We will have been young

7465 นิทรรศการภาพถ่ายที่ตั้งคำถามกับกรอบ เครื่องแบบ และตัวตนที่แท้จริงของมนุษย์

เมื่อมองไปยังภาพถ่าย โดยที่ยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องเพศ เราจะเห็นภาพวัยรุ่นที่มีความหลากหลาย สวมใส่เครื่องแบบชุดนักเรียนชาย ซึ่งเครื่องแบบที่สวมทับอยู่นั้นเปรียบเสมือนกรอบที่พยายามจำกัดเพศสภาพและอิสระในการแสดงตัวตนของพวกเขาเอาไว้ แต่ถ้าหากลองรื้อถอนเครื่องแบบชุดนักเรียนชายนั้นออกไป เราจะพบว่าพวกเขาเป็นเพียงมนุษย์คนหนึ่งที่มีความหลากหลาย และลื่นไหลทางเพศ 

        เราชวน ‘จูน’ – วรรษมน ไตรยศักดา ช่างภาพอิสระ เจ้าของชิ้นงานชุด 7465 ผู้สนใจแง่มุมอันหลากหลายของ LGBTIQ มาพูดคุยถึงการยอมรับโลกที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางเพศสภาพ ที่ไม่ได้เพียงแค่ชายหรือหญิง รวมถึงสิ่งที่ปิดกั้นและกำหนดตัวตนของพวกเขาไว้ ซึ่งบอกได้เลยว่าการที่เราคิดว่าสังคมไทยยอมรับความหลากหลายทางเพศได้แล้ว อาจจะไม่ใช่เสมอไป

        ในขณะที่สังคมเรามีมากกว่าเพศชายและหญิง แต่เครื่องแบบนักเรียนกลับมีเพียงแค่ของชายหญิง

        หากลองมองเข้าไปลึกกว่าชุดนักเรียนที่สวมใส่ จะเผยให้เห็นถึงความหลากหลายทางเพศสภาพของเด็กแต่ละคน บางคนที่เป็นเกย์หรือไบเซ็กชวล อาจไม่ได้รู้สึกว่าตนเองถูกกดทับอะไร เพราะพวกเขาอาจพึงพอใจกับชุดนักเรียนชายอยู่แล้ว 

        แต่ในขณะเดียวกันเด็กที่เป็น Transgender ‘คนที่แสดงออกตรงข้ามกับเพศสภาพของตน’ กลับถูกปิดกั้นตัวตนด้วยเครื่องแบบชุดนักเรียน 

        การมองเห็นถึงความแตกต่างของมนุษย์และเข้าใจในสิ่งที่เขาเป็น จึงกลายเป็นจุดชนวนของการเริ่มต้นผลงานชิ้นนี้

 

We will have been young

We will have been young

ในโลกปัจจุบัน การที่คุณเกิดเป็นเพศชาย ไม่ได้แปลว่าคุณจะต้องเติบโตมาเป็นผู้ชาย มันการันตีไม่ได้ว่าถ้าคุณโตขึ้นมา คุณจะต้องชอบเพศตรงข้าม ทุกอย่างเรามองว่ามันคือการเรียนรู้ของการเติบโต

อะไรคือสิ่งที่เราอยากสื่อสารในผลงานชิ้นนี้

        หลักๆ ของงานนี้ เราอยากชวนคนมาตั้งคำถามมากกว่า บางคนอาจจะมองว่าเราส่งเสริมชุดยูนิฟอร์ม บางคนอาจจะรู้สึกว่าพวกเขาถูกลดทอนความเป็นมนุษย์ เหมือนออกมาจากโรงงานเดียวกัน หรือบางคนอาจจะสงสัยว่าเด็กทุกคนในภาพเป็น LGBTIQ กันหมดหรือเปล่า นี่คือความสวยงามอย่างหนึ่งของศิลปะ มันเปิดว่าคุณจะตีความอย่างไรก็ได้ และส่วนหนึ่งก็ขึ้นอยู่กับผู้รับสารว่าเขาเปิดรับมากแค่ไหน ซึ่งเรามองว่าแค่เปิดให้คนมาตั้งคำถามก็เป็นจุดเริ่มต้นแล้ว

