Waldhaus Sils

หิมะปลายฤดูร้อน และ Waldhaus Sils แกรนด์โฮเทล อายุ 112 ปี ที่ Sils Maria ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

นักเดินทางหลายคนคงจะรู้จักเซนต์มอริตซ์ เมืองสกีรีสอร์ตในเทือกเขาแอลป์ ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ไม่ไกลจากพรมแดนประเทศอิตาลี แต่สำหรับฉัน หมุดหมายที่น่าสนใจที่สุดนั้นอยู่ที่ Sils Maria หมู่บ้านเล็กๆ กะทัดรัดบนเนินเขา แวดล้อมไปด้วยป่าไม้ ภูเขา และทะเลสาบ รวมถึงเป็นที่ตั้งของ Waldhaus Sils แกรนด์โฮเทลเก่าแก่อายุนับร้อยปี ที่ยังคงดำเนินกิจการแบบ family business จนกลายเป็นสัญลักษณ์ของการต้อนรับแบบฉบับชาวสวิส 

        ฉันหลงรักโรงแรมแห่งนี้เข้าเต็มเปา รักแม้ว่าที่นี่จะไม่ใช่โรงแรมที่ใหญ่ที่สุดหรือหรูหราที่สุดในสวิตเซอร์แลนด์ แต่กลับเต็มไปด้วยเสน่ห์ของสถาปัตยกรรมและเรื่องราวประวัติศาสตร์ ผสานไปกับกลิ่นอายความเป็นครอบครัว ทำให้ฉันเห็นและสัมผัสได้ถึงความพยายามส่งต่อลมหายใจของแกรนด์โฮเทลจากรุ่นต่อรุ่นที่ยังคงชัดเจนในทุกๆ จังหวะ

 

(1)
Snow in the Summer 

 

        ฉันตื่นแต่เช้าด้วยเสียงระฆังโบสถ์ที่มองเห็นได้จากหน้าต่างห้องนอน เป็นเช้าแรกในรอบสามอาทิตย์ที่ฉันเปิดโอกาสให้ตัวเองได้ใช้ชีวิตแบบเนิบช้า ไม่ต้องถูกปลุกด้วยเสียงนาฬิกาในเวลาเดิมเหมือนวันก่อนๆ เมื่อตั้งสติจากความงัวเงียได้แล้ว ฉันก็รู้สึกร่าเริงและตื่นเต้น เพียงแค่ได้คิดว่าวันนี้จะได้ออกเดินทางไปสู่ Sils Maria หมู่บ้านเล็กในหุบเขาในภูมิภาค Maloja ทางตอนบนของหุบเขา Engadine ไม่ใกล้ไม่ไกลกับเมืองสกีอย่างเซนต์มอริตซ์ที่โด่งดัง

        “อ้าว Sils หิมะตกเฉย!” – ฉันอุทานหลังจากเช็กสภาพอากาศก่อนออกเดินทาง ที่ฉันตกใจก็เพราะว่าปลายฤดูร้อนในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ส่วนใหญ่อุณหภูมิจะค่อยๆ ลดลง แต่ปีนี้จากอากาศเย็นสบายกลายเป็นหนาวยะเยือกแบบปุบปับ นั่นเท่ากับว่าการได้เห็นหิมะแรกในช่วงปลายเดือนกันยายนถือเป็นเรื่องแปลกประหลาด 

        “ปีนี้หิมะมาเร็วเกินปกติไปมาก ต้นไม้ช็อกกันไปหมด ใบไม้ยังไม่ทันได้เปลี่ยนสีเลย” ลุงชาวสวิสกล่าวด้วยน้ำเสียงกังวล แต่ก็ยังไม่วายปิดท้ายติดตลกว่า “ตกแบบนี้ พอถึงคริสต์มาส หิมะคงได้หมดพอดี”

        เมื่อหิมะมา กระเป๋าเดินทางของฉันจึงแน่นขนัดไปด้วยเสื้อกันหนาว ที่มาเติมอีกฝั่งหนึ่งของกระเป๋าหลังจากที่เตรียมรองเท้าเดินเขาไว้ตั้งแต่เมื่อคืน กลายเป็นการอัพเกรดสกิลการเตรียมพร้อมออกเดินทางในเวลาอันสั้นของตัวเองได้อย่างสวยงาม

