เมื่อวันที่ ๔-๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๒ ประเทศไทยมีเหตุการณ์สำคัญที่สุดหน้าหนึ่งในประวัติศาสตร์ นั่นคือ
พระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ขึ้นเป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อย่างสมบูรณ์ตามโบราณราชประเพณี
โดยตลอดพระราชพิธีบรมราชาภิเษก a day BULLETIN ได้ร่วมงานกับทีมช่างภาพ ‘สยาม-ไทย ณ ห้วงกาล’ เพื่อนำภาพอันน่าประทับใจมาเผยแพร่ให้ประชาชนชาวไทยเก็บไว้เป็นส่วนหนึ่งในห้วงความทรงจำในหัวใจตลอดไป
๔.๐๕.๖๒
วันแรกของพระราชพิธี โดยในช่วงเช้าเป็นพระราชพิธีสรงมุรธาภิเษก ณ ชาลาพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน และทรงรับน้ำอภิเษก ณ พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ และทรงรับเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ขัตติยราชวราภรณ์ และพระแสง ณ พระที่นั่งภัทรบิฐ เสด็จออกมหาสมาคมรับการถวายพระพรชัยมงคล ณ พระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัย ในเวลา ๑๔.๐๐ น. เสด็จฯ โดยขบวนราบใหญ่ไปยังพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ปราสาทพระเทพบิดร และพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในเวลา ๑๖.๐๐ น. ก่อนเจ้าพนักงานเวียนเทียนสมโภช ณ หมู่พระมหามณเฑียร ในเวลา ๑๘.๐๐ น. ขณะมีการเฉลิมพระราชมณเฑียร เถลิงพระแท่นราชบรรจถรณ์ ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ในช่วงเวลา ๑๘.๑๙-๒๐.๓๐ น.
ในสมัยโบราณ การยิงสลุตคือการส่งสัญญาณให้ผู้คนและเจ้าหน้าที่ที่อยู่ไกลออกไปได้ยิน เพื่อเป็นการบอกว่างานพระราชพิธีนั้นได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว และเจ้าหน้าที่ก็จะทำการส่งสัญญาณต่อไปเป็นทอดๆ ไปยังหัวเมืองต่างๆ เพื่อรับรู้ถึงพิธีการนี้ ซึ่งเป็นการสื่อสารอีกรูปแบบหนึ่งในอดีตกาล
เรือสุพรรณหงส์จอดเทียบท่าราชนาวีสโมสร โดยเรือสุพรรณหงส์นั้นถือเป็นเครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศตามโบราณราชประเพณี
ภาพบรรยากาศของประชาชนที่มาเฝ้ารับเสด็จ ตั้งแต่เช้าจรดเย็น เพื่อแสดงความจงรักภักดี และความผูกพันของเขาที่มีต่อพระมหากษัตริย์สมัยรัตนโกสินทร์
๕.๐๕.๖๒
วันที่สองของพระราชพิธีนั้นเป็นพระราชพิธีเฉลิมพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย และสถาปนาฐานันดรศักดิ์พระบรมวงศานุวงศ์ เลี้ยงพระเทศน์ ณ พระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัย ก่อนในเวลา ๑๖.๐๐ น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค เริ่มจากพระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ปราสาท วัดบวรนิเวศวิหาร วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร ไปยังวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) ตามลำดับ
ริ้วกระบวนพยุหยาตราทางสถลมารค ได้เดินกระบวนไปยังเส้นทางตามหมายกำหนดการ โดยเหล่าประชาชนที่มาเฝ้าชมพระบารมีต่างเปล่งเสียง “ทรงพระเจริญ” อย่างกึกก้อง
ริ้วกระบวนฯ ได้ดำเนินไปที่ถนนพระสุเมรุ เลี้ยวเข้าสู่ถนนราชดำเนินกลาง ที่เต็มไปด้วยไฟประดับที่งดงาม ยิ่งใหญ่ และมุ่งหน้าสู่วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
๖.๐๕.๖๒
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออก ณ สีหบัญชร พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท ให้ประชาชนเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล ในเวลา ๑๖.๓๐ น. ก่อนจะเสด็จออกพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทให้ทูตานุทูต และกงสุลต่างประเทศเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคลในเวลา ๑๗.๓๐ น.