        ตอนที่เราเอางานไปโชว์ต่างประเทศ ในประเทศที่เขาไม่มีวัฒนธรรมการใส่ยูนิฟอร์ม ตอนแรกก็กลัวว่าเขาจะอินไหม เพราะไม่เคยเห็น แต่พอถึงเวลาจริงๆ เขามองไปที่เด็กแต่ละคน แล้วตั้งคำถามว่า ทำไมเด็กเหล่านี้ต้องอยู่ในยูนิฟอร์ม ทั้งๆ ที่สามารถเป็นตัวของตัวเองได้ หรือบางคนก็มองเด็กในภาพเป็นผู้หญิง แล้วก็สงสัยอีกว่า ทำไมผู้หญิงคนนี้ถึงใส่ยูนิฟอร์มผู้ชาย เราก็เลยบอกไปว่า เพราะมีเพศกำเนิดชาย เขาก็ถามต่อว่าแล้วใส่ชุดผู้หญิงไม่ได้เหรอ เราก็บอกไปว่าถ้าอย่างนั้นต้องไปถามโรงเรียน (หัวเราะ) 

ปัจจุบันนี้ยังจำเป็นอยู่ไหมในการทำนิทรรศการเกี่ยวกับ LGBTIQ

        เรายังมีความจำเป็นที่จะต้องเปิดพื้นที่ในการแสดงความหลากหลายของ LGBTIQ อยู่ บางทีก็อยากจะบอกว่าอย่าเพิ่งเบื่อเลย ในอีกหลายมุม LGBTIQ ยังต้องทนกับสิ่งที่คนมองเขาเป็นตัวตลก แปลก บางทีน่าเศร้านะ ที่พวกเขาไม่ค่อยเห็นตัวเองในด้านที่ดีๆ ในพื้นที่ของสื่อเท่าไหร่ เลยกลายเป็นสิ่งที่ศิลปินหลายคนพยายามสื่อออกไป ถ้าถามเราว่ายังจำเป็นต้องทำงานนี้อยู่ไหม ในเมื่อคนเริ่มยอมรับแล้ว ก็ต้องถามย้อนกลับไปว่า ทำไมเราต้องหยุดทำ ในเมื่อยังมีความหลากหลายอีกมากมายที่ยังไม่ได้นำมาถูกเล่า

อะไรที่คุณมองว่าเป็นสิ่งที่ปิดกั้นตัวตนของเด็ก

        เราว่ามีหลายระดับ หนึ่ง คือการไม่เคารพเยาวชน เขาคิดว่าเด็กตัดสินใจเองไม่ได้ ซึ่งจริงๆ สังคมไทยต้องเชื่อมั่นในเยาวชนมากกว่านี้ ต้องให้เขามีสิทธิ์ในการตัดสินใจ เวลาเรามองเห็นเด็กฝรั่ง แล้วคิดว่าทำไมถึงเก่งจัง ก็เพราะเขามีอิสระทางความคิด แต่เด็กไทยถูกบังคับมาตลอด หรือเขาอาจจะมองว่าการที่ตั้งกฎระเบียบแบบนี้ จะสามารถสอนให้เด็กอยู่ในกฎระเบียบของสังคมได้ ซึ่งก็พิสูจน์แล้วว่าไม่ใช่ทุกอย่าง

        ระดับต่อไปคือการที่ผู้ใหญ่อาจจะกลัวการเหลื่อมล้ำ ซึ่งจริงๆ แล้วต่อให้เราบังคับเด็กทุกคนตั้งแต่หัวจดเท้า ผมทรงเดียวกัน ใส่ชุดเหมือนกัน คนหนึ่งใส่สมาร์ตวอตช์ คนหนึ่งใส่นาฬิกาธรรมดา มันก็เหลื่อมล้ำแล้ว หรือไม่ต้องแอ็กเซสซอรีอย่างอื่นก็ได้ แค่เรียนวิชาศิลปะ คนหนึ่งมีสิบสองสี คนหนึ่งมีห้าสิบสองสี คือเรารู้สึกว่าถ้าจะโชว์ความเหลื่อมล้ำ ชุดไม่ได้เป็นแค่เหตุผลเดียวหรอก แล้วก็เลยมองย้อนกลับไปว่า สุดท้ายคุณบังคับตั้งแต่หัวจดเท้า แล้วคุณได้อะไร 

        สิ่งหนึ่งที่น่าทึ่งคือเรารู้สึกว่าเด็กเหล่านี้เขาจะมีวิธีการแสดงออกของเขา อย่างเด็กบางคนก็จะมีวิธีการใส่กางเกงเพื่อ identify ตัวตน บางคนแสดงออกด้วยการทาปาก แต่งหน้า เขาจะพยายามดิ้นอยู่ในความเข้มงวดนี้ให้ได้ เราทึ่งและยอมรับในความครีเอตของน้อง แต่ก็เศร้าใจนะ ที่สุดท้ายเขาก็ไม่สามารถเป็นตัวเองได้อย่างเต็มที่

 