 

(2) 
Julierpass

Waldhaus Sils

 

        เส้นทางขับรถไป Sils Maria เรียกว่าสะดวกสบาย ถนนเรียบกริบ และมีป้ายชัดเจนจนยากที่จะหลง เราใช้เส้นทาง Julierpass ทางขึ้นเขาในช่วงเทือกเขา Albula Range ที่เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาแอลป์อันยิ่งใหญ่ เชื่อมต่อกับ Engadine ปลายทางจุดหมาย ระหว่างทางที่คดเคี้ยว การได้เห็นยอดภูเขาขาวโพลนไปด้วยหิมะจากเมื่อคืนวาน ในขณะที่ต้นไม้ด้านล่างยังเขียวขจี แม้จะสวยดีอยู่ แต่ก็ทำให้อดคิดถึงสิ่งที่น้องเกรต้าออกมาต่อสู้เพื่อโลกใบนี้ไม่ได้

        ฉันขับรถมาเพียง 2 ชั่วโมง ก็มาถึงที่พัก Waldhaus Sils หลังจากเลี้ยวผิดไป 1 ครั้ง

        การต้อนรับของโรงแรมเป็นไปอย่างกันเองกว่าที่คาดมาก มีคุณลุงหน้าตาใจดีสองคนออกมายืนต้อนรับหน้าเคาน์เตอร์เช็กอิน พร้อมถามว่าเดินทางเหนื่อยไหม มาจากไหนกัน จากนั้นลุงก็แจกหนังสือหนา 300 กว่าหน้ามาให้ห้องละ 1 เล่ม  มีให้เลือก 2 ภาษา ระหว่างภาษาเยอรมันและอังกฤษ เล่มเวอร์ชันเยอรมันไม่มีรูปด้านหน้า ฉันเลยเลือกภาษาอังกฤษแทน ที่จริงแล้วฉันอ่านภาษาเยอรมันไม่ออกน่ะ 

        หนังสือเล่มนี้มีชื่อว่า 111 Years Waldhaus Sils: The Curious Tale and Incomplete History of an Alpine Grand Hotel and Its People – หนาไม่พอ ชื่อยังยาวด้วย การอ่านก็คงยาวเหมือนกัน

 

(3)
Waldhaus Sils

 

        Waldhaus แปลอย่างตรงตัวได้ว่า house in the forest หรือบ้านในป่า 

        Waldhaus Sils เปิดบริการครั้งแรกเมื่อ 15 มิถุนายน ค.ศ. 1908 เป็นหนึ่งในแกรนด์โฮเทลห้าดาวเพียงหยิบมือของสวิตเซอร์แลนด์ที่ยังคงดำเนินกิจการด้วยคนในครอบครัว จนถึงปัจจุบันคือรุ่นที่ 5

        ด้วยสถาปัตยกรรมเก่าแก่ของโรงแรมและทำเลที่ตั้งอันโดดเด่นบนเนินเขา สภาการโบราณสถานของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ (ICOMOS Switzerland, the International Council on Monuments and Sites) เลยมอบรางวัล Swiss Historic Hotel of the Year ให้ในปี 2005 และได้รางวัลพิเศษในโอกาสครบรอบ ’20 Years of Historic Hotels of the Year’ ในปี 2015

        นี่คือความรู้เบื้องต้นที่ฉันได้จากเอกสารโรงแรม และการเปิดหนังสืออ่านบทนำเพียงเล็กน้อย เพื่อเป็นน้ำจิ้มกระตุ้นความอยากรู้และอยากเห็นทุกซอกทุกมุมของโรงแรมแห่งนี้ 

 

(4)
Anne Frank

Waldhaus Sils

 

        หลังพักเหนื่อย ก็ได้เวลาเปลี่ยนเสื้อผ้าเพื่อออกไปเดินเล่นป่ารอบๆ ทางเดินในป่าที่เต็มไปด้วยหิมะขาวโพลน สลับกับสีเขียวจากต้นไม้ในช่วงปลายฤดูร้อน แต่ในขณะเดียวกันบางจุดหิมะก็เริ่มละลายกลายเป็นพื้นที่ชื้นแฉะ 

