย่างเดียว แต่มันต้องทำทั้งสองฝ่ายเข้าหากันให้ได้” 

        แบงค์กล่าวด้วยน้ำเสียงจริงจังก่อนเล่าต่อว่า ทีมโรงเรียนสังเคราะห์แสงเริ่มต้นการทำงานจากการตั้งทีมค้นหาข้อมูลขึ้นมาเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของย่านเจริญกรุง เพื่อให้ได้ข้อมูลของครอบครัวที่เหมาะสมกับโปรเจ็กต์ แต่สุดท้าย แม้จะวิเคราะห์มาดีขนาดไหน ครอบครัวในเจริญกรุงก็ยังไม่เข้าใจในสิ่งที่พวกเขากำลังทำกันอยู่แม้แต่น้อย

        แบงค์: “แต่หลังจากนั้นก็ค่อยๆ ดีขึ้น เราคุยกันในทีมก่อนว่าอย่าเพิ่งด่วนจะเก็บรูป อย่าเพิ่งเริ่มจากการถือกล้องเข้าไปถ่าย แต่ให้เริ่มจากการเข้าไปพูดคุยกับเขาก่อน ให้ครอบครัวแรกเป็นหน่วยตั้งต้น เพื่อให้เขาสามารถพาเราไปเชื่อมโยงกับครอบครัวอื่นได้ พอพูดคุยจนเขาเริ่มเข้าใจการทำงานก็ง่ายขึ้น

        “นี่คือเคล็ดลับของทีมสังเคราะห์ แค่คุณอย่าเพิ่งยกกล้องลั่นชัตเตอร์ วางมันลงก่อน แล้วสบตา ยิ้ม พูดคุยกับผู้คน หลังจากที่คุณทำสิ่งนั้นแล้ว อาจทำให้เขาเปิดใจและยอมรับ นำไปสู่ปฏิกิริยาตอบรับในทางที่ดีกลับมา และจะทำให้รู้ว่างานของเราจะออกมาในทิศทางไหน การเข้าไปพูดคุยไม่เพียงแค่เป็นการสร้างความคุ้นเคยระหว่างช่างภาพกับชาวบ้านเท่านั้น แต่ยังทำให้ช่างภาพได้ภาพที่ดีอีกด้วย

        “ในวันที่ยกกองไปถ่ายทำจริง ทีมช่างภาพแค่จัดวางองค์ประกอบภายในฉากไว้ แต่ไม่ได้ตั้งเงื่อนไขข้อจำกัดใดๆ ในการถ่ายให้กับคนในชุมชน การทำงานจึงตั้งอยู่บนความสุข และภาพที่ออกมาก็เป็นที่สุขใจของช่างภาพและคนในชุมชนด้วย

        เอ็กซ์: “เพราะเราถ่ายตัวตนของเขา โดยที่ไม่ไปดัดแปลงอะไรเลย มันจึงไม่แปลกที่พวกเขาจะมีความสุขเวลาเห็นภาพพวกนี้ เมื่อเราเอาภาพถ่ายให้ดู บางคนก็บอกว่า ‘อัดมาให้ด้วยนะ’ ‘ขอไฟล์หน่อยได้ไหม’ ถ่ายเสร็จก็เขย่ามือเราแล้วบอกว่า ‘ไม่เคยมีรูปแบบนี้เลย’ ” 

 

Portrait of Charoenkrung

เรื่องราวที่ดียิ่งทำให้ภาพถ่ายมีคุณค่า

        “ในระยะสั้น ภาพถ่ายอาจเป็นแค่สื่อกลางที่ใช้บันทึกว่าครอบครัวนี้ประกอบไปด้วยใครบ้าง มีตั้งแต่รุ่นไหนถึงรุ่นไหนบ้าง แต่ในระยะยาวคุณค่าของภาพถ่ายประเภทนี้กลับมีไว้เพื่อบอกเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ได้อีกช่องทางหนึ่ง

        “เพราะเราสามารถเห็นความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม เห็นลักษณะของตึกรามบ้านช่อง เห็นเชื้อชาติ ศาสนา ไปถึงรสนิยมการแต่งตัวของคนในสังคม ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน” ตุลย์เล่าให้เราฟังต่อว่าภาพถ่ายในนิทรรศการ Portrait of Charoenkrung ไม่ได้ถ่ายเพื่อความสวยงาม

        แล้วคุณใช้หลักเกณฑ์อะไรในการถ่ายแต่ละภาพ – เราถาม

        เอ็กซ์: “เราเลือกถ่ายแต่ละภาพเพราะเรื่องราวของครอบครัวนั้น”    