We will have been young

สังคมไทยไม่เคยเปิดพื้นที่ให้เด็กได้ทดลองเป็นตัวเอง ไม่ใช่แค่ว่าเด็กไม่รู้ว่าอนาคตตัวเองจะเป็นอะไรนะ เด็กบางคนยังไม่รู้เลยว่าปัจจุบันตัวเองเป็นอะไร

เด็กที่เป็น LGBTIQ จำเป็นต้องเก่งและสมบูรณ์แบบใช่ไหม สังคมจึงจะยอมรับ

        ไม่จำเป็นว่าคุณต้องเก่งหรือไม่เก่ง คุณจะเป็นใครก็ได้ในสังคมนี้ แต่เรามองว่าเป็นปมของเด็กเองมากกว่าที่คิดว่าฉันต้องเก่งเพื่อให้พ่อแม่ยอมรับ เพราะพ่อแม่บางคนที่บอกลูกว่าเป็นอะไรก็ได้ ขอให้เป็นคนดีก็พอ ขอให้ตั้งใจเรียนให้เก่งๆ นะ ซึ่งสิ่งที่เด็กจะทำเพื่อแก้ปมนั้นคืออะไร เขาก็เลยต้องเรียนให้เก่ง เป็นเด็กเรียบร้อย ไม่ออกนอกลู่นอกทาง 

        ต่างกันกับเด็กผู้ชายที่ชอบเพศตรงข้าม มีไหมเวลาที่เขาไปบอกแม่ว่าชอบเพศตรงข้าม แล้วแม่บอกว่า เป็นอะไรก็ได้ ขอให้เป็นคนดีก็พอ ก็ไม่มี บางทีคือการกดทับโดยไม่รู้ตัว ส่วนหนึ่งเราเข้าใจว่าเขาอาจจะเป็นห่วง เพราะบางครอบครัวเขาไม่เคยเห็นคนที่เป็น LGBTIQ ประสบความสำเร็จในพื้นที่สื่อ 

ทำไมพ่อแม่เด็กที่เป็น LGBTIQ ถึงรู้สึกกังวลและดำเนินชีวิตกันด้วยความกลัว

        ในอีกแง่หนึ่ง ลึกๆ แล้วเขาอาจจะรู้ว่าการที่ลูกเขาไม่เป็นชายหรือหญิง จะไม่ได้รับการยอมรับโดยรัฐ ไม่มีสวัสดิการหรือกฎหมายที่แข็งแรง ยกตัวอย่างง่ายๆ สมมติมีคู่รักชายหญิงคู่หนึ่งรับราชการ พอแต่งงานเขาเป็นคู่สามี ภรรยากัน เมื่อเกิดอะไรขึ้นกับผู้ชาย ผู้หญิงได้รับมรดก เขาเรียกสิทธิคู่สมรส กฎหมายคุ้มครองคู่รักเพศเดียวกันทั้งสองคน

        แต่กับอีกคู่หนึ่งเป็นชาย-ชาย จัดงานพิธีแต่งงานได้ แต่จดทะเบียนสมรสไม่ได้ ถึงจะเกิดอะไรขึ้น กฎหมายก็จะมองแค่ว่าสองคนนี้เป็นรูมเมตร่วมห้องกันอยู่ดี ไม่ได้ลดภาษี กู้ร่วมก็ไม่ได้ ถ้าอีกคนหนึ่งเสียชีวิต ถึงคุณจะบอกว่านี่คือสามีผม แต่ถ้าคุณไม่มีทะเบียนสมรส ระบบราชการก็ไม่ปกป้อง เลยเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้ใหญ่กลัวว่าถ้าลูกพวกเขาเป็น LGBTIQ จะไม่ได้รับสิทธิ์ที่เท่าเทียมกับคนอื่นๆ สุดท้ายลูกฉันก็ต้องเป็นพลเมืองชั้นสอง สมรสไม่ได้ สังคมไม่ยอมรับ แล้วอนาคตลูกฉันก็จะไม่สามารถมีลูกหลานให้ฉันได้อีก

ถ้าไม่แก้กฎหมาย การยอมรับ LGBTIQ ในสังคมไทยเป็นเพียงการยอมรับแค่ลมปาก 

        สำหรับเรามองว่านั่นเป็นการยอมรับแบบมีเงื่อนไข สมมติเราเห็นผู้ชายสองคนจับมือที่พารากอนก็น่ารักดี แต่วันหนึ่งถ้าเราเป็นพ่อแม่ มีลูก อ้าว ลูกเราทำไมจับมือกับผู้ชาย ก็อาจมีหลายครอบครัวที่เขายอมรับ แต่บางครอบครัวเขาก็ไม่ยอมรับ เขาอาจจะไม่ได้รังเกียจ LGBTIQ นะ แต่เขาแค่ไม่เข้าใจว่าคู่ชาย-ชาย หญิง-หญิง มันจะเวิร์ก เพราะสิ่งที่เขาเห็นตลอดชีวิตในละครที่ผ่านมาเป็นคู่ชาย-หญิง ทุกอย่างในสังคมเป็น default ไปแล้วว่าต้องเป็นชายหญิง 

