Plamo-Kyoshiro

เมื่อครั้งยังเด็กฉันอ่าน… Plamo-Kyoshiro อัศวินสมองกล

Gundam คือการ์ตูนทางโทรทัศน์ที่ออกฉายครั้งแรกในปี 1979 และเข้ามาฉายในบ้านเราปี 1981 มีชื่อไทยว่า อภินิหารกันดั้ม เนื้อเรื่องพูดถึงการทำสงครามระหว่างกองทัพโลกและกองทัพซีออน โดยใช้หุ่นยนต์ขนาดยักษ์เข้าต่อสู้ ซึ่งกันดั้มได้อิทธิพลหลายๆ อย่างมาจากหนังเรื่อง Star Wars โดยเฉพาะดาบแสงสีชมพูที่ถูกอกถูกใจเด็กๆ ในตอนนั้น

        แต่ด้วยเนื้อหาที่เครียดขึ้นเรื่อยๆ เพราะแก่นของกันดั้มคือการพูดถึงความเลวร้ายของสงคราม ทำให้เข้าถึงเด็กๆ ได้ยากขึ้นเรื่อยๆ ตัวเนื้อเรื่องเองก็ขยายออกไปเรื่อยๆ จากรุ่นสู่รุ่น จนถ้าไม่ติดตามอย่างต่อเนื่องอาจจะมีอาการงงกับตัวละครกันได้ และหลายครั้ง ‘พระเอก’ หลายๆ คนของกัมดั้ม ก็ไม่ได้มีชีวิตที่มีความสุขแบบการ์ตูนเรื่องอื่นๆ ในยุคนั้น

        เมื่อคนดูเริ่มลดลงทางบริษัทบันได ผู้ผลิตโมเดลกันดั้มพลาสติก หรือ Gunpla ก็เริ่มเดินเกมใหม่เพื่อที่จะดันยอดขายกันพลาของตัวเอง จึงสนับสนุนให้เกิดการ์ตูนเรื่อง Plamo-Kyoshiro ขึ้นมา แต่งเนื้อเรื่องโดย Hisashi Yasui และวาดภาพโดย Koichi Yamato โดยเนื้อเรื่องพูดถึงการเอากันพลามาเข้าเครื่องซิมูเลชัน แล้วเจ้าของก็จะเหมือนกับเข้าไปนั่งควบคุมหุ่นยนต์ต่อสู้กันได้แบบเล่นจริงเจ็บจริงของพังจริงๆ

 

Plamo-Kyoshiro

 

         เนื้องเรื่องพูดถึง เคียวดะ ชิโร่ เด็กชายจากโรงเรียนประถมศึกษาบันได (…) ที่หลงใหลในการต่อโมเดลพลาสติก และชื่นชอบการแข่งขัน Plamo Simulation ซึ่งความสนุกของการ์ตูนเรื่องนี้คือเนื้อเรื่องที่เข้าใจง่าย แบ่งเป็นตอนๆ จบ แต่ดำเนินเรื่องไปได้เรื่อยๆ ผู้เข้าแข่งขันสามารถปรับแต่งโมเดลของตัวเองได้ตามใจ โดยคุณสมบัติต่างๆ ที่ปรับปรุงไว้ก็จะเข้าไปเป็นคุณสมบัติของหุ่นยนต์ใน Plamo Simulation ด้วย และเคียวชิโร่เองก็ต้องเจอกับคู่แข่งที่เลเวลอัพมากขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกับมิตรภาพที่เกิดขึ้นจากการลงแข่งขันนี้

