สองปีที่แล้ว a day BULLETIN เคยไปจังหวัดน่าน เพราะรู้สึกว่าน่านเป็นจังหวัดเล็กๆ ที่เงียบสงบ เต็มไปด้วยผู้คนที่มีหัวใจรักถิ่นเกิด โอบกอดงานฝีมือที่เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิม ก่อนต่อยอดเป็นธุรกิจที่นำรายได้กลับคืนสู่ท้องถิ่น และเมื่อเราตั้งใจถ่ายทอดเรื่องราวของคนทำผ้าผ่านซีรีส์ผ้าเปลี่ยนโลก เราก็นึกถึงจังหวัดน่าน จึงต่อสายไปพูดคุยกับ ‘ดรีม’ – กรกฎ ใจแปง นักทอผ้าเยาวชน ผู้ที่จับกี่ตั้งแต่อายุหกขวบ เขาตั้งใจเก็บเกี่ยวเรื่องราว ความเชื่อ วิถีชีวิต ภูมิปัญญา และความงดงามของลวดลายของผืนผ้าให้คงอยู่ต่อไปชั่วลูกชั่วหลาน
ความเชื่อจากผ้าฝ้ายหนึ่งฝืน
ดรีมเก็บเกี่ยวเรื่องเล่าและความเชื่อของชาวไทยวนในจังหวัดน่านมาเล่าให้เราฟังว่า “ผ้ามีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของมนุษย์ตั้งแต่เกิดจนถึงตาย เกิดมาก็ใช้ผ้าอ้อม ใช้ตอนออกเรือน เมื่อตายก็ใช้เป็นผ้าปรกหน้าหรือผ้าคลุมศพ สำหรับชาวไทยวนก็เช่นกัน พวกเขามีความเชื่อว่า ผู้หญิงคนไหนทอผ้าปั่นฝ้ายไม่เป็นจะไม่ได้ออกเรือน ไม่ได้แต่งงาน เพราะสมัยก่อนตอนกลางคืนผู้หญิงจะปั่นฝ้ายอยู่ชานบ้าน ผู้ชายที่กลับมาจากท้องไร่ท้องนาผ่านมาเห็นก็มีโอกาสที่จะแวะเวียนมาเที่ยวหาเพื่อร้องเพลงจีบนั่นเอง และที่สำคัญ หญิงไทยวนก็จะต้องทอผ้าไว้อย่างน้อย 3 ผืน
“ผืนแรก ไว้สำหรับใช้เมื่อตัวเองแต่งงานออกเรือน ผืนที่สอง ทำสำหรับตัดเป็นชุดเพื่อใส่ในวันสำคัญของลูก เช่น งานบวชลูกชายหรืองานแต่งลูกสาว ส่วนผืนที่สามคือนุ่งตอนที่ตัวเองตาย ตามความเชื่อโบราณกล่าวว่า เมื่อตัวตายแล้วได้นุ่งซิ่นที่ตัวเองทอ ชาติหน้าก็จะได้กลับมาเกิดเป็นลูกหลานของชาวไทยวนอีกครั้ง”
เมื่อเวลาผ่านไป ความเชื่อนี้ค่อยๆ ลดทอนความสำคัญจนเกือบจะหายไปตามกาลเวลา โชคดีที่ยังมีบางชุมชนที่ยังคงยึดถือความเชื่อนี้ไว้บ้าง โดยเฉพาะที่ชุมชนบ้านซาวหลวงที่ยังคงมีการปลูกฝ้ายและการทอผ้าเพื่อนำมาใช้เป็นเครื่องนุ่งห่มในชีวิตประจำวัน อย่างผ้าห่ม ผ้าขาวม้า และซิ่น รวมทั้งปลูกเป็นไร่ๆ เพื่อทำเป็นธุรกิจหลัก