 

We will have been young

We will have been young

การเป็น LGBTIQ จะต้อง coming out ออกมาอย่างไรให้พ่อแม่เข้าใจมากที่สุด

        นี่เป็นปัญหาคลาสสิกมาก มิติเรื่อง coming out จริงๆ ถ้าในหนังนี่คือจุดแตกหักของครอบครัว ที่เราต้องมานั่งเปิดใจกับพ่อแม่ว่าเราเป็นเกย์ มีสองข้อ ถ้าพ่อแม่ไม่ร้องไห้ ไม่เป็นไรลูก ก็เดินออกไปเพราะไม่เข้าใจ ปัญหาตรงนี้ไม่มีสูตรสำเร็จว่าต้องบอกกับเขาแบบไหน เพราะบางครอบครัวมันไม่เหมือนกัน บางคนอาจจะเลือกไม่บอกพ่อแม่เลยก็ได้ คือการ coming out บางทีถ้าเราเลือกที่จะบอกพ่อแม่แล้ว คือเราต้องเตรียมตัวที่จะอธิบายให้เขาฟัง อย่าสมมติไปเองว่าพ่อแม่จะเข้าใจไปเลย เหมือนกับบางทีที่เราไม่เข้าใจพ่อแม่ว่าเขาก็มีความหวังดี

        การจับเข่าคุย ถึงแม้ว่าอาจจะมีการเสียน้ำตา แต่นั่นคือการทำความเข้าใจ แล้วอย่าลืมว่าพอเรา coming out กับพ่อแม่ แล้วจะหยุดแค่นั้น พ่อแม่เขาก็ต้องไป coming out กับญาติพี่น้อง เพราะด้วยสังคมเรามันมี community collective เราบอกแค่พ่อแม่มันไม่จบ วันหนึ่งรวมญาติ มีคนถามว่าลูกเป็นยังไง ตามสไตล์ป้าข้างบ้าน พ่อแม่เราก็ต้องไปเป็นตัวแทนเพื่อพูดคุยกับคนเหล่านี้อีก ดังนั้น เราจะต้องช่วยเสริมความเข้าใจให้กับพวกเขา

ถ้าอีกห้าหรือสิบปี การยอมรับยังไม่ได้มากขึ้น อะไรคือสิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับเด็ก LGBTIQ กำลังโตขึ้น

        เราว่าหลายๆ อย่างก็จะวนลูปอยู่แบบนี้ จริงๆ ตัวเลขของเด็กที่เป็น LGBTIQ แล้วโดนบูลลีจนฆ่าตัวตายก็มีไม่น้อย เพียงแค่ไม่เป็นข่าว สอง คือไม่มีการเก็บสถิติที่แน่นอน หลายคนอาจจะคิดว่าแค่ล้อเล่น แต่คำพูดเหล่านั้นมันติดค้างในใจ แล้วกลายเป็นแผลในใจ

        ถ้าอีกห้าถึงสิบปีมันยังไม่เปลี่ยน ทุกอย่างอาจจะทวีคูณก็ได้ และตราบใดที่เรายังมีกฎที่ไปกดทับและทำร้ายเด็กของเราเอง อนาคตประเทศจะสามารถไปไกลได้แค่ไหน ถ้ายังมานั่งห่วงกับผมเธอยาวเกินห้ามิลลิเมตรหรือเปล่า ทำไมพื้นถุงเท้าเธอเป็นสีดำ ซึ่งแทนที่เราจะก้าวเดินไปข้างหน้าได้ สุดท้ายแล้วเราก็อยู่ที่เดิมไม่ไปไหน แล้วคนที่บังคับกฎนั้นอีกไม่กี่ปีเขาก็ตาย อนาคตมันคือโลกของเราไหม ถ้าอีกห้าถึงสิบปีไม่มีการเปลี่ยนแปลง ก็พูดได้ว่าอนาคตมันก็จะไม่ใช่อนาคตของเรา ก็จะเป็นฝันเดิมๆ ของพวกอนุรักษนิยมที่ทิ้งเอาไว้ 

 


We will been have young

        สามารถชมผลงานชุด ‘7465’ ในนิทรรศการ We will been have young ได้ที่ River City Bangkok ซอยเจริญกรุง 24 โดยเปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันนี้ถึง 20 มีนาคม 2563

        ชมภาพผลงานเพิ่มเติมที่ http://watsamontriyasakda.com