 

Waldhaus Sils

 

        ฉันเร่งฝีเท่าให้เดินขึ้นไปทาง Val Fex แล้วเดินย้อนตามเส้นแม่น้ำที่ไหลลงมายัง Sils ระหว่างทางกลับ ฉันพบกับประติมากรรมกังหันจากเหล็กที่มีรูปทรงหลากหลายผสมกัน ทั้งไม้กางเขน ดาวพระจันทร์เสี้ยว ดวงอาทิตย์ หยินหยาง ดวงอาทิตย์ และปลา ป้ายเล็กๆ ระบุผู้ออกแบบ Paul Gugelmann ศิลปินชาวสวิส เขาสร้างขึ้นเพื่อระลึกถึง แอนน์ แฟรงก์

        ใช่ – แอนน์ แฟรงก์ ฉันยืนงงเพียงครู่ แล้วเก็บความสงสัยไว้ เมื่อกลับมาถึงโรงแรมจึงได้ค้นหาข้อมูลต่อและพบว่า แอนน์ แฟรงก์ ใช้เวลาช่วงฤดูร้อนที่ Villa Laret ใน Sils Maria เมื่อปี 1935-1936 ซึ่งเป็นบ้านของป้า Olga Spitzer 

        จากข้อมูลระบุว่า นี่คือตัวแทนโลกศาสนาทั้งห้า แสดงถึงความหวังในสันติภาพ ความอดทนอดกลั้น และการเคารพซึ่งกันและกัน ส่วนดวงอาทิตย์ และปลา คือสัญลักษณ์ของหมู่บ้านทั้งสองในหุบเขาที่มีชื่อว่า Engadine 

        ล้ำลึก และงดงาม – ฉันคิดอยู่ในใจ

 

(5)
Clouds of Sils Maria

Waldhaus Sils

 

        จากเรื่องเล็กๆ ที่ฉันพบระหว่างทาง ทำให้ฉันนึกถึงหนังเรื่อง Clouds of Sils Maria ที่ โอลิเวียร์ อัสซายาส กำกับ มีนักแสดงหญิงล้วนนำเรื่อง ทั้ง จูเลียต บีนอช,  คริสเทน สจวร์ต และ โคลอี้ เกรซ มอเรตซ์ ฉันชอบหนังเรื่องนี้ เพราะเขาถ่ายกันที่ Sils Maria และ Waldhaus 

        เส้นเรื่องดำเนินไป แต่สถานที่ที่ตรึงสายตาของฉันได้มากกว่าก็คือสิ่งที่เรียกว่า Maloja Snake ที่มีความหมายถึงกลุ่มก้อนเมฆธรรมชาติ ที่เคลื่อนที่เหนือทะเลสาบ ไหลยาวมาจากประเทศอิตาลี แล้วค่อยๆ เคลื่อนตัวไปตามซอกเขา จนมาถึง Sils Maria 

        เหมือนงูยักษ์เลยนะ, ดูหนังจบก็อยากเห็นของจริง พรุ่งนี้เลยตั้งใจไปขึ้นเขา เพื่อให้เห็นสิ่งนี้กับตา

 

(6)
Grüezi

Waldhaus Sils

 

        เช้าวันรุ่งขึ้นเป็นอีกเช้าที่ทำให้ฉันรู้สึกสดชื่นกว่าเดิม คงเป็นเพราะการนอนหลับที่สนิท ไม่กระดิกด้วยความเหนื่อย หลังอาหารเช้า ฉันขึ้นห้องกลับมาเอาของ มีคนเข้ามาจัดเตียงให้อย่างเรียบร้อยเหมือนไม่มีคนนอนมาก่อน ฉันใส่เสื้อเพิ่มอีกหนึ่งชั้น หย่อนผลไม้ลงเป้ หยิบแผนที่เส้นทางเดินเท้า พร้อมติดการ์ดจากโรงแรมเพื่อขึ้นกระเช้าฟรีมาด้วย 