        Plamo-Kyoshiro ได้สร้างความฝันใหม่ให้กับเด็กที่อ่านการ์ตูนเรื่องนี้ ทั้งการอยากมีกันพลาเป็นของตัวเอง ซึ่งในตอนนั้นโมเดลกันดั้มพลาสติกเป็นของที่หาได้ยาก เพราะต้องนำเข้ามาและมีราคาแพง แต่กระแสของการ์ตูนเรื่องนี้ก็ทำให้เกิดความต้องการโมเดลกันดั้มพลาสติกมากขึ้นในทุกประเทศ เริ่มมีร้านค้าในสะพานเหล็กนำสินค้างานเหมือนจากฮ่องกงที่ราคาถูกกว่านำมาจำหน่าย การเกิดนิตยสารแนว Hobby Toys & Model ที่มีฟีเจอร์เด่นคือการสอนทำสีและตกแต่งโมเดลแบบต่างๆ อุปกรณ์ในการทำสีอย่างแอร์บรัชแบบต่างๆ ทั้งแบบโปรหรือราคาประหยัด และต่อยอดให้เกิดกูรูทั้งเรื่องของโมเดลพลาสติกหรือคนที่เคยมีงานอดิเรกเป็นการต่อโมเดลเกิดเป็นอาชีพขึ้นมา 

         ซึ่งแรงขับเคลื่อนสำคัญนั้นมาจากไอเดียในแต่ละตอนของ Plamo-Kyoshiro ที่นักแข่งขันแต่ละคนจะนำหุ่นยนต์ของตัวเองมาประลองกัน โดยมีการปรับแต่งโมเดลของตัวเองให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น และต่างฝ่ายก็ต้องหาจุดอ่อนของคู่ต่อสู้เพื่อเอาชนะให้ได้ เช่น การเพิ่มเกราะหนาๆ เข้าไปในตัวโมเดล ซึ่งทำให้หุ่นยนต์แข็งแกร่งขึ้น แต่ก็แลกมาด้วยความหนาหนักที่เทอะทะ เคลื่อนไหวลำบาก หรือหุ่นที่คล่องแคล่วปราดเปรียวก็จะเปราะบาง และการใช้โมเดลจากหุ่นอีกตัวมาประกอบเข้าด้วยกันเพื่อให้เกิดฟังก์ชันในการตู่สู้แบบใหม่ที่หลากหลาย รวมถึงใช้สภาพแวดล้อมจำลองแต่มีผลจริงๆ กับตัวหุ่นยนต์ เช่น ความร้อน น้ำ ทราย หรือของที่อยู่บนโต๊ะเครื่องเขียน มาพลิกเกมได้สำเร็จ

        เพราะสปอนเซอร์หลักของการ์ตูนเรื่องนี้คือบริษัทบันได ดังนั้น หุ่นยนต์ในเรื่องนี้จึงมาจากซีรีส์ของกัมดั้มเป็นหลัก อาจจะมีโมเดลจากหนังหรือการ์ตูนเรื่องอื่นมาแจมบ้างบางตอน แต่ความฟินของเด็กที่อ่าน  Plamo-Kyoshiro คือ พวกเขาจะได้รู้ข้อมูลบางอย่างของโมเดลกันดั้มแต่ละตัว เช่น หุ่นรุ่นนี้มีส่วนขยับมากขึ้น ไอพ่นที่เพิ่มเข้ามา หรือการแยกร่างเพื่อเป็นยานบินหลบหนี รวมถึงการที่ตัวคนบังคับสามารถออกมาจากหุ่นยนต์และลุยไปในสนามรบพร้อมกับอาวุธบางชิ้นจากหุ่นยนต์ได้ด้วย ซึ่งเป็นระบบของการเล่นเกมที่หลายครั้งเราก็เชื่อว่า Plamo Simulation นี้ มีแล้วจริงๆ ที่ญี่ปุ่น เดี๋ยวฉันโตเมื่อไหร่ทำงานเก็บเงินได้แล้วจะบินไปเล่นบ้าง (ฮา) 

 

Plamo-Kyoshiro

 

