The Karen Carpenter Story

เมื่อครั้งยังเด็กฉันดู… The Karen Carpenter Story

ความบันเทิงของเด็กๆ เมื่อก่อนสมัยที่ยังไม่มีเครื่องเกมแฟมิคอมหรือคอมพิวเตอร์เป็นของตัวเองในคืนวันเสาร์คือการรอดูหนังเด็ดหนังดังจากรายการ Big Cinema ทางช่อง 7 สี ทีวีเพื่อคุณ (ชื่อในตอนนั้น)

        โดยโปรแกรมของรายการจะแบ่งเป็นสองหมวดนั่นคือ บิ๊กซินีม่า โปรแกรมเพชร หนังพันล้าน และบิ๊กซินีม่า โปรแกรมทอง สลับกันไปในแต่ละอาทิตย์ ถ้าวันไหนเป็นหนังที่ไม่อยากดู คืนวันเสาร์นั้นก็จะกร่อยๆ ลงไปเล็กน้อย และรอว่าอาทิตย์ถัดไปทางรายการจะเอาหนังเรื่องอะไรมาฉายให้เราดู พร้อมกับเตรียมม้วนวิดีโอเปล่าเอาไว้เผื่อว่าหนังเรื่องนั้นสนุกก็จะได้อัดผ่านเครื่องเล่นวีดีโอเพื่อเอาไว้ดูใหม่อีกรอบวันหลัง 

        เมื่อครั้งยังเป็นเด็ก มีอยู่วันหนึ่งเราจำได้ว่าเป็นช่วงที่โรงเรียนเปิดเทอมได้สักพัก ระหว่างที่นอนอ่านการ์ตูนและดูละครช่วงค่ำไปด้วย โฆษณาของรายการบิ๊กซินีม่าก็นำเสนอหนังเรื่องหนึ่ง โดยเปิดเรื่องด้วยภาพของหญิงสาวผมหยิกฟู และเธอก็ร้องเพลงออกมา เสียงของเธอนั้นสะกดเราจนถึงกับต้องเงยหน้าขึ้นมาดูโทรทัศน์ ซึ่งเป็นโทรทัศน์สีที่มีลำโพงเล็กๆ ระบบเสียงโมโน ที่ถ้าเทียบกับโทรทัศน์ในตอนนี้คุณภาพของเสียงคงต่างกันแบบฟังออก แต่นั่นกลับไม่ได้ทำลายความไพเราะของเพลงที่ดังออกมาเลยแม้แต่นิดเดียว และภายในเวลาสามสิบวินาทีนั้น เราก็รู้ว่าคืนวันเสาร์ที่จะถึงผู้ชมจะได้ดู The Karen Carpenter Story (1989) หนังที่อ้างอิงจากเรื่องจริงของ แคเรน คาร์เพนเทอร์ หนึ่งในสุดยอดนักร้องหญิงตลอดกาลของโลก 

 


เพลง Superstar ของ Carpenters ที่ทางรายการบิ๊กซินีม่า ตัดมาเป็นตัวอย่างโปรโมต และเป็นมนตร์สะกดแรกของเรา 

 

        The Karen Carpenter Story เป็นภาพยนตร์ที่ถูกสร้างขึ้นมาสำหรับฉายทางโทรทัศน์โดยสถานีโทรทัศน์ CBS นำแสดงโดย Cynthia Gibb รับบท แคเรน คาร์เพนเทอร์ และ Mitchell Anderson รับบท ริชาร์ด คาร์เพนเทอร์ ซึ่งหนังเรื่องนี้ ริชาร์ดตัวจริงก็มาเป็นคนดูแลเรื่องเพลงประกอบให้ด้วย 

 

The Karen Carpenter Story

 

