Generation Terrorist

เมื่อครั้งยังเด็กฉันอ่าน… GT – Generation Terrorist Magazine

ก่อนที่จะมี a day magazine เกิดขึ้นมาบนแผงหนังสือ บ้านเราเคยมีนิตยสารจ๊าบๆ ที่เป็นเหมือนไบเบิลของเด็กอัลเตอร์ฯ นั่นคือ GT – Generation Terrorist โดยมาพร้อมกับเพลงแนว Alternative (ใช้เรียกเพลงนอกกระแสจากฝั่งอังกฤษ) และ Modern Rock (ใช้เรียกเพลงนอกกระแสจากฝั่งอเมริกา) ซึ่งกำลังเป็นเทรนด์ใหม่ของดนตรีโลก และเคยเป็นดนตรีกระแสหลักในบ้านเรามาแล้วแม้จะแค่เวลาไม่นาน แต่ก็สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับวงการเพลงไทยได้แบบมหาศาล

        นิตยสาร Generation Terrorist หรือ GT เกิดขึ้นจากน้ำพักน้ำแรงของ ‘ดีเจซี้ด’ – นรเศรษฐ หมัดคง ดีเจสุดเก๋าอีกคนหนึ่ง โดยตั้งชื่อหัวหนังสือจากชื่ออัลบั้ม Generation Terrorists ของวง Manic Street Preachers จำได้ว่าดีเจซี้ดเคยพูดขำๆ ว่านิตยสารของเขาคือ ‘ผู้ก่อการร้ายทางวงการหนังสือเพลง’ ในบ้านเรา ซึ่งในตอนนั้น GT เรียกว่าแหวกขนบของการทำนิตยสารในประเทศไทยก็ว่าได้ เพราะใช้ทีมงานจำนวนไม่กี่คน การจัดหน้าอาร์ตเวิร์กที่อาจเรียกได้ว่าไม่สนใจระบบระเบียบอันใด เอามันไว้ก่อน แต่กลับเต็มไปด้วยรสนิยมที่เปรี้ยวเก๋เข้ากับเพลงอินดี้ที่พวกเขานำเสนอ 

 

Generation Terrorist

 

        เราเริ่มติดตามหรือเรียกว่าซื้อ GT เองอย่างจริงจังคือฉบับที่ 14 ถ้านับตามไทม์ไลน์ก็น่าจะเป็นตอนที่นิตยสารหัวนี้เข้าสู่ปีที่ 2 นั่นเป็นเพราะการเปลี่ยนมาฟังเพลงแนวอัลเทอร์เนทีฟอย่างจริงจัง ซึ่งเป็นผลพวงจากการที่วงโมเดิร์น ด็อก ได้สร้างปรากฏการณ์ให้คนไทยรู้จักดนตรีแนวใหม่ จากอัลบั้ม เสริมสุขภาพ และอัลบั้ม คาเฟ่ รวมถึงการเกิดขึ้นมาของค่ายอินดี้เล็กใหญ่พร้อมกับเพลงที่ต้องมีเสียงเกากีตาร์ใสๆ ก่อนเข้าสู่ทางคอร์ดที่โจ๊ะชวนกระโดด หรือถ้าเป็นเพลงช้าก็ต้องมีท่อนสาดกีตาร์ที่แตกพร่า จนกลายเป็นเพลงสูตรที่ใครมีองค์ประกอบเหล่านี้ก็การันตีได้ว่ายังไงก็ต้องมีคนฟัง จนค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ต้องส่งศิลปินที่ทำเพลงแนวนี้ออกมาขอร่วมแชร์ส่วนแบ่งในตลาด 

        เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น นี่คือเพลงที่เรียกว่าเป็นมาสเตอร์พีซของวงการเพลงอัลเทอร์เนทีฟไทย 

 

ก่อน – Moderndog 

 

สบายดี – นครินทร์ กิ่งศักดิ์

 

เธอคือความฝัน – พราว 

 

ดีเกินไป – Smile Buffalo

        นอกจากนั้นยังมีวง Crub, อรอรีย์, โยคีเพลย์บอย, เจ มณฑล, อิงค์ อ่ำ, Y Not 7 และอีกมากมาย เรียกว่าคุณอาจจะต้องควักเงินซื้อเทปกันเดือนละสองม้วนเป็นอย่างสำหรับการซื้ออัลบั้มเพลงไทยสไตล์อัลเทอร์เนทีฟ ซึ่งกระแสที่มาแรงนี้ทำให้ศิลปินก่อนหน้านี้หลายคนเอาซาวนด์ของดนตรีแนวนี้มาใส่ในเพลงของตัวเองหรือไม่ก็ทำเพลงแนวนี้เสียเลย เช่น ต่อต๋อง วง Two ก็ออกอัลบั้มพิเศษที่เอาเพลงเก่ามาใส่ดนตรีแบบนี้ หรืออัลบั้ม AMP+DA ของ แอม เสาวลักษณ์ กับ ศักดา พัทธสีมา ก็ยังต้องมีเสียงกีตาร์แบบเพลงโมเดิร์นร็อกของฝั่งอเมริกา ซึ่งก็ประสบความสำเร็จหลายเพลงในอัลบั้มก็ยังคงถูกเปิดฟังจนทุกวันนี้