        เอ็กซ์ตอบในทันที ซึ่งคำตอบนี้ได้สะท้อนคุณค่าของภาพถ่ายทั้งหมดไว้อย่างลึกซึ้ง เปรียบเสมือนเวลาเราเลือกสานสัมพันธ์กับใครสักคน ที่ไม่ได้เลือกเพียงหน้าตาหล่อสวย แต่เลือกเพราะตัวตนและเรื่องราวเบื้องลึกของเขา

        ตุลย์: “หนึ่งสิ่งที่ทำพวกเรามีความสุขมากคือ ต่อให้คนที่มาดูไม่ใช่คนที่อยู่ในรูป แต่เป็นคนในย่านนี้ เขาก็ยังบอกเล่าให้เราฟังได้ว่าบ้านนี้ไปเป็นลูกสะใภ้บ้านไหน หรือมาเล่าให้ฟังต่อว่าคนในรูปเป็นอย่างไรตามความคิดของเขา เรามองว่าสิ่งเหล่านี้คือเรื่องเล่าที่เต็มไปด้วยความสุข ซึ่งมันเติมเต็มคำว่าเจริญกรุงให้สมบูรณ์แบบมากขึ้นกว่าการบอกเล่าเรื่องราวเพียงครอบครัวในนิทรรศการนี้เท่านั้น”

        แบงค์: “คนสนุกที่สุดคือคนในย่าน โดยเฉพาะกลุ่มอาม่าที่เต้นแอโรบิกอยู่ตรงลานหน้าตึกที่ทำให้เราประทับใจมาก เขาเดินเข้ามาดู แล้วพูดคุยกันถึงคนในรูปอย่างสนุกสนาน นอกจากนี้ยังมีอากงอาม่าที่เคยอยู่ในย่านนี้ พอเห็นข่าวเขาก็เข้ามาดู แล้วบอกกับเราว่าการมาดูนิทรรศการนี้เหมือนได้กลับบ้านอีกครั้ง”

 

Portrait of Charoenkrung

Portrait of Charoenkrung

ภาพถ่ายที่เป็นมากกว่าภาพถ่าย

        จากภาพถ่ายครอบครัวธรรมดา กลายมาเป็นพื้นที่แห่งความทรงจำ ทั้งยังอาจทำให้หลายๆ คนตระหนักเห็นความสำคัญของภาพถ่ายครอบครัว จนทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน หรือนี่คือความผูกพันของคนในชุมชนแห่งนี้

        โต้: “เป็นช่วงเวลาที่น่ารักมาก เพราะบางครอบครัวที่ไม่ได้อยู่ในภาพถ่ายเขาก็ยังมาชม นิทรรศการนี้จึงกลายเป็นงานรวมครอบครัวขนาดใหญ่

        “อีกอย่างที่น่าตกใจมากจริงๆ คือเราไม่คิดว่างานครั้งนี้จะช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจของชุมชนได้ แต่พอไปเจอร้านค้าในชุมชน ที่เขามาบอกว่ามียอดขายเพิ่มขึ้นจากงานที่พวกเราจัด ทำให้รู้สึกว่ามันดีที่ภาพถ่ายได้สร้างคุณค่าบางอย่างกับชุมชนให้เห็นเป็นรูปธรรมได้แล้วจริงๆ”    

        แบงค์: “ปกติแล้วเวลามีงานศิลปะหรือการจัดแสดงงานต่างๆ เมื่อจบงานคนก็ไม่ได้จดจำอะไร แต่เราอยากให้งานนี้เป็นนิทรรศการถาวร ดังนั้น เราจะเอารูปถ่ายในงานครั้งนี้ให้เขาไปแขวนเก็บไว้ที่บ้าน ซึ่งมันจะไม่หายไป แต่จะอยู่ที่ผนังและกลายเป็นความทรงจำที่ดีตลอดไป”

 

        สำหรับทีมงานโรงเรียนสังเคราะห์แสงคงไม่มีสิ่งใดประทับใจมากไปกว่าการเห็นว่าชุมชนเจริญกรุงแปรเปลี่ยนไปในทางที่ดี ทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนตามโจทย์ที่ได้รับมา ตลอดจนการมีไมตรีจิตที่ดีต่อกันของผู้คนทุกฝ่าย

        ด้วยเหตุนี้จึงแสดงให้เห็นว่าภาพถ่ายที่พวกเขาได้ลั่นชัตเตอร์ไป ไม่เพียงแค่สะท้อนประโยคที่ว่า ‘ภาพถ่ายมีหน้าที่ในการบันทึก’ แต่ได้สร้างปรากฏการณ์ที่มีความหมายให้แก่ผู้คนและชุมชนย่านเจริญกรุง