“ในสมัยก่อนชาวไทยวน รวมทั้งชาวน่าน มักจะปลูกต้นฝ้ายที่หัวไร่ปลายนาเพียงไม่กี่ต้น ส่วนใหญ่จะปลูกไว้เพื่อเก็บดอกฝ้ายสำหรับนำไปปั่นทำเป็นฝ้ายมงคล ไว้ใช้ผูกข้อมือเวลาทำขวัญมากกว่าที่จะทอเป็นผ้าผืนเพื่อตัดเสื้อผ้าไว้ใส่ แต่ปัจจุบัน ผ้าฝ้ายธรรมชาติเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น หลายคนจึงเปลี่ยนจากการปลูกข้าวโพดมาปลูกฝ้ายแทน ทำให้ที่นี่ยังคงมีฝ้ายธรรมชาติให้ได้ชมและให้ได้เก็บดอกฝ้ายมาปั่นทำเป็นเส้นฝ้าย ก่อนนำไปย้อมสีธรรมชาติเหมือนในอดีต ที่ส่วนใหญ่ยังคงย้อมด้วยคราม หม้อห้อม เปลือกไม้ ใบไม้ เช่น เปลือกประดู่ เปลือกเพกา ผลมะเดื่อ ใบหูกวาง หรือใบสัก วัสดุที่หาได้จากรอบบ้าน นำมาต้มย้อมเหมือนในอดีต”
ผ้าฝ้ายหนึ่งผืน แลกกับขั้นตอนนับสิบ
ขั้นตอนแรก: ตูนฝ้าย เริ่มจากเก็บฝ้ายมาตากแดด แล้วนำไปคัดและทำความสะอาดดอกฝ้าย
ขั้นตอนที่สอง: อิ้วฝ้าย นำมาหีบแยกเมล็ดออกด้วยการใช้มือซ้ายป้อนฝ้ายเข้าในหีบ มือขวาหมุนลูกหีบ ลักษณะของหีบนั้นจะมีหน้าตาคล้ายกับเครื่องรีดปลาหมึกตากแห้ง
ขั้นแรกที่สาม: ยิงฝ้าย คือการทำให้ฝ้ายพองตัวและฟูขึ้น บางคนเรียกว่าการดีดฝ้ายด้วยซี่ไม้ไผ่ เหลาให้ปลายเรียวแหลม นำฝ้ายมาปักลงส่วนที่แหลมแล้วเขย่าๆ ให้ปุยฝ้ายฟู
ขั้นตอนที่สี่: ล้อมฝ้าย คือการม้วนปุยฝ้ายบนแผ่นกระดาน แล้วใช้ไม้ตะเกียบและฝ่ามือคลึงฝ้ายม้วนให้แน่น
ขั้นตอนที่ห้า: เข็นฝ้าย คือการปั่นให้เป็นเส้นด้วยอุปกรณ์ที่เรียกว่า หลา
ขั้นตอนที่หก: เปียฝ้าย คือการจัดเรียงเส้นฝ้ายให้เป็นกำ หรือที่เรียกว่า ไจ หลังจากนี้คือการต้มไล่ไขมัน ก่อนนำไปย้อมสีธรรมชาติ และทอเป็นผืนต่อไป
ลวดลายโบราณ กับการทอที่ยาวนานถึงหนึ่งเดือน
สำหรับนักทอผ้าและคนออกแบบลายผ้าอย่างดรีม เริ่มต้นโปรเจ็กต์แรกกับคนในหมู่บ้านซาวหลวง ด้วยการออกแบบลายบ่อสวก ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากลวดลายไหโบราณอายุกว่า 700 ปี ที่พบจากการขุดค้นทางโบราณคดี โดยมีความเชื่อว่า ลวดลายนี้เมื่อทอเป็นลายบนผืนผ้าจะนำพาความมั่งคั่งมาให้กับผู้ส่วมใส่ ในขณะที่ลวดลายที่แพงที่สุดนั้นมีราคาสูงถึงผืนละ 25,000 บาท
