เทมส์

Viewfinder | ถ้าฝนตกให้เข้าพิพิธภัณฑ์ ถ้าแดดออกให้เดินชมเมือง เสน่ห์แห่งเทมส์และลอนดอน

ทางเดินริมแม่น้ำเทมส์ ในวันที่ลอนดอนได้แสงแดดกำลังดี มีกลุ่มนักดนตรีบรรเลงเพลง Champagne Supernova อยู่เชิงสะพานมิลเลนเนียม เป็นฉากสะพานใน Harry Potter and The Half-Blood Prince (และอีกหลายภาค) นี่อาจเป็นโชคดีของผู้มาเยือนลอนดอนในวันนี้ก็ได้ เพราะไม่มีการปิดปรับปรุงหลังจากสะพานถูกทำลายแล้วทำลายเล่าในโลกภาพยนตร์

     บรรยากาศที่เป็นใจทำให้เราเลือกที่จะเดินไปตามริมแม่น้ำและข้ามสะพานมิลเลนเนียมจากฝั่งอาสนวิหารนักบุญเปาโล ข้ามแม่น้ำเทมส์มายังเทต โมเดิร์น (Tate Modern) สถานที่รวบรวมผลงานศิลปะสมัยนิยม เป็นสถานที่ที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้เข้าเยี่ยมชมตั้งแต่แบเบาะจนถึงผู้สูงวัย การออกแบบสถาปัตยกรรมจึงมีส่วนสำคัญในการต่อยอดแรงบันดาลใจของเหล่าผู้มาเยี่ยมชมผลงานแสดงของศิลปินในเทต โมเดิร์น

 

เทมส์

 

สายสีส้ม: โครงสร้างศิลปะที่หยอกล้อไปกับรูปทรงภายนอกของอาคารเทต โมเดิร์น

 

     การจัดการบริหารสเปซของเทต โมเดิร์น มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้งานภายในอาคารได้อย่างมีเอกลักษณ์และลงตัว ที่สำคัญการออกแบบสถาปัตยกรรมภายนอกและภายในได้คำนึงถึงการใช้งานของทุกเพศทุกวัย และผู้ใช้วีลแชร์ (User-friendly)

 

เทมส์

 

(สะดุดรัก) ที่พักใจ: ชานระเบียงนอกระเบียงของโรงละครแห่งชาติลอนดอน วางลวดลายกระเบื้อง สตรีทเฟอร์นิเจอร์ และสวน(ห)ย่อม ด้วยขนาดกำลังดี

 

เทมส์

 

กระเท่เร่: อาคารที่ค่อยๆ ลดหลั่นเป็นชั้น เหมือนได้รับอิทธิพลมาจากโครงสร้างพีระมิด

 

     Herzog & de Meuron สถาปนิกผู้ออกแบบพื้นที่บริเวณแบงก์ไซด์ให้ออกมาในรูปแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมบริเวณริมแม่น้ำเทมส์ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญของลอนดอน และทำให้เทต โมเดิร์นได้รับรางวัล The Pritzker Architecture Prize ในปี 2001

 

     หลังจากเยี่ยมชมเทต โมเดิร์น ผมเดินเลียบริมแม่น้ำผ่านร้านรวงน่ารักๆ อยู่รอบๆ แวะจิบเบียร์ ดูคนเดินผ่านไปผ่านมา… วันสบายๆ ริมแม่น้ำเทมส์ จิบเบียร์อย่างช้าๆ ในเมืองที่หมุนตลอดเวลาพร้อมเสียงเพลง Good Day Sunshine ผ่านหูฟังสีขาวที่สายกำลังเป็นสีเหลือง

 

เทมส์

 

Inside Out: เงาสะท้อนความคิดภายในสมองของสุภาพสตรีท่านหนึ่ง

 