        ตัวหนังเล่าเรื่องของสองพี่น้องคาร์เพนเทอร์ โดยเปิดเรื่องด้วยรถพยาบาลกำลังนำตัวแคแรนเข้าห้องฉุกเฉิน และตัดภาพไปยังปี 1963 เมื่อแคแรนลงประกวดร้องเพลงในงานเล็กๆ ของเมืองดาวนีย์ รัฐแคลิฟอร์เนีย ต่อมาได้เข้าร่วมวงโยธวาทิต และเธอก็หัดตีกลองอย่างจริงจัง จนมีโอกาสได้ร้องเพลงและทำวง Carpenters กับพี่ชาย จนกระทั่งวงได้รับความนิยม ชื่อเสียงประเดประดังเข้ามามากมาย และเธอก็กลายเป็นซูเปอร์สตาร์ 

        หนังตัดสลับกับช่วงต่างๆ ในชีวิตด้วยเพลงเพราะๆ ของ Carpenters ซึ่งตอนแรกเราคิดว่า Cynthia Gibb คือแคเรนตัวจริงๆ เรานั่งเคลิบเคลิ้มไปกับเพลงเพราะๆ ที่เธอร้อง จนมาถึงเพลงเอกอย่าง Yesterday Once More ที่ฟังครั้งแรกก็ติดหูทันที และทำให้รู้ว่าเพลงภาษาอังกฤษแม้เราในตอนนั้นจะยังไม่เข้าใจคำศัพท์มากเท่าไหร่นัก แต่กลับเพราะจนไม่อาจสลัดเพลงนี้ออกไปจากหัวได้ เมื่อจะรู้ตัวช้าไปหน่อย แต่เราก็บันทึกวิดีโอเพลงนี้เอาไว้แม้จะได้มาแค่ครึ่งเพลงก็ตาม 

        หนังดำเนินเรื่องมาถึงตอนท้าย ซึ่งสร้างความช็อกให้กับเด็กอย่างเราเป็นอย่างมาก เพราะฉากที่เราเห็นในตอนต้นเรื่องนั้นคือการพาคนดูไปพบกับบทสรุปตอนท้ายว่าแคเรนได้เสียชีวิตลงในปี 1983 

        เมื่อถึงวันจันทร์ เรื่องราวของแคแรนก็กลายเป็นที่พูดถึงของเพื่อนๆ ในห้องกันตลอดทั้งวัน บางคนก็จับกลุ่มร้องเพลง Yesterday Once More แบบดำน้ำด้วยกัน บางคนก็ไปซื้อเทป Carpenters Greatest Hits ซึ่งเป็นอัลบั้มคู่มาอวด ส่วนเราก็ไปดูที่ชั้นเทปเพลงของคุณอาและพบว่ามีเทปของวง Carpenters (ที่เป็นเทปเถื่อนยี่ห้อ Peacock) อยู่สองสามม้วน เรานำมานั่งเปิดฟังเงียบๆ คนเดียว และก็คิดถึงเธอ แคเรน คาร์เพนเทอร์ หญิงสาวผู้มีเสียงไพเราะกังวานที่เขาว่าเสียงเหมือนแก้วใสคงเป็นแบบนี้นั่นเอง 

 

The Karen Carpenter Story

 

        นอกจากจะเปิดโลกของการฟังเพลงสากลให้เราแล้ว แคแรนยังทำให้เรารู้จักกับโรค Anorexia Nervosa (โรคที่ผู้ป่วยจะมีภาวะบกพร่องของพฤติกรรมการกิน ตลอดจนมีความผิดปกติทางจิต เนื่องจากคิดว่าตัวเองอ้วนอยู่เสมอ ทั้งๆ ที่รูปร่างของตนนั้นก็ผอมมากแล้ว)  ซึ่งจุดเริ่มต้นของการไม่อยากกินอาหารของเธอก็มาจากหลายสาเหตุ ทั้งจากการที่อยากให้ตัวเองดูดีตลอดเวลาเมื่ออยู่บนเวที หรือการพบว่าการลดอาหารเป็นสิ่งที่เธอสามารถสั่งตัวเองได้เพียงอย่างเดียวในชีวิต เพราะชีวิตของเธอนั้นถูกควบคุมจากแม่ของเธอเสมอ ไม่ว่าจะเรื่องงานหรือเรื่องส่วนตัว   

