บทสนทนาว่าด้วยเรื่อง Zero Waste Life การกำจัดขยะแบบไม่เพิ่มขยะสไตล์คนเมืองสุดฮา ระหว่าง น้องพลอย แห่ง a day magazine กับ ลุงรีย์ ใน ฟาร์มลุงรีย์ ย่านเพชรเกษม ที่เรียกได้ว่าเกือบจะไม่มีสาระ แต่ก็เต็มไปด้วยสาระ
“
Zero Waste Life ไม่ใช่การรีไซเคิลขยะ ไม่ได้นำอะไรกลับมาสร้างใหม่ หรือส่งขยะไปฝังกลบ แต่คือแนวคิดของการไม่เพิ่มขยะ และทิ้งให้น้อยลง
”
พลอย – กชกร มุสิผล กองบรรณาธิการสาวสุดป่วนจาก a day magazine หญิงสาวที่ใช้ชีวิตด้วยข้าวปั้นหนึ่งก้อนกับเครื่องดื่มชูกำลังหนึ่งขวด บวกขนมกรุบกริบอีกนิดหน่อย แล้วปั่นงานต่อ และ ลุงรีย์ – ชารีย์ บุญญวินิจ นักกำจัดขยะสายฮา แห่งฟาร์มลุงรีย์ ที่มีงานประจำเป็นเกษตรกร มีงานเสริมที่เป็นงานประจำอย่างที่ปรึกษาแฟชั่น ปัจจุบันยังใช้ชีวิตชิคๆ คูลๆ เหมือนเดิม เพิ่มเติมคือหน้าที่ในสายงานที่เขาเลือกด้วยความตั้งใจ
_
ถุงขนมของพลอย ถุงปุ๋ยชั้นเลิศของลุงรีย์
_
ทันทีที่ทักทายและทำความรู้จักกันเป็นที่เรียบร้อย พลอยก็เริ่มต้นด้วยการเทขยะที่รวบรวมในหนึ่งวันออกมาลงที่โต๊ะกลางฟาร์มซึ่งทำจากกล่องนม คือถุงขนมสีเหลืองสด ขวดเครื่องดื่มชูกำลัง แก้วกาแฟ เศษกระดาษจากงานต้นฉบับ กล่องนม หลอดกาแฟ ก่อนที่พี่รีย์จะเลือกและแยกประเภทการใช้งานออกเป็นหมวดๆ โดยเกริ่นกับพลอยว่า เครื่องดื่มชูกำลังนี่ของดี!
พลอย : “เอ็มร้อยเนี่ยนะ ใส่เพื่ออะไรอะ”
ลุงรีย์ : “งงอะดิ เครื่องดื่มชูกำลังช่วยกระตุ้นการแตกราก เพราะมีคาร์โบไฮเดรตและวิตามินหลายอย่างที่พืชชอบ มันใช้ได้จริง หลายคนชอบแซวว่าเป็นสูตรผีบอก”
เขายืนยันก่อนที่จะไปตักกาบมะพร้าวสับและมูลไส้เดือนมาให้พลอยใช้มือคลุก จากนั้นก็ตักใส่ถุงขนมซีลปิดปาก เอามีดกรีดผ่ากลาง ใช้คอตตอนบัดแต้มเครื่องดื่มชูกำลังและกะปินิดหน่อย ก่อนทาลงบนกิ่งมะนาวที่ลอกเปลือกชั้นนอกไว้ แล้วเอาถุงดินมัดปิด
ลุงรีย์ : “พลอยๆ มาซีลถุงปุ๋ยที่เครื่องนี้”
พลอย : “พี่รีย์ๆ ข้างบ้านหนูมีไก่ชน” ในขณะที่มือกำถุงปุ๋ย
ลุงรีย์ : “เดี๋ยว! ฉันบอกให้แกซีลถุง!”