ประชาชนต่างพร้อมใจกันเปล่งเสียง “ทรงพระเจริญ” อย่างกึกก้อง เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออก ณ สีหบัญชร พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท ในเวลา ๑๖.๓๐ น.
“ข้าพเจ้าและพระราชินีรู้สึกยินดีและปลื้มใจมากที่ได้เห็นประชาชนทั้งหลายมีไมตรีจิตพร้อมเพรียงกันมาร่วมแสดงความปรารถนาดีในวาระบรมราชาภิเษกของข้าพเจ้าครั้งนี้ ความพร้อมเพรียงของท่านทั้งหลายผู้มาประชุมพร้อมกัน ณ ที่นี้ เพื่ออวยชัย ให้พร แก่ข้าพเจ้าด้วยน้ำใจไมตรีและความปรารถนาดีอย่างจริงใจนั้น เป็นที่จับตา จับใจ และทำให้ข้าพเจ้าอิ่มใจอย่างยิ่ง ขอให้ความพร้อมเพรียงของท่านทั้งหลายในการแสดงไมตรีจิตแก่ข้าพเจ้าครั้งนี้ จงเป็นนิมิตหมายอันดีที่ทุกคน ทุกฝ่าย จะพร้อมกันบำเพ็ญกรณียกิจเพื่อความเจริญรุ่งเรืองของประเทศชาติของเราต่อไป ขอขอบใจในคำอำนวยพร ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้กล่าวในนามของทุกคน และขอสนองพรให้ทุกท่านมีความผาสุกสวัสดี พร้อมทั้งความสำเร็จในสิ่งอันพึงปรารถนาจงทั่วกัน”
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการเสด็จออก ณ สีหบัญชร พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท วันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๖๒
๗.๐๕.๖๒
ช่วงเช้าของวันที่ ๗ พฤษภาคม มูลนิธิพระคชบาล, วังช้างอยุธยา แล เพนียด และกลุ่มคชสารคู่แผ่นดิน ได้นำช้างคชลีลาจำนวน ๑๐ เชือก และช้างวัง ‘พลายสยาม’ ทำการเชิญตราสัญลักษณ์ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๖๒ จำนวน ๑ เชือก มาตั้งขบวนเทิดพระเกียรติ เพื่อทำการถวายพระพรชัยมงคลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ บริเวณหน้าวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ด้านหน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยการเดินขบวนเทิดพระเกียรติครั้งนี้ ช้างคชลักษณ์จำนวน ๑๐ เชือก ได้ทำการแสดงคชลีลาก้าวท้าว จำนวน ๑๐ ก้าว และแสดงการแปรแถว รวมถึงเหล่าเจ้าหน้าที่จำนวน ๕๐๐ คน ได้ก้มกราบพื้น ๑ ครั้ง นาน ๑๙ วินาที เพื่อถวายพระพรชัยมงคลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความจงรักภักดี
พลายเอกชัย ช้างเผือกประจำรัชกาลที่ ๑๐ มีลักษณะตรงตามคชลักษณ์ ๗ ประการคือ ตาขาว, เพดานขาว, เล็บขาว, ขนขาว, พื้นหนังขาว, ขนหางขาว, อัณฑโกศขาว อายุ ๓๓ ปี มีรูปร่างสวยงาม น้ำหนักตัวประมาณ ๓ ตัน ความยาวของงามากกว่า ๑๐๐ เซนติเมตร เส้นรอบวงบริเวณงา ๒๘ เซนติเมตร
ขอขอบคุณภาพจากกลุ่ม สยาม-ไทย ณ ห้วงกาล
ขอแสดงความเสียใจกับการจากไปของ นพคุณ กุลสุจริต นายกสมาคมถ่ายภาพกรุงเทพ (Bangkok Photographic Society) ซึ่งเป็นหนึ่งในช่างภาพจิตอาสาในส่วนของสำนักพระราชวัง ไว้ ณ ที่นี้
ด้วยรักและอาลัย
สยาม-ไทย ณ ห้วงกาล และ a day BULLETIN