 

ลมหายใจของความคิดถึง – TWO ที่นำเพลงเก่ามาทำใหม่ให้ทันสมัย

 

ฉันยังเป็นของเธอ – AMP+DA เสียงกีตาร์ของเพลงนี้เพราะมาก

 

        อีกเหตุผลสำคัญที่ทำให้ต้องมาตาม GT อย่างจริงจังนั่นคือเหตุการณ์หลังจากได้ดูการประกาศผลรางวัล Brit Awards ในปี 1995 ซ่งเป็นปีที่ศิลปินอินดี้ได้เข้าชิงรางวัลเยอะที่สุดเป็นครั้งแรก และไฮไลต์สำคัญคือการมาของวงดนตรีที่โคตรผยองแห่งยุคอย่าง Oasis และวง (ลุกส์) หนุ่มเนิร์ดสุดแสบอย่าง blur ซึ่งทั้งคู่ต่างเข้าชิงรางวัลใหญ่ของ Brit Awards ในทุกสาขา และเป็นปีแรกที่รางวัลใหญ่เหล่านี้ที่ผู้เข้าชิงกว่า 80% ไม่ได้มาจากเพลงเมนสตรีม 

        Oasis ที่เพิ่งมีอัลบั้มแรก Definitely Maybe แต่ได้เข้าไปชิงรางวัลใหญ่ พวกเขาจึงมั่นใจและคุยโวว่างานของเขานั้นเจ๋งและต้องได้รางวัลอย่างแน่นอน แต่เมื่อผลรางวัลกลับประกาศให้ blur ของสี่หนุ่มหน้าตาเด๋อๆ ได้รางวัลใหญ่ทั้งหมด 4 สาขาไปครอง สร้างประวัติศาสตร์ครั้งแรกให้กับเวที Brit Awards ที่ยังไม่เคยมีใครสามารถคว้ารางวัลกลับบ้านไปได้เยอะขนาดนี้มาก่อนเลย สองพี่น้องกัลลาเกอร์ ถึงกับหน้าชา เพราะทุกรางวัลที่ blur ได้รับ มี Oasis อยู่ในรายชื่อผู้เข้าชิงด้วย จากนั้น blur ก็คือศัตรูของ Oasis ไปตลอดกาล (สำหรับแฟนเพลง) และสื่อก็มีตัวละครใหม่ให้เอาไปเล่นได้อีก

        หลังจากที่ดู Brit Awards จบ วันต่อมาเราก็ไปซื้อเทปของ blur มาฟังอย่างจริงจัง โดยเลือกอัลบั้ม Modern Life is Rubbish (1993) กับ Parklife (1994) มาลองก่อน และก็กลายเป็นติ่งของวงนี้ทันที โยน Definitely Maybe เข้าไปเก็บในชั้นวางเทป (ฮา) เมื่อกลายเป็นแฟนคลับเราก็อยากรู้ความเคลื่อนไหวของวง และสื่อเดียวที่สามารถติดตามได้อย่างเป็นเนื้อเป็นหนังก็คือเรื่องราวจากนิตยสาร Generation Terrorist ที่เคยเอาของเพื่อนมาอ่านแบบเร็วๆ เป็นประจำ 

 

 

Generation Terrorist

Generation Terrorist

 

        เมื่อติดตามอย่างจริงจัง และอ่านทุกหน้าของนิตยสารเล่มนี้ เราก็ได้รับการเปิดโลกอีกครั้งว่าดนตรีอัลเทอร์เนทีฟ ไม่ได้มีแค่ blur, oasis, radiohead หรือ Manic Street Preachers เท่านั้น แต่ยังมีวงเจ๋งๆ อีกมากมายทั้งจากอังกฤษ อเมริกา สวีเดน และแนวทางของเพลงที่แตกแยกย่อยไม่ได้จำกัดแค่เพลงพังก์ ซีแอตเติลซาวนด์ (กรันซ์) หรือเพลงที่ทั้งตั้งใจและจงใจอัดเสียงกันในโรงรถต่างๆ (College Sound) เพลง อัลเทอร์เนทีฟจึงมีทั้งอิเล็กทรอนิกส์ Drum and bass, Dubstep, Lo-Fi ไปจนถึงเพลงที่เอาบทสวดหรือเสียงแปลกๆ มาใช้มากมายไปหมด แต่ถ้าพูดถึง อัลเทอร์เนทีฟของยุค 90s ยังไงก็ต้องมีพื้นฐานจากเพลงร็อก 