     โรงละครแห่งชาติลอนดอน (NT) สถานที่ถัดมาหลังจากพักเติมพลัง อาคารหลังนี้เปิดใช้ตั้งแต่ปี 1976 เป็นอาคารรูปแบบ Brutalist Architecture ออกแบบโดย Sir Denys Louis Lasdun จนถึงเวลาปัจจุบัน อาคารสถาปัตยกรรมหลังนี้ยังคงอัตลักษณ์และรูปแบบความ (พอ) ดิบ (พอ) ดี ของการใช้ภายในอาคารที่มีเสน่ห์และภายนอกอาคารที่มีรูปแบบเรขาคณิตที่เรียบหรูดูมีคลาสในแบบฉบับ Brutalist สอดรับกับการใช้งาน ภายในอาคารให้บรรยากาศความดิบของวัสดุ แสงถูกดึงเข้ามาผ่านความคิดของสถาปนิกผู้ออกแบบ เพื่อเพิ่มมิติให้กับพื้นที่ภายในของอาคาร (บางส่วน)

 

เทมส์

 

Bare Item: คอนกรีตหลายร้อยตันที่ถูกอัดแน่นด้วยการออกแบบแนวคิดให้สอดคล้องกับการใช้งานของสถานที่ Royal National Theatre

 

เทมส์

 

แรงดึงแดด: ช่องแสงที่ถูกสถาปนิกคิดและออกแบบวิธีนำแสงธรรมชาติเข้ายังอาคารอย่างมีจังหวะเวลาที่งดงามของอาคารนี้

 

 

#souvenir: รุ้งแรร์ไอเทมบนผิวคอนกรีตเปลือย มาในรูปแบบอัดแท่ง

 

     ชานระเบียงลดหลั่นของแต่ละชั้น ช่วยเสริมสร้างมุมมองของผู้มาเยี่ยมเยือน เราสามารถมองเห็นอาสนวิหารนักบุญเปาโล, คิงส์คอลเลจลอนดอน, ลอนดอนอาย พื้นที่สวน ณ ชานระเบียงสามารถนั่งเล่น นั่งรอชมละคร ได้ตามอัธยาศัย

 

เทมส์

 

ความโปร่งใส: พื้นที่ภายในตัวอาคารไม่อึดอัดด้วยการเลือกใช้วัสดุกระจกโปร่งใสบวกกับใช้แสงธรรมชาติ

 

 

ลอนดอน (ยัง) อาย: โครงสร้างชิงช้าสวรรค์ที่อยู่เบื้องหลังชายผู้หนึ่งซึ่งเป็นพร็อพของภาพนี้ (ขอบคุณครับ)

 

 

โบสถ์: อาสนวิหารนักบุญเปาโลผ่านมุมมองจากสะพานเซาท์วาร์ก

 

 

อาหารตา: จุดชิมวิวหรือจุดชมวิวบนอาคารเทต โมเดิร์นได้รับความนิยมจากบรรดานักเรียนไม่แพ้นักท่องเที่ยว #วิว5,000ล้านเบรี

 

     ถ้าฝนตกให้เข้าพิพิธภัณฑ์ ถ้าแดดออกให้เดินชมเมือง ผมนำทั้งสองสิ่งมาผสมกัน บางครั้งแสงที่ลอดเข้าในพิพิธภัณฑ์ ซึ่งเรื่องราวที่อยู่ต่อไปนี้อาจจะเป็นแรร์ไอเทมที่เกิดขึ้นในทริปนี้เลยก็ได้

 

เทมส์

 

เดอะ สตรอก: ชีวิตของผู้คน ณ ซอกสตรีทในตรอกแห่งหนึ่งข้างอาคารเทต โมเดิร์น วันใดมีแสงและเงา เราจงเข้ามิวเซียม… (ใช่เหรอ?)

 


ถ่ายทอดเรื่องราวและบันทึกภาพโดย: พีรพัฒน์ วิมลรังครัตน์ (addcandid)