ครั้งหนึ่งเด็กผู้หญิงทั้ง ม.ต้น และ ม.ปลาย ต่างพร้อมใจกันไว้ผมสั้นแต่ปล่อยผมข้างหน้ายาวพอเอามาทัดหูได้แบบเดียวกับ นิโคล เทริโอ ออกเทปชุด กะ-โป-โล-คลับ
เรื่องนี้ถูกย้อนขึ้นมาเมื่อเพื่อนสาวในเฟซบุ๊กของเรารำลึกถึงตัวเองในวันที่ตัดผมสั้นทรงเดียวกันนี้ และบอกว่าถ้าได้เจอพี่นิกกี้ ฝากเล่าให้ฟังด้วยว่าเธอเคยถูกเรียกเข้าห้องฝ่ายปกครองและถูกทำโทษด้วยไม้เรียวเนื่องจากไว้ทรงผมผิดระเบียบ ถึงจะถูกตีแต่เธอก็มีความสุข ไม่ใช่ว่าเธอเป็นพวกชอบโดนกระทำความรุนแรง แต่เป็นความอิ่มเอิบใจเมื่อได้นึกถึงอดีตสมัยวันวาน
เมื่อคิดถึงเรื่องของทรงผมเด็กนักเรียน เรื่องนี้ก็เป็นปัญหาคาราคาซังมานานทุกยุคทุกสมัย การถูกบังคับให้ตัดผมทรงลานบินตั้งแต่ประถมหนึ่งจนถึงมัธยมปีที่สาม ช่างขัดใจวัยรุ่นเสียเหลือเกิน ตอนเด็กๆ เรายังไม่สนใจกับเรื่องนี้กันเท่าไหร่ (ยกเว้นว่าจะมีความแก่แดดแก่ลมตั้งแต่เด็ก) แต่เมื่อเข้ามัธยม ฮอร์โมนก็พลุ่งพล่าน เสียงที่แตกพร่าจนถึงขั้นแหบสนิท อยากดูดีสวยหล่อในสายตาของคนรอบข้าง ภาพเท่ๆ ของดารานักร้องที่ได้เห็นกลายเป็นสิ่งกระตุ้นให้เรารู้สึกเก้อเขินกับทรงผมเด๋อๆ ของตัวเอง ที่ตามระเบียบของโรงเรียนระบุว่าให้ด้านบนยาวได้ไม่เกินแค่ 5 เซนติเมตร ส่วนที่เหลือต้องสั้นจนขาวติดหนังหัว ล้วนแล้วแต่เป็นความชอกช้ำทุกครั้งที่ต้องเดินเข้าร้านตัดผม (ทั้งๆ ที่พอโตขึ้นมาผมยาวนิดยาวหน่อยก็อยากเข้าร้านตัดผมทันที)
กลางเดือนมิถุนายน 2537 ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ช่วงหน้าฝน โดยก่อนหน้านั้น เนลสัน แมนเดลา ได้เป็นประธานาธิบดีผิวดำคนแรกของแอฟริกาใต้ ทั้งเป็นปีที่ ‘ต่อ’ – ธนภพ ลีรัตนขจร และ จัสติน บีเบอร์ นักร้องชาวแคนาดา ลืมตาดูโลก แน่นอนวัยรุ่นในยุคนั้นยังไม่รู้จักผู้ชายสองคนนี้ แต่พวกเขากำลังคลั่งไคล้ คีอานู รีฟส์ นักแสดงจากฮอลลีวูด ที่มีหน้าตาใกล้เคียงกับคนเอเชีย จากหนังที่กำลังเข้าฉายเรื่อง Speed (1994) ชื่อไทย เร็วกว่านรก
ก่อนหน้านั้นคีอานู รีฟส์ เป็นที่รู้จักแบบเล็กๆ ในกลุ่มวัยรุ่นที่ติดตามวงการบันเทิงจากอเมริกา ในฐานะทีนไอดอลและนายแบบเสียมากกว่า เพราะหนังที่เขาแสดงส่วนมากจะเป็นหนังเล็กๆ หรือรับบทเป็นนักแสดงสมทบ คงจะมีแค่ Bill & Ted’s Exchellent Adventure (1989) ที่หาดูได้จากร้านเช่าวิดีโอ และหนังเรื่องนี้ก็เป็นที่ถูกอกถูกใจของใครต่อใครเพราะความตลกบ้าบอของหนัง ทำเอาเราต้องเปิดดูซ้ำเป็นสิบรอบ (คือไม่คืนม้วนนี้นั่นแหละเพราะซี้กับร้านเช่าวิดีโอ)