_
หลอดกาแฟ หลอดชานมไข่มุก ขยะจากพลอย และบ่ออนุบาลกุ้งในฟาร์มของลุงรีย์
_
ตรงข้ามบ่อไส้เดือนคือห้องอนุบาลกุ้งเครย์ฟิชในขวดแก้ว ส่วนพื้นที่ของกุ้งเครย์ฟิชไซซ์กลางจะอยู่ที่บ่ออะควาโปรนิกส์ บริเวณด้านหน้าห้องกุ้ง ส่วนเจ้าตัวโตเต็มที่จะอยู่ในอ่างถัดไปไม่ไกล ชารีย์แนะนำไอเดียที่ได้จากหลอดต่างๆ ว่าเป็นแหล่งอนุบาลกุ้งชั้นดี เขาตัดออกเป็นท่อนๆ พร้อมอธิบายว่า
ลุงรีย์ : “หลอดของพลอยจะกลายเป็นบ้านจิ๋วของลูกกุ้งลงเดินตัวเล็กๆ ใส่หินกรวดเล็กๆ ถ่วงน้ำหนักให้จม แล้วมันจะเข้าไปอยู่ในหลอด หลอดชานมไข่มุกก็เหมาะกับกุ้งขนาดเล็ก”
พลอย : “หูย ไม่เคยรู้มาก่อนเลยนะเนี่ย”
ลุงรีย์ : ” แน่ล่ะ ก็แกไม่ได้เลี้ยงกุ้งนี่!” ชารีย์แซว ก่อนจะอธิบายต่อว่า “คนเลี้ยงกุ้งส่วนใหญ่ เขาจะใช้ท่อพีวีซีหรือท่อกระเบื้องดินเผา คิดดูหากซื้อจำนวนเป็นพันๆ อัน ใช้ต้นทุนสูงแค่ไหน แต่นี่หลอดที่ไม่ใช้แล้ว ลดต้นทุนได้แค่ไหนก็คำนวณเอาเอง”
พลอย : “ขยะของเราคือมูลค่าเพิ่มของคนอื่นสินะ” พลางพยักหน้างึกๆ จนผมหน้าม้าสั่นอยู่คนเดียว
_
ผักแนมจากตำซั่วรสแซ่บที่พลอยไม่กิน กับ วิธีลดขั้นตอนการปลูกผักด้วยวิธีปักชำ
_
หลังจบจากอาหารมื้อบ่ายที่ประกอบไปด้วย ตำซั่ว ไก่ย่าง ข้าวเหนียว บนโต๊ะก็มีขยะอย่างเศษผักต่างๆ และกระดูกไก่เหลือทิ้ง พี่รีย์จึงหยิบก้านโหระพามาตัดใบด้านล่างเพื่อเตรียมไปปักชำ และสอนให้พลอยทำตาม ในขณะนั้นเองเขาโพล่งขึ้นว่า “พอแล้วแก! จะด้วนแล้ว” เพราะเห็นว่าพลอยกำลังตัดใบโหระพาที่จะใช้สำหรับปักชำเสียเกือบโกร๋น
ลุงรีย์ : “เดี๋ยวไปเอาไส้เดือนมาร่อนดีกว่า”
ทันที่เขาพูดจบและกำลังเดินไปที่ห้องเพาะเลี้ยงไส้เดือนนั้น เสียงแหลมๆ ก็ดังขึ้นมา…
พลอย : “หนูไปด้วยค่ะ” ทำท่าจะเดินตามไปสมทบ
ลุงรีย์ : “อยู่นี่! ไม่ต้องมา” เขาเบรกเธอตัวโก่ง แล้วเดินหัวเราะออกไปอย่างมีความสุข ปล่อยให้พลอยยืนทำหน้างงๆ แต่สักพักเขาก็ตามให้เธอไปสมทบที่ด้านในของเรือนเพาะไส้เดือน
_
ไส้เดือนสุดอี๋ของพลอย แต่สุดเลิฟของลุงรีย์
_
ภายในห้องไส้เดือนซึ่งตั้งอยู่ด้านในของฟาร์ม แบ่งออกเป็นบ่อเล็กๆ มีไส้เดือนแยกตามสายพันธุ์ อาทิ พันธุ์แอฟริกัน ราคากิโลกรัมละ 1,000 บาท หรือสายพันธุ์ Blooming Warm ไส้เดือนสีน้ำเงินตัวอวบๆ ที่มีกลิ่นหอมเหมือนดอกโมก ราคากิโลกรัมละ 6,000 บาท (ตาโต)
พลอย : “มีข้อควรระวังอะไรหรือเปล่าคะ ก่อนจะใช้กระชอนตักไส้เดือนขึ้น”
ลุงรีย์ : “ก็แค่ไม่ต้องออกแรงมาก เดี๋ยวตัวมันจะขาด จะว่าไปใช้มือตักดีกว่ามั้ย” พร้อมสีหน้าที่พร้อมจะหลุดขำได้ตลอด
พลอย : “ไม่เอา กลัว!” ว่าแล้วพลอยก็ใช้กระชอนตัก พลางงึมงำกับตัวเองว่า “เราขอโทษ นายไม่ตายนะ เราขอโทษนะ นายไม่เจ็บนะ” ทำเอาลุงรีย์เผลอหลุดหัวเราะเสียงดัง
พลอย : “พี่กล้าจับตั้งแต่แรกเลยจริงๆ หรอ”
ลุงรีย์ : “แรกๆ พี่ก็อี๋แหละ”
พลอย : “แล้วทำไมเลิกอี๋ได้ง่ะ”
ลุงรีย์ : “ขายได้โลละหกพัน อี๋ไหมล่ะ” ว่าแล้วชารีย์ก็ยื่นไส้เดือนทั้งกำให้พลอยอย่างอารมณ์ดี
_
ของเล่นแปลกตาของพลอย และเครื่องร่อนไส้เดือนของลุงรีย์
_
ทั้งคู่พากันเดินกลับมายังพื้นที่ส่วนกลางอีกครั้ง เพื่อมาแยกไส้เดือนและมูลออกจากกันด้วยเครื่องร่อน เมื่อเปิดเครื่องให้หมุนไปเรื่อยๆ มูลไส้เดือนแบบละเอียดจะตกลงมาก่อน ส่วนแบบหยาบจะตกลงในช่องรองรับที่สอง และปลายสุดตะแกรงคือตัวไส้เดือนที่พันเกี่ยวกันเป็นก้อนขยับตัวไปมา ชารีย์แนะนำการให้อาหารไส้เดือน โดยการตักไส้เดือนที่ร่อนแล้วใส่ถาด นำเศษผักที่กินเหลือตอนกินส้มตำมาวางข้างๆ เตรียมบอกวิธีให้อาหารไส้เดือน แต่ไม่ทันได้ขยับปาก พลอยจอมซนก็คว้าใบโหระพาจ่อไปที่หัวไส้เดือนทันที
พลอย : “ไส้เดือน กินนี่สิ!”