        เมื่อการ์ตูนฮิตติดตลาดบริษัทบันไดเองก็ไม่รอช้า ได้ออกกันพลากันดั้มเวอร์ชัน Plamo-Kyoshiro มาให้คนได้ซื้อกันด้วย แน่นอนว่าก็ขายดีตามเป้าที่วางไว้ ซึ่งกันพลารุ่น Perfect Gundam และ Musha Gundam (กันดั้มซามูไร) ก็น่าจะเคลมได้ว่ามาจากหนังสือการ์ตูนเรื่องนี้แหละ  และ พลาโมเคียวชิโร่ก็ยังเป็นแรงบันดาลใจให้คนทำเกมอย่าง Gundam Breaker ขึ้นมา ซึ่งหัวใจหลักของเกมแนวนี้คือให้ผู้เล่นสามารถสร้างหุ่นยนต์ในแบบของตัวเองขึ้นมา และเอาหุ่นของตัวเองออกไปสู้กับคนอื่นแบบออนไลน์ได้ โดยทุกครั้งที่เราทำลายหุ่นของฝ่ายตรงข้ามได้ จะมีชิ้นส่วนของหุ่นตัวนั้นกระเด็นออกมา เราสามารถเก็บชิ้นส่วนเหล่านั้นมาใช้เป็นอะไหล่ให้กับหุ่นยนต์ตัวเองได้ 

        หนังสือการ์ตูนเรื่องนี้รู้มาว่ามีสามภาค โดยภาคสองจะไม่ยาวนัก พูดถึงนักแข่งขันรุ่นใหม่ในยุคต่อมาหลังจากที่เคียวชิโร่ไปเรียนต่อที่อเมริกา และเป็นช่วงคาบเกี่ยวกับการมาของแฟมิคอม วิดีโอเกมสุดฮิตของเด็กยุค 90s และค่อยๆ ถูกการ์ตูนกึ่งเฉลยเกมค่อยๆ เข้ามาแทนที่ในเวลาต่อมา ซึ่งเราชอบภาคสองมากกว่าภาคแรก เพราะไอเดียของ Plamo Simulation ที่ได้รับการพัฒนามากขึ้น และเรื่องที่ไม่ได้ผูกติดกับโมเดลกัมดั้มอีกแล้ว ทำให้เรารู้สึกว่าเป็นภาคที่สนุกมาก ส่วนภาคสามนั้นยังไม่เคยอ่าน และหวังว่าจะมีคนนำภาคสามมาแปลเป็นภาษาไทยตีพิมพ์แบบถูกลิขสิทธิ์ให้เราได้อ่านอีกครั้ง

 

Plamo-Kyoshiro

 

        Plamo-Kyoshiro จึงไม่ได้เป็นแค่หนังสือการ์ตูนที่มีไว้อ่านวนไปวนมาสำหรับเราในบ่ายวันหยุด แต่เป็นสิ่งที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจ และเปิดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ให้กับใครอีกมากมาย เป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนให้ธุรกิจของบริษัทบันไดเติบโตเพิ่มขึ้น สร้างวัฒนธรรมใหม่ๆ อัพเกรดให้งานอดิเรกของบางคนกลายเป็นอาชีพที่หาเลี้ยงตัวเองได้ และตัวต่อชิ้นเล็กๆ เหล่านี้ก็รวมตัวขึ้นจนกลายเป็นวัฒนธรรมป็อปที่ต่อยอดแตกแขนงออกไปอีกมากมาย ทั้งในไลน์ของเล่นที่โมเดลบางรุ่นตอนนี้ราคาขยับเพิ่มขึ้นจากวันที่ออกจำหน่ายเป็นร้อยเท่า หรือเอาใกล้ตัวที่สุดหนังสือการ์ตูนชุดนี้ฉบับพิมพ์ล่าสุดแบบหกเล่มจบที่ราคาปก 100 บาท แต่ตอนนี้ราคามือสองแบบครบชุดถ้าอยากเป็นเจ้าของจริงๆ ก็ต้องมีเงินไม่ต่ำกว่าสองพัน 

        ดังนั้น เวลาที่เห็นใครมีความสุขอยู่กับหนังสือการ์ตูน เกม หรือของเล่น ก็อย่าไปอคติแล้วบอกว่าโตแล้วเขาไม่อ่านการ์ตูน หรือไม่เล่นของเล่นกันแล้ว เพราะ 40 ปีที่ผ่านมาของกันพลานั้นเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์และการขับเคลื่อนของโลกอยู่ในนั้นด้วย