“ลวดลายที่แพงที่สุดคือลายย่าม่านจากภาพวาดปู่ม่านย่าม่านกระซิบรักที่วัดภูมินทร์ เป็นการแกะลายซิ่นที่ย่าม่านนุ่ง มีลักษณะเป็นลายคลื่น ใช้เทคนิคการทอแบบเกาะล้วงลายน้ำไหล ใช้ระยะเวลาทอ 1 เดือนต่อคน ขนาด 175 x 110 เซนติเมตร ส่วนราคา หากใช้ฝ้ายทอจะขายผืนละ 15,000 บาท หากใช้ไหมทอจะขายในราคา 20,000 บาท ส่วนการใช้สีแบบดั้งเดิมจะประกอบไปด้วยการไล่สีน้ำเงิน เขียว ฟ้า ส้มและแดง ซึ่งลายนี้มีคนทอได้เพียงสามคนทั้งหมู่บ้าน และจะทอตามออร์เดอร์เท่านั้น”
นอกจากนี้ยังมีซิ่นวิเศษเมืองน่านซึ่งเป็นหนึ่งในห้านางพญาซิ่นล้านนา ใช้เทคนิคการทอแบบตีนจก ลวดลายเชียงแสนหงส์ดำแบบโบราณ ราคาขึ้นอยู่กับตีนจก เช่น แบบขนเม่น ราคาผืนละ 12,000 บาท หากทอจากไหมราคาจะอยู่ที่ 25,000 บาท โดยในสมัยก่อนจะเรียกซิ่นชนิดนี้ว่า ซิ่นผี หรือซิ่นพระแม่โพสพ สำหรับไว้ใช้ในพิธีทำขวัญข้าว ส่วนในปัจจุบันได้กลายเป็นของสะสมสำหรับคนรักผ้าโบราณ”
นอนโฮมสเตย์ กินกับข้าวท้องถิ่น เรียนทอผ้าแบบดั้งเดิม
ระหว่างการสนทนาเขาได้เชิญชวนให้เรากลับไปทำเวิร์กช็อปกันที่บ้านซาวหลวงอีกครั้ง โดยเริ่มจากนอนโฮมสเตย์ที่บ้านซาวหลวง ตื่นเช้าใส่บาตรที่วัดซาวหลวง กลับมากินมื้อเช้าพร้อมๆ กับเจ้าบ้านด้วยอาหารท้องถิ่น นั่งรถอีแต๊กชมวิวรอบๆ บ้านซาวหลวง ยาวไปจนบ้านบ่อสวก หรือจะเดินชมท้องไร่ท้องนาและวิวดอยภูสะงืดก็ได้ .
“หากมาในเดือนมิถุนายน จะมีประเพณีขึ้นดอยภูสะงืด เป็นกิจกรรมเดินเข้าป่าเพื่อขึ้นไปไหว้สาพระธาตุทันใจ” ดรีมบอกเราล่วงหน้านานหลายเดือน
จากนั้นก็เข้าสู่กิจกรรมไฮไลต์ ซึ่งเริ่มต้นด้วยการชมต้นฝ้าย พร้อมชมวิธีการทำผ้าฝ้ายทุกกระบวนการ ก่อนพาไปชมการย้อมฝ้ายด้วยสีธรรมชาติจากเปลือกไม้ แล้วไปชมกี่กระตุกหลังใหญ่สำหรับทอผ้า พร้อมเรียนรู้การทอผ้าเบื้องต้น ก่อนจะลงมือทอผ้าเช็ดหน้าหนึ่งผืนด้วยตัวเอง สุดท้ายหากยังพอมีเวลา สามารถเยี่ยมชมสถานที่บริเวณใกล้เคียงได้ อาทิ พิพิธภัณฑ์เฮือนบ้านสวกแสนชื่น เตาเผาโบราณ หรือศาลปู่ฮ่อ เป็นต้น
FYI: โฮมสเตย์บ้านซาวหลวง
ที่พักพร้อมอาหารเช้าในราคา 350 บาท/คน/คืน มีกิจกรรมทอผ้าให้เรียนรู้ในราคา 100 บาท/คน บริการรถอีแต๊กคันละ 500 บาท รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อได้ที่ คุณแม่วัลภา อินผ่อง โทร. 08-8454-1005