        แม้จะมีชื่อเสียงหลั่งไหลเข้ามาเท่าไหร่ก็ตาม อำนาจเดียวที่เธอมีก็คือการสั่งตัวเองให้ไม่อยากกินอาหาร สิ่งเดียวที่เธอสามารถควบคุมได้นั้นคือตัวเธอเอง และเป็นสิ่งเดียวที่ทำร้ายเธอจนถึงแก่ชีวิตด้วย โดยมีฉากหนึ่งในหนังที่จิตแพทย์บอกให้แม่ของแคแรนแสดงออกถึงความรักกับลูกสาวของเธอบ้าง ซึ่งแม่ของเธอนั้นรักริชาร์ดจนออกนอกหน้าเสมอ และในตอนนั้นคนทั่วไปก็ยังไม่รู้จักกับโรค Anorexia 

        แคแรนโหยหาความรักมาตลอดแม้แต่กับสามีของเธอ แต่ชีวิตคู่ของแคแรนก็ไม่ได้ราบรื่นอย่างที่เธอต้องการ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความสัมพันธ์ที่ยังหาจุดลงตัวของความเป็นสามีภรรยาไม่ได้ (แคแรนและ โธมัส เจมส์ เบอร์ริส แต่งงานหลังจากรู้จักกันเพียงแค่สองเดือน) และอาการป่วยของเธอนั้นก็ส่งผลต่อสภาพจิตใจของเธออย่างมาก ส่วนโธมัสเองก็ไม่ยอมบอกแคแรนเรื่องที่เขาทำหมันแล้ว (แคแรนอยากมีลูกมาก) และโธมัสเองก็ใช้เงินของแคแรนเป็นจำนวนมากจนเธอแทบจะหมดตัว ทั้งอาการป่วย ความกดดันจากครอบครัว รักที่ไม่สมหวัง และฐานแฟนเพลงที่มากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งหมดจึงกลายเป็นฟางเส้นสุดท้ายของแคแรน 

        ตอนที่เข้ารับการบำบัดโรค Anorexia ในปี 1982 เธอมีน้ำหนักเหลืออยู่แค่ 34.93 กิโลกรัมเท่านั้น (77 ปอนด์) จนต่อมา เมื่อเธอมีอาการดีขึ้น คุณหมอจึงได้อนุญาตให้กลับมาพักฟื้นต่อที่บ้าน ซึ่งตอนนั้นทุกคนก็คิดว่าแคแรนคงจะดีขึ้นตามลำดับ แม้ว่าจะมีความผิดสังเกตอยู่บ้าง แต่ก็เชื่อว่าเธอจะค่อยๆ ดีขึ้น 

        จนกระทั่งในช่วงเช้าของวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ปี 1983 แม่ของเธอได้พบแคแรนนอนหมดสติอยู่ในห้องเก็บเสื้อผ้า รถพยาบาลรีบนำตัวเธอเข้าห้องฉุกเฉิน ทีมแพทย์พยายามปั๊มหัวใจและช่วยเหลือทุกวิธี แต่สุดท้ายก็ไม่อาจเรียกเธอกลับมาได้ แคแรนได้จากไปหลังจากที่ต่อสู้กับโรคคลั่งความผอมนี้มาตลอดระยะเวลา 7 ปี นับเป็นความสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ต่อวงการเพลงโลกและแฟนเพลง Carpenters เธอจากไปด้วยวัยเพียงแค่ 32 ปี เท่านั้นเอง 

        ขอบคุณที่ครั้งหนึ่งเธอได้สร้างความสุขให้กับผู้คนมากมาย  แม้ตัวจะจากไปแต่เสียงร้องของเธอนั้นยังคงเป็นอมตะมาจนถึงวันนี้ และตลอดไป 

 

‘When I was young I’d listen to the radio.

Waitin’ for my favorite songs When they played I’d sing along.

It made me smile.’

—Yesterday Once More, Carpenters