        ฉันเดินลงเนินเขาผ่านหมู่บ้านด้านล่างไปยัง Furtschellas Talstation เพื่อขึ้นไปสถานี Furtschellas La Chüdera ทุกครั้งที่เดินสวนกัน คนที่นี่จะทักทายกันว่า Grüezi ที่แปลว่า Hello/สวัสดี และ Grüezi mitenand! ที่แปลว่า Hello everybody/สวัสดีทุกคน

        สถานีด้านบนอยู่บนความสูง 2,313 เมตร สามารถขึ้นไปนั่งจิบชาชมวิวเฉยๆ หรือเลือกเดินต่อไปได้อีกอย่างน้อย 3 เส้นทางตามเวลาและสมรรถภาพใจกายที่มี โชคไม่ดีเท่าไหร่ที่เมื่อคืนหิมะตกอีกรอบ เรียกว่านักเดินเขาสมัครเล่นอย่างฉัน อุปกรณ์ไม่พร้อม ถุงมือไม่มี และชันกว่าที่คาด จึงตัดสินใจเดินขึ้นในระดับความยากแค่ระยะกลางดูก่อน ว่าแล้วก็จ้ำขึ้นแบบไม่มองข้างหลังเพื่อไปให้ถึงจุดชมวิวทางแยก Alp Munt (2,424 เมตร) แล้วค่อยดูว่าจะพอขึ้นไปต่อถึงทะเลสาบ Lej Sgrischus (2,618 เมตร) ได้หรือไม่ เพราะถ้าหากไม่มีคนกรุยทางไว้ก่อนหน้า ทางเดินในบางช่วงที่แคบชันจะค่อนข้างอันตราย ด้วยหิมะใหม่ปกคลุมจนไม่เห็นทางเดิน

        ฉันเดินบ้างหยุดบ้าง เพราะรอบด้านนั้นวิวสวยเกินกว่าจะเอาแต่ก้มหน้าดูทาง และยังคงสบถในใจมาเรื่อยๆ ว่า เพราะสภาวะโลกร้อนแน่ๆ อากาศโลกถึงแปรปรวน ปลายซัมเมอร์หิมะถึงมาได้ครึ่งน่องขนาดนี้ กลับลงไปได้จะไปสไตรค์ช่วยน้องเกรต้าอีกเสียง

 

(7)
Friedrich Nietzsche 

Waldhaus Sils

 

        ในที่สุดฉันก็มาถึง Alp Munt ฉันหายใจเฮือกใหญ่ แล้วสูดกลิ่นอายวิวภูเขาที่ซ้อนภูเขาสุดสายตา และทะเลสาบเบื้องล่าง ฉันนั่งรอเมฆงูที่ไม่เลื้อยมาจนอิ่ม ก็ตัดใจเดินลงน่าจะดีกว่า เพราะรอยเท้าผู้กรุยทางขาขึ้นไม่มีอีกต่อไป ขาลงทุลักทุเลกว่าขาขึ้นเป็นอย่างมาก หิมะที่เกาะตัวเป็นน้ำแข็งแล้วนั้นลื่นมากแม่ ผ่าน Marmore ลงมาถึง Vanchera ครึ่งทางพอดี แวะพักกินผลไม้แล้วทำใจอีกแป๊บก่อนเดินต่อ 

        ฉันลงมาโผล่พื้นดินหลังบ้านหน้าต่างสีฟ้าใจกลางหมู่บ้าน เห็นคุณป้ายืนถ่ายรูปกับคุณลุงอยู่หน้าบ้าน เลยเดินไปอ่านป้ายถึงได้รู้ว่านี่คือบ้านของ เฟรดริช นิตเช่ (Friedrich Nietzsche) นักปรัชญาชาวเยอรมัน เขามาอยู่ที่นี่ในช่วงฤดูร้อนของปี 1881 และ 1883-1888

        Sils Maria ฮิตไม่เบาเหมือนกันนะ

 

(8)
Half Pension

Waldhaus Sils

 

        คืนนี้เรากินอาหารที่โรงแรมเหมือนเมื่อคืนก่อน ที่ Waldhaus มีห้องอาหารอยู่ 2 ห้อง คืนนี้เลยเป็นโอกาสที่จะได้ลองอีกฝั่ง เมื่อมานั่งที่โต๊ะ พนักงานถามลุงว่า ได้จองห้องแบบ half pension ไว้หรือเปล่า