จนกระทั่งปี 2534 เขาก็เริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้นจากหนังเรื่อง Point Break (1991) ชื่อไทย คลื่นบ้ากระแทกคลื่นบ้า ซึ่งหนังเรื่องนี้ได้เป็นต้นแบบให้กับหนังประเภทตำรวจแฝงตัวไปคลุกคลีอยู่กับกลุ่มคนร้ายในเวลาต่อมา และจากเด็กหนุ่มตัวผอมกะหร่อง คีอานู รีฟส์ ต้องฟิตหุ่นตัวเองให้ล่ำขึ้นเพื่อรับบทเอฟบีไอในหนัง (ขอบคุณทีมสร้างที่เลือกและจับเขามาสร้างหุ่นให้มาดแมนขึ้นด้วย) ทุกครั้งที่เลิกเรียนถ้าได้แวะห้างเซ็นทรัลลาดพร้าว เราก็จะไปเดินเฉียดที่โซนโรงหนังเพื่อทักทายเขาผ่านโปสเตอร์หนังเรื่องนี้บ่อยๆ จนหนังออกจากโปรแกรม ซึ่งสมัยนั้นหนังแต่ละเรื่องก็ยังสามารถยืนโรงฉายได้เป็นเดือนๆ อยู่
Point Break ประสบความสำเร็จแบบสมน้ำสมเนื้อ ไม่ได้ขาดทุนแต่ก็ไม่ถึงกับมีกำไรมากมาย (ไปโกยรายได้อีกทีจากการออกเป็นวิดีโอ) แต่พลังดาราของ คีอานู รีฟส์ เริ่มเปล่งประกายแสงมากขึ้น เขาได้รับบทสำคัญในหนังเรื่องต่อๆ มาอย่าง My Own Private Idaho (1991) โดยเล่นเป็นคู่เกย์กับ รีเวอร์ ฟินิกซ์ เพื่อนซี้ บท Jonathan Harker ใน Bram Stoker’s Dracula (1992) ของผู้กำกับ ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา และเป็นเจ้าชายสิทธัตถะใน Little Buddha (1993) ซึ่งปูทางให้คนไทยเริ่มคุ้นหน้าเขามากขึ้น
เมื่อ Speed ออกฉาย ด้วยความที่ตัวหนังเองก็เป็นภาพยนตร์บู๊ แอ็กชัน กดดัน ลุ้นระทึก ที่ตัวเอกต้องเอาตัวรอดจากเงื่อนไขและสถานการณ์ที่กดดันและดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ องค์ประกอบทั้งหมดจึงกลายเป็นเหมือนระเบิดลูกใหญ่ที่ทำให้ คีอานู รีฟส์ โด่งดังเป็นวงกว้าง หนังเรื่องนี้ใช้ทุนสร้างแค่ 30 ล้านเหรียญฯ แต่ขายไอเดียล้วนๆ ว่าด้วยตัวร้ายที่ติดตั้งระเบิดไว้บนรถบัสที่ใช้รับส่งคนข้ามเมือง โดยมีกฎว่าถ้ารถวิ่งช้ากว่า 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ระเบิดจะทำงานทันที ซึ่ง คีอานู รีฟส์ เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ต้องเข้ามาช่วยแก้สถานการณ์นี้พร้อมกับนักแสดงสาวหน้าใหม่ที่มีเชื้อสายไทยชื่อ แสงดาว บุญล้อม ล้อเล่น… ซานดรา บูลล็อก นั่นแหละ ซึ่งการแสดงที่เข้าขากันทำให้แฟนๆ ต่างแอบหวังว่าทั้งสองจะเป็นแฟนกันนอกจอด้วย
