โดเรมอน ผจญไดโนเสา

เมื่อครั้งยังเด็กฉันดู… โดเรมอน ผจญไดโนเสา

การ์ตูนที่ผูกพันกับเด็กๆ ตั้งแต่ปี 1980 เป็นต้นมาหนึ่งในนั้นคือ Doraemon (ชื่อในตอนนั้นคือ โดเรมอน) หุ่นยนต์แมวสีฟ้าที่มาจากโลกอนาคตเพื่อช่วยเปลี่ยนแปลงอนาคตของโนบิตะ เด็กแว่นขี้แย ฉลาดน้อย นอนเก่ง ให้มีชีวิตในภายภาคหน้าที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งทุกเช้าวันเสาร์-อาทิตย์ เด็กๆ จะมานั่งรออยู่หน้าจอโทรทัศน์เพื่อนั่งดูของวิเศษที่อยู่ในกระเป๋าหุ่นยนต์แมวตัวนี้ว่าจะมีอะไรที่โนบิตะเอาไปต่อกรไจแอนท์และซูเนโอะ คู่หูจอมเกเรที่ชอบแกล้งเขาอยู่เป็นประจำ

        ความโด่งดังของการ์ตูน Doraemon ในตอนนั้นทำเอาทั้งเด็กและผู้ใหญ่ติดกันอย่างงอมแงม หนังสือการ์ตูน โดราเอมอน แมวจอมยุ่ง ถูกตีพิมพ์ออกมามากมาย และวางขายคู่กับนิตยสารที่ผู้ใหญ่อ่านอย่างสง่าผ่าเผย ความดังของการ์ตูนเรื่องนี้ส่งให้มีการทำขนมชื่อเดียวกันออกมา โดยเป็นแป้งข้าวโพดทอดกรอบเคลือบช็อกโกแลตแถมของเล่นในกล่องที่พยายามอิงตามของวิเศษในการ์ตูน เช่น กระดาษอัดรูปพลังแสงอาทิตย์ หรือไม้ที่ยืดออกได้ ก่อนที่ช่วงหลังจะเปลี่ยนมาเป็นสติ๊กเกอร์ให้แปะสะสมลงในสมุดเพื่อแลกของรางวัลแทน 

        ต่อมาในปี 1980 ทางต้นสังกัดในประเทศญี่ปุ่นได้นำเนื้อเรื่อง โดราเอมอน ตอน ไดโนเสาร์ของโนบิตะ ที่มีความยาวจำนวน 25 หน้า มาทำเป็นการ์ตูนเรื่องยาวเพื่อฉายในโรงหนัง ซึ่งก็ทำรายได้ถล่มทลาย และเข้าฉายในบ้านเราช่วงเดือนสิงหาคม ปี 1982 ในชื่อ โดเรมอน ผจญไดโนเสา ซึ่งเข้าฉายเพียงสองโรงในกรุงเทพฯ คือโรงภาพยนตร์เมโทรและโรงภาพยนตร์สามย่าน แต่ก็ทำเงินมากถึงสองล้านบาทในยุคนั้น (อ้างอิง http://1ab.in/eiX)

        ถึงตรงนี้หลายคนอาจจะบอกว่า หูย เราโชคดีจังที่ได้ดู โดราเอมอน เวอร์ชันนี้ในโรงภาพยนตร์ หรือต้องมีอายุเท่าไหร่ถึงได้ดูและจำเรื่องราวเหล่านี้ได้ ซึ่งอยากจะบอกว่าเปล่าเลย เราก็ไม่ได้ทัน โดเรมอน ผจญไดโนเสา เมื่อครั้งเข้าฉายในประเทศไทยครั้งแรกนี้หรอก แต่อาศัยอ่านจากฉบับหนังสือการ์ตูนที่ตีพิมพ์ออกมาซ้ำแล้วซ้ำเล่ากว่าจะได้ดูจริงๆ ก็ผ่านมาหลายปีเหมือนกัน 