ลุงรีย์ : “อย่าไปทำแบบนั้น มันไม่ได้กินแบบนั้น นี่ๆ ลองมาจับไส้เดือนดูมะ”
พลอย : “จ้างหนูสิ! จะจับให้ดู” พลอยต่อรอง ทั้งๆ ที่ในใจกลัวจับจิต
ลุงรีย์ : “นี่แกมาทำงาน! ได้ข่าวว่า รวมอยู่ในเงินเดือนแล้วไม่ใช่หรอ” เขาโต้ตอบ
พลอยหัวเราะแห้งๆ ก่อนจะเกือบตะโกนออกมาว่า “เส้นโซบะ นี่คือเส้นโซบะ”
เธอหลับตาปี๋ เม้มริมฝีปาก เกร็งฝ่ามือ และไส้เดือนทั้งกำก็ตกไปอยู่ในมือของพลอยเป็นที่เรียบร้อย
พลอย : “พลอยทำได้ พลอยทำได้” ก่อนปล่อยไส้เดือนลงถาด และร้องขอสัมผัสพวกมันอีกครั้ง
_
เสียงดนตรีของพลอย และเสียงธรรมชาติจากฟาร์มของลุงรีย์
_
เสียงธรรมชาติภายในฟาร์ม กลายเป็นเมโลดี้อันไพเราะให้พลอยเพลิดเพลินไปกับความรู้ ทั้งเสียงเป็ดโวยวาย แกะร้อง น้ำไหลวนที่อยู่บ่อปลา ชวนให้พลอยสนใจ
บ่อนี้ทำจากพลาสติกขนาดใหญ่ แบ่งด้านซ้ายเป็นบ่อปลาสลิด ด้านขวาเป็นบ่อกุ้งเครย์ฟิช ตรงกลางเป็นถาดผักที่ปลูกโดยใช้กระเบื้องดินเผาเป็นเม็ดๆ รองพื้น แล้วติดหลอดพลาสติกทำเป็นท่อระบายน้ำ พร้อมใช้ระบบน้ำไหลเวียนในบ่อที่มีส่วนผสมของน้ำหมักมูลไส้เดือนเป็นสารอาหาร เสียงและระบบนี้ชารีย์เรียกว่า Aquaponics ซึ่งเขาก้าวลงไปในบ่อเพื่ออธิบายเพิ่ม
พลอย : “พลอยขอลงไปด้วย ความเป็นผู้หญิงจะทำให้กุ้งตายมั้ย” พี่รีย์หัวเราะพลางพยักหน้าตกลง
ลุงรีย์ : “นี่เป็นคนแรกนะ ที่พูดจาแบบนี้”
ส่วนคำว่าความเป็นผู้หญิงของพลอยนั้น ที่จริงคือคำอธิบายในเรื่องของกุ้งเครย์ฟิชที่เป็นสัตว์แพ้ง่าย โดยเฉพาะเครื่องสำอาง เครื่องบำรุงผิว กลิ่นน้ำยาย้อมผม ซึ่งส่วนใหญ่มาจากผู้หญิง ลุงรีย์จึงกำชับพลอยแค่ว่าอย่าเอามือลงไปจุ่มในบ่อกุ้ง โดยเฉพาะบ่ออนุบาล
_
วงกลมในโลกของพลอย และวงกลมในโลก Zero waste ของลุงรีย์
_
โลกของพลอยเต็มไปด้วยความสดใสและแสงไฟจากหลอดนีออน เธอใช้ชีวิตง่ายๆ แต่กลับเร่งรีบ ชีวิตของเธอประกอบไปด้วยข้าวปั้นหนึ่งก้อนกับเครื่องดื่มชูกำลังหนึ่งขวด บวกขนมกรุบกริบอีกนิดหน่อย แค่นี้ก็ทำให้เธอปั่นงานต่อได้ทั้งวัน ลากยาวไปจนถึงกลางคืน โดยไม่มีท่าทีอิดโรย และนี่คงเป็นเหตุผลหนึ่ง ที่ทำให้โลกของเธอเกิดขยะน้อยเหลือเกิน
พลอย : “จริงๆ แล้ว พลอยคิดว่า ตัวเองสร้างขยะน้อยมาก เวลากินก็กินไม่เหลือ” เธอแอบยิ้ม