บทของภาพยนตร์คือหัวใจของหนังเรื่องนี้ โดยได้ จอส วีดอน ผู้กำกับ Avengers (2012) มาช่วยเกลาและเปลี่ยนรายละเอียดบางอย่างให้เข้มข้นและสนุกขึ้น ใช้การตัดต่อที่ฉับไวทำให้คนดูนั่งไม่ติดเก้าอี้ตลอดเวลา แม้กระทั่งมารู้ภายหลังว่าฉากที่รถบัสต้องเหินข้ามทางด่วนที่ขาดตอนนั้นจะใช้ CG เข้ามาช่วยในการลบพื้นถนนออกไป แต่เมื่อเอากลับมาดูอีกหลายต่อหลายครั้ง เราก็ยังลุ้นไปกับฉากนี้อยู่ดี
สุดท้ายคือพลังของตัวละครเอก ซึ่งในตอนแรกบทของ คีอานู รีฟส์ นั้นทางสตูดิโออยากได้ดาราชื่อดังในตอนนั้นมาแสดง ไม่ว่าจะเป็น ทอม ครูซ, จอห์นนี เด็ปป์, อาร์โนลด์ ชวาร์เซเนกเกอร์, บรูซ วิลลิส หรือ ทอม แฮงก์ส ก็ตาม แต่เพราะมีทุนสร้างไม่มากนัก และมีความเป็นไปได้ว่าหนังจะออกมาทางภาพยนตร์เกรดบีเสียมาก เพราะชื่อของผู้กำกับ ยาน เดอ บองต์ เองก็ยังไม่สามารถการันตีอะไรได้มาก สุดท้าย คีอานู รีฟส์ ก็ได้บทนี้ไป ซึ่งเขาก็มาในมาดของผู้ชายที่ดูอบอุ่น เข้มแข็ง และทำให้คนรอบข้างรู้สึกว่าสามารถฝากชีวิตไว้กับชายคนนี้ได้
ซึ่งตัวผู้กำกับเองเป็นคนออกไอเดียว่าให้ คีอานู รีฟส์ ตัดผมสั้นเกรียน เพื่อความสอดคล้องของตัวละคร แจ็ก ทราเว็น ตำรวจมาดเข้มที่เอาจริงเอาจัง แต่ทางสตูดิโอกลับวิตกว่าภาพลักษณ์ใหม่ของ คีอานู รีฟส์ จะทำให้คนดูไม่คุ้นเคย และทำให้ไม่ยอมเข้ามาดูหนังเรื่องนี้ จนต้องเลื่อนการถ่ายทำออกไปอีกระยะ ซึ่ง ยาน เดอ บองต์ ก็ออกมาแสดงอาการหัวร้อนใส่สตูดิโอว่าพวกแกเป็นอะไรกัน (วะ) เพราะเมื่อถึงตอนถ่ายทำจริงนั้นผมของ คีอานู รีฟส์ ยาวขึ้นมาแค่ไม่กี่มิลเท่านั้น
แต่ความไม่กี่มิลนั้นยิ่งสร้างความลงตัวให้กับ คีอานู รีฟส์ เมื่อหนังออกฉาย นอกจากจะทำรายได้มหาศาลแล้ว ทรงผมแบบ คีอานู รีฟส์ ก็ฮิตไปทั่วบ้านทั่วเมือง ดารา เซเลบหลายคนตัดสินใจเดินเข้าร้านตัดผมแล้วบอกว่าเอาทรงแบบ ‘คีอานู รีฟส์’ ร้านตัดผมทั้งหลายต้องติดโปสเตอร์รูป คีอานู รีฟส์ จากหนังเรื่องนี้ วัยรุ่นไทยในตอนนั้นก็ถือโอกาสนี้ตัดผมทรงสกินเฮดกันทันที เพราะไหนๆ ทางโรงเรียนก็มีกฎอยู่แล้วว่าห้ามไว้ผมยาวเกินห้าเซนติเมตร
ตอนนั้นทั้งเด็กม.ต้นและม.ปลาย ที่สามารถไว้ผมรองทรงได้ ต่างพากันตัดผมสั้นเท่ากันทั้งหัว ใครที่หัวทุยก็โชคดีไปตัดทรงนี้ออกมาแล้วสวยงามตามท้องเรื่อง ส่วนใครที่หัวแบนๆ (แบบเรา) ก็จะมีความพลาดๆ หน่อย แต่แล้วยังไงใครจะสน ในเมื่อทุกคนสามารถเป็น คีอานู รีฟส์ ได้ทั้งนั้นด้วยปัตตาเลี่ยนเบอร์ 2