โดเรมอน ผจญไดโนเสา.       ข้อดีอย่างหนึ่งของสมัยก่อนคืออายุของหนังแต่ละเรื่องที่เข้าฉายจะมีเวลาเดินทางของมันยาวนานมาก หนังบางเรื่องสามารถยืนโรงได้นานสองถึงสามเดือน จากนั้นก็จะถูกนำไปฉายเวียนต่อตามโรงภาพยนตร์ชั้นสองแบบฉายควบ และถูกส่งไปฉายตามต่างจังหวัด จนล่วงเลยมาหลายปี วันหนึ่งของช่วงปิดเทอม ที่เรามีโอกาสได้เดินทางไปเที่ยวที่จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นช่วงที่ โดเรมอน ผจญไดโนเสา เข้าฉายที่โรงหนังประจำจังหวัดพอดี 

        หลังจากอดใจรอมาหลายวัน นั่งดูรถกระบะที่วิ่งประกาศว่าตอนนี้ โดเรมอน ผจญไดโนเสา เข้าฉายแล้วก็หลายรอบ ในที่สุดที่บ้านก็พาเราไปดูเสียที บรรยากาศในวันนั้นเป็นช่วงเย็นวันศุกร์หลังเลิกงาน ผู้คนมากมายต่างหลั่งไหลมาที่โรงหนังใหญ่ของตัวเมือง มีทั้งที่มาเป็นครอบครัวและเป็นหนุ่มสาวที่จูงมือมาเดตด้วยกัน ลูกเด็กเล็กแดงวิ่งเล่นอยู่บริเวณโถงของโรงหนังกันขวักไขว่ เรารอเข้าโรงหนังอย่างตื่นเต้น ในมือมีหนังสือการ์ตูน โดราเอมอน ที่หยิบติดมาด้วย และฆ่าเวลาด้วยการหยอดเกมตู้ Galaga ที่ตั้งอยู่ในโรงหนัง (ครั้งละ 2 บาท) และเดินดูของเล่นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโดราเอมอน ทั้งหุ่นชักใยพลาสติก เกมสลับตัวเลขที่เป็นลายโดราเอมอนกับเสือสีชมพูพิงก์แพนเตอร์ 

        เมื่อได้เวลา ภาพที่ปรากฏบนผืนผ้าใบสีขาวก็ฉายขึ้น ฉากไตเติลของ โดราเอมอน ฉบับภาพยนตร์ที่แตกต่างกับเวอร์ชันทีวี ความใหญ่โตเต็มตาที่ได้ดูในโรงหนัง ทุกอย่างเป็นความมหัศจรรย์ที่เด็กๆ ต่างตื่นตาตื่นใจ เนื้อเรื่องที่ดำเนินตามต้นฉบับในหนังสือการ์ตูนถูกทำให้เป็นภาพเคลื่อนไหว และเพิ่มรายละเอียดปลีกย่อยเข้าไป เสียงพากย์จากทีมช่อง 9 ที่คุ้นเคย ทุกอย่างทำให้เรารู้สึกเหมือนไม่เคยดูหรือรู้เรื่องราวมาก่อน และปล่อยใจสนุกไปกับเนื้อเรื่องได้จนจบ 

 

โดเรมอน ผจญไดโนเสา

 

        โดเรมอน ผจญไดโนเสา พูดถึงโนบิตะที่ขุดพบฟอสซิลไข่ไดโนเสาร์ และใช้ผ้าคลุมกาลเวลาย้อนอดีตให้กลับเป็นไข่อีกครั้ง และเมื่อไข่ฟองนั้นได้ฟักตัวออกมา ก็กลายเป็นเรื่องราววุ่นวายให้พวกเด็กๆ ต้องหาทางพาพีสุเกะ ไดโนเสาร์คอยาวตัวนี้ ได้ใช้ชีวิตอยู่ในยุคของมัน ด้วยการพานั่งไทม์แมชีนไปส่ง (จริงๆ พีสุเกะไม่ใช่ไดโนเสาร์แต่เป็นสัตว์เลื้อยคลานที่อาศัยอยู่ในทะเล) 