        ฉันงงกับคำว่า half pension ไม่แน่ใจว่าคืออะไร หรือจะเป็นโปรโมชันสำหรับคนอายุเยอะเกษียณแล้วแบบ pensioner หรือเปล่านะ, น่าจะใช่ ฉันสังเกตเห็นคนที่มาพักส่วนใหญ่ไม่สูงวัยก็มากันเป็นครอบครัวทั้งนั้น แต่ความอยากรู้ชนะทุกสิ่ง ฉันจึงเอ่ยถามลุงออกไป 

        ปฏิกิริยาแรกของลุงหลังจบคำถามที่เกิดจากการคาดเดาก็คือ ขำแรง! ก่อนตอบว่า “มันคือชื่อเรียกเรตราคาห้องพักที่รวมอาหารสองมื้อไว้แล้ว จากปกติจะเป็นอาหารเช้ากับดินเนอร์ แต่ก็คงมีความหมายเดียวกับทำมาสำหรับคนแก่ จะได้ไม่ต้องไปไหนไกล” 

        ฉันพยักหน้า แอบเขินอายหน้าแดงเบาๆ 

        ความสนุกในมื้ออาหารยังไม่จบ เพราะมีผู้ใหญ่วัยกลางคนใส่สูทผมเนี้ยบเรียบแปล้ เดินมาถามทุกคนที่โต๊ะว่าอาหารเป็นยังไง อร่อยไหม วันนี้ไปไหนกันมา และปิดท้ายอวยพรให้นอนหลับฝันดี ฉันรู้สึกว่าการถามสารทุกข์สุกดิบในเวลาค่ำนี้ ทำให้ใจอุ่นรู้สึกได้ถึงความเป็นมิตรและความห่วงใยอย่างที่สัมผัสได้ในน้ำเสียง 

 

(9)
Silsersee and Silvaplanersee

 

        ฉันชอบ Sils Maria อีกอย่าง เพราะที่นี่อยู่ตรงกลางระหว่างทะเลสาบสองฝั่งที่เชื่อมต่อกัน คือ Silsersee และ Silvaplanersee 

        เช้าวันที่สาม ฉันเดินลัดเลาะผ่านเส้นทางเดินป่าจากโรงแรม ลงมายังทะเลสาบ Silsersee แล้วเดินเลียบทะเลสาบ ผ่านป่าและหมู่บ้านเล็กๆ ระหว่างทางมีทั้งจุดตั้งแคมป์ และจุดนั่งชมวิวอยู่เป็นระยะไปจนสุดทะเลสาบ ส่วนขากลับฉันเปลี่ยนบรรยากาศด้วยการนั่งเรือโดยสารที่มาทุกๆ 15 นาที เพื่อกลับมาที่โรงแรม

        ช่วงบ่ายที่ฉันตั้งใจจะไม่ทำอะไรเลย แต่ก็ไม่วายหยิบหนังสือ 111 Years Waldhaus Sils ขึ้นมา ฉันมองหาที่เหมาะๆ ก็พบว่า โถงเลานจ์ของโรงแรมน่าสนใจ เพราะเป็นโซนที่ปรากฏอยู่ในฉากของหนังเรื่อง Clouds of Sils Maria 

 

Waldhaus Sils

 

        ในหนังสือได้เขียนไว้ว่า Waldhaus ก่อตั้งโดย Josef Giger (1847–1921) และ Amalie Giger-Nigg (1849–1924) ถือเป็นรุ่นทวดของทวดของผู้บริหารรุ่นล่าสุด ตัวอาคารออกแบบโดย Karl Koller (1873-1946) สถาปนิกที่มีชื่อเสียงด้านการออกแบบโรงแรมในสมัยนั้น ใช้เวลาในการสร้าง 3 ปี ด้วยงบ 2.2 ล้านสวิสฟรังก์ โรงแรมยังคงสถาปัตยกรรมและการตกแต่งรูปแบบเดิมเอาไว้ อย่างห้องโถงที่ฉันนั่งอยู่ เฟอร์นิเจอร์ก็ยังเป็นของเดิมมาตั้งแต่ปี 1920 แต่ก็มีการปรับปรุงนำระบบต่างๆ เข้ามาใช้ตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป

 

(10)
Welte-Mignon

        พลิกหนังสืออ่านไปได้สักพัก ก็เจอรูปถ่ายรวมครอบครัวรุ่นปัจจุบัน และก็ภาพของคุณลุงสองคนที่มาต้อนรับเมื่อวันแรก นั่นคือผู้บริหารรุ่นที่ 4 Felix Dietrich และ Urs Kienberger ซึ่งเป็นคนเขียนหนังสือเล่มนี้ด้วย 

        ส่วนอีกคนที่มาอวยพรให้หลับฝันดีเมื่อวานคือ Claudio Dietrich ผู้บริหารรุ่นปัจจุบัน และหลายคนในรูปถ่ายก็รู้สึกคุ้นๆ ว่าน่าจะเดินสวนกันอยู่ในโรงแรมสักมุม

        หนังสือยังพูดถึงเปียโนโบราณ Welte-Mignon สำหรับบรรเลงเพลงอัตโนมัติด้วยม้วนโน้ตกระดาษฉลุ ที่ Josef Giger สั่งซื้อมาจากบริษัท M. Welte & Sons ประเทศเยอรมนี เหตุผลเพราะแขกที่มาพักในช่วงแรกๆ มักบ่นว่าที่นี่เงียบเหลือเกิน ได้โปรดซื้อเปียโนสักหลังด้วยเถิด นอกจากค่าขนส่งราคาเกือบครึ่งหนึ่งของเครื่องแล้ว ม้วนเพลงเองก็แพงใช่ย่อย หนึ่งเพลงราคาเท่ากับค่าห้องพักต่อคืนต่อคนในสมัยนั้น ปัจจุบัน Waldhaus มีม้วนเพลงอยู่ 100 ม้วน

        และที่ตรงนั้น ฉันเห็นนักดนตรีเข้าประจำที่ บรรเลงดนตรียามบ่าย ฉันหลับตาลง และทุกอย่างของที่นี่ก็ค่อยๆ ไหลเข้าสู่หัวใจดวงน้อยของฉัน

(11) 
Good Bye

Waldhaus Sils

 

        เช้าวันที่สุดท้าย ที่ Sils Maria 

        ฉันตื่นเต้นกับเรื่องที่ได้อ่านจนต้องเล่าให้ลุงฟังระหว่างอาหารเช้า ลุงเองก็อ่านบ้างแล้วเหมือนกัน และประทับใจกับประวัติศาสตร์ของโรงแรมไม่น้อยไปกว่ากันเลย เราเห็นตรงกันว่านอกจาก Waldhaus จะมีเสน่ห์ในแต่ละมุมของโรงแรมเองแล้ว คนที่นี่ยังให้ความอบอุ่นกันเองแบบครอบครัวต่างจากโรงแรมที่เคยพักกันมา ฉันแสดงความคิดเห็น แม้ว่าจะเพิ่งเข้ามามีประสบการณ์ร่วมในระยะเวลาอันสั้นก็ตาม

        โชคดีที่ก่อนเช็กเอาต์เราได้เจอกับทั้ง Claudio Dietrich และ Urs Kienberger มาบอกลาให้เดินทางปลอดภัย ฉันไม่ลืมบอกคุณลุง Urs Kienberger ว่าเขียนหนังสือได้สนุกมากจริงๆ และถ้าอ่านจบแล้วจะพยายามกลับมาที่นี่ให้ได้อีกสักครั้งในชีวิต 

 

**เรื่องและภาพ โดย ภัทราวรรณ สุขมงคล

 


อ้างอิง : 
– Andrin C Willi, Rolf Kienberger Stefan Pillow and Urs Kienberger., 111 Years Waldhaus Sils: The Curious Tale and Incomplete History of an Alpine Grand Hotel and Its People (Zurich : Scheidegger & Spiess, (2019), 9-14, 41-49.
https://www.trouw.nl/nieuws/monument-voor-anne-frank-in-zwitserland~bd3d7fc5/?referrer=https%3A%2F%2Fwww.google.com%2F