เมื่อความนิยมเพิ่มมากขึ้นก็ร้อนจนถึงฝ่ายปกครองที่ต้องออกมาประกาศว่าผมทรงสกินเฮดนั้นผิดกฎโรงเรียน มีการทำโทษนักเรียนแสบๆ ที่ไว้ผมทรงนี้เป็นตัวอย่างด้วย ไม่ว่าจะเป็นชั้นมัธยมต้นหรือมัธยมปลาย (ข่าวจากเพื่อนที่เรียนโรงเรียนรัฐบาลบอกเรามา) ซึ่งโชคดีที่โรงเรียนของเราเป็นสถาบันสอนศิลปะจึงไม่มีการห้ามไว้ผมทรงนี้ (เรามาโดนอีกทีจากตอนที่ไว้ผมทรง เจ มณฑล โฆษณาทเวลฟ์พลัส แต่ด้วยความที่สร้างเครือข่ายตีซี้กับอาจารย์หลายท่านไว้จึงโดนแค่สะกิดเล็กๆ พอเป็นพิธี)
ผ่านมา 26 ปี หลังจาก Speed ออกฉาย มีสองสิ่งที่ยังไม่เปลี่ยนไป นั่นคือความหล่อเหลาของ คีอานู รีฟส์ ที่เหมือนถูกแช่แข็งเอาไว้ ต่างจากคนเขียนที่ถ้าเอามายืนเทียบกันคนคงนึกว่าเป็นอาของ คีอานู รีฟส์ ได้แล้ว และกฎระเบียบของการไว้ทรงผมเด็กนักเรียนที่ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งจริงๆ แล้ว ส่วนตัวเราก็เห็นด้วยกับการไว้ผมสั้นเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย แต่ก็ควรจะมีความยืดหยุ่นเกิดขึ้น เพราะผมทรงลานบินหรือผมสั้นเสมอหูของนักเรียนหญิงเอง เมื่อก่อนจะเป็นการตัดให้สั้นเพื่อป้องกันการติดต่อของ ‘เหา’ แมลงที่อาศัยอยู่บนหัวของมนุษย์ แต่ปัจจุบันโรคติดต่อนี้เราสามารถรักษาและควบคุมได้อย่างไม่ยากเย็น การไว้ทรงผมของเด็กนักเรียนก็ควรจะอะลุ่มอล่วยได้แล้ว อาจจะไม่ต้องถึงขั้นว่าให้ไว้ผมยาวได้เหมือนนักดนตรีวงเฮฟวีเมทัลก็ได้ แต่การต้องตัดผมสั้นเกรียนนั้นก็ทำร้ายใจเด็กเกินไป
เพราะครั้งหนึ่งเราก็ต่างเป็นวัยรุ่น และพอโตขึ้นเราก็จะรู้ได้เองว่าทรงผมแบบไหนที่เหมาะสมกับกาละเทศะเมื่อต้องอยู่ในสังคมได้เอง ซึ่งทั้งหมดเกิดจากการเรียนรู้และเข้าใจไม่ใช่มาจากการบังคับ
“ฉันจะไม่ยอมตกเป็นทาสของคุณหรอกค่ะ” แม่สิตางศุ์ได้กล่าวไว้ แต่ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับหนังเรื่องนี้หรอก (ฮา)
หมายเหตุ:
ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ. ๒๕๖๓ ประกาศวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๖๓ ได้อนุญาตให้นักเรียนชายสามารถไว้ผมยาวได้โดยต้องยาว ไม่เลยตีนผม ด้านหน้าและกลางศีรษะให้เป็นไปตามความเหมาะสมและมีความเรียบร้อย
รายละเอียดเพิ่มเติม www.ratchakitcha.soc.go.th