ส่วนโลกของพี่รีย์ ก่อนหน้าที่จะมาเป็นลุงรีย์ของใครหลายๆ คน เขาก็เป็นคนหนึ่งที่ใช้ชีวิตอย่างพลอย ก่อนที่วันหนึ่งชีวิตของเขาก็พบความประณีตมากขึ้น ลดความเร็วของการใช้ชีวิตลง แล้วได้ทำเกษตรแบบ zero waste ขึ้น จากนั้นวงกลมชีวิตของเขาก็เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง
ลุงรีย์ : “ชีวิต 100% แบ่งเป็นร่างลุงรีย์ 95% ที่เหลือคือร่างของคนที่ทำงานประจำเป็นที่ปรึกษาด้านแฟชั่น เมื่อก่อนพี่ก็เหมือนเธอ เป็นคนง่ายๆ รีบๆ เหมือนกัน เรื่องเกษตรไม่มีในหัว ขี้หมาแห้งมากอ่ะ แต่ท้ายสุดเราก็กลายเป็นคนเผ่านี้ เผ่าที่ใส่มอฮ่อม ทำตัวปอนๆ อยู่ในฟาร์ม” เขายิ้มกว้าง
_
บนโลกนี้ใช้วิธีการแบบ Zero Waste ได้เสมอ
_
ทุกๆ พื้นที่ของฟาร์มแห่งนี้ก็เช่นกัน ขยะที่ชารีย์ก่อ เศษผักที่ได้มา มูลสัตว์ต่างๆ หมุนวนใช้อยู่ภายในฟาร์มเสมอ แทบจะไม่มีอะไรที่ไม่เป็นประโยชน์ และทุกๆ พื้นที่ ยังทำเงินได้ด้วยตัวมันเองด้วยวิธีการไซเคิล
เมื่อหมูไก่ขี้ออกมา ก็เข้าสูตรอาหารไส้เดือน ได้มูลไส้เดือนเข้าไปเลี้ยงกุ้ง กุ้งขี้มาก็เอาไปปลูกผัก ผักโตมาใบแก่เอาไปหมักเลี้ยงไส้เดือน กากไส้เดือนเข้าไปลงห้องเห็ด เก็บเห็ดเอาไปขาย คิดต่อจุดไปอย่างไม่รู้จบ เกิดเป็นวงจรเกษตรแบบ zero waste จากมือสองของคนเพียงหนึ่งคน แถมยังเปิดพื้นที่ให้คนที่สนใจมาเรียนรู้เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ใหญ่ขึ้น จนเกิดเป็นวงจรผู้คนที่จะมาช่วยกันสร้างโลกลดขยะไปอีกได้เรื่อยๆ
ว่าแล้วก็ยังเหลือของทิ้งที่ใช้ไม่ได้อีกชุดหนึ่ง ชารีย์จึงนำลงบ่อทิ้ง ไม่ว่าจะเป็นเศษกระดาษต้นฉบับ หรือกากกาแฟที่พลอยหยิบติดมือมา รวมถึงเศษอาหารในตู้เย็น เขาเติมหัวเชื้อจุลินทรีย์ชนิดย่อยแหลกอีกหน่อย รอให้กลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์ และท้ายสุด ขยะของพลอยและเศษอาหารของชารีย์ก็เกลี้ยง ไม่มีอะไรหลงเหลือไว้อีกต่อไป
พลอย : “ไม่มีอะไรที่ใช้งานไม่ได้เลยเนอะ”
ลุงรีย์ : “อื้ม หากเรารู้จักเลือกใช้นะ”
_
In Case You Missed It
_
คนหนึ่งคนสร้างขยะมูลฝอยถึงวันละ 1.14 กิโลกรัม ผลการสำรวจเรื่องปริมาณขยะจากกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) รายงานว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีขยะที่ยังไม่ถูกกำจัดมากถึง 27.04 ล้านตันเฉลี่ยแล้วเท่ากับเราสร้างขยะกันวันละ 74,073 ตัน/วัน