        ความสนุกของเนื้อหาใน GT นอกจากจะทำให้รู้จักเพลงใหม่ๆ ที่น่าฟัง หลายอัลบั้มที่ถูกป้ายยา และการพาตัวเองไปขลุกอยู่ในร้าน Tower Records ได้ทั้งวันแล้ว เนื้อหาของข่าวที่เอามาจากหนังสือพิมพ์ The Sun ก็แซ่บไม่แพ้กัน เพราะ The Sun คือสื่อที่ได้ชื่อว่าเป็นตัว ‘ปั่น’ ข่าวต่างๆ ของวงการเพลงอังกฤษ ดราม่าทั้งหลายของ Oasis ที่ไประรานชาวบ้านก็มาจาก The Sun ทั้งนั้น ซึ่งในความเป็นจริงพวกเขาก็คงไม่ได้มีปัญหาอะไรกันหรอก แต่ความเต้าข่าวและการเสี้ยมระดับเทพของ The Sun นั้น ทำให้คนอ่านเข้าใจว่านี่คือสงครามที่ดุเดือดของศิลปิน แต่ยังดีที่ยุคนั้นแฟนเพลงยังไม่ติ่งขนาดที่ว่าถ้าชอบวงนี้เราก็จะแอนตี้วงคู่แข่ง ยังเป็นเพียงการเสพข่าวแบบขำๆ อ่านเอาสนุก จบแล้วก็จบเลย โดยเฉพาะการได้ติดตามว่าซิงเกิลใหม่ของ blur กับ Oasis ในอัลบั้มต่อไป The Great Escape (1995) กับ (What’s the Story) Morning Glory? (1995) จะดุเดือดแค่ไหน (ซึ่งในช่วงแรกนั้นก็สนุกจริงๆ)

        แต่ต้องยอมรับว่าวัฒนธรรมนี้ถูกขยายผลต่อมาจนกลายเป็น Fake News ที่ระบาดไปทั่วอินเทอร์เน็ตในยุคนี้ หรือพูดง่ายๆ ว่า ถูกปลูกฝังจากสื่อเหล่านี้มาตั้งแต่เด็ก ซึ่งความตลกคือจนกระทั่งวันนี้ The Sun ก็ยังเป็นสื่อใหญ่ที่คนยังติดตามมากมาย และพร้อมที่จะเชื่อในสิ่งที่นำเสนอ เพราะมันทั้งสนุกและเดือด ไม่ต่างกับข่าวร้อนๆ ดราม่าเดือดๆ ของดาราในบ้านเราที่ใครเกาเหลากับใครหรือใครเลิกกัน ใครแอบคบกันนั่นเอง 

 

Generation Terrorist

 

        ต้องขอบคุณ GT – Generation Terrorist ที่ทำให้เราได้เรียนรู้ทั้งเรื่องของวงการเพลง แนวเพลง ที่มา และพาไปรู้จักกับศิลปินที่ต่อมาก็เติบโตเป็นรุ่นใหญ่ในวงการเพลง หรือบางคนที่เงียบหายไปแต่เราก็ยังคิดถึงและหยิบผลงานของเขาขึ้นมาฟังบ่อยๆ รวมถึงความสนุกสนานของข่าวที่ศิลปินเกาเหลากันเสียเอง ทำให้มีเรื่องไปคุยกับเพื่อนได้อย่างออกรส พร้อมกับหยิบเทปของผู้ถูกเสี้ยมใส่ซาวด์อะเบาต์เพื่อลองฟังว่าเพลงของใครเจ๋งกว่ากัน (สุดท้ายก็ดีพอกันทั้งคู่) และทำให้เรารู้จักป้าโดเรมีในตำนานที่เชื่อกันว่าเธอมาจากดาวอังคาร เพราะถ้าใครที่เคยไปเยือนร้านโดเรมีที่สยามสแควร์ ต้องประทับใจกับความรอบรู้ในเรื่องเพลงที่ป้าคนนี้มีเหมือนกับเราแน่นอน 

        ทั้งหมดนี้คือส่วนหนึ่งที่เราเคยมีความสุขไปกับนิตยสารเล่มนี้ 

 


FYI 

        ถึงจะไม่มีตัวเล่มอีกต่อไปแล้ว แต่ทีมงานและดีเจซี้ด ได้ทำแฟนเพจ GT – Generation Terrorist โดยมีการอัพเดตเรื่องราวอยู่บ้าง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการเอาคลิปคอนเสิร์ตของวงอัลเทอร์เนทีฟยุค 90s มาเล่าพร้อมกับรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ

      และทางทีมงาน adB ขอแสดงความเสียใจในการจากไปของ ‘แอ๊นท์’-  ธรัญญา สัตตบุศย์ หนึ่งในศิลปินไทยไม่กี่คนที่เคยได้ขึ้นปก GT – Generation Terrorist ไว้ ณ ที่นี้ด้วย ซึ่งแอ๊นท์เป็นปกให้กับ GT ฉบับที่ 17 เดือนกรกฎาคม 1996 ซึ่งในตอนนั้นเพลงในอัลบั้ม && ANT ที่เปรี้ยวเผ็ดไม่แพ้ลีลาการเดินแบบของเธอเลย