สัตว์ป่า

Viewfinder | ค่างแว่นถิ่นเหนือ เนื้อทราย กวางผา ภาพสัตว์ป่าอันพร่าเลือน สู่ความคมชัดข้างในใจ

จนกระทั่งถึงวันนี้ ปีพุทธศักราช 2562 สัตว์ป่าในสายตาของคนจำนวนไม่น้อยยังคงเป็นภาพอันพร่าเลือน ไม่รับรู้ถึง ‘หน้าที่’ และ ‘ชีวิต’ ที่พวกมันมี เราไม่เห็น ‘ชีวิตจริงๆ’ ของพวกมัน ภาพเหล่านี้คือ ‘ภาพ’ ที่ตาเห็น และมันจะนำไปพาไปสู่ความ ‘คมชัด’ ข้างในใจ

 

สัตว์ป่า

 

กวางผา | Gorals

     “สภาพพื้นที่แหล่งอาศัยอันโดนตัดขาด เปรียบเสมือนติดอยู่ตามเกาะ ทำให้เหล่ากวางผาซึ่งแม้จะมีทักษะและได้รับการออกแบบมาให้ใช้ชีวิตตามผาสูงได้ดี ก็ไม่ได้มีอนาคตที่สดใสเท่าใดนัก”

     กวางผามีสถานะเป็นสัตว์ป่าสงวน ลักษณะคือมีขนสีน้ำตาลเทา บริเวณท้องมีสีจางกว่าลำตัว ขาท่อนบนทั้งสี่มีสีน้ำตาลแดง ขาท่อนล่างมีสีครีมคล้ายใส่ถุงเท้า หางสั้นและเป็นพุ่ม โดยพวกมันจะหากินบนที่ราบสูงที่เป็นภูเขาหรือหน้าผาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,000-4,000 เมตร ทำให้ดูเหมือนเป็นสัตว์ที่ติดอยู่บนเกาะ มีเหวล้อมรอบ ซึ่งส่งผลให้มีโอกาสนำไปสู่การอินบรีด (inbreed) หรือผสมพันธุ์กันเองในระดับที่ใกล้ชิดมาก

     สำหรับจำนวนประชากรกวางผาในปัจจุบันนั้น สถานีวิจัยสัตว์ป่าดอยเชียงดาวเปิดเผยว่า พบกวางผาอยู่ประมาณ 288 ตัว กระจัดกระจายอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ 9 แห่งทางภาคเหนือ โดยพบมากที่สุดที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว และอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์

 

สัตว์ป่า

 

เนื้อทราย | Hog Deer 

     “ทุ่งหญ้าหลายพันไร่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว คือที่อาศัยของเนื้อทราย สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมซึ่งเคยมีและสาบสูญไปจากธรรมชาติ เนื้อทรายเหล่านี้หลายตัวเกิดและเติบโตในกรงเลี้ยง พวกมันได้รับโอกาสให้ได้ออกมาใช้ชีวิตอย่างที่ควร โดยสามารถปรับตัวและเรียนรู้ว่าการไม่ออกไปไกลจากคนนักจะหลบเลี่ยงสัตว์ผู้ล่าอย่างหมาในได้ 

     “ด้วยการใช้เทคโนโลยีอันเจริญก้าวหน้า คนฟื้นฟูประชากรสัตว์ป่าได้บ้าง แบ่งปันที่อาศัย ยอมรับในความเป็นชีวิต สัตว์ป่าจะมีชีวิตที่ดีกว่า การฟื้นฟูควรเป็นทางเลือกสุดท้าย”

     เนื้อทราย หรือกวางแขม หรือกวางทราย เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจำพวกกวางชนิดหนึ่ง มีรูปร่างอ้วนป้อม ขาสั้น พวกมันเคยมีสถานะเป็นสัตว์ป่าสงวนในพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2509 และถูกถอดชื่อออกเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่ 1 ในพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 เนื่องจากสามารถเพาะขยายพันธุ์ได้ในปริมาณที่มากจำนวนหนึ่ง แต่เชื่อว่าในปัจจุบันเหลือที่อยู่อาศัยของเนื้อทรายเพียง 2 แห่งเท่านั้น คือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ 

 

สัตว์ป่า

 

กระทิง | Bos Gaurus

     “ลูกสัตว์ป่าจะได้รับการปกป้องดูแลอย่างเข้มงวด พวกมันดูแลลูกๆ ดูแลกันและกันด้วยความรัก ไม่ใช่แค่เพียงสัญชาตญาณ”

     กระทิง หรือเมย เป็นสัตว์เท้ากีบ อยู่ในวงศ์ตระกูลเดียวกับควายป่าและวัวแดง แต่มีจุดเด่นที่รูปร่างใหญ่ ล่ำ มีขนสีน้ำตาลเข้มจนถึงดำ และมีเขาทั้งตัวผู้และตัวเมีย กระทิงมีพฤติกรรมอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูง โดยฝูงหนึ่งจะมีสมาชิกตั้งแต่ 2-60 ตัว มีทั้งตัวเมีย ตัวผู้ และลูกน้อย คอยดูแลกันด้วยความรัก

     เมื่อก่อนในประเทศไทยเราสามารถพบกระทิงได้ตามป่าของทุกภูมิภาค แต่หลังจากถูกคุกคามในพื้นที่หากินหรือแม้กระทั่งการถูกล่าจากมนุษย์ ก็ทำให้จำนวนกระทิงนั้นลดลงเรื่อยๆ โดยองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ยังเคยเปิดเผยว่า กระทิงอยู่ลำดับที่ 8 จาก 10 อันดับสัตว์ป่าที่มีการลักลอบซื้อขายมากที่สุด

 

สัตว์ป่า

 

ค่างแว่นถิ่นเหนือ | Trachypithecus phayrei 

     “ในป่ายังมีการล่าสัตว์โดยนักล่าอาชีพ เมื่อการบริโภคเนื้อสัตว์ป่า หรือใช้อวัยวะสัตว์ป่ายังไม่ยุติ ขบวนการค้าสัตว์ป่าใหญ่โต เครือข่ายซับซ้อน มูลค่าสูง ซากค่าง คือ ‘ของกลาง’ ที่ชุดลาดตระเวนพบขณะเข้าจับกุม ‘ผู้ต้องหา’ ที่พบในป่าเสมอ”

     ค่างแว่นถิ่นเหนือ มีลักษณะที่แตกต่างไปจากลิงในวงศ์อื่นๆ เพราะมีรูปร่างเพรียวบางกว่า ขาทั้งสี่ข้างเรียวยาวกว่า ทั้งยังมีสีขนที่หลากหลาย ตั้งแต่สีน้ำตาลเข้มไปจนถึงสีเทาเข้ม มีพฤติกรรมชอบอยู่รวมฝูงกันในป่าที่มีต้นไม้สูง มีนิสัยขี้อาย กลัวมนุษย์ แต่ก็ยังโดนมนุษย์ล่าอยู่บ่อยครั้ง

 

สัตว์ป่า

 

กวางและนกขุนแผน

     “อยู่ร่วมกันแบบพึ่งพา คือภาพที่พบเห็นได้เสมอในสังคมสัตว์ป่า”

 


เรื่องและภาพ : หม่อมหลวงปริญญากร วรวรรณ