        โดราเมอน เดอะมูฟวี่ ในตอนแรกนี้ได้สร้างความประทับใจแก่คนดูทั้งเด็กและผู้ใหญ่ได้สำเร็จ เพราะจำได้ว่าหลังดูจากจบ แม่ของเราก็อินกับมิตรภาพของโนบิตะกับพีสุเกะไปหลายวันเหมือนกัน ส่วนเด็กๆ ก็ร่ำร้องอยากได้พีสุเกะมาเลี้ยง บางคน (เช่นเรา) ก็แอบเอาไข่ไก่ในตู้เย็นมาซุกไว้ในผ้าห่มนวม เพราะหวังว่ามันจะฟักออกมาเป็นพีสุเกะ 

        ความสำเร็จของ โดราเอมอน แมวจอมยุ่ง นอกจากเนื้อเรื่องที่อ่านได้ทุกเพศทุกวัย เปิดจินตนาการให้เด็กได้ดี อีกส่วนก็มาจากแกนหลักที่แข็งแรงในเรื่องของพลังมิตรภาพ แม้จะเกิดอะไรขึ้นก็ตามเด็กกลุ่มนี้ก็ไม่เคยทอดทิ้งกัน แม้ในชีวิตประจำวันไจแอนท์และซูเนโอะเองมักจะบูลลี่โนบิตะอยู่บ่อยๆ ก็ตาม แต่พวกเขาก็รักใคร่กันดี เมื่อยามมีภัยก็ไม่เคยทอดทิ้งกัน

        นอกจากนี้ในหลายๆ ตอนของ โดราเอมอน อาจารย์ ฟูจิโกะ เอฟ. ฟูจิโอะ ก็แทรกความรู้ทางวิทยาศาสตร์เอาไว้ได้อย่างน่าทึ่ง เช่น อาจารย์ได้เขียนเรื่องของฝนกรดเอาไว้ และบอกว่าเป็นน้ำฝนที่ไม่สะอาดเพราะเต็มไปด้วยมลพิษที่ลอยอยู่ในอากาศ จนกลายเป็นน้ำที่มีรสเปรี้ยว แม้จะตกลงมาแต่ต้นไม้ก็ไม่มารถดูดซึมไปใช้ได้ จนทำให้พื้นที่ป่าแถวนั้นมีแต่ต้นไม้ตายซาก เนื่องจากฝนชนิดนี้ ซึ่งเกิดจากมลภาวะที่มนุษย์ก่อไว้นั่นเอง ถ้าไม่ได้การ์ตูนเรื่องนี้เราคงจะรู้เรื่องนี้อีกทีก็ตอนโต และปัจจุบันสิ่งที่อาจารย์แกได้พยากรณ์ไว้หลายอย่างก็เริ่มเป็นจริงแล้ว ทั้งเรื่องสภาพอากาศ ของใช้ไฮเทคหลายๆ อย่าง ก็ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาโดยได้อิทธิพลจากของวิเศษในการ์ตูนเรื่องนี้ 

 

โดเรมอน ผจญไดโนเสา

 

        โดเรมอน ผจญไดโนเสา ถูกนำมาสร้างใหม่อีกครั้งในปี 2006 โดยยังมีโครงเรื่องเดิม เพิ่มเติมรายละเอียดใหม่ๆ เข้าไป และปรับเนื้อหาให้เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น โดยใช้ชื่อ โดราเอมอน ตอน ไดโนเสาร์ของโนบิตะ เดอะมูฟวี่ (Doraemon Nobita no Kyōryū Nīmarumaruroku) เป็นภาพยนตร์ตอนที่ 26 ของ โดราเอมอน ฉบับภาพยนตร์ และในปีนี้ก็ครบรอบ 50 ปี ของการ์ตูน โดราเอมอน ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในเดือนมกราคม 1970  ทาง Studio Toho จึงได้ทำ โดราเอมอน ฉบับภาพยนตร์ขึ้นมาสองเรื่องเป็นการเฉลิมฉลองนั่นคือ โดราเอมอน ตอน ไดโนเสาร์ตัวใหม่ของโนบิตะ (Nobita’s New Dinosaur) ซึ่งเป็นภาคต่อของ โดราเอมอน ตอน ไดโนเสาร์ของโนบิตะ เดอะมูฟวี่ และ สแตนด์บายมี โดราเอมอน เพื่อนกันตลอดไป 2 (STAND BY ME Doraemon 2) ที่เตรียมเข้าฉายในบ้างเราช่วงปลายปี 2020